ครอบครัวมุสลิม
ครอบครัวที่ดีจำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความอบอุ่น ความรัก ความเมตตาที่พึงมีต่อกัน มิใช่ว่าการตกลงใจอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันนั้น เพื่อสนองความเรียกร้องตามธรรมชาติที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะ อัลกุรอานได้บรรยายถึงลักษณะของครอบครัวตามอุดมการณ์ของอิสลามไว้ในโองการดังต่อไปนี้
“และสัญญาณหนึ่งแห่งองค์พระผู้อภิบาลนั้นคือ พระองค์ทรงบังเกิดคู่ครองของพวกเจ้าจากเรือนร่างของพวกเจ้าเอง
เพื่อพวกเจ้าจักได้อยู่ร่วมชีวิตกับนาง และทรงประทานความรัก ความเมตตาขึ้นในหมู่พวกเจ้า”
(กุรอาน 30:21)
“พระองค์ทรงบังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่งและทรงบังเกิดจากชีวิตนั้น ซึ่งคู่ครองของเขา เพื่อเขาจักได้อยู่ร่วมชีวิตกับนาง”
(กุรอาน 7:189)
ความผูกพันของสามีภรรยานั้น นับว่าสูงส่งและมีค่าควรแก่การรักษายิ่ง เปรียบได้กับความรักความผูกพันของบุคคลหนึ่งที่มีต่อชีวิตของเขาเอง ด้วยเหตุนี้ การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดการแตกร้าวหรือมีอันต้องหย่าขาดจากกันโดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ชอบธรรมนั้น เป็นสิ่งที่อิสลามได้กล่าวประนามไว้อย่างรุนแรง ในคัมภีร์อัลกุรอานได้แจ้งเตือนบรรดาสามีภรรยาให้มีความตระหนักและระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้หลายโองการ นอกจากนั้น อัลกุรอานยังได้เปรียบเทียบถึงลักษณะความผูกพันดังกล่าวไว้ดังนี้
“พวกนางเป็นอาภรณ์สำหรับพวกเจ้า และพวกเจ้าเป็นอาภรณ์สำหรับพวกนาง”
(กุรอาน 2:187)
เพื่อให้ชีวิตครอบครัวดำเนินไปด้วยความราบรื่น มีความมั่นคงและส่งผลที่ดีต่อสังคม อิสลามจึงได้กำหนดหน้าที่ของสามีภรรยาที่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อกันไว้ดังนี้
หน้าที่ของสามี
1) ต้องประพฤติตนเป็นผู้นำที่ดี
ด้วยการให้การดูแลและปกป้องคุ้มครองภรรยาและบุตรเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะเอกลักษณ์ประจำตัวตามธรรมชาติที่พระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้สำหรับเพศชายอย่างหนึ่ง คือ มีลักษณะของการเป็นผู้นำ ซึ่งประกอบขึ้นมาจากคุณสมบัติหลายประการ อาทิ ความกล้าหาญ แข็งแรง ความนึกคิดที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงไม่อ่อนไหวง่าย เหล่านี้เป็นคุณสมบัติพิเศษของเพศชาย
ดังกล่าวนี้ มิได้หมายความว่าสตรีเพศจะขาดคุณสมบัตินั้นเสียเลย ความจริงตามธรรมชาติแห่งอัลลอฮฺนั้น สตรีก็มีคุณสมบัติเหล่านั้นด้วยเหมือนกัน หากแต่ว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชายแล้วปรากฏว่าชายมีคุณสมบัติดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่าสตรีมาก
อัลกุรอานได้บรรยายไว้อย่างนี้
“ชายย่อมเป็นผู้นำแห่งหญิง ตามนัยแห่งความโปรดปรานที่พระองค์ทรงประทานแก่บางคน (ชาย) เหนือกว่าบางคน (หญิง) และด้วยค่าเลี้ยงดูที่ชายจำเป็นต้องรับผิดชอบ”
(กุรอาน 4:34)
“และสำหรับหญิงนั้นย่อมมีสิทธิเสมอชาย ด้วยคุณความดีที่พึงประพฤติ ส่วนชาย (ด้วยเอกลักษณ์ประจำตัวเขา) มีฐานะสูงกว่าหญิง”
(กุรอาน 2:228)
รายงานจากท่านอิบนุอุมัร ท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าเคยรับฟังท่านรอซูลุลลอฮฺให้โอวาทว่า
“พวกเจ้าทั้งหมดเป็นผู้ปกครองและต้องรับผิดชอบต่อผู้อยู่ภายใต้การปกครอง อิหม่ามนั้นมีหน้าที่ปกครองและรับผิดชอบต่อมวลสัปบุรุษ สามีมีหน้าที่ให้การดูแลและรับผิดชอบต่อภรรยาและบุตร ภรรยาต้องรับผิดชอบภายในครอบครัวของสามี”
(โดยบุคอรีย์)
2) สุภาพอ่อนโยนต่อภรรยาและบุตร
อัลฮาดิษ ได้บรรยายถึงเรื่องนี้ไว้ดังต่อไปนี้ รายงานจากพระนางอาอิชะฮฺ ท่านนบีกล่าวว่า
“แท้จริงผู้มีความสมบูรณ์ในการศรัทธายิ่งในหมู่พวกเจ้า คือ ผู้ที่มีมารยาทที่ดีและสุภาพอ่อนโยนต่อภรรยาและบุตรของเขา”
(เล่าโดยท่านติรมีซีย์)
“ผู้ประเสริฐในหมู่สูเจ้าคือผู้ประพฤติดีต่อครอบครัว และฉันประเสริฐต่อสูเจ้าด้วยฉันประพฤติดีต่อครอบครัวของฉัน”
(เล่าโดยท่านฮากิม)
3) รับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว
เมื่อปรากฏว่าค่าใช้จ่ายภายในบ้านเป็นหน้าที่ของสามี เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นสามีจะปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอันขาด จำต้องขวนขวายหาปัจจัยและเครื่องยังชีพมาสู่ครอบครัว ท่านนะบี ได้ให้โอวาทว่า
“หนึ่งเหรียญทองที่ท่านบริจาคไปในหนทางของอัลลอฮฺ หนึ่งเหรียญทองที่ท่านบริจาคไปเพื่อช่วยเหลือทาส หนึ่งเหรียญทองที่ท่านทำทานแก่ยาจก และหนึ่งเหรียญทองที่ท่านจ่ายไปเพื่อครอบครัวของท่านนั้น ที่ได้รับกุศลมากที่สุดคือ หนึ่งเหรียญทองที่ท่านจ่ายไปเพื่อครอบครัวของท่าน”
(เล่าโดยท่านมุสลิม)
ถ้าสามีคนใดกระทำการฝ่าฝืนในเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นบาปที่เขาก่อขึ้น และผลเสียอีกประการหนึ่งที่ติดตามมาคือ ความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ส่วนภรรยานั้น ถึงแม้เธอจะไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่หากเธอจะอาสาเข้ามามีส่วนรับผิดชอบเพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของสามีอีกแรงหนึ่งแล้ว ก็นับว่าเธอได้กระทำในสิ่งที่ศาสนาและสังคมให้การสนับสนุน และสรรเสริญอย่างยิ่งทีเดียว
4) ให้การศึกษาแก่ภรรยาและบุตร
เพราะการศึกษาซึ่งรวมถึงการศึกษาทั้งทางโลก และทางธรรมเป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ความสว่างทางปัญญา ทำให้เข้าใจถึงหลักธรรมคำสอนต่างๆ ของศาสนา และสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างถูกต้องและเป็นหลักประกันการดำเนินชีวิตในโลกนี้ให้มีความมั่นคง โดยอาศัยความรู้ที่ได้รับเป็นทางนำ
5) ให้ความสุขแก่ภรรยาและบุตร
ด้วยการเลือกใช้เวลาว่างเพื่อการหยอกล้อ เล่นเกมส์สนุกสนาน ชวนให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น และเกิดความรู้สึกรักครอบครัวขึ้นภายในจิตใจของภรรยาและบุตร เราจะพบว่าภรรยาหรือบุตรก็ตามที่ละหนีจากครอบครัวซึ่งเป็นสังคมเล็กๆ ของพวกเขา ไปสู่สังคมภายนอกที่เป็นระดับใหญ่ และก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้นในรูปแบบต่างๆนั้น สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การขาดความรัก ความอบอุ่นจากครอบครัว เนื่องจากสามีซึ่งเป็นผู้นำครอบครัวไม่สนใจในข้อปฏิบัติดังกล่าว เพราะฉะนั้น สามีที่เอาการเอางานมากเกินไปหนึ่ง สามีที่ชอบใช้อารมณ์กริ้วกราด และสามีที่ไม่พยายามหาเวลาว่างให้ความสุขภรรยาและบุตร เหล่านี้ย่อมเป็นภัยต่อสถานภาพความเป็นอยู่ที่มั่นคงของครอบครัวทั้งสิ้น ท่านนะบีมุฮัมหมัด กล่าวว่า
“การแสวงหาความสุขของชายมุสลิมนั้น จักถือว่าไม่บังควรยิ่ง นอกจากความสุขที่เขาได้รับจากการฝึกยิงธนู การฝึกม้า และการหยอกล้อกับภรรยาและบุตร เช่นนี้เป็นหน้าที่ของชายมุสลิม”
(เล่าโดยท่านติรมีซีย์)
และท่านศาสดา ยังกล่าวอีกว่า
“สิ่งอำนวยความสุขที่ดีที่สุดในโลกนี้ คือ สตรีผู้ประพฤติดี”
(เล่าโดยท่านมุสลิม)
หน้าที่ของภรรยา
1) เคารพเชื่อฟังสามี
เล่าจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ท่านกล่าวว่า ท่านศาสดาได้ให้โอวาทว่า
“หญิงที่ละหมาดครบห้าเวลาและรักษาอวัยวะเพศของนาง (จากการผิดประเวณี) และเคารพภักดีสามี นางจะได้เข้าประตูสวรรค์ ตามที่นางต้องการ”
(เล่าโดยท่านอิบน์ฮิบบาน)
2) ปรนนิบัติสามี
เพื่อความมั่นคงและก่อให้เกิดความสุขขึ้นภายในครอบครัว ภรรยาจำต้องสอดส่องและสนองความต้องการต่างๆ ที่ชอบด้วยสิทธิสามี เอาอกเอาใจและสุภาพอ่อนโยน นอกจากนั้น อย่าพึงนำเรื่องร้ายมาเล่าให้สามีฟังเมื่อเขาเพิ่งกลับมาถึงบ้านใหม่ๆ เพราะจะทำให้เกิดอารมณ์เสียและหงุดหงิดขึ้นมา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเขาเอง อาจจะเหนื่อยกายเหนื่อยใจจากหน้าที่การงานนอกบ้านหรือเหตุอื่นใดเป็นทุนอยู่ก่อนแล้ว ท่านศาสดามีพระวัจนะเกี่ยวกับลักษณะของภรรยาที่ดีไว้ดังนี้
“ภรรยาที่ทำให้สามีเกิดความพอใจเมื่อเขามองไปที่นาง และภรรยาที่ปฏิบัติตามคำสั่งสามีและไม่ฝ่าฝืนด้านความประพฤติและการจับจ่ายทรัพย์สินในทางที่สามีไม่ชอบ”
(เล่าโดยท่านติรมีชีย์)
3) ไม่ดูถูกและเนรคุณสามี
ภรรยาคนใดที่ประพฤติดังกล่าวถือได้ว่า นางกำลังเลือกเอาทางที่จะพานางไปสู่นรก พระวจนะหนึ่งของท่านนะบี กล่าวว่า
“พระองค์อัลลอฮฺ ทรงกริ้วภรรยาผู้ไม่กตัญญูรู้คุณสามี ทั้งที่นางเองยังต้องพึ่งสามีอยู่”
ทั้งหมดนี่คือหน้าที่สำคัญซึ่งสามีภรรยาพึงน้อมนำปฏิบัติสู่กันและกัน และหากคู่สามีภรรยาใดปฏิบัติได้ดังกล่าวนี้ก็นับเป็นบุญวาสนาอย่างสุดประมาณสำหรับเขาทั้งสอง หากแต่เมื่อพิจารณาดูสภาพความเป็นจริงโดยทั่วไปแล้ว ก็ยังมีความบกพร่องอยู่ เพราะในบางครั้งสามีทำอะไรขึ้นมาไม่เป็นที่สบอารมณ์ของภรรยา และในบางครั้งภรรยาทำอะไรขึ้นมาจนทำให้สามีเกิดอารมณ์เสีย เหล่านี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาในการที่คนเรามาอยู่รวมกัน เปรียบเสมือนลิ้นกับฟันที่จะต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เพราะฉะนั้นทางเดียวที่จะช่วยขจัดและคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวได้ คือ ความอดทนขันติ สุขุมคัมภีรภาพและไม่กระทำการใดๆ เกินกว่าเหตุ
ท่านนะบีมุฮัมหมัด ให้โอวาทว่า “ขันติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา”
ที่มา: หนังสือคุตบะฮฺวันศุกร์ โดยสำนักจุฬาราชมนตรี (นายประเสริฐ มะหะหมัด)