การซื้อหย่า
( الخلع )
การซื้อหย่า คือ การที่สามีปลดปล่อยภรรยาของเขาให้พ้นจากพันธะกรณีของการแต่งงานโดยมีทรัพย์สินเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่ฝ่ายหญิงมอบให้แก่ฝ่ายชาย
ข้อบัญญัติการซื้อหย่า
เมื่อความรักระหว่างสามีภรรยาได้หายไป ความรังเกียจและเกลียดชังได้เข้ามาแทน และเมื่อมีปัญหาและอุปสรรคในการครองชีวิตคู่ และความบกพร่องของสามีภรรยา หรือคนใดคนหนึ่งได้เผยขึ้น อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา จึงได้วางแนวทางและทางออกกับปัญหาดังกล่าว
ถ้าหากปัญหาดังกล่าวเกิดจากฝ่ายชาย อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้ให้สิทธิ์แก่ฝ่ายชายด้วยการประกาศหย่า แต่ถ้าหากเกิดจากฝ่ายหญิง แท้จริงอัลลอฮฺ ได้อนุญาตให้นางไถ่ถอนหรือซื้อหย่า ด้วยการยกทรัพย์สินจำนวนหนึ่งให้กับฝ่ายชาย จะเท่ากับ หรือน้อยกว่า หรือมากกว่าที่นางได้รับจากฝ่ายชาย ( สินสมรส ) เพื่อให้สามีปลดปล่อยนางจากพันธะกรณีแห่งการแต่งงาน
1. อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ตรัสว่า
﴿الطَّلَاقُ مَرَّتَانِ فَإِمْسَاكٌ بِمَعْرُوفٍ أَوْ تَسْرِيحٌ بِإِحْسَانٍ وَلَا يَحِلُّ لَكُمْ أَنْ تَأْخُذُوا مِمَّا آتَيْتُمُوهُنَّ شَيْئًا إِلَّا أَنْ يَخَافَا أَلَّا يُقِيمَا حُدُودَ اللهِ فَإِنْ خِفْتُمْ أَلَّا يُقِيمَا حُدُودَ اللهِ فَلَا جُنَاحَ عَلَيْهِمَا فِيمَا افْتَدَتْ بِهِ ﴾
การหย่านั้นมีสองครั้ง แล้วให้มีการยับยั้งไว้(ไม่หย่าขาด)โดยชอบธรรม หรือไม่ก็ให้ปล่อยไป(หย่าขาด)พร้อมด้วยการทำดี(คือไม่ทารุณและเอาเปรียบ) และไม่อนุญาตแก่พวกเจ้า ในการที่พวกเจ้า จะเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสิ่งที่พวกเจ้าได้ให้แก่พวกนาง (มะฮัรหรือสินสมรส) นอกจากทั้งสองเกรงว่า จะไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งขอบเขตของอัลลอฮฺได้เท่านั้น ถ้าหากพวกเจ้าเกรงว่าเขาทั้งสองจะไม่ดำรงไว้ซึ่งขอบเขตของอัลลอฮฺแล้วไซร้ ก็ไม่มีบาปใดๆ แก่เขาทั้งสองในสิ่งที่นางใช้มันไถ่ตัวนาง
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 229)
2. รายงานจากอิบนุอับบาส เราะฏิยัลลอฮฺอันฮุมา ว่า แท้จริงภรรยาของษาบิต อิบนุ ก็อยสฺ ได้มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วกล่าวว่า โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ ฉันไม่ตำหนิอุปนิสัยเขาและเรื่องศาสนาของเขา แต่ฉันไม่ชอบการปฏิเสธในอิสลาม (หมายความว่า หากฉันยังอยู่กับเขา ความไม่เชื่อฟังของฉันต่อสามีอาจทำให้ฉันตกอยู่ในสภาพที่ทำให้ฉันปฏิเสธอิสลามได้) ท่านรอซูลุลอฮฺ ศ็อลลัลลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้กล่าวว่า
«أَتَرُدِّينَ عَلَيْـهِ حَدِيْقَتَـهُ؟» قَالَتْ: نَعَمْ، قَالَ رَسُولُ الله صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّم : «اقْبَلِ الحَدِيْقَةَ وَطَلِّقْهَا تَطْلِيقَةً».
"เธอจะคืนสวนให้เขาหรือไม่?"
นางกล่าวว่า : ฉันยินดีคืนให้เขา
ท่านรอซูลุลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัลฮิวะสัลลัม จึงบอกแก่ษาบิตว่า "ท่านจงรับสวนนั้นแล้วประกาศหย่านางหนึ่งครั้ง"
( รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ เลขที่ 5273 )
ปัจจัยต่างๆที่อนุญาตให้ทำการซื้อหย่า
1. อนุญาตให้ทำการซื้อหย่าได้เมื่อภรรยาไม่พอใจสามีของนางอันเนื่องมาจากสามีมีบุคลิกการอยู่ร่วมกันไม่ดี หรืออุปนิสัยไม่ดี หรือมีหน้าตาและรูปร่างอัปลักษณ์ หรือเพราะกลัวมีบาปเนื่องจากไม่ให้สิทธิ์ต่อสามี และสามีควรจะตอบรับข้อเรียกร้องของนางในการซื้อหย่าหากต้นเหตุนั้นเป็นที่อนุมัติ
2. เมื่อภรรยาไม่พอใจสามีของนางอันเนื่องจากความบกพร่องของสามีในเรื่องศาสนา เช่นสามีไม่ทำการละหมาด หรือส่ำส่อน ซึ่งนางไม่สามารถที่จะตักเตือนเขาได้ นางจำเป็นต้องหาทางเพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากเขา และเมื่อเขาได้กระทำสิ่งต้องห้ามบางอย่าง แต่เขามิได้บังคับให้นางกระทำสิ่งนั้น ก็ไม่จำเป็นสำหรับนางที่จะต้องทำการซื้อหย่า หากหญิงใดได้ขอหย่าจากสามีโดยปราศจากเหตุผลที่มีน้ำหนัก กลิ่นหอมของสวนสวรรค์จะถูกห้ามสำหรับนาง
ข้อตัดสินการกลั่นแกล้งภรรยา
เป็นที่ต้องห้ามแก่สามีที่จะกลั่นแกล้งและทรมานภรรยาของตนเพื่อจะบังคับให้นางขอหย่าโดยหวังที่จะให้นางคืนทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่เขาได้ให้กับนางไว้ เว้นแต่กรณีที่นางได้กระทำผิดศีลธรรมอย่างชัดเจนเท่านั้นที่สามีมีสิทธิ์เรียกร้องมะฮัรส่วนหนึ่งคืนจากเธอได้
อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า
﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا يَحِلُّ لَكُمْ أَنْ تَرِثُوا النِّسَاءَ كَرْهًا وَلَا تَعْضُلُوهُنَّ لِتَذْهَبُوا بِبَعْضِ مَا آتَيْتُمُوهُنَّ إِلَّا أَنْ يَأْتِينَ بِفَاحِشَةٍ مُبَيِّنَةٍ وَعَاشِرُوهُنَّ بِالْمَعْرُوفِ فَإِنْ كَرِهْتُمُوهُنَّ فَعَسَى أَنْ تَكْرَهُوا شَيْئًا وَيَجْعَلَ اللهُ فِيهِ خَيْرًا كَثِيرًا﴾
ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ไม่อนุมัติแก่พวกเจ้าการที่พวกเจ้าจะเอาบรรดาหญิงเป็นมรดกด้วยการบังคับ และไม่อนุมัติเช่นเดียวกันการที่พวกเจ้าจะขัดขวางบรรดานางเพื่อพวกเจ้าจะเอาบางส่วนของสิ่งที่พวกเจ้าได้ให้แก่พวกนาง นอกจากว่าพวกนางจะกระทำสิ่งลามกอันชัดแจ้งเท่านั้น และจงอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดี หากพวกเจ้าเกลียดพวกนาง ก็อาจเป็นไปได้ว่า การที่พวกเจ้าเกลียดสิ่งหนึ่งขณะเดียวกันอัลลอฮฺก็ทรงให้มีในสิ่งนั้น ซึ่งความดีอันมากมาย
( อัน-นิซาอฺ - 19 )
ข้อตัดสินการซื้อหย่า
การซื้อหย่า คือการยกเลิก ถึงแม้จะเกิดขึ้นโดย กล่าวคำ (ถอดถอน الخلع , ยกเลิก الفسخ , ไถ่ถอน الفداء ) แต่ถ้าหากเกิดขึ้นด้วยการกล่าวคำหย่า หรือด้วยคำหย่าที่เป็นนัย และมีความตั้งใจจะหย่าก็ถือเป็นการหย่า และฝ่ายชายไม่สามารถที่จะกล่าวถ้อยคำคืนดีกับนางได้ ถ้าต้องการกลับคืนดีก็ต้องแต่งงานใหม่และต้องมีสินสอดใหม่ หลังจากที่นางได้พ้นอิดดะฮฺหากการหย่านั้นไม่ใช่ครั้งที่สาม
เวลาสำหรับการซื้อหย่า
อนุญาตให้ไถ่ถอนได้ทุกเวลา ขณะที่มีรอบเดือนหรือไม่มี และหญิงที่ซื้อหย่าจะมีช่วงเวลาแห่งการรอคอย (อิดดะฮฺ) เพียงการมารอบเดือนครั้งเดียว และอนุญาตให้สามีแต่งงานกับภรรยาที่ได้ไถ่ถอนไปแล้วโดยต้องมีความยินยอมจากนาง ด้วยสัญญาแต่งงานและสินสอดใหม่ หลังจากพ้นช่วงเวลาแห่งการรอคอย (อิดดะฮฺ)
ทรัพย์สินที่ใช้ในการซื้อหย่า
ทรัพย์สินทุกอย่างที่สามารถนำมาเป็นสินสอดได้ก็สามารถใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยนในการซื้อหย่าได้ เมื่อภรรยาได้กล่าวว่า จงปลดปล่อยฉันด้วยเงินหนึ่งพัน(ที่นางจ่ายให้กับเขา) แล้วสามีก็ได้ปฏิบัติ นางจะหลุดพ้นจากสามีทันที และสามีมีสิทธิ์จะได้รับเงินหนึ่งพันที่นางได้กล่าวไว้ และสามีไม่ควรเอาทรัพย์สินที่เป็นข้อแลกเปลี่ยนจากนางมากกว่าสินสมรสที่เขาได้ให้กับนางไว้
มุหัมมัด อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
สำนักงานเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด