การให้นม
มุหัมมัด อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
การให้นม คือ การดูดนมของเด็กที่อายุยังไม่ถึงสองขวบจากเต้านมของหญิงผู้ให้นม หรือดื่มจากนมที่คั้นออกมา หรือการกระทำอื่นๆ ในทำนองนี้
อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ได้กล่าวถึงลูกสาวของหัมซะฮฺว่า
«لا تَـحِلُّ لِي، يَـحْرُمُ مِنَ الرَّضَاعِ مَا يَـحْرُمُ مِنَ النَّسَبِ، هِيَ ابْنَةُ أخِي مِنَ الرَّضَاعَةِ»
"เธอไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับฉัน สิ่งถูกห้ามเพราะสาเหตุการให้นมนั้นเหมือนกับสิ่งถูกห้ามเพราะสาเหตุของการสืบเชื้อสกุล
(เช่นการแต่งงาน เป็นต้น) นางคือลูกสาวของพี่ชายร่วมแม่นมกับฉัน (หมายถึง นางมีฐานะเทียบเท่าหลานของท่าน นบี)"
(รายงานโดยอัล-บุคอรีย์ เลขที่ 2645 และสำนวนหะดีษเป็นของท่าน และมุสลิม เลขที่ 1447 )
การเป็นมะหฺร็อมเนื่องจากการดื่มนม
การเป็นที่ต้องห้ามจากการดื่มนม ต้องมีจำนวนห้าครั้งก่อนอายุสองขวบ เมื่อสตรีได้ให้นมแก่เด็กก่อนอายุสองขวบ ห้าครั้ง ถือว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของนางและของสามีนาง และบุคคลที่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับสามีแม่นมก็เป็นบุคคลที่ต้องห้ามสำหรับเขา และบุคคลที่ต้องห้ามสำหรับแม่นมก็เป็นบุคคลที่ต้องห้ามสำหรับเขาเช่นกัน และลูกของทั้งสองก็เป็นพี่น้องของเขา แต่พ่อแม่ของผู้ดื่มนมและต้นตระกูลของทั้งสองรวมถึงลูกหลานจะไม่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับแม่นมและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น พี่น้องชายจากการร่วมแม่นมของบุคคลหนึ่งอนุญาตให้แต่งงานกับพี่น้องหญิงจากเชื้อสายวงศ์ตระกูลของผู้ดื่มนมได้ และพี่น้องชายจากเชื้อสายวงศ์ตระกูลของเขา ก็มีสิทธิ์แต่งงานกับพี่น้องหญิงจากการร่วมดื่มนมของเขาผู้นั้นได้
ลักษณะของการให้นม
เมื่อเด็กได้ดูดนมจากเต้านมแล้วเลิกด้วยตนเองโดยไม่มีสิ่งใดมาขัดขวาง ถือว่าเป็นดูดนมหนึ่งครั้ง หรือเปลี่ยนจากเต้านมข้างหนึ่งไปยังเต้านมอีกข้างหนึ่งก็ถือว่าได้ดูดนมหนึ่งครั้งเช่นกัน หากย้อนมาดูดอีกก็ถือเป็นสองครั้ง ซึ่งการพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ที่จารีตประเพณี และเป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่าถ้าหากหญิงผู้ให้นมนั้นเป็นสตรีที่ดีทั้งรูปร่างและอุปนิสัย รวมถึงเป็นผู้ที่ยึดมั่นในศาสนา
การยืนยันและยอมรับการให้นม
จะให้เป็นที่ยอมรับในเรื่องการรวมดื่มนมนั้นต้องมีพยานชายสองคนให้การยืนยัน หรือชายหนึ่งคนกับหญิงสองคน หรือพยานหญิงคนเดียวที่ถูกยอมรับในเรื่องศาสนาของนาง ถึงแม้นางจะเป็นผู้ให้นมเองหรือไม่ก็ตาม
ผลที่เกี่ยวข้องจากการให้นม
1. เมื่อสตรีได้ให้นมแก่เด็กแม้นางจะเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์หรือหญิงหม้ายก็ตาม ถือว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของนางในเรื่องการห้ามแต่งงาน และอนุญาตให้มอง และอยู่สองต่อสองในที่ลับตา และเป็นที่ต้องห้าม แต่ไม่จำเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดู ไม่ได้เป็นผู้ปกครอง ( วะลีย์ ) และไม่ใช่ผู้สืบทอดมรดก
2. นมสัตว์ไม่มีผลในการที่จะทำให้กลายเป็นที่ต้องห้าม (มะหฺร็อม) เหมือนนมสตรี ถ้าเลี้ยงเด็กสองคนโดยให้นมสัตว์ระหว่างเด็กทั้งสองนั้น ไม่ถือว่าทั้งสองเป็นมะหฺร็อมที่ต้องห้ามระหว่างกัน และการถ่ายเลือดจากผู้ชายไปยังผู้หญิงหรือจากผู้หญิงไปยังผู้ชายก็ไม่ถือว่าเป็นการรวมดื่มนม ดังนั้นระหว่างทั้งสองจึงไม่เป็นมะหฺร็อมที่ต้องห้ามในการแต่งงานและอื่นๆ
3. เมื่อมีการสงสัยในเรื่องการรวมดื่มนมหรือสงสัยจำนวนของการดื่มนมว่าครบห้าครั้งหรือไม่ และไม่มีพยานมายืนยัน ถือว่าไม่เป็นผล คือไม่เป็นมะหฺร็อมที่ต้องห้าม เนื่องจากพื้นฐานดั้งเดิมนั้นคือไม่มีการยืนยันว่าได้ร่วมดื่มนม
ข้อชี้ขาดการดื่มนมของผู้ใหญ่
การดื่มนมที่มีผลให้เป็นที่ต้องห้ามนั้นต้องดื่มห้าครั้งหรือมากกว่าก่อนอายุสองขวบ หากมีความจำเป็นต้องให้ผู้ใหญ่ดื่มนมเนื่องจากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากการเข้าบ้านหรือมีอุปสรรคในการปกปิดเอารัต ถือว่าเป็นที่อนุมัติ จากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่า
جَاءَتْ سَهْلَةُ بِنْتُ سُهَيْلٍ إِلَى النَّبِيِّ صلى الله عليه وسلم فَقَالَتْ: يَا رَسُولَ الله! إِنِّي أرَى فِي وَجْهِ أبِي حُذَيْفَةَ مِنْ دُخُولِ سَالِـمٍ (وَهُوَ حَلِيفُهُ). فَقَالَ النَّبِيُّ صلى الله عليه وسلم «أرْضِعِيهِ». قَالَتْ: وَكَيْفَ أُرْضِعُهُ؟ وَهُوَ رَجُلٌ كَبِيرٌ؟ فَتَـبَسَّمَ رَسُولُ الله وَقَالَ: «قَدْ عَلِـمْتُ أنَّـهُ رَجُلٌ كَبِيرٌ». زَادَ عَمْرٌو فِي حَدِيثِهِ: وَكَانَ قَدْ شَهِدَ بَدْرًا. متفق عليه
สะฮฺละฮฺ บุตรีของสุฮัยลฺได้มาหาท่านเราะสูลลุลอฮฺ แล้วกล่าวว่า โอ้ท่านเราะสูลุลอฮฺ แท้จริงฉันได้เห็นสีหน้าของอบีหุซัยฟะฮฺหึงหวง จากการเข้าหาของท่านสาลิม
ท่านนบี จึงกล่าวว่า "จงให้เขาดื่มนมเสีย"
สะฮฺละฮฺจึงกล่าวว่า ฉันจะให้เขาดื่มนมได้อย่างไรเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว?
ท่านรอซูลุลอฮฺจึงยิ้มและกล่าวว่า "ฉันรู้แล้วว่าเขาเป็นผู้ใหญ่"
ท่านอัมร์ได้เพิ่มเติมในหะดีษของเขาว่า และเขา(หมายถึงสาลิม)ได้ร่วมสู้รบในสงครามบะดัร
(รายงานโดย บุคอรีย์ เลขที่ 4000 และมุสลิม เลขที่ 1453 สำนวนรายงานเป็นของท่าน)
islamhouse.com