40 โอวาท ครอบครัวเปี่ยมสุข (2)
  จำนวนคนเข้าชม  7588

40 โอวาท ครอบครัวเปี่ยมสุข (2)


โดย ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา


        15) พยายามใฝ่หาความรู้เพื่อการดำรงชีวิต และทำงานด้วยความทุ่มเทและขยันหมั่นเพียร เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ที่ฮาลาลและมีความเป็นบะเราะกะฮฺในการเติมเต็มความต้องการของครัวเรือน อย่าเป็นคนล้มเหลว ไม่มีงานทำโดยเด็ดขาด

        ต้องปลูกฝังความรู้สึก “เกาะนาอะฮฺ” คือ ความรู้สึกพอเพียง พอใจ และขอบคุณต่อสิ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานริสกีให้ แม้เพียงเล็กน้อย และควรประหยัดในการใช้จ่ายภายในบ้าน แต่ไม่ควรถึงกับตระหนี่ถี่เหนียวหรือละโมบโลภมาก เพราะทั้งสองด้านนั้นคือ สาเหตุของความยากจนและความอ่อนแอ ต้องห่างไกลจากนิสัยสุรุ่ยสุร่าย เพราะความสุรุ่ยสุร่ายคือพี่น้องของซัยฏอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ไฟ น้ำ อาหาร เครื่องดื่มและเงินทอง แม้เพียงเล็กน้อยในทางที่ต้องห้าม กล่าวขอดุอาร์เถิดว่า

“โอ้ พระผู้อภภิบาลแห่งเรา ได้โปรดให้สิ่งฮาลาลของพระองค์ เพียงพอสำหรับเราจากสิ่งที่ฮะรอม

ได้โปรดประทานความประเสริฐของพระองค์ ให้เพียงพอแก่เรา โดยมิต้องพึ่งสิ่งใด นอกจากพระองค์”


         16) ปลูกฟื้นหลักของการตักเตือนสั่งเสียซึ่งกันและกันในเรื่องความถูกต้อง และความอดทนอดกลั้น โดยการให้มีวงสนทนาพูดคุยเชิงอบรมในแต่ละสัปดาห์ เพื่อเป็นการสนองต่อดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

“และจงสั่งเสียกันในความถูกต้อง และจงสั่งเสียกันในความอดทน”

        สิ่งนี้คือหนึ่งในเงื่อนไขที่จะทำให้รอดพ้นจากการขาดทุน พร้อมทั้งต้องศึกษาให้รู้ทันความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ของชาวมุสลิมและแผนการร้ายต่างๆ ที่คอยคุกคามพวกเขา และประชาชาติอื่นในสังคมโลก

         พยายามให้เกิดการเชิญชวน (ดะวะฮฺ) โดยเริ่มจากผู้ใกล้ชิดและต่อไปยังมนุษย์ทั้งมวล โดยเปี่ยมอิคลาส ด้วยเนื้อหา วิธีการ ที่เปี่ยมด้วยวิทยปัญญา เพื่อปลดปล่อยพวกเขาให้หลุดพ้นจากความมืดมนของญาฮิลียะฮฺสู่แสงสว่างของอิสลามที่เที่ยงธรรม และพึงจำไว้ว่า วิธีการที่สำคัญที่สุดในการดะวะฮฺคือการเรียกร้องเชิญชวนสู่ความดีงาม และหักห้ามจากความประพฤติที่เลวทราม ซึ่งทั้งสองประการนี้คือ ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในชีวิตมนุษย์


        17) ให้ความสำคัญกับสุขภาพทั้งของร่างกายและสติปัญญา โดยการออกกำลังกายทุกวัน การเลือกรับประทานอาหารที่ฮาลาลและมีประโยชน์ การรักษาความสะอาดของบ้าน เสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่างๆ ที่ถูกสุขลักษณะ เพราะนี่คือช่องทางหนึ่งของความศรัทธา

“โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งเรา ข้าพระองค์ขอจากพระองค์ซึ่งสุขภาพอนามัยที่ดี/ ความรอดพ้นทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ”


         18) พยายามแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของอิสลามเท่าที่สามารถจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการแต่งกาย บ้านช่อง ยานพาหนะ พร้อมๆ กับสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ การปฏิบัติอามัล และการเชิญชวนสู่อิสลาม อีกทั้งให้สร้างจิตสำนึก “วะลาอฺ” (การผูกสัมพันธ์และเป็นพรรคพวก) กับอัลลอฮฺ ศาสนทูต และบรรดาผู้ศรัทธา

         พร้อมกับให้มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม ด้วยการขอดุอาร์ เพื่อให้พวกเขาได้รับการชี้นำทาง และเชิญชวนพวกเขาสู่ศาสนาแห่งอัลลอฮฺและวิถีทางของท่านศาสนทูต อาศัยวิธีการที่เปี่ยมด้วยปัญญา โดยเฉพาะการเชิญชวนด้วยคุณลักษณะและมารยาทอันดีงาม อย่าแข็งกร้าวหรือโหดเหี้ยม ควรให้ความสำคัญกับสันติวิธีมากกว่าความแข็งกระด้าง ตราบใดที่สันติวิธีในการแก้ปัญหายังใช้ได้ ถึงแม้จะไม่เปิดกว้างมากนัก

         อีกทั้งต้องอยู่ในกรอบของ “อัลญะมาอะฮฺ” (การยึดมั่นกับกลุ่มที่ถูกต้อง) ตามแนวทางของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ รวมถึงแนวปฏิบัติของเหล่า “อัสสะลัฟ อัศศอลิฮฺ”(บรรพบุรุษแห่งอิสลามผู้มีคุณธรรม) ควรต้องเอาใจใส่กับความเป็นจริงในปัจจุบันพร้อมๆ กับการทำดีต่อทุกๆ ฝ่าย


         19) ควรต้องถือศีลอดในเดือนรอมฏอน และขวนขวายความประเสริฐทั้งหลาย เช่น การละหมาดตะรอวีฮฺ วิติรฺ ดุอาร์ อ่านอัลกุรอานอย่างน้อยให้จบเล่มหนึ่งครั้งภายในเดือนนี้ รวมทั้งเอี๊ยะติกาฟสิบวันสุดท้ายของเดือน พร้อมๆ กับเหล่าศอลิฮีนในมัสยิด

         และให้ร่วมละหมาดอีดิ้ลฟิตรและอีดิ้ลอัฎฮาที่มุศ็อลลา (สนามละหมาด) ไม่ใช่ที่มัสยิด หลังจากนั้น ควรที่จะถือศีลอดสุนัตอย่างน้อยเดือนละสามวันตลอดทั้งปี ด้วยความศรัทธาต่ออัลลอฮฺและไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ นอกเหนือผลบุญจากอัลลอฮฺเท่านั้น


         20) เพื่อสั่งสมความประเสริฐและความเพิ่มพูนแก่ทรัพย์สมบัติของเรา ควรต้องจ่ายซะกาตทรัพย์สินเมื่อครบจำนวนและวาระที่ต้องจ่าย ให้ใช้จ่ายและบริจาคส่วนหนึ่งของทรัพย์ส่วนตัวในหนทางของอัลลอฮฺ ด้วยความอิคลาส โดยเฉพาะกับบรรดาผู้ขัดสนต่อความช่วยเหลือเท่าที่เราสามารถจะทำได้ เริ่มจากผู้ที่ใกล้ชิดเราที่สุดก่อน นั่นคือ ภรรยาและลูกๆ หรือคนอื่นๆ ในครอบครัว ญาติมิตร ผู้ขัดสน ยากจน และบริจาคให้กับกิจกรรมเพื่อการพัฒนาและการเชิญชวนสู่อิสลาม และหากเป็นไปได้ควรเชือด อุฎหิยะฮฺ (เชือดเนื้อกุรบาน) ทุกๆ ปีเมื่อถึงอีดิ้ลอัฎฮา


          21) ควรตั้งเจตนาที่จะทำฮัจญ์ ถ้าหากอัลลอฮฺทรงประทานโอกาสปัจจัย และความพร้อมด้านสุขภาพ เพื่อการเยี่ยมเยียนบัยตุลลอฮฺ ณ มหานครมักกะฮฺ และต้องพยายามอย่างจริงจัง พร้อมๆ กับการขอดุอาร์จากอัลลอฮฺเพื่อให้บรรลุถึงประการต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์

          และเมื่อใดที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้สามารถเดินทางไปทำฮัจญ์แล้ว ควรต้องปฏิบัติภาระกิจฮัจญ์ตามซุนนะฮฺของท่านรอซูล  เพื่อให้ได้รับผลบุญของ “ฮัจญ์ มับรูร” (ฮัจญ์ที่ถูกตอบรับ) ซึ่งมันไม่มีผลตอบแทนใดๆ นอกจากสวรรค์


          22) พึงจำไว้เถิดว่า พ่อแม่ของทั้งสามีภรรยา คือ ผู้ที่เป็นหลักแห่งความผาสุกในชีวิตเรา พวกท่านได้ผ่านความเหน็ดเหนื่อยมาตั้งแต่เราเกิด จนกระทั่งวันนี้ ดังนั้น ควรต้องระลึกถึงคุณของพวกท่านอยู่เสมอด้วยการทำดี ดูแลอาหารการกิน เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ถามไถ่ข่าวคราวแต่ละวัน เยี่ยมเยียน ให้เกียรติ ฟังคำเตือน และยอมรับประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่าจากพวกท่าน ควรให้การปรนนิบัติในสิ่งที่พวกท่านทั้งสองมีความต้องการเท่าที่สามารถจะให้ได้

         ต้องคิดถึงพวกท่านยามใดที่เราได้รับความสุขสบาย โดยเฉพาะเมื่อพวกท่านแก่เฒ่าและไม่มีพละกำลัง ถึงแม้ว่าพวกท่านอาจจะไม่มีความจำเป็นต่อการปรนนิบัติดังกล่าว เป็นหน้าที่ของเราที่เราต้องให้การใช้จ่ายแก่พวกท่านเมื่อพวกท่านจำเป็นต้องใช้ อย่าได้อกตัญญูต่อพวกท่านในสิ่งที่ถูกต้องอย่างเด็ดขาด

         อีกทั้งต้องแสดงตนด้วยความศิโรราบและอ่อนน้อมถ่อมตนแก่พวกท่าน อย่าได้แข็งกระด้างกับทั้งสอง แม้พวกท่านจะผิดหรือโมโหโทสะอยู่ก็ตาม หากคนหนึ่งคนใดหรือทั้งสองคนได้เสียชีวิตกลับคืนสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺให้หมั่นเยี่ยมกุโบร์ของท่านและขอดุอาร์ให้ท่าน รวมทั้งให้หมั่นทำทานเป็นเศาะดะเกาะญาริยะฮฺให้กับท่าน นี่คือ ความหมายที่แท้จริงของความกตัญญูที่มีต่อบิดามารดา


         23) ควรต้องให้เกียรติครูบาอาจารย์และผู้รู้โดยทั่วไปอยู่เสมอ พร้อมทั้งพยายามเรียนเป็นลูกศิษย์กับครูที่มีความรู้และปฏิบัติตามอัลกุรอานและซุนนะฮฺ อีกทั้งมีความรอบรู้เท่าทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “อะฮูลุซ ซิกรฺ” ตลอดทั้งชีวิตของเราในโลกนี้ เพราะประชาชาติอิสลามถูกบัญชาให้หมั่นพยายามขวนขวายหาความรู้ทุกเวลา

“และจงกล่าวเถิดว่า โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งข้า ได้โปรดเพิ่มพูนความรู้แก่ข้าด้วยเถิด”

        และให้ใกล้ชิดกับบรรดาอุลามะฮฺซึ่งเป็นผู้สืบทอดมรดกของเหล่าศาสนทูต ให้นับถือครูอาจารย์เป็นผู้ตักเตือน โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวซึ่งต้องผูกมัดความสัมพันธ์กับท่านไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้รับความบะเราะกะฮฺจากอัลลอฮฺ


         24) ควรต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีงามกับครอบครัวทั้งทางฝ่ายสามีและภรรยา ด้วยการไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบและการเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะในวันอีดทั้งสอง รวมถึงการช่วยเหลือและให้ของขวัญ โดยเฉพาะกับลูกหลานของพี่น้องทั้งสองฝ่าย และในยามที่พวกเขาประสบกับบททดสอบ ความจำเป็นหรือโอกาสต่างๆ

          ไม่กล่าวถึงพวกเขานอกจากด้วยสิ่งที่ดี ปกป้องรักษาชื่อเสียงอันดีงามของพวกเขาอย่างเต็มความสามารถ อย่าได้ปล่อยให้ความสัมพันธ์กับเครือญาติเหล่านี้พังทลายโดยเด็ดขาด


          25) ควรต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน มิตรสหาย และผู้ร่วมงานในทุกระดับชั้นโดยเฉพาะกับผู้นำ เพราะพวกเขาเปรียบเสมือนกำแพงที่คอยปกป้องให้ความปลอดภัยแก่ครอบครัวเรา อย่าได้ทะเลาะเบาะแว้งหรือใจแคบกับพวกเขาโดยเด็ดขาด ไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม

 

 

 

ผู้แปล: ซุฟอัม อุษมาน / Islamhouse