40 โอวาท ครอบครัวเปี่ยมสุข (1)
โดย ดร.อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา
“ครอบครัวเปี่ยมสุข” คือ ครอบครัวที่ได้เชื่อฟังอัลลอฮฺและปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านรอซูล อย่างสำเร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะซุนนะฮฺของท่านรอซูล นั้น คือ สวรรค์วิมานแห่งโลกดุนยา ที่นำพาไปสู่สรวงสวรรค์แห่งโลกอาคิเราะฮฺ
นี่คือ ความหมายของคำว่า “ฮะซะนะฮฺ” หรือ ความดีงาม ในดุอาร์ที่ว่า
“โอ้องค์อภิบาลแห่งเรา ขอพระองค์ประทานให้เราในโลกนี้ซึ่งความดีงาม (หมายถึง ความรู้และการปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านรอซูล ) และในโลกหน้าอีกหนึ่งความดีงาม (นั่นคือ สวรรค์) และขอพระองค์ปกป้องเราจากการทรมานในนรกด้วยเถิด”
โอวาททั่วไป 25 โอวาท
1) ควรจะต้องยำเกรงต่ออัลลอฮฺในทุกๆ กิจการ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพราะแท้จริงแล้ว การยำเกรงต่อัลลอฮฺนั้น คือ
1.1) สาเหตุใหญ่ที่สุดสำหรับความสำเร็จบนโลกนี้และโลกหน้า
“และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด เพื่อพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ”
1.2) เกณฑ์ชี้วัดความมีเกียรติและความสูงส่ง ณ องค์อัลลอฮฺ
“แท้จริงแล้ว ผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮฺ คือ ผู้ที่มีความยำเกรงที่สุดระหว่างพวกเจ้า”
1.3) ประตูทางออกของความคับขันและประตูแห่งริสกีที่อยู่นอกเหนือความคาดคิด
“และแม้นผู้ใดยำเกรงต่ออัลลอฮฺแล้วไซร้ พระองค์จะทำให้เขามีทางออก และจะทรงประทานริสกีแก่เขา โดยที่เขามิได้คาดคิด”
1.4) เป็นคำสั่งเสียของท่านรอซูล เพื่อให้ตักวาหรือยำเกรงเป็นรากฐานหลักของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยเมตตาและการปฏิบัติที่ดีระหว่างสามีภรรยาในการสร้างครอบครัวเปี่ยมสุข
2) ควรจะต้องอิคลาสในการทำอิบาดะฮฺทุกประการต่ออัลลอฮฺเพียงผู้เดียว ห้ามตั้งภาคีกับพระองค์ แม้เพียงเล็กน้อย เพราะชิริกหรือการตั้งภาคีนั้น คือ ความอยุติธรรมที่ใหญ่หลวงของมนุษย์ผู้หนึ่งต่อตัวของเขาเอง และมักจะนำตัวเขาและครอบครัวสู่หุบเหวแห่งความอัปยศและความหายนะ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ในจำนวนเครื่องหมายแห่งความอิคลาสของคนผู้หนึ่งต่ออัลลอฮฺคือ
2.1) การที่เขาปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านรอซูล ในทุกๆ ภารกิจอิบาดะฮฺ รวมถึงในทุกวิถีทางการดำเนินชีวิตของเขา เพราะกิจการใดๆ ก็ตามที่ขัดกับซุนนะฮฺของท่านรอซูล ย่อมเป็นสิ่งอุตริ (บิดอะฮฺ) ที่ไม่ถูกยอมรับและถูกอัลลอฮฺสาปแช่ง นี่คือความหมายของการที่เรายืนยันในคำปฏิญาณว่า
“ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งในชีวิตของฉัน
และขอปฏิญาณว่า มุฮัมหมัดนั้น เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ ผู้เป็นแบบอย่างในทุกกิจการแห่งชีวิตฉัน”
2.2) การไม่ร้องขอสิ่งใดๆ ที่ตนปรารถนา เว้นแต่ขอจากอัลลอฮฺเท่านั้น เพราะหาได้มีสิ่งใดอีกที่สามารถสนองตอบคำร้องขอใดๆ นอกจากอัลลอฮฺผู้ทรงเอกะพระองค์เดียว นี่คือความหมายของคำพูดที่เรายืนยันอยู่เสมอว่า
“แด่พระองค์เท่านั้นที่เราเคารพอิบาดะฮฺ และยังพระองค์เท่านั้น ที่เราวอนขอความช่วยเหลือ”
2.3) จะต้องไม่ “ตะวักกัล” (พึ่งพา) สิ่งอื่นใดในกิจการต่างๆ เว้นแต่พึ่งอัลลอฮฺเท่านั้น ไม่ใช่พึ่งมนุษย์ เงินตรา ความรู้ โครงการหรือวัตถุใดๆ ซึ่งมีสถานะเป็นสาเหตุของความสำเร็จเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่อาจจะสูญสลายและสิ้นไป อีกทั้งไม่สามารถให้ความสำเร็จใดๆ นอกจากอัลลอฮฺและความช่วยเหลือของพระองค์เท่านั้น
“และผู้ใดที่มอบการพึ่งพาต่ออัลลอฮฺแล้ว ดังนั้น เพียงพอแล้วกับพระองค์ที่จะคอยช่วยเหลือเขา”
นี่คือความหมายของการที่คนผู้หนึ่งเป็นมุสลิมและมุสลิมะฮฺ
3) พึงทราบเถิดว่า รากฐานแห่งความสมบูรณ์ของชีวิตมนุษย์ ตามกฎเกณฑ์แห่งอัลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านรอซูล นั้น คือ การร่วมชีวิตกันเป็นคู่สามีภรรยา มิใช่อยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยว
ดังนั้น นิกะฮฺหรือการสมรสในมุมมองอิสลาม คือการยอมรับกฎเกณฑ์ของอัลลอฮฺในด้านการสนองตอบฟิฏเราะฮฺ (ความต้องการดั้งเดิม) ด้วยการทำตามแบบอย่างซุนนะฮฺของท่านรอซูล ในแง่ของวิธีปฏิบัติ ซึ่งอัลลอฮฺได้กำหนดไว้บนหนทางที่มนุษย์จะบรรลุสู่ความสมบูรณ์ในชีวิตโลกนี้และชีวิตอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า
“และเราได้สร้างให้พวกเจ้าเป็นคู่ๆ”
พระองค์ยังได้ตรัสอีกว่า
“และพวกเจ้า (ผู้ปกครองทั้งหลาย) จงจัดการสมรสให้กับผู้เป็นโสด (ไม่ว่าชายหรือหญิง) ในหมู่พวกเจ้า”
ดังนั้น จึงควรต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านรอซูล ในการดำเนินชีวิตครอบครัวตลอดไป เพื่อจะได้พบกับสวรรค์แห่งดุนยาและอาคิเราะฮฺด้วยความสันติสุขสถาพร
4) ควรจดจำไว้เสมอว่า นิอฺมัตสองประการ ที่เรียกว่า “เราะฮฺมะฮฺ” และ “มะวัดดะฮฺ” อันหมายถึง ความรู้สึกรักและความเอ็นดูเมตตานั้น เป็นการประทานจากอัลลอฮฺแก่คู่ชีวิตสองสามีภรรยา อันเปรียบเสมือนไข่มุกสองเม็ดที่มีค่ายิ่งในกล่องใจที่สลักเสลาด้วยอีมานนั้น ซึ่งด้วยนิอฺมัตสองประการนี้ ทั้งสองคนจะได้ใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสงบสุข อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า
“และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง
และทรงทำให้มีความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า แท้จริงในการนี้ แน่นอน ย่อมเป็นสัญญาณแก่หมู่ชนผู้ใคร่ครวญ”
ด้วยเหตุนี้ เป็นหน้าที่ของคู่สามีภรรยาที่ต้องพยายามรดรินและดูแลสองนิอฺมัตที่ทรงคุณค่าดังกล่าวให้เติบใหญ่ หรือขัดกลึงไข่มุกทั้งสองเม็ดนั้นในหัวใจของแต่ละคน หมั่นปฏิบัติอามัลศอลิฮฺต่างๆ และคุณลักษณะที่สูงส่ง ห่างไกลจากการประพฤติปฏิบัติและลักษณะนิสัยที่เสียหาย ที่มักจะก่อความหายนะและดับคุณค่าของสองนิอฺมัตอันประเสริฐดังกล่าว (ขออัลลอฮฺทรงเป็นผู้ช่วยเหลือ)
5) จงจำไว้ว่า การสมรสเป็นเหมือนการร่วมบริษัทของสองสามีภรรยา ในการสร้างครอบครัวและบ้านที่เปี่ยมสุข เพื่อความปลอดภัยของตนและลูกหลานในโลกนี้และโลกหน้า ทุนของบริษัทดังกล่าวคือ ความรักซึ่งกันเพื่ออัลลอฮฺ ผ่านความเมตตาและความรักใคร่ที่อัลลอฮฺทรงประทานให้ ไม่ใช่รักเพราะรูปลักษณ์ ทรัพย์สิน หรือศักดิ์ศรีเกียรติยศใด เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจจะอ่อนลงในวันหนึ่งข้างหน้า
ในขณะที่ความรักเพื่ออัลลอฮฺนั้น เป็นความรักที่ในเบื้องหลังของมันมีจิตวิญญาณแห่งความยำเกรงครอบผูกมัดอยู่ เป็นเสมือนเชือกอันแข็งแรงที่ร้อยรัดความรักและความเมตตาระหว่างสามีภรรยาในดุนยาและอาคิเราะฮฺ
6) ควรต้องทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการสมรสในอิสลาม ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นก็คือ
1) เป็นการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ตามซุนนะฮฺของท่านรอซูล
2) เป็นการสร้างความสมบูรณ์ในด้านศาสนาและชีวิต
3) เพื่อขวนขวายความสงบทางจิตใจ สุขภาพกาย และความปลอดโปร่งของสติปัญญา
4) ปกป้องและขยายวงศ์ตระกูลที่ศอลิฮฺ และคิลาฟะฮฺ (การสืบทอด) บนหน้าแผ่นดิน
5) พิทักษ์ปกป้องความสงบสุขและความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ
7) พึงทราบเถิดว่า ในจำนวนหลักสำคัญๆ ของครอบครัวเปี่ยมสุขนั้น มีดังนี้
1) สามีที่ศอลิฮฺ
2) ภรรยาที่ศอลิฮฺ
3) ลูกที่ศอลิฮฺ
4) บรรยากาศรอบข้างที่ดี นั่นคือ ครอบครัวของทั้งฝ่ายสามีและภรรยา ญาติมิตรคนอื่นๆ รวมทั้งสังคมภายนอกและบ้านเมือง
8) ใช้มารยาทต่างๆ ของอิสลามในการคลุกคลีระหว่างสามีภรรยาและภายในครอบครัว เช่น การกล่าวสลาม การยิ้มทุกครั้งที่เจอและจากกัน โดยเฉพาะเวลาเข้าหรือออกจากบ้าน ขยันหมั่นเพียรในการหาความรู้ ทำอิบาดะฮฺ ช่วยเหลือผู้อื่น และทำงานเลี้ยงชีพ มีใจโอบอ้อมให้กับทุกฝ่าย อภัยซึ่งกันและกัน ให้เกียรติ รักใคร่ หยอกล้อ ถ่อมตน ยอมรับในความผิดพลาด ทำดี ชั่งใจ ทดแทนคุณ อ่อนโยน และมีความรู้สึกร่วมทั้งยามทุกข์และยามสุข แน่แท้ว่า อัลลอฮฺจะทรงประทานความเมตตาของพระองค์ให้
9) ดำเนินชีวิตครอบครัวตามระบอบอิสลาม โดยเฉพาะการปรึกษาหารือในเรื่องต่างๆ ระหว่างสามีภรรยาและลูกๆ การร่วมมือส่งเสริมในสิ่งที่ดีงาม
เสริมสร้างความยำเกรง ใช้ความยุติธรรมในการตัดสิน รับผิดชอบต่อหน้าที่และสิ่งที่ได้รับอะมานะฮฺ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ให้ความสำคัญกับเวลา สะอาดทั้งในส่วนที่เปิดเผยและส่วนที่ลับ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบ้าน แต่งตัวและประดับกายเพื่อให้น่ามองแก่กันและกัน มีความละอายที่จะทำมะอฺศิยัตและความชั่ว เข้านอนแต่หัวค่ำและตื่นให้เร็วในช่วงเช้า ถ้าเป็นไปได้ให้ตื่นก่อนเวลาละหมาดซุบฮฺ แน่แท้ว่าชีวิตจะประสบกับความเจิดจรัส
10) พยายามรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มากในแต่ละวัน โดยใช้แบบอย่างของท่านรอซูล โดยเฉพาะการละหมาดที่มัสยิดสำหรับบุรุษ และการละหมาดในช่วงเวลาแรกสำหรับมุสลิมะฮฺ ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน การละหมาดสุนัตเราะวาติบ การละหมาดตะฮัจญุด วิติรฺ และฎุฮา การอ่านอัลกุรอานให้เป็นวิริด คือ อ่านอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถ้าเป็นไปได้อย่างน้อยวันละหนึ่งญุซอฺหรือให้มากที่สุดตามความสามารถ
เพราะอัลกุรอานคือแนวทางอันใหญ่หลวงยิ่งสำหรับมุอฺมิน และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เขาผู้นั้นศรัทธาต่อหลักศรัทธาทั้งหกประการ จงกล่าวอิสติฆฟารให้มากรวมทั้งการเตาบะฮฺนะศูฮา ด้วยการกล่าวว่า
“ข้าพระองค์ขออภัยโทษต่อัลลอฮฺและขอคืนกลับสู่พระองค์”
อย่างน้อยวันละร้อยครั้งในยามเช้าและร้อยครั้งในยามเย็น รวมทั้งอ่านบทซิกิรฺของท่านนบี ในทุกเช้าเย็น ให้อ่านบทซิกิรฺอื่นๆ ที่มีแนวทางจากซุนนะฮฺตามโอกาสและสถานที่ที่เหมาะสม ควรขอดุอาร์เพื่อให้ได้รับลูกหลานที่ศอลิฮฺและได้รับบะเราะกะฮฺจากอัลลอฮฺตราบจนวันกิยามะฮฺ อีกทั้งต้องขอดุอาร์เพื่อให้ได้รับความปลอดภัยแก่ครอบครัวและลูกหลานทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
“โอ้ผู้อภิบาลแห่งเรา โปรดประทานให้แก่เราจากคู่ครองของเราและจากลูกหลานของเรา ซึ่งความรื่นรมย์แก่สายตา
และขอพระองค์ทำให้เราเป็นผู้นำ (ตัวอย่างที่ดี) ของบรรดาผู้ยำเกรง”
11) จงใช้ความอดทนอย่างสม่ำเสมอ เพราะความอดทน คือ ดวงไฟที่แรงกล้าซึ่งจะส่องให้เห็นทางออกเมื่อยามเจอปัญหา โดยที่บางครั้งเราเองไม่ได้คาดคิด และขอดุอาร์ให้มากเมื่อต้องเผชิญกับบททดสอบ เช่น รู้สึกไม่พอใจต่อการปฏิบัติตนและนิสัยส่วนตัวของสามีหรือภรรยาหรือของครอบครัวทั้งสองฝ่าย ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับความปรารถนาของแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแรกของการใช้ชีวิตร่วมกันฉันท์สามีภรรยา
ไม่หึงหวงเกินขอบเขตเพราะมันคือความหายนะ แต่ละคนควรพยายามสงวนตนไม่ให้เกิดปัจจัยที่เป็นเหตุแห่งความหึงหวง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงนอกสมรสอย่างไร้ขอบเขตทางศาสนาหรือการอยู่กันสองต่อสอง เป็นต้น ควรต้องกล่าววิงวอนต่ออัลลอฮฺด้วยคำกล่าววิงวอนตามแบบอย่างของท่านรอซูล ในยามที่ประสบปัญหาความไม่พอใจต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น กล่าวว่า
“โอ้อัลลอฮฺ อัลลอฮฺคือพระผู้อภิบาลแห่งข้า ข้าไม่ตั้งภาคีต่อพระองค์ด้วยสิ่งใดทั้งสิ้น”
“มวลการสรรเสริญนั้นเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮฺในทุกๆ สภาวการณ์”
“โอ้ผู้ทรงชีวิน โอ้ผู้ทรงดูแลปกครอง ข้าขอความช่วยเหลือด้วยเมตตาแห่งพระองค์”
พร้อมๆ กับการซุโกรฺ (ขอบคุณอัลลอฮฺ) ต่อการประทานของพระองค์ ไม่ว่าจะเล็กน้อย นับประสาอะไรกับการประทานอันมากมายด้วยคำกล่าวว่า
“ขอสรรเสริญอัลลอฮฺ ซึ่งด้วยการประทานแห่งพระองค์ สิ่งที่ดีต่างๆ จึงได้สมบูรณ์”
และด้วยการเชื่อฟังปฏิบัติตาม การสุญูดซุโกรฺ เพราะการซุโกรฺคือตั๋วแห่งการเพิ่มพูนปัจจัยและการประทานที่เท่าทวีจากอัลลอฮฺ พึงจำไว้ว่า ความอดทนและการซุโกรฺ คือล้อสองวงที่จะนำผู้ศรัทธาคนหนึ่งสู่จุดยอดแห่งความเจริญในชีวิตทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ
12) หลีกให้ห่างจากการตกเป็นเหยื่อของซัยฏอน ที่มักจะกระซิบกระซาบให้สามีภรรยาทะเลาะเบาะแว้งและหย่าร้าง ด้วยอาการโกรธ โมโห ใจแคบ การเปรียบเปรย หรือการอ้างด้วยเรื่องใดๆ เช่น น้อยใจ ใจร้อน เป็นต้น
หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ไม่มีมารยาท โดยเฉพาะคำพูดที่จะนำไปสู่การหย่าร้าง เพราะการหย่าร้าง คือสิ่งฮาลาล แต่อัลลอฮฺทรงพิโรธที่สุด เนื่องด้วยว่ามันมักจะนำมาซึ่งความเสียหายต่ออนาคตของทั้งสามีภรรยาและลูกหลานของทั้งสอง
ยิ่งถ้าหากเป็นการหย่าร้างที่ไม่ถูกต้อง (เฏาะลากบิดอีย์) ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม นั่นคือ ในช่วงที่ภรรยามีรอบเดือน หลังคลอด หรือขณะตั้งครรภ์ (ขออัลลอฮฺทรงช่วยเหลือ) ให้ใช้การไกล่เกลี่ยและสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในครอบครัวอย่างถึงที่สุด โดยอาศัยหลักแห่งความรักและความเมตตา แน่แท้ว่า อัลลอฮฺจะทรงประทานความช่วยเหลือ
13) แต่ละคนควรต้องพยายามและขอดุอาร์ เพื่อให้ได้ลูกที่ศอลิฮฺ ไม่เพียงเฉพาะที่สมบูรณ์ด้านร่างกายหรือมีปัญญาที่ฉลาดหลักแหลม อีกทั้งต้องแบ่งเวลาให้มากที่สุด เพื่ออบรมเลี้ยงดูบุตรทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะลูกๆ คือ อะมานะฮฺที่ต้องดูแลและเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ทั้งสองคน
14) หลีกห่างจากชิริกทุกประเภท สิ่งต้องห้ามในเรื่องอะกีดะฮฺ สิ่งอุตริในเรื่องอิบาดะฮฺ ญาฮิลียะฮฺในเรื่องอัคลากและความประพฤติ มะอฺศิยัตมุงกัรและฟะฮฺซาอฺ โดยเฉพาะการคลุกคลีอย่างเสรีระหว่างชายหญิงที่แต่งงานกันได้ ประสาอะไรกับการอยู่สองต่อสอง ต้องหลีกห่างสิ่งต้องห้ามและสิ่งคลุมเครือ (ซุบฮะฮฺ) ในเรื่องทรัพย์สิน อาหารการกิน เสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่างๆ เพราะทั้งหมดนี้จะนำครอบครัวสู่หุบเหวแห่งความหายนะทั้งโลกนี้และโลกหน้า
ผู้แปล: ซุฟอัม อุษมาน / Islamhouse