การหมั้นหมายและการสู่ขอ
การหมั้นหมายกับผู้หญิง
สำหรับชายคนใดที่ต้องการจะหมั้นกับหญิงคนหนึ่ง สุนัตให้เขาต้องดูตัวนางก่อนและดูสิ่งที่จะสนับสนุนให้เกิดการแต่งงานขึ้นจริงๆ ทั้งนี้ เวลาดูตัวต้องอยู่ในที่เปิดเผยไม่ใช่สองต่อสอง ที่สำคัญห้ามสลามกับนาง หรือแตะต้องตัวนางเด็ดขาด และห้ามเปิดเผยในสิ่งที่ได้พบเห็นเกี่ยวกับตัวนาง ในขณะที่ผู้หญิงเองก็มีสิทธิจะมองดูชายที่ต้องการจะหมั้นหมายกับนางเช่นกัน ถ้าหากชายคนใดไม่สามารถที่จะดูฝ่ายหญิงด้วยตัวเองได้ ก็ให้ส่งตัวแทนผู้หญิงคนหนึ่งที่น่าเชื่อถือได้ ไปดูหญิงที่หมายปองไว้ แล้วมาบอกแก่ชายคนดังกล่าวแทน
- หญิงใดที่สามีเสียชีวิตแล้วนางได้แต่งงานใหม่ ในวันปรโลกหญิงคนนั้นจะเป็นสิทธิของสามีคนสุดท้ายของนาง
การหมั้นหญิงที่ถูกหมั้นอยู่ก่อนหน้าแล้ว
ห้ามแลกเปลี่ยนรูปภาพในการหมั้นหรืออื่นๆ และห้ามชายผู้หนึ่งไปหมั้นกับหญิงที่มีผู้อื่นหมั้นอยู่แล้วหรือจับจองแล้ว จนกว่าชายผู้นั้นจะถอนหมั้น หรือต้องได้รับการอนุญาตจากชายผู้นั้นเสียก่อน หรือชายคนแรกถูกบอกยกเลิกจากฝ่ายหญิ่ง ถ้าเขาไปหมั้นซ้อนชายอื่น การหมั้นหมายของเขานั้นถือว่าใช้ได้ แต่เขาจะเป็นผู้ที่ทำบาปและทรยศต่ออัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์
วาญิบ(จำเป็น)สำหรับผู้ปกครองของฝ่ายหญิงที่จะต้องหาผู้ชายที่มีคุณธรรมให้แก่ลูกสาวของเขาได้แต่งงาน ถือว่าไม่เป็นไรถ้าหากจะเสนอลูกสาว พี่สาว หรือน้องสาว ให้แก่ชายที่เป็นคนดีมีคุณธรรมด้วยเจตนาเพื่อให้แต่งงานกัน
ห้ามแสดงเจตน์จำนงอย่างตรงไปตรงมาในการสู่ขอหรือขอหมั้นกับหญิงที่อยู่ในช่วงอิดดะฮฺ(ช่วงเวลาแห่งการรอคอย)จากการตายของสามี หรือหญิงที่ถูกหย่าขาดจากสามีคนเก่า แต่อนุญาตให้แสดงเจตนาอย่างเป็นนัย(ไม่เปิดเผยโจ่งแจ้ง) เช่น กล่าวแก่หญิงที่อยู่ในอิดดะฮฺว่า "คนอย่างคุณนี้ฉันชอบนะ" และทางฝ่ายหญิงก็อาจจะกล่าวว่า "ฉันเองก็ไม่ได้เกลียดคุณ" หรือคำอื่นๆ ในลักษณะนี้
และอนุญาตให้กล่าวสู่ขอหญิงผู้อยู่ในอิดดะฮฺด้วยคำพูดที่ชัดเจนหรือเป็นนัยได้สำหรับสามีของนางซึ่งหย่าจากนางแบบบาอินที่ไม่ถึงสามครั้ง และไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่สามีกล่าวสู่ขอหญิงที่ถูกหย่าแบบร็อจญ์อีย์(ยังอยู่ในสภาพที่สามารถคืนดีกับสามีคนเก่าได้) ในขณะที่นางอยู่ในช่วงอิดดะฮฺไม่ว่าจะด้วยคำพูดที่ชัดเจนหรือเป็นนัยก็ตาม
รุก่นการแต่งงาน มีสามประการ คือ
1. สองคู่บ่าวสาว ซึ่งต้องปราศจากข้อห้ามที่เป็นโมฆะของการแต่งงาน เช่น เป็นพี่น้องร่วมแม่นมคนเดียวกัน หรือมีศาสนาแตกต่างกัน เป็นต้น
2. ต้องมีการกล่าว อีญาบ (สำนวนมอบ) หมายถึง สำนวนเสียงที่ออกจากปากผู้ปกครอง หรือผู้ที่ทำการแทนผู้ปกครองในการแต่งงาน เช่น ฉันทำการแต่งงานคุณกับ... หรือ ฉันมอบให้คุณครอบครองผู้หญิงคนนี้ชื่อ... เป็นต้น
3. ต้องมีการกล่าว เกาะบูล (สำนวนตอบรับ) หมายถึง สำนวนเสียงที่ออกจากปากชายที่ต้องการแต่งงานหรือผู้ที่รับแทนเขาในการแต่งงาน เช่น ฉันตอบรับการแต่งงานนี้
เมื่อมีการกล่าวมอบและกล่าวตอบรับ ก็ถือว่าเป็นการแต่งงานที่ใช้ได้แล้ว
การขออนุญาตจากผู้หญิงในการแต่งงาน
จำเป็นสำหรับผู้ปกครองของฝ่ายหญิงที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแต่งงานที่จะต้องขออนุญาตจากนางก่อนการทำพิธีแต่งงาน ไม่ว่านางจะเป็นสาวที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อนหรือเป็นหม้ายแล้วก็ตาม และห้ามบังคับให้นางแต่งงานกับคนที่นางัรังเกียจ หากมีการแต่งงานโดยที่นางไม่ได้ยินยอมด้วย นางก็มีสิทธิที่จะยกเลิกการแต่งงานได้1. รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ จากท่านนบี ได้กล่าวว่า
«لا تُنْكَحُ الأَيِّـمُ حَتَّى تُسْتَأْمَـرَ، وَلا تُنْكَحُ البِكْرُ حَتَّى تُسْتَأْذَنَ» قالوا: يا رسول الله وكيف إذنها؟ قال: «أَنْ تَسْكُتَ». متفق عليه.
"ห้ามทำการแต่งงานให้หญิงหม้ายจนว่าจะถูกสั่งจากนางเองให้ทำการแต่งงาน และห้ามทำการแต่งงานให้กับสาวที่ยังไม่เคยแต่งงานจนกว่าจะได้รับการยินยอมจากนางให้ทำการแต่งงานได้"
บรรดาเศาะหาบะฮฺถามว่า “โอ้ท่าน รอซูลุลลอฮฺ การยินยอมของนางนั้นเป็นแบบไหน ?”
ท่านรอซูล ก็ตอบว่า “การนิ่งเงียบของนาง นั่นคือการยินยอมแล้ว”
(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5136 และมุสลิม 1419)
2. จากค็อนสาอ์ บิน ค๊อดดาม อัล-อันศอรียะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่า
"แท้จริงพ่อของนางทำการแต่งงานนางในขณะที่นางนั้นเป็นหม้าย และนางก็ไม่ชอบการแต่งงานดังกล่าว แล้วนางก็มาหาท่านรอซูล
และท่านรอซูลก็ได้ปฏิเสธ(ไม่ยอมรับ)การแต่งงานดังกล่าว"
(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5138)
- อนุญาตให้พ่อทำการแต่งงานลูกสาวที่ยังไม่ถึงเก้าปี ซึ่งนางต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมเหมาะสมสำหรับการแต่งงานนั้น โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือยินยอมจากลูกสาว
- ห้ามไม่ให้ชายสวมใส่แหวนหมั้นที่ทำมาจากทอง และการสวมใส่แหวนดังกล่าวนั้นนอกจากจะเป็นการคล้ายคลึงกับผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว ยังถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติศาสนาอีกด้วย
มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์
แปลโดย : ริซัลย์ สะอะ / Islam House