ขั้นตอนในงานวะลีมะฮ์
การอ่านคุฏบะฮฺในการแต่งงานสุนัตสำหรับผู้ที่ทำการแต่งงาน ให้อ่านคุฏบะฮฺ อัล-หาญะฮฺ (การให้โอวาทตามที่มีปรากฏในรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ก่อนการทำพิธีแต่งงาน ดังที่ได้อธิบายแล้วในคุฏบะฮฺวันศุกร์ ซึ่งมันถูกใช้กล่าวในการแต่งงานและอื่นๆ เช่น เริ่มด้วย
«إن الحمد ٬ نحمده ونستعينه... إلخ»
แท้จริงการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ เราขอสรรเสริญพระองค์และขอความช่วยเหลือจากพระองค์.... จนจบ
จากนั้นให้อ่านอายะฮฺอัลกุรอานที่เกี่ยวข้องตามที่มีปรากฏในรายงาน หลังจากนั้นจึงทำพิธีสมรส โดยให้มีพยานเป็นผู้ชายสองคน
การแสดงความยินดีกับการแต่งงานการแสดงความยินดีกับการแต่งงานเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้กระทำ ดังที่รายงานจาก อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า แท้จริงแล้วท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้น เมื่อท่านแสดงความยินดีท่านก็จะกล่าวว่า
«بَارَكَ الله لَكُمْ، وَبَارَكَ عَلَيْكُمْ، وَجَـمَعَ بَيْنَكُمَا فِي خَيرٍ». أخرجه أبو داود وابن ماجه.
(คำอ่าน บาเราะกัลลอฮุ ละกุม, วะ บาเราะกะ อะลัยกุม, วะ ญะมะอะ บัยนะกุมา ฟี ค็อยรฺ)
ความว่า ขอให้อัลลอฮทรงประทานความบารอกัตแก่พวกท่านทั้งหลาย และขอความประเสริฐจงประสบแด่พวกท่านทั้งหลาย และขอให้พระองค์รวมท่านทั้งหลายนั้นอยู่ในคุณความดี
(หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด 2130 และอิบนุ มาญะฮฺ 1905 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน)
- อนุญาตสำหรับผู้ที่ได้ผ่านพิธีแต่งงานเสร็จแล้ว ให้อยู่กับภรรยาของเขาได้เลย และอยู่สองต่อสองกับนางได้ และคลุกคลีกับนางได้ทันที เพราะนางเป็นภรรยาของเขาแล้ว และห้ามกระทำสิ่งดังกล่าวก่อนพิธีแต่งงาน ถึงแม้จะเป็นหลังจากการหมั้นหมายแล้วก็ตาม
ช่วงเวลาสำหรับการแต่งงานของฝ่ายหญิงอนุญาตให้จัดพิธีแต่งงานกับหญิงในขณะที่นางปราศจากประจำเดือน หรืออยู่ในช่วงประจำเดือนก็ได้ แต่ห้ามทำการหย่าในขณะที่นางอยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน ดังที่จะได้อธิบายในเรื่องที่เกี่ยวกับการหย่าต่อไป
เงื่อนไขของการแต่งงาน1. ต้องระบุเจาะจงว่าคนใดที่จะแต่งงาน ทั้งจากฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว
2. การยินยอมของทั้งสองคู่บ่าวสาว
3. ต้องมีวะลีย์หรือผู้ปกครอง ไม่อนุญาตให้ทำการแต่งงานหญิงใดเว้นแต่ต้องมีผู้ปกครอง
4. การแต่งงานต้องมี มะฮัร (สินสอด)
5. คู่บ่าวสาวทั้งสองต้องปราศจากข้อห้ามของการแต่งงาน ที่ห้ามให้มีการแต่งงานได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุเชื้อสาย หรือสาเหตุการร่วมแม่นม หรือความแตกต่างในด้านศาสนาของทั้งสอง เป็นต้น
เงื่อนไขของวะลีย์
วะลีย์ หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงที่จะทำการแต่งงานนางนั้น มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ชาย เป็นไท บรรลุวัยแห่งศาสนภาวะ มีสติปัญญา เป็นคนที่มีความคิดแยกแยะได้ และต้องนับถือศาสนาเดียวกันกับเจ้าสาว
สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนั้นมีสิทธิที่จะทำการแต่งงานหญิงกาฟิรที่ไม่มีผู้ปกครองได้
ผู้ปกครองนั้นก็คือ พ่อของหญิง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดในการทำการแต่งงานให้กับเจ้าสาว ถัดไปก็คือผู้ที่พ่อได้สั่งเสียให้ทำการแต่งงานแทนเขา ถัดไปก็เป็นปู่ของนาง จากนั้นก็เป็นลูกชายของนาง จากนั้นก็พี่ชายหรือน้องชายของนาง จากนั้นก็ลุงหรืออา(พี่น้องของพ่อ)ของนาง หลังจากนั้นก็คือผู้ที่มีเชื้อสายตระกูลใกล้ชิดกับนางมากที่สุด สุดท้ายก็คือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ (วะลีย์ สุลฏอน)
การเป็นพยานในการแต่งงานสุนัตให้มีพยานในการแต่งงาน ซึ่งต้องเป็นชายสองคนที่มีคุณธรรมความยุติธรรม และเป็น มุกัลลัฟ (บุคคลที่บรรลุวัยทางศาสนภาวะและเป็นบุคคลปกติที่ต้องปฏิบัติศาสนกิจตามบัญญัติศาสนา)
หากการแต่งงานมีพยานรู้เห็นสองคนและมีประกาศให้รับทราบ ก็ถือว่าเป็นพิธีที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ถ้าหากได้มีการประกาศให้รับทราบโดยไม่มีพยานสองคน หรือมีพยานรู้เห็นแต่ไม่ได้ประกาศ ก็ถือว่าการแต่งงานนั้นใช้ได้เช่นกัน
หุก่มการแต่งงานโดยปราศจากวะลีย์ถ้าผู้ปกครองของฝ่ายหญิงไม่รับที่จะเป็นวะลีย์ หรือไม่มีเงื่อนไขพร้อมที่จะเป็นวะลีย์ หรือไม่อยู่และไม่สามารถที่จะเรียกเขามาเป็นวะลีย์ได้เว้นแต่ด้วยความยากลำบาก ก็ให้ผู้ปกครองคนอื่นถัดไปจากเขามาทำการแต่งงานให้เจ้าสาวแทน
การแต่งงานโดยไม่มีผู้ปกครองนั้นใช้การไม่ได้เพราะไม่ถูกวิธี จำเป็นจะต้องยกเลิกการแต่งงานนั้นกับผู้พิพากษา หรือด้วยการหย่าร้างจากเจ้าบ่าวต่อเจ้าสาว แต่ถ้าหากเจ้าบ่าวมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าสาวด้วยการแต่งงานที่ใช้ไม่ได้ดังกล่าว ก็จำเป็นต้องจ่ายสินสอดให้กับนาง เนื่องจากได้มีเพศสัมพันธ์กับนางแล้ว
ความพร้อมและเหมาะสมของคู่บ่าวสาวความพร้อมและความเหมาะสมระหว่างสองสามีภรรยา คือความเหมาะสมในด้านศาสนาและการเป็นไท แต่ถ้าผู้ปกครองทำการแต่งงานหญิงสาวที่ดีคู่กับชายชั่ว หรือหญิงที่เป็นไทคู่กับชายที่เป็นทาส การแต่งงานนั้นถือว่าถูกต้องตามพิธี แต่เป็นสิทธิสำหรับเจ้าสาวที่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่หรือยกเลิกการแต่งงานนั้น
มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์แปลโดย : ริซัลย์ สะอะ / Islam House