พ่อแม่...“ลูก” คือ ?
  จำนวนคนเข้าชม  17116


พ่อแม่...“ลูก” คือ ?

 

โดย...บินติ ซอและห์

 

          ความปรารถนาสำคัญประการหนึ่งของคู่สามีภรรยาก็คือ ได้มีสถานะเป็นพ่อแม่ มีความปรารถนาอยากจะมี ”ลูก” อัลฮะดีส บันทึกในมุสนัดของท่านอบูยะอ์ลา รายงานจากท่านอบูสอี๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า 

: " الْوَلَدُ ثَمَرَةُ الْقَلْبِ ، وَإِنَّهُ مَجْبَنَةٌ مَبْخَلَةٌ مَحْزَنَةٌ "

“ลูกเปรียบดั่งผลของหัวใจ และเป็นสาเหตุของความขลาด ความตระหนี่ และความเสียใจ”

 

          นักวิชาการอธิบายว่า ثَمَرَةُ คือ ผลไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตของพันธุ์ไม้ต่างๆ ดังนั้น الْوَلَدُ ثَمَرَةُ الْقَلْبِ  จึงเปรียบลูกดั่งผลผลิตของพ่อ และลูกก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่เกิดความขลาด ความตระหนี่ และความวิตกกังวล ความเสียใจ

 

          مَجْبَنَةٌ เป็นสาเหตุให้เกิดความขลาด เพราะกลัวการพลัดพรากจากกัน เช่น ทำให้พ่อไม่อยากออกไปทำสงครามญิฮาด หรือไม่อยากให้ลูกออกไปทำสงครามญิฮาด กลัวว่าจะต้องตายจากกัน

          مَبْخَلَةٌ เป็นสาเหตุให้เกิดความตระหนี่ เช่น ไม่กล้าบริจาคมาก เพราะต้องการทุ่มเทให้กับลูก กลัวลูกไม่พอกินพอใช้ กลัวว่าลูกจะไม่ได้รับความสุขความสบาย

          مَحْزَنَةٌ เป็นสาเหตุให้เกิดความวิตกกังวล ความเศร้าโศกเสียใจ เพราะเป็นห่วงลูก เช่น เมื่อเวลาที่ลูกเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเมื่อลูกต้องประสบปัญหา หรือได้รับสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม

          ทั้งหมดนั่นก็เพราะ ”ลูก” คือสุดยอดความรักของพ่อแม่ ”ลูก” ถือเป็นสิ่งดีงามในชีวิต เป็นโซ่คล้องใจ เป็นห่วงสร้างความผูกพัน เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่

 

         แต่...ไม่ใช่ว่า...สามีภรรยาทุกคู่จะได้เป็นพ่อแม่    ไม่ใช่ว่า...สามีภรรยาทุกคู่จะมีลูกได้สมใจปรารถนา  บางคู่ไม่มีลูกเลย  ถึงแม้อยากจะมี ทำอย่างไรก็ไม่มี  บางคู่มีแต่ลูกชาย  บางคู่มีแต่ลูกหญิง  บางคู่มีทั้งลูกชายลูกหญิง  

          ดังนั้น “ลูก” จึงถือเป็นริสกีอย่างหนึ่ง  และถือเป็นริสกีอันประเสริฐ  อีกทั้งยังเป็นของขวัญอันล้ำค่า ที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานแก่สามีภรรยาคู่นั้นๆ  ให้ได้มีสถานะเป็นพ่อแม่  อัลฮะดีสในบันทึกของอิมามอิบนุมาญะฮ์  รายงานจากท่านอิบนุ อับบ๊าส ร่อฎิยัลลอฮฺอันฮุเล่าว่า  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า   

أَكْرِمُوْا أَوْلاَدَكُمْ وَأَحْسِنُوْا أَدَبَهُمْ فَإِنَّ أَوْلاَدَكُمْ هَدِيَّةٌ إِلَيْكُمْ :  

 ท่านทั้งหลายจงให้เกียรติบรรดาลูกของพวกท่าน และอบรมบ่มนิสัยพวกเขาให้มีมารยาทที่ดีงาม

 เพราะแท้จริง บรรดาลูกของพวกท่านเป็นของขวัญแก่พวกท่าน

 

         ในขณะเดียวกัน ”ลูก” ก็เป็นอะมานะฮ์  เป็นของฝาก เป็นหน้าที่  เป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงวางไว้บนบ่าทั้งสองของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน  เพราะในวันกิยามะฮ์ คนที่มีสถานะเป็นพ่อแม่จะต้องถูกสอบสวนถึงอะมานะฮ์  หน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องนี้  ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตตะห์รีม  อายะฮ์ที่ 6  อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا وَقُودُهَا ٱلنَّاسُ وَٱلۡحِجَارَةُ 

โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย  จงปกป้องตัวของพวกเจ้า และครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก 

เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน (รูปปั้นรูปเจว็ดต่างๆ).”

 

          อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งบรรดาผู้ศรัทธา “ให้ดูแลตัวของพวกเจ้า  และครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก...” บรรดาซอฮาบะฮ์ได้อธิบายส่วนนี้ไว้ในหลายความหมายที่เป็นไปในทางเดียวกัน  โดยสรุปคือ หัวหน้าครอบครัวต้องดูแลตัวเองให้เป็นผู้ที่ศรัทธาและยำเกรงอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา   ปฏิบัติตัวให้อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา  เมื่อตัวเองได้ปฏิบัติแล้ว  ก็ต้องดูแลคนในครอบครัวของเขาด้วยเช่นกัน

         อัลฮะดีสในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม  รายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า  ได้ยินท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 وَالرَّجُلُ فِي أَهْلِهِ رَاعٍ وَهُوَ مَسْئُولٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ وَالْمَرْأَةُ فِي بَيْتِ زَوْجِهَا رَاعِيَةٌ وَهِيَ مَسْئُولَةٌ عَنْ رَعِيَّتِهَا

 “บุรุษนั้นเป็นผู้ปกป้องครอบครัวของเขา และคนที่อยู่ในการดูแลของเขา  

ส่วนสตรีนั้นเป็นผู้ปกป้องครอบครัวของสามี  และมีหน้าที่รับผิดชอบผู้ต่อที่อยู่ภายใต้การดูแลของเธอ

 

          ถ้าหากหัวหน้าครอบครัวไม่ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องนี้  ก็เป็นไปได้ที่ทั้งตัวเขาและคนในครอบครัวของเขาจะเป็นคนที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา  ซึ่งผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้รับในวันกิยามะฮ์ก็คือ  เป็นเชื้อเพลิงให้กับไฟนรก

          เมื่อพ่อแม่ได้เข้าใจแล้วว่า  “ลูก” เป็นอะมานะฮ์  เป็นของฝาก เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบ    พ่อแม่จะตระหนักได้ว่า ”ลูก”ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของพวกตน  แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาผู้ทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง  เพราะพระองค์ทรงประสงค์จะเอาพวกเขากลับคืนไปเมื่อไรก็ได้  โดยพ่อแม่ไม่สามารถยับยั้งได้เลย  ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องอบรมเลี้ยงดูลูกโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ไม่ใช่เลี้ยงดูตามความพึงพอใจของตัวเอง   แต่ต้องเลี้ยงพวกเขาให้อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา   เลี้ยงพวกเขาให้เป็นผู้ศรัทธา เป็นมุสลิม เป็นมุอ์มิน  เพราะพ่อแม่ต้องคืนอะมานะฮ์นี้แด่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ผู้ทรงเป็นเจ้าของของฝาก  เป็นผู้ทรงมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบนี้แก่พ่อแม่   

 

           อัลฮะดีสในบันทึกของอิมามอบูดาวู๊ด และอิมามอัตติรมีซีย์  รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮ์  ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า 

أَدِّ الأَمَانَةََ إِلَى مَنِ ائْتَمَنَكَ وَلا تَخُنْ مَنْ خَانَكَ 

“จงมอบอะมานะฮ์คืนแก่ผู้ที่ฝากท่าน  อีกทั้งจงรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมาย 

และจงอย่าทุจริตต่อของฝากหรือหน้าที่นั้น”

 

          เมื่อมีผู้นำของมาฝากท่านให้ดูแล  ให้ถือเป็นหน้าที่  เป็นความรับผิดชอบที่ต้องดูแลของฝากนั้นอย่างดี  เพื่อจะได้ส่งคืนของฝากนั้นให้อยู่ในสภาพเดิม  เพราะถ้าของฝากไม่อยู่ในสภาพเดิม  ก็ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่  นี่คือ อะมานะฮ์

 

          อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทาน”ลูก”ให้แก่พ่อแม่   เมื่อถึงเวลาที่พระองค์ทรงประสงค์จะเอาของฝากนี้คืน  พระองค์ก็จะทรงทำตามประสงค์ของพระองค์  พ่อแม่จึงต้องมีหน้าที่ดูแลลูกของตนให้อยู่ในสภาพเดิมตามที่พระองค์ได้ประทานเขามาให้  สภาพเดิมของลูกเป็นอย่างไร ?  อัลฮะดีสในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

"  ماَ مِنْ مَوْلُوْدٍ إلا يُوْلَدُ عَلَى الْفِطْرَةِ ، فَأَبَواَهُ يُهَوِّداَنِه، أَوْ يُنَصِّراَنِه، أَوْ يُمَجِّساَنِه

“ไม่มีเด็กเกิดใหม่คนใด  นอกจากเขาจะถูกให้เกิดมาในธรรมชาติที่บริสุทธิ์ 

แต่พ่อแม่ของเขานั้นแหละที่ทำให้เขาเป็นยะฮูดีย์(ยิว)  หรือนัศรอนีย์(คริสต์) หรือเป็นมะยูซีย์(ผู้บูชาไฟ)”

 

          อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้เด็กทารกทุกคนเกิดมาในธรรมชาติที่บริสุทธิ์  عَلَى الْفِطْرَةِ  หมายถึง เกิดมาในสภาพที่พร้อมจะมีอีมานหรือมีศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่แล้ว  ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อัลอะอ์รอฟ  อายะฮ์ที่ 172  อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า   

وَإِذْ أَخَذَ رَبُّكَ مِنْ بَنِي آدَمَ مِنْ ظُهُورِهِمْ ذُرِّيَّتَهُمْ وَأَشْهَدَهُمْ عَلَى أَنفُسِهِمْ أَلَسْتُ بِرَبِّكُمْ قَالُوا بَلَى شَهِدْنَا أَنْ تَقُولُوا يَوْمَ الْقِيَامَةِ إِنَّا كُنَّا عَنْ هَذَا غَافِلِينَ  

          “และจงรำลึกถึงขณะที่พระเจ้าของเจ้าได้เอาเชื้อสายของมนุษย์จากลูกหลานของอาดัม ออกมาจากสันหลังของพวกเขา (คือก่อนที่พวกเขาจะเกิดมา)  พระองค์ทรงให้พวกเขายืนยันด้วยตัวของพวกเขาเอง (โดยตอบคำถามที่พระองค์ทรงถามพวกเขาว่า) ข้าไม่ใช่พระเจ้าของพวกเจ้าหรอกหรือ ?

          พวกเขาตอบว่า ใช่ ข้าพระองค์ขอเป็นพยาน(ยืนยัน)ว่า พระองค์คือพระเจ้า (สาเหตุที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงถามเช่นนี้ เพราะถ้าหากพระองค์ไม่ทรงถามอย่างนั้น) พวกเจ้าก็จะพูด(แก้ตัว)ในวันกิยามะฮ์ว่า แท้จริง ข้าพระองค์ไม่รู้เรื่องราวในเรื่องนี้เลย”

 

          อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงตอกย้ำมนุษย์ทุกคนก่อนที่พวกเขาจะเกิดมาบนโลกนี้ ถึงการเป็นพระเจ้าของพระองค์  และให้ทุกคนนั้นได้เป็นพยานให้แก่ตัวเองว่า  ได้ยอมรับอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นพระเจ้า  มนุษย์คนใดที่เกิดมาแล้ว  ไม่ได้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  กลายเป็นยะฮูดีย์ เป็นนัศรอนีย์ เป็นมะยูซีย์ เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา  เมื่อไปถึงวันกิยามะฮ์  พวกเขาก็ต้องได้รับการถูกสอบสวน  ซึ่งพวกเขาก็ไม่สามารถจะหาข้อแก้ตัวให้กับตัวเองได้ว่า  พวกเขาไม่รู้เรื่องราวในเรื่องนี้  พวกเขาไม่สามารถอ้างได้ว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเป็นพระเจ้า  เพราะพระองค์ได้ทรงถามพวกเขามาก่อนแล้ว  

 

          อุละมาอ์จึงได้อธิบายว่า  เด็กทุกคนที่เกิดมาจะมีความรู้สึกที่ติดตัวมาก่อนแล้วว่า  ตนเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  โดยไม่ได้ผ่านความรู้สึกนึกคิดใดๆ  หรือไม่ได้ผ่านการเรียนการสอนมาก่อน  และเขาจะไม่หันออกจากความรู้สึกนี้  นอกจากจะมีสิ่งที่ทำให้หัวใจของเขาหันเหไป...  ดังนั้น คนที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ก็คือ พ่อแม่  ถ้าพ่อแม่เป็นผู้มีอีมาน  มีความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  เขาก็จะเลี้ยงลูกของเขาให้ดำรงความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาต่อไป  แต่หากเด็กคนใดถูกเลี้ยงจากคนที่ไม่สนใจในบทบัญญัติศาสนา  ลูกของเขาก็อาจจะกลายเป็นยะฮูดีย์ เป็นนัศรอนีย์ เป็นมะยูซีย์ เป็นผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนา  เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา  ดังนั้น พ่อแม่นั่นแหละที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนเช่นไร  ?

          การเป็นพ่อแม่จึงเป็นบททดสอบอีกด้วย  ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อัตตะฆอบุน  อายะฮ์ที่ 15  อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

إِنَّمَا أَمْوَالُكُمْ وَأَوْلَادُكُمْ فِتْنَةٌ ۚ وَاللَّهُ عِندَهُ أَجْرٌ عَظِيمٌ

“แท้จริง ทรัพย์สมบัติของพวกเจ้า และลูกหลานของพวกเจ้านั้น เป็นบททดสอบ

และอัลลอฮ์ ณ ที่พระองค์ทรงมีรางวัลอันยิ่งใหญ่(ที่จะมอบให้)

 

♦ เป็นบททดสอบอีกบทหนึ่งที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานให้มา  เพื่อจะทรงทดสอบว่า พ่อแม่จะเลี้ยงลูกของพวกเขาอย่างไร ?     

♣ เป็นบททดสอบที่พ่อแม่ต้องทำให้ผ่าน  เพราะถ้าไม่ผ่าน  ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ทั้งหมดจะกลายเป็นเชื้อเพลิงของไฟนรก  พ่อแม่จะสอบผ่านบททดสอบนี้อย่างไร ?  

 

          เกณฑ์ในการทำบททดสอบให้ผ่านคือ  ทำให้อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงพอพระทัย    หากพระองค์ทรงพอพระทัยมาก  รางวัลตอบแทนก็ได้มาก  หากพระองค์ทรงพอพระทัยปานกลาง  รางวัลตอบแทนก็ได้ปานกลาง  ขึ้นอยู่กับความพอพระทัยของพระองค์ที่ทรงมีต่อเหนียตและการปฏิบัติของพ่อแม่  แต่หากพระองค์ทรงกริ้วโกรธ  นอกจากไม่ได้รับรางวัลแล้ว ยังต้องถูกสอบสวน ต้องถูกลงโทษอีกด้วย 

          ดังนั้น การที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกโดยการมอบสิทธิที่ลูกควรได้รับจากพ่อแม่ ตามคำสั่งของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  และตามคำสั่งสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงเป็นเรื่องสำคัญ  และถือเป็นเกณฑ์ในการให้คะแนน  ตำราหลักที่สำคัญสำหรับพ่อแม่ที่ต้องเปิดใช้ในการเลี้ยงลูกของตนอยู่เสมอก็คือ  เรื่องราวความรู้จากอัลกุรอานและอัลฮะดีส  ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นแบบอย่างในการเลี้ยงลูกของบรรดานบี  และแบบอย่างอันเป็นจรรยามารยาทที่งดงามของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 132  อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَوَصَّىٰ بِهَا إِبْرَاهِيمُ بَنِيهِ وَيَعْقُوبُ يَا بَنِيَّ إِنَّ اللَّهَ اصْطَفَىٰ لَكُمُ الدِّينَ فَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنتُم مُّسْلِمُونَ

          “และ(นบี)อิบรอฮีมได้สั่งเสียลูกของเขาให้ปฏิบัติตามแนวทางนั้น (คือการยอมจำนนแด่พระเจ้าแห่งสากลโลก)  และ(นบี)ยะอ์กู๊บก็ได้สั่งเสียเช่นเดียวกันด้วยว่า 

          โอ้ ลูกๆของฉัน แท้จริง อัลลอฮ์ได้ทรงเลือกศาสนาให้แก่พวกเจ้าแล้ว  ดังนั้น พวกเจ้าจงอย่าได้ตายเป็นอันขาด  นอกจากพวกเจ้าจะเป็นผู้ยอมจำนน (ต่ออัลลอฮ์เท่านั้น)”

 

          ไม่ใช่ว่าห้ามตาย  แต่หมายถึงให้ตายในสภาพที่เป็นมุสลิมเท่านั้น  เป็นสภาพที่ดำรงอยู่บนคำกะลิมะฮ์ชะฮาดะฮฺฮทั้งสอง คือมอบเตาฮีด มอบความเป็นพระเจ้าองค์เดียวแด่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ยอมรับในการเป็นพระเจ้าผู้ทรงสร้างของพระองค์  ยอมรับในพระนามอันดีงามและคุณลักษณะอันสูงสุดของพระองค์  และยอมมอบการเคารพอิบาดะฮ์ทั้งหมดแด่พระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น  ถือเป็นการตัดขาดจากการชิริก  ในขณะเดียวกันก็ยอมปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในทุกกรณี  ถือเป็นการตัดขาดจากการทำบิดอะฮ์

 

          พ่อแม่จึงต้องเป็นผู้เริ่มต้นในการวางรากฐานหลักอะกีดะฮ์ที่ถูกต้องให้แก่ลูก  เป็นผู้เริ่มต้นในการอบรมสั่งสอนให้ลูกของตนได้เรียนรู้ ได้เข้าใจในเรื่องราวของศาสนา  ส่งเสริมลูกในวัยเด็กเล็กของตนให้ได้เรียนรู้จากคุณครูบาอาจารย์ที่เป็นมุสลิม  จากโรงเรียนที่ดำเนินอยู่บนหลักอะกีดะฮ์ที่ถูกต้อง  ส่งเสริมลูกของตนให้ได้ดำเนินชีวิตอยู่บนบัญญัติศาสนาในทุกวิถีทาง  อบรมเลี้ยงดูเพื่อให้เขาเป็นผู้ที่รู้จักคำสั่งใช้  ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม  รู้จักคำสั่งห้าม แล้วก็ออกห่าง ไม่ฝ่าฝืน  พ่อแม่อย่าคิดว่า  เรื่องศาสนาเอาไว้ค่อยเรียนตอนโต  เพราะชีวิตของเราก็ดำเนินไปสู่ความตายในทุกขณะ  เราไม่ทราบว่าเราจะตายเมื่อไร  หากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์จะเอาลูกของเรากลับคืนไปก่อน  ก่อนที่พวกเขาจะได้เรียนรู้เรื่องของบทบัญญัติศาสนา  เสียชีวิตก่อนที่จะได้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นฟัรฎู  สิ่งที่อะมัลอิบาดะฮ์ต่างๆ   ลูกของเราจะกลับไปพบอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในสภาพเช่นไร ? และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

 

          อัลฮะดีส (เมากู๊ฟ คือรายงานที่เป็นคำพูดของซอฮาบะฮ์  ไม่ใช่คำพูดของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในบันทึกของท่านอิมามอิบนุญะรีร และอิมามอิบนุ มุนซิร  ได้รายงานว่า  ท่านอิบนุ อับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุได้กล่าวว่า

 

"اعْمَلُوْا بِطَاعَةِ اللهِ وَاتَّقُوْا مَعَاصِيَ اللهِ وَمُرُوْا أوْلاَدَكُمْ بِامْتِثَالِ اْلأوَامِرِ وَاجْتِنَابِ النَّوَاهِيْ
 
فَذَلِكَ وِقَايَةً لَهُمْ مِنَ النَّارِ"

“พวกท่านจงปฎิบัติการงานด้วยการเชื่อฟังอัลลอฮ์  และจงระวังการละเมิด การฝ่าฝืนอัลลอฮ์ 

และจงใช้ให้ลูกๆของพวกท่านปฎิบัติตามคำสั่งใช้  และออกห่างจากสิ่งที่ถูกห้าม 

เพราะดังกล่าวนี้เป็นการป้องกันพวกเขาและพวกท่านจากไฟนรก”

 

         เมื่อพ่อแม่ได้วางรากฐานหลักอะกีดะฮ์ที่ถูกต้องให้แก่ลูก  ดูแลลูกให้ปฏิบัติตามคำสั่งห้าม คำสั่งใช้  ปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์ต่างๆ  พร้อมกันนี้ก็ต้องดูแลอบรมในเรื่องจรรยามารยาทให้แก่ลูกด้วย  อัลฮะดีสในบันทึกของอิมามอัตติรฺมีซีย์  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 "مَا نَحَلَ وَالِدٌ وَلَداً مِنْ نَحْلٍ أفْضَلُ مِنْ أدَبٍ حَسَنٍ"
 
 “ไม่มีสิ่งใดที่พ่อจะมอบให้แก่ลูก ดีไปกว่าการมอบจรรยามารยาทที่ดีงาม”

 

         แบบฉบับที่ดีที่สุดของการเป็นผู้มีจรรยามารยาทที่ดีที่สุด  ก็คือ  แบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ อายะฮ์ที่ 21  อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

لَّقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِّمَن كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الْآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيرًا

“แท้จริง ในตัวของร่อซูลของอัลลอฮ์นั้น  มีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว 

สำหรับผู้ที่หวังในอัลลอฮ์  และวันอาคิเราะฮ์  และรำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย”

         พ่อแม่พึงนำแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมาใช้ในการเลี้ยงลูกของตนเถิด

 

          พ่อถือเป็นหัวหน้าครอบครัว  เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อครอบครัวของเขา  หากพ่อเป็นผู้มีความรู้ในบทบัญญัติศาสนาและปฏิบัติอย่างดีแล้ว  เขาก็ต้องฉลาดที่จะเลือกคนที่จะมาช่วยผ่อนปรนภาระให้แก่เขา  และแน่นอน  หากพ่อเลือกแม่ที่ซอลิฮะฮ์ให้กับลูกของเขา  เธอก็จะเลี้ยงลูกของเขาให้เป็นลูกที่ซอและห์ เมื่อนั้น ภาระหน้าที่ของเขาก็จะผ่อนเบาลง  ในทำนองเดียวกัน  แม่ที่ซอลิฮะฮ์ก็จะเลือกพ่อที่ซอและห์ให้กับลูกของเธอ  เพราะพ่อที่ซอและห์จะเป็นต้นแบบ  เป็นผู้นำครอบครัวไปสู่ครอบครัวที่ซอและห์  

 

        ดังนั้น บุรุษทั้งหลาย พึงเลือกสตรีที่ซอลิฮะฮ์ มีความรู้ ความเข้าใจในศาสนามาเป็นภรรยาเถิด  ในทำนองเดียวกัน  สตรีทั้งหลาย พึงเลือกบุรุษที่มีความรู้ ความเข้าใจในศาสนา  มีความรักในศาสนา  ปฏิบัติตัวอยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนามาเป็นสามีเถิด  เพราะหากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์ที่จะมอบลูกมาเป็นของฝากให้แก่พวกท่าน  ทำให้พวกท่านได้มีสถานะเป็นพ่อแม่  พวกท่านจะได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาอย่างดี  เป็นที่พึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  และสิ่งนี้คือสิทธิอันสำคัญของลูกที่พึงได้รับจากพ่อแม่  คือสิทธิที่จะต้องได้พ่อที่ซอและห์  และสิทธิที่จะต้องได้แม่ที่ซอลิฮะฮฺ  จุดเริ่มต้นของการเป็นคนซอและห์คือ  การมีความรักต่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตอาลา  รักท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เมื่อรักก็จะเรียนรู้  การเรียนรู้ก็มีหลายวิธีการ  อาจจะเรียนรู้โดยเรียนด้านศาสนาโดยตรง  หรืออาจจะเรียนรู้จากคนที่เขาเรียนมา  เรียนรู้แล้วก็ทำความเข้าใจ นำไปสู่การปฏิบัติ  นำไปสู่การอบรมสั่งสอนลูกๆของตน  โดยวางรากฐานของการเลี้ยงดูลูกบนรากฐาน 3 ประการ  คือ ด้านอะกีดะฮ์  ด้านอิบาดะฮ์  และด้านจรรยามารยาท  รายละเอียดก็อยู่ในอัลกุรอานและอัลฮะดีส

 

          เมื่อพ่อแม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว  ก็ต้องตระหนักด้วยว่า  การที่ลูกจะได้รับทางนำนั้นอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  พระองค์ทรงให้ทางนำแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ด้วยความกรุณาของพระองค์  และทรงให้หลงทางแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ด้วยความยุติธรรมของพระองค์  ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อัลเกาะศ็อศ  อายะฮ์ที่ 56 

إِنَّكَ لَا تَهۡدِي مَنۡ أَحۡبَبۡتَ وَلَٰكِنَّ ٱللَّهَ يَهۡدِي مَن يَشَآءُۚ وَهُوَ أَعۡلَمُ بِٱلۡمُهۡتَدِينَ  

“แท้จริง เจ้าไม่สามารถชี้แนะทางนำที่ถูกต้องแก่ผู้ที่เจ้ารักได้  แต่อัลลอฮ์ทรงชี้แนะทางนำที่ถูกต้องแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ 

และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงผู้ที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง”

 

          พ่อแม่จึงต้องคอยขอดุอาอ์อยู่เสมอ  ให้ลูกเป็นคนซอและห์และได้รับทางนำที่ถูกต้อง  

رَبَّنَا هَبْ لَنَا مِنْ أَزْوَاجِنَا وَذُرِّيَّاتِنَا قُرَّةَ أَعْيُنٍ وَاجْعَلْنَا لِلْمُتَّقِينَ إِمَامًا

“โอ้พระเจ้าของเรา  ขอพระองค์โปรดประทานแก่เราซึ่งคู่ครองและลูกหลานของเรา 

ให้เป็นที่ชื่นตาชื่นใจแก่สายตาของเรา  และทรงทำให้เราเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ยำเกรง”

 

رَبّ ٱجْعَلْنِى مُقِيمَ ٱلصَّلوٰةِ وَمِن ذُرّيَتِى رَبَّنَا وَتَقَبَّلْ دُعَاء

“โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์  โปรดให้ข้าพระองค์ และจากลูกหลานของข้าพระองค์เป็นผู้ดำรงละหมาด

โอ้พระเจ้าของเรา  ขอพระองค์ทรงตอบรับการวิงวอนขอด้วยเถิด”

 

         พ่อแม่จะต้องระมัดระวังไม่พูดจาสาปแช่งลูก  ไม่ว่าลูกในทางร้าย  เพราะดุอาอ์ของพ่อแม่ที่ขอให้ลูกเป็นดุอาอ์มุสตะญาบ  เป็นดุอาอ์ที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตอบรับ อัลฮะดีสในบันทึกของอิมามมุสลิม  รายงานจากท่านญาบิร บิน อับดิลลาฮ์  ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัมกล่าวว่า 

لَا تَدْعُوا عَلَى أَنْفُسِكُمْ، وَلَا تَدْعُوا عَلَى أَوْلَادِكُمْ، وَلَا تَدْعُوا عَلَى أَمْوَالِكُمْ، لَا تُوَافِقُوا مِنْ اللَّهِ سَاعَةً يُسْأَلُ فِيهَا عَطَاءٌ فَيَسْتَجِيبَ لَكُمْ

“พวกท่านอย่าขอดุอาอ์ที่ไม่ดีแก่ตัวเองและแก่ลูกๆของท่าน  ทรัพย์สินของพวกท่าน 

อย่าให้ดุอาอ์(ที่ไม่ดี)นั้นตรงกับช่วงเวลาที่อัลลอฮ์ทรงตอบรับดุอาอ์ (เพราะสิ่งที่ไม่ดีจะประสบกับพวกท่านและพวกเขา)

 

          เมื่อพ่อแม่ได้ขอดุอาอ์อยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว  พ่อแม่ก็จงมอบหมายความสำเร็จไปยังอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตาลา  พร้อมทั้งยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น  ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดีก็ตาม

 

 

( ที่มา วารสารสายสัมพันธ์  ปีที่ 50  อันดับที่ 573-574  พฤศจิกายน – ธันวาคม 2559 )