สามีผู้ทำให้พร่องหายไป (มุฏ็อฟฟิฟ) คือใครกัน?
  จำนวนคนเข้าชม  1928


สามีผู้ทำให้พร่องหายไป (มุฏ็อฟฟิฟ) คือใครกัน

 

อุมมุอั๊ฟว์ ...แปลเรียบเรียง

 

      - เชค มุฮัมมัด อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ -(ตัฟซีร ซูเราะฮฺ อัลมุฏ็อฟฟิฟีน)

 

          สามีต้องการให้ภรรยาปฏิบัติในสิทธิของเขาทั้งหมด ไม่ละเลยในสิทธิเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่เขามีสิทธิ์ได้รับ แต่ในยามที่เขาต้องให้สิทธิ์แก่เธอบ้าง เขากลับละเลยไม่เอาใจใส่ ไม่ให้สิทธิที่เธอพึงได้รับแก่เธออย่างครบครัน  มีผู้หญิงจำนวนมากเหลือเกินที่โอดครวญร้องทุกข์เกี่ยวกับสามีในเรื่องทำนองนี้ วัลอิยาซุบิ้ลลาฮฺ 

 

          ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกสามีเรียกร้องสิทธิของพวกเขาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่สามีกลับไม่มอบสิทธิของเธอที่เธอพึงได้รับจากเขาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น เขากลับลดทอนริดรอนสิทธิของเธอไปเสียด้วยซ้ำ ทั้งในเรื่องนะฟะเกาะฮฺ (ค่าเลี้ยงดู) เรื่องการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างดี และเรื่องอื่นๆ

 

          และที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าก็คือ สิ่งเหล่านี้กลับเกิดขึ้นกับคนที่ดูเคร่งครัด เอาเรื่องเอาราวในเรื่องศาสนาเป็นจำนวนมาก กระทั่งผู้หญิงบางคนเอ่ยว่า ที่เธอเลือกสามีคนนี้ก็เพราะชื่อเสียงด้านความดีงาม ความเคร่งครัดในหลักการ แต่สุดท้ายเขากลับเปลี่ยนสภาพไปอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับภรรยา

 

          ฉันไม่รู้จริงๆ ว่าคนที่ภายนอกนับว่าเคร่งครัดเอาหลักเอาการ เขาคิดว่าคนเราจะเคร่งครัดเฉพาะเรื่องการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่ต้องสนใจในสิทธิของเพื่อนมนุษย์เลยอย่างนั้นหรือ..

 

          ความจริงแล้วการอธรรมต่อมนุษย์ด้วยกันนั้น หนักหนาเสียยิ่งกว่าการที่เขาอธรรมต่อตัวเองในเรื่องที่เขาเกินเลยขอบเขตของอัลลอฮฺเสียอีก เพราะการที่มนุษย์อธรรมต่อตนเองในเรื่องสิทธิที่เขาพึงมีต่ออัลลอฮฺนั้นอยู่ในพระประสงค์ของพระองค์  ตราบใดที่มิใช่การทำชิริก หากพระองค์ประสงค์จะอภัยให้เขา พระองค์ก็จะทรงอภัยให้ และหากพระองค์ประสงค์จะลงโทษเขา พระองค์ก็จะทรงลงโทษ แต่ฮักกุ้ลอาดัม (สิทธิของเพื่อนมนุษย์) นั้นไม่ได้อยู่ภายใต้พระประสงค์ของพระองค์ จึงจำเป็นต้องรักษาและทำตามสัญญา 

 

     ด้วยเหตุนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า :

 

(أتدرون من المفلس؟ قالوا: المفلس فينا من لا درهم له ولا متاع! قال : المفلس من يأتي يوم القيامة بحسنات كثيرة، فيأتي وقد ظلم هذا وشتم هذا وضرب هذا، وأخذ مال هذا، فيأخذ هذا من حسناته، وهذا من حسناته، وهذا من حسناته، فإن بقي من حسناته شيء وإلا أخذ من سيئاتهم فطرح عليه ثم طرح في النار).

 

     “พวกท่านรู้หรือไม่ว่าใครคือผู้ล้มละลาย ?

     บรรดาศ่อฮาบะฮฺกล่าวตอบว่า :“ผู้ที่ล้มละลายในหมู่พวกเราคือ คนที่ไม่มีเงินทองและไม่มีเสบียงใดๆ” 

     ท่านตอบว่า

     “ ผู้ที่ล้มละลาย คือ ผู้ที่จะมาในวันกิยามะฮฺด้วยกับคุณงามความดีที่ทำเอาไว้มากมาย แต่แล้วเขาได้อธรรมกลั่นแกล้งคนนั้น ด่าว่าคนนี้ ทำร้ายคนนั้น ริบทรัพย์คนนี้  เมื่อนั้น คนนั้นจึงริบเอาความดีของเขาไป คนนี้จึงริบเอาความดีของเขาไป หากว่าเขามีความดีหลงเหลืออยู่ แต่หากไม่มีความดีหลงเหลืออยู่แล้ว เขาก็จะถูกนำเอาความผิดของคนพวกนั้นมาให้กับตัวเขาเอง ความผิดเหล่านั้นจะถูกโยนมาไว้ที่เขา หลังจากนั้นเขาก็ถูกโยนเข้าสู่ไฟนรก

 

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

 

           คำตักเตือนของฉันสำหรับบรรดาพี่น้อง ที่เกินเลยขอบเขตและบกพร่องในสิทธิหน้าที่ที่พึงมีต่อคู่ครองของตัวเอง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่เคร่งครัดหรือไม่นั้น ฉันขอให้เขายำเกรงต่ออัลลอฮฺ  عز وجل เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้กำชับสั่งเสียในเรื่องนี้ไว้ ณ สถานที่แห่งการเป็นสักขีพยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอิสลามในช่วงชีวิตของท่าน นั่นคือในวันอะรอฟะฮฺ ในการประกอบพิธีฮัจญ์ครั้งอำลาว่า 

 

 (اتقوا الله في النساء، فإنكم أخذتموهن بأمان الله، واستحللتم فروجهن بكلمة الله)

 

     “ ท่านทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮฺในเรื่องของสตรีเถิด

     เพราะแท้จริง พวกท่านได้รับเอาพวกเธอมา (เป็นภรรยา) ด้วยพันธสัญญาของอัลลอฮฺ

     และพวกท่านได้ขอให้อวัยวะสงวนของพวกเธอเป็นที่อนุมัติด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ

 

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)

     ดังนั้น เราจึงถูกกำชับให้ยำเกรงอัลลอฮฺ عز وجل ในเรื่องของพวกผู้หญิง 

 

     ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :

 

(استوصوا بالنساء خيراً فإنهن عوان عندكم)

 

     “ท่านทั้งหลายจงกำชับสั่งเสียกันและกันให้ปฏิบัติดีต่อสตรีเถิด เพราะพวกเธอนั้นคือ ทาสี ณ ที่พวกท่าน

 

            หมายถึง มีสถานะประหนึ่งทาส เพราะคนที่เป็นทาสนั้น เจ้านายจะปล่อยไปเมื่อใดก็ได้ หรือจะเก็บทาสเอาไว้อย่างไรก็ได้ตามแต่ที่เขาต้องการ สถานะของผู้หญิงสำหรับสามีของเธอก็เช่นกัน หากเขาปรารถนาจะหย่าร้างเธอเขาก็ทำได้ หรือเขาจะรักษาเธอไว้ก็สุดแต่เขาต้องการเช่นกัน เธอจึงมีสถานะประหนึ่งทาส ที่สามี 

 

          เพราะฉะนั้น จงยำเกรงอัลลอฮฺในเรื่องของเธอไว้ให้ดี (โดยให้ปฏิบัติดีและอย่าริดรอนสิทธิของเธอ) หากสามีต้องการให้ภรรยาปฏิบัติในสิทธิของตนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ขณะเดียวกันเขาเองกลับทรยศ ริดรอนสิทธิที่เธอพึงได้รับจากเขา เราจะเรียกว่า เขาคือมุฏ็อฟฟิฟ (ผู้ที่ริดรอนสิทธิ์ผู้อื่น ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้สิทธิของตนขาดหายไป)

 

      ซึ่งเราขอเตือนด้วยดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลาที่ว่า 

 

{ ويل للمطففين، الذين إذا اكتالوا على الناس يستوفون، وإذا كالوهم أو وزنوهم يخسرون } ..

 

     “ความหายนะจงประสบแด่บรรดาผู้ทำให้พร่อง (ในการตวงและการชั่ง) o คือบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาตวงเอาจากคนอื่นก็ตวงให้เต็ม o และเมื่อพวกเขาตวงหรือชั่งให้คนอื่นก็ทำให้ขาด

 

(อัลมุฏ็อฟฟิฟีน 1-3)

 

     และ ณ ที่นี้เองพระองค์ได้ตรัสต่อไว้ว่า 

 

{ ألا يظن أولئك أنهم مبعوثون، ليومٍ عظيم، يوم يقوم الناس لرب العالمين} 

 

     “ชนเหล่านั้นมิได้คิดบ้างหรือว่า พวกเขาจะถูกให้ฟื้นคืนชีพ o สำหรับวันอันยิ่งใหญ่ o วันที่มนุษย์จะยืนต่อหน้าพระเจ้าแห่งสากลโลก

 

(อัลมุฏ็อฟฟิฟีน 4-6)