ภรรยาที่ดีตามนัยอิสลาม
โดย อาจารย์อันวาร มุฮัมหมัดสอิ๊ด
อัลลอฮฺ ได้ทรงบังเกิดมนุษย์มาในโลกดุนยานี้ ด้วยสองจุดประสงค์ด้วยกัน คือ
1. เพื่อให้มนุษย์ทำการภักดีต่อพระองค์
ดังที่พระองค์ได้ทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัซซา ริยาต อายะฮฺที่ 56 ว่า
“และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์มาเพื่ออื่นใด เว้นแต่ เพื่อพวกเขาจะได้ทำการภักดีต่อข้า”
(อัซซาริยาต 51 : 56)
2. เพื่อให้ชาติพันธุ์ของมนุษย์คงอยู่ในโลกใบนี้ตลอดไป ด้วยการขยายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ดังนั้น การขยายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์นั้น คือ การใช้ชีวิตคู่ฉันสามีภรรยา เพื่อให้ได้มาซึ่งบุตรสืบตระกูล และทำหน้าที่ผู้แทนบนผืนแผ่นดินสืบต่อไป
อัลลอฮฺ ได้ให้มนุษย์และสัตว์มีทั้งเพศชาย เพศหญิง ตัวผู้ ตัวเมีย มีอารมณ์ใคร่ ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้สืบพันธุ์ สำหรับมนุษย์นั้น อัลลอฮฺ ได้บรรจุความอายควบคู่กับอารมณ์ใคร่ด้วย และพระองค์ยังได้กำหนดกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขไว้ในกรอบของศาสนา โดยให้มีความสอดคล้องกับสติปัญญา และขนบประเพณีอันดีงามในสังคม
ชายและหญิงมิอาจที่จะทำการสมสู่กันได้ นอกจากเขาทั้งสองจะต้องทำการสมรสอย่างถูกต้องตามบัญญัติอิสลามเสียก่อน ซึ่งในการสมรส จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และการสมรสยังเป็นการประกาศออกมาถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างบุคคลทั้งสอง ทั้งในยามสุขสบาย และในยามที่มีความยากลำบาก ในยามที่มีความผาสุก และในยามโศกเศร้า ในยามที่มีเกียรติ และในยามต่ำต้อย
การใช้ชีวิตคู่นั้น เสมือนการเดินทางไปในโลกกว้าง ซึ่งบางครั้งก็พบแต่ความหวานชื่น และในบางคราวก็ตกอยู่ในห้วงมรสุมแห่งความขมขื่น จำเป็นที่ผู้ชายและผู้หญิงต้องเลือกคู่ครองของตน โดยให้พิจารณาดูศาสนา ความยำเกรง อุปนิสัย จรรยามารยาท อายุ วิชาความรู้ วงศ์ตระกูล และความสวยงาม ดังที่ท่านร่อซูล ได้กล่าวไว้เป็นแนวทางในการเลือกคู่ครอง
“ผู้หญิงจะได้รับการแต่งงานด้วย 4 ประการ คือ ด้วยทรัพย์สินของนาง ด้วยวงศ์ตระกูลของนาง ด้วยความงามของนาง และด้วยศาสนาของนาง ดังนั้น จงให้ได้มาซึ่งหญิงที่มีศาสนาเถิด”
และยังมีฮะดิษบทอื่นที่ท่านได้กล่าวเช่นเดียวกันว่า
“แท้จริง โลกนี้นั้นคือ ความผาสุก และความสุขที่ดี คือ การได้ภรรยาที่ดี”
ภรรยาที่ดีตามนัยแห่งอิสลามนั้น จำเป็นที่ภรรยานั้น จะต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ที่เป็นสามี ในเมื่อคำสั่งนั้นไม่ได้นำไปสู่การฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ท่านร่อซูล ได้กล่าวว่า
“ไม่มีการเชื่อฟังใดๆ แก่มนุษย์ ในการฝ่าฝืนพระเจ้า ผู้ทรงบังเกิด”
ดังนั้น เป้าหมายของการที่ภรรยาต้องเชื่อฟังสามีนั้น จะต้องอยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนากำหนดไว้ นอกจากนี้ อิสลามยังกำหนดสิทธิ และหน้าที่เอาไว้อย่างเหมาะสม ได้แก่ การที่ภรรยาจะต้องรับผิดชอบดูแลเรื่องต่างๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสามี ตลอดจนการอบรมบุตรอย่างเต็มความสามารถ
จำเป็นที่ภรรยาจะต้องไม่ละเมิดสิทธิของสามี และจะต้องไม่ออกนอกบ้านไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามี เมื่อมีความจำเป็นจะต้องออกไปนอกบ้าน จำเป็นที่นางจะต้องขออนุญาตจากสามีและแต่งกายให้มิดชิดด้วย และนางต้องไม่ใส่น้ำหอมที่มีกลิ่นโชยไปยังผู้อื่น
นอกจากนี้ อิสลามยังกำหนดหน้าที่ของผู้ที่เป็นสามีเอาไว้อย่างรัดกุมและเหมาะสมเช่นกัน อันได้แก่
1. สามีจะต้องให้เกียรติแก่ภรรยาของเขา
2. สามีจะต้องจัดหาเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับให้แก่นางในแบบที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแนวทางแห่งอิสลาม
3. ผู้ที่เป็นสามีจะต้องซื่อสัตย์ และเห็นอกเห็นใจผู้ที่เป็นภรรยาด้วย
4. หากว่าภรรยากระทำสิ่งใดบกพร่อง ผู้ที่เป็นสามีจะต้องตักเตือนด้วยวิธีการที่ดี และจงให้อภัยแก่นาง พร้อมกันนี้ จงอย่าคาดคั้นเอาความผิดกับนาง
5. หากว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นภายในบ้าน จำเป็นแก่สามีจะต้องปรึกษาหารือกับภรรยาก่อน
6. จำเป็นแก่สามีจะต้องดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดแก่ภรรยา ในขณะเดียวกันอิสลามก็ไม่อนุญาตให้ ผู้ที่เป็นสามีใช้จ่ายทรัพย์ส่วนตัวของภรรยา จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากภรรยาเสียก่อน
ศาสนาอิสลามได้ให้เกียรติต่อสตรีอย่างมาก โดยถือว่าสตรีนั้นเป็นเสมือนดอกไม้ ซึ่งจำเป็นจะต้องทะนุถนอม พร้อมกับนำไปปักในแจกันที่สวยงาม ดังจะเห็นได้จากการที่ อิสลามอนุญาตให้สตรีประดับประดาด้วยผ้าไหม และทองคำ แต่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิมชาย
นอกจากนี้ อิสลามยังได้กำหนดภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบไว้ให้กับสตรีอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับธรรมชาติของนาง เช่น สตรีมีหน้าที่ให้กำเนิดลูก ให้นมลูก อบรมสั่งสอนลูก เก็บกวาดบ้าน และรับผิดชอบต่อหน้าที่ภายในบ้าน และสตรียังสามารถให้คำปรึกษา และตักเตือนบุรุษเพศได้ด้วย
อิสลามไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้มนุษย์หมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ ความใคร่ หรือตกเป็นทาสของมัน แต่ทว่า อิสลามได้วางระบบการสืบเชื้อสายไว้อย่างรัดกุม และเหมาะสม ครอบครัวของมุสลิมถูกสร้างขึ้นมาจากความรักที่ถูกต้อง ไม่ใช่เกิดขึ้นจากความใคร่หรือการมักมากในกามารมณ์ หากแต่ว่า มันเป็นความรักที่เกิดขึ้นจากความซื่อสัตย์ ความเห็นอกเห็นใจกัน ความรับผิดชอบในสิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย
ที่มา ”อนุสรณ์งานประจำปีโรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร ปี 2560”