การถก(โต้)เถียง
  จำนวนคนเข้าชม  2002


มารยาทอิสลามในการถก(โต้)เถียง

 

อ.อิลยาส วารีย์

 

บทที่ 1 การถกเถียง

 

          ธรรมชาติของมนุษย์ ย่อมหนีไม่พ้นการโต้แย้ง ถกเถียง รวมไปถึงการทะเลาะเบาะแว้ง ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวไว้ในซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟ ที่ว่า

 

((وَكَانَ الْإِنْسَانُ أَكْثَرَ شَيْءٍ جَدَلاً۞))

 

“...และส่วนมากที่มนุษย์ทำนั้นคือการโต้แย้ง

 

เช่นเดียวกับในซูเราะฮฺ ฮูด ที่ว่า

 

((وَلَوْ شَاءَ رَبّك لَجَعَلَ النَّاس أُمَّة وَاحِدَة وَلَا يَزَالُونَ مُخْتَلِفِينَ إِلَّا مَنْ رَحِمَ رَبّك وَلِذَلِكَ خَلَقَهُمْ وَتَمَّتْ كَلِمَة رَبّك لَأَمْلَأَنَّ جَهَنَّم مِنْ الْجِنَّة وَالنَّاس أَجْمَعِينَ۞))

 

     “และหากพระผู้อภิบาลของเจ้าต้องการ พระองค์จะให้มนุษย์นั้นรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่ทว่าพวกเขายังคงขัดแย้งกันอยู่ เว้นแต่ผู้ที่พระผู้อภิบาลของเจ้าเมตตา เช่นนี้ที่พวกเขาถูกสร้าง

     และคำพูดของพระผู้อภิบาลของเจ้าได้สมบูรณ์แล้วที่ได้กล่าวว่า ข้าจะเติมเต็มนรกด้วยกับญิน และมนุษย์ ทั้งหลาย

 

         บทความนี้มิได้เขียนเพื่อโจมตีบุคคลหนึ่งบุคคลใด กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หากเนื่องจากความรุนแรงของการโต้แย้ง ถกเถียงของมุสลิมปัจจุบัน (โดยเฉพาะในประเทศไทย) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการถกเถียงปัญหาศาสนาระหว่างกลุ่มที่มีความคิดต่าง ที่ต่างเชื่อมั่นในแนวทางของตน และความถูกต้องของตน จนบางครั้งอาจมีการใช้คำพูด หรือรูปแบบ ที่ไม่เหมาะสม ที่ขัดกับการเป็นมุสลิมเลยทีเดียว !!

 

          การตัดสินว่าผู้ใดผิด หรือถูกนั้น เป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกมาคุยกันเป็นกรณีๆ ซึ่งย่อมไม่มีใครรู้ดียิ่งไปกว่าอัลลอฮฺ แต่แน่นอนที่ทุกฝ่ายย่อมมองว่าตนเองนั้นชอบธรรม อยู่บนแนวทางที่ถูกต้อง ในขณะที่อีกฝ่าย อยู่ในกลุ่มคนที่หลงผิด

 

          ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอ เสียดสี ประชดประชัน ในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะเพราะเจตนาใดก็ตาม สิ่งเหล่านั้นล้วนยากที่จะใช้ในการเปิดใจของอีกฝ่ายได้ และอาจได้เพียงความสะใจของผู้ที่ได้กระทำมันไป ผลที่ตามมานอกจากจะยิ่งเป็นการเพาะปลูกความเกลียดชังระหว่างกัน มันยิ่งทำให้ชัยฏอนพอใจ และทำให้อัลลอฮฺไม่พอใจพวกเรา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่หรือ?

 

          ต่อให้เป็นฝ่ายที่ถูกต้อง แต่หากได้นำเสนอความถูกต้องนั้นอย่างไร้มารยาทแล้ว สิ่งที่ตามมาย่อมไม่มีทางได้รับความดีงามอย่างแน่นอน ดังเช่นที่อัลลอฮฺได้กล่าวเตือนไว้ว่า

 

((وَلَوْ كُنْتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لَانْفَضُّوا مِنْ حَوْلِكَ۞ فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الْأَمْرِ۞))

 

     “หากเจ้าเป็นผู้กักขฬะ ทั้งยังมีใจที่หยาบกระด้าง พวกเขาย่อมเตลิดไปจากเจ้า ดังนั้นจงให้อภัยแก่พวกเขา จงขออภัยให้แก่พวกเขา และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในการงานต่างๆ

(ซูเราะฮฺ อาล อิมรอน)

 

          อายะฮฺดังกล่าวมีประเด็นหลากหลายเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่ แต่ในที่นี้ผู้เขียนขอเลือกมองในประเด็นที่ว่า ต่อให้เราเป็นฝ่ายที่ถูก อยู่บนทางนำ นั่นก็ไม่ใช่เหตผลที่ดีพอที่จะทำให้เราสามารถไร้มารยาทต่อคู่สนทนาที่ผิดได้ 

 

...อิสลามถูกแต่งตั้งมาเพื่อทำให้มารยาทสมบูรณ์ในทุกๆด้าน ใช่หรือไม่ ?

...ยิ่งเราเป็นฝ่ายถูก หรือเราเป็นคนดี เรายิ่งต้องมีมารยาทมากที่สุดในหมู่มนุษย์ใช่หรือไม่ ?

...ใช่หรือไม่ที่ท่านนบีมุฮัมมัด เป็นผู้ที่รู้มากที่สุดในเรื่องศาสนา ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด และท่านก็ยังมีมารยาทที่ดีที่สุด ?

...ท่านได้ตอบกลับสิ่งไม่ดี ด้วยสิ่งที่ดีกว่าใช่หรือไม่ ?

...เช่นนั้นแล้ว แบบฉบับบที่มุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ หรือไม่ก็ตาม เราต้องนำมาจากท่าน นบีมุฮัมมัด ใช่หรือไม่ ?

...หาไม่แล้วเราจะยังมีหน้ามาอ้างว่าเราอยู่บนแนวทางที่ถูกต้องอีกกระนั้นหรือ ?

...ยิ่งเป็นปัญหาศาสนาที่ใช้การตีความ เราก็ย่อมมีโอกาสถูก ในขณะที่อีกฝ่ายก็มีโอกาสถูกเหมือนกันใช่หรือไม่ ?

...อะไรทำให้เราเหนือกว่าอีกฝ่าย ?

...หรือมีเพียงเราที่ผูกขาดความพอใจของอัลลอฮฺ เหมือนกับที่ยิวคิดกระนั้นหรือ ?

 

          การทะเลาะเบาะแว้ง การถกเถียง ต่างๆ ที่มีในขณะนี้ ล้วนก่อให้เกิดภาพลบต่อตัวผู้ที่กระทำมัน และต่อสังคมมุสลิมโดยรวม ทั้งจากสายตาของบุคคลทั่วไป และสายตาของพี่น้องมุสลิมด้วยกันเอง ที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้น ภาพลักษณ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอคติในการเป็นมุสลิมของพี่น้องมุสลิมบางส่วน รวมถึงมุมมองของคนต่างศาสนิกที่อาจเป็นเหตุให้พวกเขาพลาดจากการได้รับสัจธรรม

 

          บทความชิ้นนี้ผู้เรียบเรียงพยายามนำเสนอข้อมูลเรื่อง มารยาทอิสลามในการถกเถียง โดยหวังให้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับใช้พี่น้องมุสลิม เป็นเพียงการแนะนำ ตักเตือน และเตือนสติ ซึ่งได้ขยายความมาจากเอกสารที่อาจารย์ท่านหนึ่งได้สรุปมาจากหนังสือ

الضوابط الفقهية في التعامل مع المخالف في المسائل الأصلية والفرعية

หลักทางวิชาการอิสลาม ในการปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นแย้งในเรื่องหลัก และปลีกย่อยของศาสนา

 

         ผู้อ่านอาจไม่รู้จักกับพวกเรา แต่ผมหวังว่าผู้อ่านจะให้ความสำคัญกับเนื้อหา สาระ ที่นำเสนอ มากกว่าตัวบุคคลที่นำเสนอ ขออัลลอฮฺเมตตาท่านอาจารย์ผู้สรุป ผู้เรียบเรียงหนังสือ และพวกเราทุกคนด้วยเถิด อามีน

 

          ทั้งนี้ผมมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้เหนือกว่าใคร ไม่ได้รู้มากกว่าใคร ผมมีข้อผิดพลาดมากมาย และผมเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มคนที่ขัดสนต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ และนั่นเป็นเหตให้ผมหวังให้พี่น้องของผมได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺเช่นเดียวกับที่ผมก็กระหายอยากได้เช่นกัน

 

 

...อ่านต่อคลิก ...>>>มารยาทในการถก(เถียง)ตามมุมมองของอิสลาม