การหย่าแบบสุนนะฮ์และการหย่าแบบบิดอะฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  60564

การหย่าแบบสุนนะฮฺและการหย่าแบบบิดอะฮฺ

  

1. การหย่าแบบสุนนะฮฺ   

        คือ การที่สามีหย่าภรรยาของเขาหนึ่งครั้ง โดยที่เขาได้มีเพศสัมพันธ์แล้ว   ขณะที่นางอยู่ในสภาพที่สะอาดจากรอบเดือน และยังไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับนางในรอบเดือนนั้น   การหย่าแบบสุนนะฮฺนี้ สามีมีสิทธิ์ที่จะกลับคืนดีกันได้ จนกว่าภรรยาจะพ้นอิดดะฮ์ ( ช่วงเวลาแห่งการรอคอย ) นั้นก็คือ  3  กุรูอ์   ในเมื่อภรรยาพ้นจากอิดดะฮฺแล้วแต่สามียังไม่ได้คืนดี ก็เป็นการหย่าที่สมบูรณ์ นางก็ไม่เป็นที่อนุมัติแก่สามีนอกจากต้องแต่งงานและมีสินสอดใหม่ แต่ถ้าหากสามีกลับมาคืนดีขณะที่นางอยู่ในอิดดะฮฺ นางก็จะเป็นภรรยาเหมือนเดิม

          และหากเขาได้หย่านางเป็นครั้งที่สอง เหมือนกับที่ได้หย่าครั้งแรก  ถ้ากลับคืนดีขณะที่ยังอยู่อิดดะฮฺ นางก็เป็นภรรยาตามเคย แต่ถ้าพ้นจากอิดดะฮ์แล้วก็เป็นการหย่าที่สมบูรณ์   นางก็ไม่เป็นที่อนุมัติแก่สามีนอกจากต้องแต่งงานและมีสินสอดใหม่
หลังจากนั้นหากเขาได้หย่านางอีกเป็นครั้งที่สาม เหมือนกับการหย่าที่ผ่านๆ มา นางจะพ้นจากสามีทันทีและจะไม่เป็นที่อนุมัติแก่สามีอีกต่อไป เว้นแต่นางได้แต่งงานกับชายอื่นอย่างถูกต้อง  การหย่ารูปแบบขั้นตอนและขั้นตอนดังกล่าว เป็นการหย่าแบบสุนนะฮฺในแง่ของจำนวนและเวลา

          ส่วนหนึ่งในรูปแบบของการหย่าแบบสุนนะฮฺ คือ  การที่สามีได้หย่าภรรยาของเขาหนึ่งครั้งหลังจากที่ได้รู้ว่านางกำลังตั้งครรภ์
 
 อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

«الطَّلَاقُ مَرَّتَانِ فَإِمْسَاكٌ بِمَعْرُوفٍ أَوْ تَسْرِيحٌ بِإِحْسَانٍ»

 การหย่านั้นมีสองครั้ง แล้วให้มีการยับยั้งไว้โดยชอบธรรม หรือไม่ก็ให้ปล่อยไป พร้อมด้วยการทำความดี

 (  อัล-บะเกาะเราะฮฺ  - 229 )

หลังจากนั้น อัลลอฮฺได้ตรัสอีก ว่า

«فَإِنْ طَلَّقَهَا فَلَا تَحِلُّ لَهُ مِنْ بَعْدُ حَتَّى تَنْكِحَ زَوْجًا غَيْرَهُ فَإِنْ طَلَّقَهَا فَلَا جُنَاحَ عَلَيْهِمَا أَنْ يَتَرَاجَعَا إِنْ ظَنَّا أَنْ يُقِيمَا حُدُودَ اللَّهِ وَتِلْكَ حُدُودُ اللَّهِ يُبَيِّنُهَا لِقَوْمٍ يَعْلَمُونَ»

ถ้าหากเขาได้หย่านางอีก นางก็ไม่เป็นที่อนุมัติแก่เขา หลังจากนั้น จนกว่าจะแต่งงานกับสามีอื่นจากเขา

แล้วหากสามีนั้นหย่านาง ก็ไม่มีบาปใดๆ แก่ทั้งสอง ที่จะคืนดีกันใหม่ หากเขาทั้งสองคิดว่า จะดำรงไว้ซึ่งขอบเขตของอัลลอฮฺได้

และนั่นแหละ คือขอบเขตของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์ทรงแจกแจงมัน อย่างแจ่มแจ้งแก่กลุ่มชนที่รู้ดี

 (อัล-บะเกาะเราะฮฺ  230)

          เมื่อการหย่าได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และได้แยกกันอยู่ ส่งเสริมให้ผู้ที่เคยเป็นสามีอำนวยสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ภรรยาอันสมควรแก่ฐานะความเป็นอยู่ของสามีและฝ่ายภรรยา เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ฝ่ายภรรยาและเป็นการปฏิบัติตามสิทธิ์ที่ฝ่ายภรรยาพึงได้รับ  ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า 

« وَلِلْمُطَلَّقَاتِ مَتَاعٌ بِالْمَعْرُوفِ حَقًّا عَلَى الْمُتَّقِينَ»

 และเป็นสิทธิแก่บรรดาหญิงที่ถูกหย่า(จะต้องได้) สิ่งอำนวยสุข (เป็นค่าเลี้ยงดู) โดยคุณธรรมเป็นหน้าที่แก่บรรดาผู้ยำเกรงทั้งหลาย

(  อัลบะเกาะเราะฮฺ : 241 )

 

2. การหย่าแบบบิดอะฮฺ  คือ การหย่าที่ไม่ถูกหลักศาสนบัญญัติ  และแบ่งเป็น 2 ประเภท

 

           2.1 บิดอะฮฺในเรื่องเวลา   และเมื่อได้กลับคืนดีกับภรรยาที่มีรอบเดือนหรือมีเลือดหลังคลอดก็จงยับยั้งนางไว้จนกว่านางจะสะอาดจากรอบเดือน แล้วก็มีรอบเดือนอีก แล้วก็สะอาดจากรอบเดือนหลังจากนั้นถ้าเขาประสงค์จะหย่าก็หย่านางได้  และผู้ใดที่หย่านางขณะที่นางสะอาดจากรอบเดือนแต่ได้มีเพศสัมพันธ์กับนางแล้วก็ให้ยับยั้งนางไว้จนกว่านางจะมารอบเดือน แล้วก็สะอาดจากรอบเดือน หลังจากนั้นถ้าเขาประสงค์จะหย่าก็หย่านางได้

อย่างเช่น   กล่าวคำหย่าขณะที่นางกำลังมีประจำเดือน หรือมีเลือดหลังคลอด หรือในช่วงที่นางสะอาดจากรอบเดือนแต่ได้มีเพศสัมพันธ์กับนางแล้วและยังไม่รู้ว่านางตั้งครรภ์หรือไม่  การหย่ารูปแบบนี้เป็นที่ต้องห้าม ( حرام ) และมีผลบังคับใช้ และผู้ที่กระทำถือว่ามีบาปและจำเป็นต้องกลับคืนดีกันถ้าหากการหย่านั้นยังไม่ใช่ครั้งที่สาม

          รายงานจากอิบนิ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ว่า แท้จริงเขาได้หย่าภรรยาของเขาขณะนางมีประจำเดือน ท่านอุมัรได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัลฮิวะสัลลัม ฟัง ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัลฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า

«مره فليراجعها ثم ليطلقها طاهرا أو حاملا»

จงใช้ให้เขากลับคืนดีกับนางใหม่ หลังจากนั้นให้หย่านางขณะที่นางสะอาดจากรอบเดือน หรือนางได้ตั้งครรภ์ 

(รายงานโดย มุสลิม เลขที่ 1471 )

           รายงานจากอิบนิอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ว่า แท้จริงเขาได้หย่าภรรยาของเขาขณะนางมีประจำเดือน ท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ  ได้ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัลฮิวะสัลลัม ในเรื่องดังกล่าว  ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัลฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า

«مره فليراجعها حتى تطهر ، ثم تحيض حيضة أخرى ، ثم تطهر ثم يطلق بعد أو يمسك»

 “จงใช้ให้เขากลับคืนดีกับนางใหม่จนกว่านางจะสะอาดจากรอบเดือน หลังจากนั้นนางมีรอบเดือนใหม่อีกครั้ง แล้วสะอาดจากรอบเดือน

 หลังจากนั้นให้หย่าหรือยับยั้งนางไว้”

รายงานโดยบุคอรี เลขที่  5251 และมุสลิม เลขที่1471

           2.2 บิดอะฮฺในเรื่องจำนวน  อย่างเช่น   การกล่าวคำหย่าสามครั้งด้วยถ้อยคำเดียวหรือการกล่าวคำหย่าสามครั้งด้วยถ้อยคำสามครั้งในสถานการณ์เดียว  เช่น กล่าวว่า   ( أنت طالق ، أنت طالق ، أنت طالق )  เธอได้หย่าแล้ว ,เธอได้หย่าแล้ว ,เธอได้หย่าแล้ว  . การหย่ารูปแบบนี้เป็นที่ต้องห้ามแต่ก็มีผล ผู้ที่กระทำถือว่ามีบาป แต่การหย่าสามโดยใช้ถ้อยคำเดียว หรือใช้ถ้อยคำหย่าหลายครั้งขณะที่นางสะอาดจากรอบเดือนเดียวกัน ถือว่าได้หย่าเพียงครั้งเดียวพร้อมทั้งเป็นบาป 

 

การหย่าที่มีสิทธิ์คืนดีและการหย่าขาด

1. การหย่าที่มีสิทธิ์คืนดี ( الطلاق الرجعي )  คือ การที่สามีได้หย่าภรรยาของเขาที่ได้มีเพศสัมพันธ์แล้ว หย่าหนึ่งครั้ง  เขายังมีสิทธิ์ที่จะกลับคืนดีกับนางได้  ระหว่างที่นางอยู่ในอิดดะฮฺ   ( ช่วงระยะเวลาแห่งการรอคอย )   ถ้าหากเขาได้คืนดีกับนางหลังจากนั้นแล้วได้หย่าอีกเป็นครั้งที่สอง  เขาก็ยังมีสิทธิ์ที่จะกลับคืนดีกับนางอีกตราบใดที่นางยังอยู่ในอิดดะฮฺ และหญิงที่ถูกหย่าในสองกรณีดังกล่าว ถ้ายังอยู่ในอิดดะฮฺถือว่ายังเป็นภรรยา  มีสิทธิ์ได้รับมรดกซึ่งกันและกัน และสามีต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายเลี้ยงดู และที่พักอาศัย

          หญิงที่ถูกหย่าที่มีสิทธิ์คืนดี  กล่าวคือ หญิงที่ถูกหย่า หนึ่งครั้งหรือสองครั้งหลังจากที่ได้มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือได้เข้าหอกับนางแล้ว จำเป็นต้องพักอาศัยและใช้ชีวิตในช่วงอิดดะฮฺที่บ้านของสามี เผื่อว่าสามีอาจจะกลับคืนดีกับนางได้  และส่งเสริมให้นางแต่งหน้าแต่งตัวเพื่อดึงดูดให้สามีเปลี่ยนใจกลับมาคืนดีกับนาง  และห้ามมิให้สามีไล่นางออกจากบ้านจนกว่านางจะพ้นอิดดะฮฺ

 

2. การหย่าขาด  ( الطلاق البائن )   คือ การหย่าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์  ซึ่งมี 2 ประเภท  คือ

           2.1 การหย่าขาดเล็ก  ( بائن بينونة صغرى ) คือ การหย่าที่ไม่ถึง 3  ครั้ง   เมื่อสามีได้หย่าภรรยาของเขาดังที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ หย่า 1   ครั้ง แล้วอิดดะฮฺได้สินสุดลงขณะที่สามียังไม่ได้คืนดีกับนาง   การหย่ากรณีนี้เรียกว่า  การหย่าขาดเล็ก  (طلاق  بائن بينونة صغرى ) และสิทธิ์ของสามีเหมือนกับชายอื่นทั่วไป  เขามีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกับนางใหม่ ด้วยสัญญาและสินสอดใหม่ แม้ว่านางยังไม่ได้แต่งกับชายอื่นก็ตาม และเช่นเดียวกัน ถ้าสามีได้หย่านางเป็นครั้งที่ 2   และสามีไม่ได้กลับคืนดีกับนางในช่วงอิดดะฮฺ นางจะได้หย่าขาดจากสามี  สามียังมีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกับนาง ด้วยสัญญาและสินสอดใหม่ถึงแม้ว่านางจะยังไม่ได้แต่งกับชายอื่นก็ตาม

           2.2 การหย่าขาดใหญ่ (  طلاق  بائن بينونة  كبرى )   คือ การหย่าที่ครบสามครั้ง เมื่อสามีได้หย่าภรรยาของเขาเป็นครั้งที่  3  ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาจะสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ และนางจะไม่เป็นที่อนุมัติแก่สามีจนกว่านางจะได้แต่งงานกับชายอื่น แต่งงานที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา โดยมีความตั้งใจที่ใช้ชีวิตอย่างสามีภรรยาตลอดไป  มีการเขาหอและมีเพศสัมพันธ์กับสามีใหม่ หลังจากที่ได้พ้นอิดดะฮฺ  หากสามีคนที่ 2 ได้หย่านางและนางได้พ้นจากอิดดะฮฺ นางจึงจะเป็นที่อนุมัติแก่สามีคนแรกที่จะแต่งกับนาง ด้วยสัญญาแต่งงานและสินสอดใหม่  เหมือนกับชายอื่นทั่วไป

          ภรรยาที่ถูกหย่าสามครั้งให้ใช้ชีวิตในช่วงอิดดะฮฺที่บ้านของญาติพี่น้องของนาง เนื่องจากนางไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับสามีแล้ว และสามีไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูและที่พักอาศัย และไม่อนุญาตให้นางออกจากบ้านญาติพี่น้องของนางนอกจากมีความจำเป็น

          เมื่อสามีมีความสงสัยในเรื่องการหย่าร้างหรือเงื่อนไขของการหย่าร้าง  พื้นฐานของเรื่องนี้คือพันธะสัญญาของการแต่งงานยังคงอยู่จนกว่าจะแน่ชัดว่าพันธะสัญญาของการแต่งงานได้สิ้นสุดลง


 

เมื่อไรอนุญาตให้สตรีขอหย่าจากสามี 

          อนุญาตให้สตรีขอหย่าจากสามีต่อหน้าผู้พิพากษา เมื่อนางได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่รวมกันได้อย่างปกติสุข ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้

1. เมื่อสามีละเลยเรื่องการใช้จ่ายเลี้ยงดู

2. เมื่อสามีทำร้ายภรรยาจนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่รวมกันอย่างปกติสุขได้  อย่างเช่น  เหยียดหยามต่อว่านาง หรือตบตีนาง หรือทำร้ายจนนางไม่สามารถทนได้ หรือบังคับให้นางกระทำในสิ่งชั่วช้าหรือการกระทำอื่นๆในทำนองนี้

3. เมื่อนางได้รับความเดือดร้อนจากการหายตัวของสามีและกลัวฟิตนะฮฺที่จะเกิดขึ้นกับนาง

4. เมื่อสามีถูกกักขังเป็นเวลานานและนางได้รับความเดือดร้อนจากการอยู่โดดเดี่ยว

5. เมื่อนางพบข้อบกพร่องของสามีที่คนทั่วไปรับไม่ได้  อย่างเช่น  เป็นหมัน  หรือ ไม่มีความสามารถในการร่วมเพศ หรือ เป็นโรคที่น่าเกลียดอย่างร้ายแรง หรือสิ่งอื่นๆในทำนองนี้

 

หุก่มต่างๆ เกี่ยวกับการหย่าร้าง

• เป็นที่ต้องห้ามสำหรับสตรีที่จะขอหย่าจากสามี ที่เห็นว่านางอาจได้รับอันตรายจากการอยู่โดดเดี่ยวของนาง

• เมื่อสามีกล่าวแก่ภรรยาของเขาว่า  “หากเธอมีรอบเดือนเธอก็ได้หย่า” การหย่าจะมีผลเมื่อแน่ชัดว่าเธอมีรอบเดือน

• ถือเป็นการหย่าขาด เมื่อการหย่านั้นมีทรัพย์สินเป็นข้อแลกเปลี่ยน หรือหย่าก่อนมีเพศสัมพันธ์ หรือหย่าเป็นครั้งที่ 3

• เมื่อสามีกล่าวแก่ภรรยาของเขาว่า  “ ถ้าหากเธอคลอดบุตรชายเธอได้หย่า 1 ครั้ง  หากเธอได้คลอดบุตรหญิงเธอได้หย่า 2 ครั้ง ”  แล้วนางก็ได้คลอดบุตรชาย หลังจากนั้นคลอดบุตรหญิง  การหย่ามีผลกับนาง 1 ครั้งเมื่อนางได้คลอดบุตรชาย และเป็นการหย่าขาดหลังจากที่นางได้คลอดบุตรหญิงและไม่มีอิดดะฮฺสำหรับนาง


 

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์

Islamhouse.com

 การหย่า  Click >>>>