การหมั้นหมายสตรี
การหมั้นคือการที่ฝ่ายชายหมายปองสตรีที่ต้องการแต่งงานโดยที่ทั้งสองตกลงปลงใจที่จะร่วมชีวิตกันในอนาคตฐานะสามีภรรยาและรับทราบโดยผู้ปกครองของทั้งสองฝ่าย อิสลามอนุญาตให้มีการหมั้นโดยวางกฎไว้ดังนี้1. อนุญาตให้ฝ่ายชายมองดูสตรีที่ต้องการแต่งงานด้วยและฝ่ายหญิงก็สามารถมองดูฝ่ายชายเช่นเดียวกันดังที่กล่าวมาแล้ว
2. การหมั้นถือเป็นการประกาศหมายปองเท่านั้น คู่หมั้นอยู่ในฐานะคนที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน ดังนั้นทั้งคู่ไม่สามารถนั่งอยู่ตามลำพังสองต่อสอง จับเนื้อต้องตัวหรือเดินเที่ยวฉันสามีภรรยา ทั้งคู่ต้องยึดมั่นคำสอนของอิสลามว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงอย่างเคร่งครัด และไม่คล้อยตามแฟชั่นนิยมที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนทั่วไป
3. ห้ามหมั้นหมายสตรีที่มีผู้อื่นหมั้นหมายอยู่แล้วเพราะจะเป็นสาเหตุของการสร้างความโกรธเคืองและศัตรูระหว่างกัน
4. ห้ามหมั้นหมายสตรีที่อยู่ในอิดดะฮ์ (ช่วงที่ยังไม่พ้นระยะการหย่า)
สิ่งที่อยากเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองและหนุ่มสาว คือ มุสลิมไม่จำเป็นต้องจัดพิธีหมั้นอย่างเอิกเกริกใหญ่โต และคู่หมั้นยังไม่มีสถานภาพเป็นสามีภรรยา จึงต้องปฏิบัติตามข้อห้ามอย่างเคร่งครัด
องค์ประกอบของการแต่งงานการแต่งงานในอิสลามต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ(รุกุน) ต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. คำผูกมัดและคำตอบรับ(อีญาบและกอบูล)
2. เจ้าบ่าว
3. เจ้าสาว
4. ผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาว(วะลีย์)
5. พยาน 2 คน
ในแต่ละองค์ประกอบดังกล่าว มีลักษณะเฉพาะและเงื่อนไขต่างๆ ที่นักวิชาการมุสลิมได้อธิบายข้อปลีกย่อยต่างๆมากมาย ซึ่งไม่อาจกล่าว ณ ที่นี่ได้หมด จึงขอแนะนำให้ผู้อ่านศึกษาเพิ่มเติมจากตำราที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากหนังสือ "แต่งงานง่าย ซินายาก"โดย อ.มัสลัน มาหะมะ