มารยาทในการถก ตามมุมมองของอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  4893


มารยาทอิสลามในการถก (โต้) เถียง

 

.อิลยาส วารีย์

 

บทที่ 2 มารยาทในการถก ตามมุมมองของอิสลาม

 

           ในที่นี้ผมได้พยายามประมวลข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆ หากมีข้อผิดพลาดประการใด มันมาจากความขาดตกบกพร่องของตัวผมเอง หากมีส่วนใดที่ถูกต้อง มันมาจากความเมตตาของอัลลอฮฺ ขอให้อัลลอฮฺเมตตาพวกเราทุกคน อามีน

 

♦ มารยาทข้อที่ 1 ตรวจสอบเจตนาในการการถกของตน

 

     ท่านนบีได้กล่าวว่าคุณค่าของการงานทั้งหลาย อยู่ที่เจตนา (แรงผลักดันที่กระทำมัน)”

          เรามักพบว่านักวิชาการอาวุโสหลายต่อหลายท่านมักเขียนฮะดิษบทนี้ไว้ในบทแรกของหนังสือที่พวกท่านเขียน เพราะการรู้ถึงคุณค่าของการตั้งเจตนาที่ดี และความสำคัญของการระวังเจตนาของตัวเองไม่ให้หลงไปจากการต้องการความเมตตาของอัลลอฮฺ ซึ่งจำเป็นที่ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่จะถกเถียงเรื่องศาสนาต้องตรวจสอบเจตนาของตนเสมอ ว่าสิ่งที่เรากำลังทำไปนั้น เราทำไปเพื่ออะไร? เพื่อความสะใจของตน? เพราะความไม่พอใจ? หรือเพื่อความพอใจของอัลลอฮฺกันแน่?

           ด้วยเรื่องเจตนานั้นเป็นสิ่งที่ เราหลอกตัวเองไม่ได้ แต่เรามักจะแกล้งหลอกตัวเองเสมอ ซึ่งใครไม่มั่นใจว่าจะสามารถรักษาเจตนาของตนให้มีความบริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺได้ เขาก็สมควรออกห่างจากเรื่องนั้น เพราะเขาจะไม่ได้รับอะไรเลยนอกจากความขาดทุน และความเสียหาย ที่เขาอาจจะไม่ได้รับในโลกนี้ แต่เขาจะได้รับมันในโลกหน้าอย่างแน่นอน วะนะอูซุบิลลาฮฺมินซาลิก (เราขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้รอดพ้นจากมัน)

 

♦ มารยาทข้อที่ 2 เราเป็นเพียงผู้นำเสนอข้อมูล ไม่ใช่ผู้เปิดใจ

 

          ผู้ที่จะทำการถกต้องบอกกับตัวเองเสมอว่าเราเป็นเพียงผู้นำเสนอข้อมูลต่อให้เป็นข้อมูลที่เรามั่นใจว่าถูกต้องแค่ไหน เราก็ไม่สามารถบีบบังคับให้ใครมองเห็นเหมือนที่เราเห็นได้ผู้ให้ทางนำคืออัลลอฮฺ เราเป็นเพียงผู้นำเสนอข้อมูล

           ดังนั้น อย่าได้โกรธ เกลียด เสียใจ เกินไป หากเราไม่สามารถชักจูงใครได้ ที่สำคัญสิ่งที่เราเห็นมันก็อาจจะผิดได้ อัลลอฮฺย่อมรู้ดี ในขณะที่เราแทบไม่รู้อะไรเลย

 

♦ มารยาทข้อที่ 3 อย่าถกเพื่อให้ตัวเองดูดี หรือเถียงเอาชนะ

 

          ไม่ว่าสาเหตุเริ่มแรกของการเถียงนั้นจะมาจากอะไร ตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อได้ถกเถียงไปแล้วระยะหนึ่ง ส่วนหนึ่งของจิตใจเรามักมีความต้องการที่จะเถียงให้ชนะอีกฝ่ายหนึ่ง อยากเห็นอีกฝ่ายต้องอับอาย และอาจถึงขั้นอยากเห็นอีกฝ่ายย่อยยับไปต่อหน้าต่อตา นิสัยนี้เป็นนิสัยที่เราต้องระวังเนื่องจากเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของมุนาฟิก (ผู้กลับกลอก) ที่ท่านนบีเตือนไว้ว่า 

และเมื่อเขา (คนกลับกลอก) โต้เถียง เขาก็จะเถียงอย่างเกินเลย (เกินขอบเขต ความถูกต้อง)”

 

♦ มารยาทข้อที่ 4 การข่มตนให้ยอมรับสัจธรรม (ละทิ้งการยึดมั่น ถือมั่น ในตนเอง)

 

          ตามปกติแล้ว ปัญหาถกเถียงในเรื่องศาสนาที่อาศัยการตีความจากตัวบทเป็นหลัก (เช่นเรื่องการดูเดือน จำนวนการละหมาดยามค่ำคืน) ในระหว่างกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างกันนั้น เป็นไปได้อยู่ 4 กรณีคือ ต่างฝ่ายต่างผิด ต่างฝ่ายต่างถูก ต่างฝ่ายต่างมีด้านที่ถูก และผิด และฝ่านหนึ่งถูก ฝ่ายหนึ่งผิด

          ในกรณีแรกไม่มีทางเกิดขึ้นกับมุสลิม เนื่องจากอัลกุรอาน และฮะดิษ ได้รับรองเอาไว้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชาตินี้จะผิดกันหมดในเรื่องหนึ่งเรื่องใดของศาสนาจึงเหลืออีกสามกรณี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใด การถกเถียงนั้นต้องมีเป้าหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้อง ไม่ใช่การทำให้ตัวเองคือความถูกต้อง 

          ดังนั้นไม่ว่าความจริงที่ได้จะถูกใจเรา หรือไม่ หน้าที่ของผู้ถกที่เป็นมุสลิมคือการยอมรับความจริง และอย่าได้ยึดติดที่ตัวบุคคล หรือตัวตนของตน อย่าได้กลัวเสียหน้า หรือเสียฟอร์ม เพราะบรรดากลุ่มชนที่ยึดติดกับตัวเอง หรือยึดติดกับตัวบุคคล (ที่อัลลอฮฺไม่ได้รับรอง) ล้วนพบกับความหายนะมานักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อิบลีส ฟาโรห์ กษัตริย์นัมรูด มุชริกชาวกุรอยช์ในยุคนบี เป็นต้น

 

♦ มารยาทข้อที่ 5 ระวังการยกตน หรือพฤติกรรมที่ส่อว่ายกตน

 

          แท้จริงอัลลอฮฺรังเกียจผู้ที่ยะโส และผู้ใดก็ตามที่คิดว่า ตนเองถูกต้องไม่มีทางผิดพลาดในทุกเรื่อง และฝ่ายที่มองต่างจากตนนั้นผิดพลาดแน่นอนไม่มีทางถูกซักอย่าง เขาได้เกินเลยจากการเป็นผู้อธรรมไปสู่สิ่งที่น่ารังเกียจยิ่งกว่านั่นคือการ ยกย่องตัวเอง (تزكية النفس)

          ความคิดนี้ไม่ว่าจะเกิดกับตัวผู้ถก หรือผู้ติดตาม มันเป็นความคิดที่อัลลอฮฺรังเกียจอย่างแน่นอน และมีเพียงอัลลอฮฺเท่านั้นที่รู้จริงถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจบ่าวของพระองค์

: النجم]32{فَلَا تُزَكُّوا أَنْفُسَكُمْ هُوَ أَعْلَمُ بِمَنِ اتَّقَى} [

และจงอย่าได้ยกย่องตัวของพวกเจ้าเอง พระองค์ย่อมรู้ดีที่สุดว่าใครคือผู้ที่มีความยำเกรงที่สุด

 

 มารยาทข้อที่ 6 พึงตระหนักเสมอว่า ศาสนาคือการตักเตือน

 

          อีกหนึ่งในธรรมชาติที่น่ารังเกียจของมนุษย์คือเราชอบเตือนคนอื่น แต่ไม่ชอบให้ใครมาเตือนบางทีมันอาจเหมือนว่า การได้เตือนคนอื่นแสดงถึงความเหนือกว่า แต่เมื่อถูกเตือนจะแสดงถึงความต่ำต้อยกว่า ซึ่งเป็นที่น่าเศร้าใจ ที่เราพบเห็นคนเป็นจำนวนมาก และบางครั้งก็ผู้รู้เองที่ยอมรับไม่ได้เมื่อตนถูกเตือน โดยเฉพาะจากคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามตน และมักสวนกลับก่อนใคร่ครวญในสิ่งที่เขาว่ามา!?

          ใช่หรือไม่ที่คนที่ยังพัฒนาได้อยู่ คือคนที่ยอมรับว่าตนมีข้อบกพร่อง และหากเราคิดว่าตนดีแล้ว เขามักไม่พัฒนาตนต่อ ดังคำกล่าวที่ว่าหากอยากทำร้ายใคร จงชมเขาให้มาก

          คนเราทุกคนล้วนเป็นคนบาป จะผู้รู้ หรือไม่ ทุกคนล้วนเป็นคนบาป และแก่นหลักของศาสนา คือการตักเตือน หากไม่สามารถรับการตักเตือนได้ ก็ไม่สมควรไปเตือนผู้อื่น ยิ่งเป็นผู้รู้แล้วย่อมยิ่งรู้ว่าการตักเตือนนั้นสำคัญเพียงไร แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นผู้เตือนก็สมควรจะมีมารยาทในการเตือนที่ดีด้วยเช่นกัน

 

♦ มารยาทข้อที่ 7 พึงรำลึกไว้เสมอว่าการถกเถียงนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และมนุษย์นั้นมีความสามารถที่เหลื่อมล้ำกัน

 

          เนื่องจากความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการรับรู้ ของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่าง และเหลือมล้ำกัน ตามขอบเขตระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่สมควรไปฝืนบังคับให้ใครเข้าใจในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับการพิจารณาถึงรูปแบบการรับรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละคน การพูดคุยกับเด็กอนุบาล ย่อมใช้รูปแบบที่แตกต่างจากการพูดคุยกับนักศึกษา การคำนึงถึงพื้นฐาน ความสามารถ ทางด้านภาษา และความรู้ของคู่สนทนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

     ท่านอาลี (ขออัลลอฮฺพอใจในตัวท่าน ตลอดจนศอฮาบะฮฺ และคนในครอบครัวของท่านนบี) ได้กล่าวว่าจงพูดในสิ่งที่ผู้คนเข้าใจ

          การเลือกถกกับผู้ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญของการถกตามขอบเขตที่เหมาะสม

 

♦ มารยาทข้อที่ 8 รู้พื้นเพ บริบท และจุดยืน เวลานั้นของคู่สนทนาที่ถกด้วย

 

          เนื่องจากผู้ที่พยายามค้นหาความจริง ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงความคิด มุมมองของตนที่มีต่อข้อวินิจฉัยแต่ละข้อในเรื่องศาสนา เช่นอิมามชาฟิอี ที่ในขณะที่ท่านอยู่ที่อิรัคนั้น ท่านได้มีมุมมอง ข้อวินิจฉัย ในเรื่องศาสนาไว้อย่างหนึ่ง แต่เมื่อท่านเดินทางไปยังอิยิปต์ ได้ไปพบปะกับนักวิชาการต่างๆ ได้ศึกษาสภาพผู้คน ท่านได้เปลี่ยนแปลงบางความคิดเห็นของท่านที่เคยตัดสินไปแล้ว (ซึ่งไม่มีนักวิชาการท่านใดประนามพฤติกรรมดังกล่าว) ดังนั้นจึงไม่ควรบังคับคู่สนทนาให้ยึดติดกับสิ่งที่เขาเคยคิด เคยพูดไว้ และให้ยึดเอาความคิดเห็นในช่วงเวลาสนทนานั้นเป็นหลัก

 

♦ มารยาทข้อที่ 9 อย่าได้จงเกลียดจงชังกัน เพียงเพราะการขัดแย้งที่เกิดจากการตีความ

 

           เนื่องจากบรรดาผู้ที่ได้พยายามค้นหาความจริงโดยการตีความจากตัวบท หลักฐาน (ในเรื่องที่ไม่สามารถตัดสินอย่างชัดเจนได้ด้วยตัวบท หลักฐานอย่างเดียว) หากมีความเห็นต่างจากกัน ต่างฝ่ายย่อมมีโอกาสถูก และผิด ซึ่งไม่มีใครสามารถตีความเข้าข้างตัวเองได้ว่า ตัวเองเหนือกว่าอีกฝ่าย เพราะไม่มีใครที่อัลลอฮฺรับรองนอกจากท่านนบีมุฮัมมัด (ขออัลลอฮฺให้พร และความสันติ แก่ท่าน)

     ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ (ขออัลลอฮฺเมตตาท่าน และบรรดานักวิชาการอิสลามทั้งหลาย) ได้กล่าวไว้ว่าไม่จำเป็นว่าผู้ที่พยายามศึกษาตัวบทหลักฐานจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถไปว่าร้ายผู้ที่พยายามแล้วได้ หากจะว่าก็ต่อเมื่อเขาได้ฝ่าฝืนข้อห้ามที่ชัดเจน หรือไม่ยอมปฏิบัติคำสั่งที่ชัดเจน(เพราะอิสลามได้สอนไว้ว่าผู้ที่ได้พยายามแล้ว หากเขาผิดเขาได้หนึ่งความดี ส่วนผู้ที่พยายามแล้วเขาถูกเขาได้สองความดี)

          การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ตนมั่นใจว่าถูกต้องที่สุด และอยู่ร่วมกับผู้เห็นต่างอย่างสันติ คือรูปแบบที่อิสลามสอนเอาไว้ ซึ่งการยึดติดอย่างไม่ลืมหูลืมตานำมาซึ่งปัญหา ความวุ่นวายที่เราพบเห็นได้ แม้แต่ในยุคปัจจุบัน

 

♦ มารยาทข้อที่ 10 หลีกเลี่ยงการถกเถียงในที่ชุมชน หรือการผ่านสื่อ นอกจากจำเป็น

 

          เนื่องจากการถกในที่ชุมชน หรือการถกที่เปิดกว้างเกินไปนั้น มักไม่จบด้วยการยอมรับความจริงจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่มักนำไปสู่การด่าทอ การตัดขาดจากกันและกัน ความโกรธแค้นระหว่างคู่สนทนา และผู้ติดตาม และปัญหาความวุ่นวายที่รุนแรงขึ้นไปอีก

 

♦ มารยาทข้อที่ 11 ระวังการโต้กลับเกินที่กว่าเหตุ

 

          การมุ่งตีแผ่ประเด็นปลีกย่อย การจับผิดเล็กจับผิดน้อย แล้วนำไปขยายความใหญ่โต โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังถกกันอยู่ เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ และต้องไม่กระทำ ไม่ว่าคู่สนทนาจะเป็นมุสลิม หรือไม่ก็ตาม เพราะเป้าหมายของการถกคือการทำให้ความจริงปรากฎ ไม่ใช่การสร้างความอัปอาย หรือการทำร้าย ชื่อเสียงเกียรติยศ ของอีกฝ่าย

 

♦ มารยาทข้อที่ 12 ตัดสินตามที่ปรากฎ อย่าตัดสินใจของใคร นอกจากใจตน

 

           การหักล้างความคิดเห็นของคู่สนทนานั้น จำเป็นต้องหักล้างจากสิ่งที่เขาพูด หรือกระทำมันออกมา อย่าได้หักล้างด้วยการตัดสินความคิด หรือ เจตนา ของเขา เนื่องจากความนึกคิดเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสามารถของมนุษย์ที่จะตัดสิน นอกจากเราจะถกกับกลุ่มชนที่มีความเชื่อ การศรัทธา ที่ว่าต้องโกหก (อำพราง) เวลาถกเถียง การถกกับกลุ่มชนดังกล่าว ต้องอาศัยการพิจารณาที่ละเอียด และรอบคอบ

 

♦ มารยาทข้อที่ 13 ให้ความเป็นธรรมกับคู่ถก

 

     การให้ความเป็นธรรมนั้นมีหลายรูปแบบ

หนึ่ง การยอมรับในความรู้ที่เขามีอยู่

สอง การยอมรับในส่วนที่ถูกของเขา (ไม่ใช่ว่าเมื่อเกลียดใครก็ไม่ยอมรับอะไรจากเขาเลย)

สาม อย่าตีความคำพูดของเขาเกินเลยจากที่เขาสื่อ

           และส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้คนไม่ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี โดยเฉพาะเวลาถกเถียงเรื่องศาสนา มาจาก การมีพื้นเพมาจากสังคมที่ยึดติดกับมัซฮับหนึ่งมัซฮับใด การยึดติดในลาภยศ สรรเสริญ การยึดติดกับพวกพ้อง การยึดติดบรรพบุรุษ การกลัวเสียฟอร์มหากต้องกลับคำพูด

 

♦ มารยาทข้อที่ 14 ให้เกียรติคู่สนทนา

 

          ความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่สาเหตที่ทำให้ดูถูกคู่กรณีได้ โดยเฉพาะความขัดแย้งในส่วนปลีกย่อยของศาสนา เพราะฉะนั้นทั้งคำพูดจา และพฤติกรรมที่แสดงออกมาควรให้เกียรติแก่คู่สนทนาเพราะพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิม คือความเป็นพี่น้องไม่ใช่ความเป็นศัตรู

 

♦ มารยาทข้อที่ 15 อย่ารีบตัดสินใครจนกว่าจะเข้าใจเขาแล้วอย่างถ่องแท้

 

          อย่าตัดสินใครจากข้อมูลที่ไม่ชัดเจน นอกจากจะมั่นใจจริงๆถึงสิ่งที่พูด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการใส่ร้าย ซึ่งสิ่งเลวร้ายจะตกแก่ผู้ที่กระทำมันอย่างแน่นอน

 

♦ มารยาทข้อที่ 16 ถกที่คำพูด ไม่ใช่ตัวบุคคล

 

          ไม่จู่โจมโดยตรงที่ตัวบุคคล เพราะคนทำบาปไม่จำเป็นต้องเป็นคนบาป หากอัลลอฮฺให้อภัยเขา แต่ในอีกทางหนึ่ง บาปยังงัยก็คือบาป ผิดคือผิด ถูกคือถูก การไม่ด่วนสรุปที่ตัวบุคคล แต่พูดถึงเฉพาะพฤติกรรมเป็นหนึ่งในมารยาทที่ผู้ปกครองหญิงแห่งเมืองซะบะอฺได้ทำเป็นแบบอย่าง ดังมีกล่าวไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อันนัมลฺ ที่ว่า

قَالَتْ إِنَّ الْمُلُوكَ إِذَا دَخَلُوا قَرْيَةً أَفْسَدُوهَا وَجَعَلُوا أَعِزَّةَ أَهْلِهَا أَذِلَّةً ۖ وَكَذَٰلِكَ يَفْعَلُونَ

     “นางได้กล่าวว่าแท้จริงบรรดาผู้ปกครองนั้นหากได้เข้าไปยึดครองเมืองหนึ่งเมืองใด เขาจะสร้างความเสียหายในนั้น และเขาจะทำให้ผู้ที่มีเกียรติในนั้นต่ำต้อยและเช่นนั้นที่พวกเขาได้กระทำ

          นางพูดถึงท่านนบีสุไลมาน แต่นางไม่ได้ระบุว่าท่านนบีต้องเป็นคนอย่างนั้น แต่ตามปกติ คนที่เป็นกษัตรย์มักทำอย่างนั้น (ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติคู่ตรงข้าม)

 

♦ มารยาทข้อที่ 17 ระวังเรื่องสิทธิ

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِنْ جَاءَكُمْ فَاسِقٌ بِنَبَإٍ فَتَبَيَّنُوا أَنْ تُصِيبُوا قَوْمًا بِجَهَالَةٍ فَتُصْبِحُوا عَلَىٰ مَا فَعَلْتُمْ نَادِمِينَ

     “โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย หากผู้ฝ่าฝืนได้นำข่าวมาแจ้งแก่พวกเจ้า จงยืนยันให้แน่ชัด (อย่าด่วนปฏิเสธ หรือ ยอมรับ) เพราะหากกลุ่มชนใดต้องได้รับสิ่งที่ไม่ดีงามอันเนื่องมาจากความขลาดเขลา (ของพวกเจ้าแล้ว) พวกเจ้าจะเสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้ทำมันไป

(ซูเราะฮฺ อัล ฮุจุรอต)

          ดังนั้นการด่วนสรุปใคร หรือด่วนใช้คำพูด หรือรูปแบบที่ไม่ดีกับคู่สนทนา หรือการแสดงสิ่งใดเกินเลยจากที่เขาสมควรได้รับ ก่อนที่เราจะได้ข้อมูลที่แน่ชัดนั้นถือว่าเราได้อธรรมแก่เขาไปแล้ว ซึ่งการอธรรมเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺรังเกียจมากที่สุด

 

♦ มารยาทข้อที่ 18 ต้องยอมรับว่า ผู้ที่พยายามดีที่สุดแล้ว ต่อให้เขาผิด เขาย่อมได้รับการให้อภัยจากอัลลอฮฺ

 

          ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลในการประนามคนที่คิดต่างจากเราหากเขาได้พยายามจริงแล้ว เพราะแม้แต่อัลลอฮฺยังเมตตาเขา และหากเราต้องการความเมตตาจากอัลลอฮฺ เราก็ควรเมตตาผู้ที่อัลลอฮฺเมตตาเขาด้วย

      ท่านนบีได้กล่าวไว้ในบันทึกของอิมามมุสลิมที่ว่า

حدثنا يحيى بن يحيى التميمي أخبرنا عبد العزيز بن محمد عن يزيد بن عبد الله بن أسامة بن الهاد عن محمد بن إبراهيم عن بسر بن سعيد عنأبي قيس مولى عمرو بن العاص عن عمرو بن العاص أنه سمع رسول الله صلى الله عليه وسلم قال "إذا حكم الحاكم فاجتهد ثم أصاب فله أجران وإذا حكم فاجتهد ثم أخطأ فله أجر"

     “หากผู้ปกครองได้ตัดสินโดยได้พยายามแล้ว หากเขาถูก เขาได้รับสองความดี หากเขาตัดสินโดยได้พยายามแล้ว แต่เขาผิด เขาได้หนึ่งความดี

          ฮะดิษบทนี้อาจมีความเห็นขัดแย้งในการตีความปลีกย่อยระหว่างนักวิชาการ แต่โดยรวมแล้วเห็นพ้องกันว่า ผู้รู้ที่ได้พยายามดีที่สุดแล้ว หากผิด เขาจะได้รับการให้อภัย

 

♦ มารยาทข้อที่ 19 การผิดพลาดในเมื่อพยายามที่สุดแล้ว ย่อมไม่ใช่เหตุให้เกิดการแตกแยก ความเกลียดชัง

 

         จากฮะดิษที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ในเมื่อต่อให้มีการตีความผิดพลาดไปบ้าง แต่ไม่ว่าจะเรา หรือเขาที่ตีความผิด หากพยายามอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมได้รับการให้อภัยจากอัลลอฮฺ ดังนั้นผู้ศรัทธาคือผู้ที่รักพี่น้องของเขา ใช่หรือไม่?

 

♦ มารยาทข้อที่ 20 ยุติธรรม

 

وَلاَ يَجْرِمَنَّكُمْ شَنَآنُ قَوْمٍ عَلَى أَلاَّ تَعْدِلُواْ اعْدِلُواْ هُوَ أَقْرَبُ لِلتَّقْوَى

(سورة المائدة)

     “และพวกเจ้าจงอย่าได้ให้ความโกรธเกลียดที่มีต่อกลุ่มคนใดส่งผลให้พวกเจ้าอยุติธรรม จงยุติธรรมเถิดเพราะมันใกล้เคียงกับความยำเกรง

 

♦ มารยาทข้อที่ 21 ต้องไม่นำเอาความคิดมนุษย์ไปเป็นบทบัญญัติ และอย่ายึดติดกับคำพูดนักวิชาการมากเกินไป เพราะมนุษย์ย่อมมีผิดพลาด

 

           อีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน คือการยึดติดที่ตัวบุคคลมากเกินไป จนบางครั้งความโกรธ ความเกลียดที่เกิดขึ้น เกิดจากการกระทบที่ตัวบุคคล หาใช่ความโกรธเกลียดที่เกิดขึ้นเพื่ออัลลอฮฺ ที่น่าแปลกก็คือกลุ่มที่ต่อว่ากลุ่มอื่นว่ายึดติดที่ตัวบุคคลมากเกินไป กลับยึดติดกับตัวบุคคลเช่นเดียวกัน ?

 

♦ มารยาทข้อที่ 22 ไม่ตัดสินปัญหาด้านศาสนาด้วยกับพฤติกรรมของคน

 

          หลายครั้งที่เราพบว่าในการถกเถียงเรื่องศาสานานั้นมีการหยิบยกเอาพฤติกรรมส่วนตัวของคู่สนทนามาใช้เป็นประเด็นในการทำลายความน่าเชื่อถือ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวอาจเข้าข่ายการนินทา หรือใส่ร้าย หรือเป็นการทำลายเกียรติของอีกฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสลามเตือนให้ระวังเป็นพิเศษ และพฤติกรรมของคนคนหนึ่งอาจไม่ได้เอามาจากความเชื่อที่เขายึดแต่อาจมาจากตัวเขาเอง การนำมาเป็นประเด็นจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และน่าจะมีผลเสียมากกว่า

 

♦ มารยาทข้อที่ 23 พิจารณาผลที่จะตามมาภายหลังการพูด

 

          การเตือน หรือการถกในบางครั้ง หากนำมาซึ่งปัญหาที่ใหญ่หลวงกว่า สมควรได้รับการพิจารณาให้ดีเป็นพิเศษว่าควรจะทำมัน หรือไม่? จากกฎที่ว่า หากจำเป็นต้องเลือกระหว่างสิ่งเลวร้ายสองอย่าง (หรือมากกว่า) ให้เลือกสิ่งที่เบาที่สุด

{وَالفِتْنَةُ أشَدّ مِنَ القَتْل}

และการสร้างความวุ่นวาย ปั่นป่วนนั้นยิ่งกว่าการฆ่ากันเสียอีก

 

♦ มารยาทข้อที่ 24 ปรารถนาดีต่อกลุ่มชนมุสลิม

 

          การกระทำสิ่งใดก็ตาม นอกเหนือไปจากการกระทำเพื่อมุ่งหวังความเมตตาของอัลลอฮฺแล้ว การคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องมุสลิมส่วนรวมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา สังเกตุได้จากแบบอย่างตลอดช่วงชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด และบรรดาสาวกของท่าน (ขออัลลอฮฺพอพระทัยพวกท่านทุกคน รวมทั้งวงศ์วานของท่านนบี)

 



บทที่ 3 ส่งท้าย

 

          สำหรับการเป็นมุสลิมที่ดีนั้น หนึ่งในคุณลักษณะสำคัญที่เราทุกคนต้องมีนั้น คือการมีสติในทุกการกระทำของเรา เพราะอัลลอฮฺได้กล่าวไว้ว่า

 

((فَمَنْ يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ خَيْرًا يَرَهُ * وَمَنْ يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ شَرًّا يَّرَهُ))

 

และใครที่ทำความดีที่เล็กน้อยเพียงธุลีเดียว เขาจะได้เห็นมัน

และใครที่ทำความชั่วแม้นเพียงธุลีเดียวเขาก็จะได้เห็นมัน

 

          ในท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างที่เราทำมัน จริงๆแล้ว ไม่ใช่เพื่อใคร นอกจากเพื่อตัวเราเอง และหากใครทำสิ่งใดไป เขาก็จงเตรียมรับผลที่จะตามมาของมัน ไม่ว่าเขาจะชอบ หรือไม่ก็ตาม ขออัลลอฮฺเมตตาทุกท่าน อามีน