การเลือกคู่ครอง
  จำนวนคนเข้าชม  69903

การเลือกคู่ครอง


           ชาย หญิงที่ประสงค์จะแต่งงานต้องกำหนดกฏเกณฑ์การเลือกคู่ครองให้รอบคอบ  เหมือนดังการจะตัดสินใจร่วมลงทุนกับใครสักคน  และเป็นการลงทุนที่ต้องใช้งบประมาณทั้งชีวิต  เราจึงต้องเพิ่มความพิถีพิถัน ระมัดระวังในการหาผู้ร่วมลงทุนที่น่าไว้วางใจที่สุด  และไม่มีการลงทุนใดๆ ที่มีความสำคัญเท่ากับการลงทุนชีวิตอีกแล้ว ซึ่งการแต่งงานมิได้เป็นการลงทุนเพียงแค่ชีวิต  แต่เป็นการลงทุนศาสนาที่ต้องร่วมกันพิทักษ์ รักษาศาสนาให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป  ความผิดพลาดในการเลือกหุ้นส่วนในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบด้านร่างกาย  ทรัพย์สิน  ศักดิ์ศรี จิตใจและชีวิต แต่อาจเป็นต้นเหตุของการสูญเสียศาสนาและกลายเป็นที่มาของความโศกเศร้าไปจนถึงวันแห่งการตัดสิน(วันอาคิเราะฮ์)

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาเลือกคู่ครอง โดยทั่วไปมีดังนี้


1 พ่อแม่ ญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล และต้นกำเนิด

          มนุษย์ทุกคนมีลักษณะทางกายภาพที่ไม่เหมือนกัน  แม้กระทั่งคู่แฝดที่เหมือนกันยังมีความแตกต่าง เช่นลายนิ้วบนหัวแม่มือซึ่งมีเนื้อที่เพียงนิดเดียว  มนุษย์แต่ละคนจะมีลายบนหัวแม่มือที่ต่างกัน ตั้งแต่มนุษย์คนแรกจนกระทั่งปัจจุบันและในอนาคต จะไม่มีใครที่มีลายบนหัวแม่มือที่เหมือนกันเลย

          นอกจากความแตกต่างด้านกายภาพแล้ว  มนุษย์มีอุปนิสัยใจคอที่ต่างกันด้วย นะบีมุฮัมมัด  ได้อุปมานิสัยของมนุษย์เสมือนกับแร่ธาตุในดิน  เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง  เหล็ก และแร่ธาตุชนิดอื่นๆ ต่างมีคุณสมบัติที่ต่างกัน  แม้กระทั่งทองคำชนิดเดียวกันก็มีคุณภาพที่ไม่เหมือนกัน 

“ผู้ใดที่มีธาตุแท้แห่งความดีในสมัยญาฮีลียะฮ์ (ยังไม่เข้ารับอิสลาม) เขาก็ยังดำรงอยู่ในธาตุแท้แห่งความดีเมื่อรับอิสลาม  หากเขามีความเข้าใจในศาสนา” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์/3353, มุสลิม/6877)

          การที่จะรู้ว่าคนไหนมีต้นกำเนิดที่ดี ต้องอาศัยการสอบถามหรือเป็นที่รู้จักในสังคม  ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ และพ่อแม่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์   ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่รู้จัก มีความหวังดี และบริสุทธิ์ใจต่อลูกมากที่สุด

          พึงระวังว่า การพิจารณาว่าคนไหนมีต้นกำเนิดที่ดีหรือไม่ดี ต้องไม่เป็นการดูถูกผู้อื่นและหยิ่งในศักดิ์ศรีของตนตามประเพณีนิยมของญาฮีลียะฮ์  แต่การเลือกคู่ครองที่มีคุณสมบัติที่ดี  มีวงศ์ตระกูลที่ดีและได้รับการยอมรับในสังคม  นับเป็นผลดีต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต เพราะมนุษย์ไม่ต่างอะไรกับแร่ธาตุดังที่ นะบีมุฮัมมัด  ได้กล่าวไว้


2 การยึดมั่นในศาสนา

           การยึดมั่นในศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ที่ไม่สามารถตัดสินใจด้วยการมองเพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น  เพราะการยึดมั่นในศาสนาที่แท้จริง เป็นเรื่องของความศรัทธาและความเชื่อ ซึ่งอยู่ภายในจิตใจ  แต่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการสังเกตทางพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมาให้เห็น  หากชายคนหนึ่งดำรงละหมาดพร้อมญะมาอะฮ์เป็นกิจวัตร  อ่านอัลกุรอานและดำรงตนในกรอบศาสนาที่ดี ให้สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเขาเป็นคนดี     แต่ในความเป็นจริงอาจมีนิสัยตรงกันข้ามก็ได้  ดังนั้นการพิจารณาคนๆ หนึ่งนั้น ไม่ควรมองที่พฤติกรรมภายนอกเพียงอย่างเดียว 

          ดังที่ท่านอุมัรบินค็อฎฎอบ  เคยซักประวัติคนๆ หนึ่งว่า มีใครที่รู้จักชายคนนั้นบ้างไหม  มีคนตอบว่า ฉันรู้จัก  ท่านอุมัรจึงถามต่อว่า  ท่านเคยติดต่อกับเขาเรื่องเงินทองหรือไม่ คนๆ นั้นตอบว่า ไม่  อุมัรจึงกล่าวว่า  บางทีท่านอาจพบเจอเขาที่มัสยิดเป็นครั้งคราว  ความจริงแล้วท่านยังไม่ได้รู้จักชายที่ฉันถามถึง

           การที่จะทราบถึงศาสนาของใครคนหนึ่ง  จำเป็นต้องอาศัยการคลุกคลี การคบค้าสมาคมหรือมีความใกล้ชิดกันในระยะเวลาหนึ่ง ดังสุภาษิตจีนกล่าวว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”  ผู้ที่จะมีข้อมูลส่วนตัวได้ คือ เพื่อนร่วมสถาบัน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมเดินทาง เพื่อนบ้าน ผู้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง ด้วยเหตุนี้ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใครเป็นคู่ชีวิต  จำเป็นต้องหาข้อมูลส่วนตัวจากผู้ใกล้ชิดก่อนเป็นอันดับแรก   เป็นการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นว่าชายหรือหญิงที่หมายปองนั้น มีนิสัยและยึดมั่นในศาสนาเพียงใด


3  ความรักและชอบพอซึ่งกันและกัน

          “ความรัก” เป็นสิ่งที่สวยงามและเป็นพรอันประเสริฐที่อัลลอฮ์  ทรงประทานให้แก่มนุษย์  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คำนี้มักถูกใช้ไปในทางที่ผิด  หนุ่มสาวมักจะใช้คำนี้เพื่อสนองตอบอารมณ์ใคร่ของตนเองสู่การทำบาปใหญ่  ด้วยการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส (ซินา) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดของชัยฎอน  และเป็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของเยาวชนมุสลิมยุคปัจจุบัน 

          ความรักก่อนแต่งงานของหนุ่มสาว เป็นความรักที่มีอารมณ์ใฝ่ต่ำเป็นทางที่ชัยฏอนยั่วยุสนับสนุน  และมักจะลงเอยด้วยการมีความสัมพันธ์ต้องห้าม พึงทราบว่าหนุ่มสาวที่ถูกต้อนเข้ากับดักนี้แล้ว  น้อยคนที่จะสามารถประคับประคองเข้าสู่ฝั่งแห่งความปลอดภัย  คำว่า “จีบก่อนแต่ง” หรือ “รักก่อนแต่ง” ถือเป็นคำพูดแห่งชัยฏอนและวาทกรรมสมัยญาฮีลียะฮ์ ที่มักดลใจให้หนุ่มสาวตกอยู่ในกับดักที่อันตราย และกำลังโยนตัวเองเข้าสู่หลุมดำของชีวิต

          ความรักที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้นต่อเมื่อบ่าวสาวตกลงปลงใจ เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามหลักการศาสนา  ถือเป็นความรักที่บริสุทธิ์ที่ต่างฝ่ายต่างมอบให้กันและกันบนพื้นฐานของความเข้าใจ  มีความบริสุทธิ์และความจริงใจที่อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง  ไม่ใช่เป็นการวาดฝันกลางอากาศ  การเสแสร้งแกล้งทำ หรือ การแสดงละครตบตากันเพียงเพื่อคล้อยตามอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น


4  ทรัพย์สินเงินทอง

           ทรัพย์สินเงินทองถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งของการเลือกคู่ครอง และอาจเป็นตัวเลือกสำคัญในการตัดสินใจ โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่คนส่วนมากและสังคมมุสลิม ต่างได้รับอิทธิพลจากลัทธิบูชาวัตถุ ต่างคนต่างแก่งแย่งแข่งขันชิงดีชิงเด่นที่จะครอบครองทรัพย์สมบัติ   การทุจริตฉ้อโกงกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปยอมรับ ความดีสามารถวัดได้แต่เพียงภายนอก แต่เบื้องหลังอาจเป็นคนทุจริตผิดศีลธรรมก็ได้ 

            มุสลิมที่ตระหนักในเรื่องศาสนาจะต้องมีความรอบคอบและพิถีพิถันว่าทรัพย์สมบัติที่ได้มาจากไหน จากการประกอบอาชีพที่สุจริตหรือไม่ เพราะอิสลามถือว่าทรัพย์สินเงินทองที่ครอบครองโดยวิธีที่ทุจริตนั้นไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจในโลกนี้ แต่จะต้องถูกสอบสวนในวันอาคิเราะฮ์ และเป็นสาเหตุสำคัญของการได้รับโทษทัณฑ์จากไฟนรก และความดีที่ปฏิบัติโดยใช้จ่ายทรัพย์สินที่มาจากสิ่งหะรอมจะไม่มีคุณค่าใดๆ แม้แต่น้อย เพราะ

 “อัลลอฮ์ คือความดีงาม และพระองค์ไม่ทรงตอบรับกิจการใดๆ เว้นแต่ความดีงามเท่านั้น” (บันทึกโดยมุสลิม/2393)

           คนที่มีบ้านใหญ่โต รถยนต์คันหรูและเงินทองที่มากมาย แสดงตนเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ชอบทำบุญ ทำทาน แต่หากทรัพย์สมบัติได้มาจากการประกอบอาชีพที่ทุจริตแล้ว ความดีงามที่ปฏิบัติมาก็สูญเปล่า อัลลอฮ์ จะไม่ทรงตอบรับแม้กระทั่งการขอดุอาอ์ ดังปรากฏในหะดีษว่า

 “ชายพเนจรคนหนึ่งใส่เสื้อที่ขาดวิ่น ผมเผ้ายุ่งเหยิงเนื่องจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางที่ยาวไกล เขาได้ยกมือพลางขอดุอาอ์ว่า โอ้อัลลอฮ์ โอ้อัลลอฮ์ ทั้งๆ ที่อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ และสิ่งที่เขาบริโภคนั้น ล้วนมาจากสิ่งหะรอมทั้งสิ้น แล้วอัลลอฮ์ จะทรงตอบรับดุอาอ์ของเขาได้อย่างไร ?          (บันทึกโดยมุสลิม/ 2393)

            เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเลือกคู่ชีวิต ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพย์สินเงินทองของว่าที่คู่สมรสว่า มีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้จะมีผลต่อการสร้างครอบครัวที่มีความสุขและความเป็นสิริมงคลทั้งชีวิตของตนเอง คู่สมรสและลูกหลานต่อไป

           ผู้ชายที่มีเงินจากแหล่งสกปรกมักมีพฤติกรรมที่สกปรกและจะกระทำต่อภรรยาและลูกๆ ของเขาด้วยวิธีการที่สกปรกเช่นกัน ในขณะที่ผู้หญิงที่รับเงินจากแหล่งที่สกปรก  จะแสดงพฤติกรรมต่อสามีและลูกๆ ด้วยวิธีการที่สกปรกอย่างมิต้องสงสัย


5 จรรยามารยาท

           นะบีมุฮัมมัด  ได้เปรียบเปรยมนุษย์เสมือนแร่ธาตุซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่ต่างกัน จรรยามารยาทคือส่วนประกอบที่สำคัญของแร่ธาตุที่อัลลอฮ์ ทรงสร้างมา ซึ่งเป็นพรสวรค์และทรงบันดาลให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ดังนั้นหากพรสวรรค์นี้ถูกหลอมรวมกับการยึดมั่นในศาสนาที่ถูกต้อง ถือเป็นคุณสมบัติที่ประเสริฐสุด เป็นรัศมีที่ส่องสว่าง  ดังจะเห็นได้จากคนที่ไม่ยึดมั่นในศาสนาหรืออาจไม่ได้เป็นมุสลิม แต่กลับมีจิตใจที่อ่อนโยน ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นคนที่ชอบทำบุญทำทาน แต่คนที่ปฏิบัติตามศาสนาที่เคร่งครัดหากเป็นมุสลิมะฮ์ก็ใส่ฮิญาบเรียบร้อย แต่อาจเป็นคนที่พูดจาก้าวร้าว ขี้เหนียว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเฟ้นหาบุคคลที่มีจรรยามารยาทที่ดีมาแต่กำเนิด และได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่ดี บวกกับการได้รับการอบรมสั่งสอนด้วยคุณธรรม แน่นอนว่าเขาจะเป็นคนที่ประเสริฐที่สุด และสามารถกระทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์เหมือนดั่งบรรดาเศาะฮาบะฮ์และเหล่าบรรพชนรุ่นแรกที่ศอลิห์ได้ปฏิบัติมาแล้ว

           จรรยามารยาทเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ หากได้รับการอบรมเลี้ยงดูด้วยวิธีการที่ดีจะสามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยที่ไม่ดีได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจรรยามารยาทจึงไม่ใช่เป็นเรื่องพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว ทุกคนจำเป็นต้องหาพรแสวง เพื่อดัดแปลงเปลี่ยนนิสัยและเสริมสร้างจรรยามารยาทที่ดี ดังที่นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวความว่า

 “แท้จริงความรู้ได้มาจากการมุมานะที่จะเรียนรู้ ความสุภาพอ่อนโยนได้มาจากการฝึกฝนให้เกิดความอ่อนโยน บุคคลใดที่มุ่งมั่นแสวงหาความดี เขาจะพบกับความดีเป็นแน่แท้ และบุคคลใดที่ระมัดระวังจากความชั่วร้าย เขาย่อมแคล้วคลาดจากความชั่วร้ายอย่างแน่นอน”

(บันทึกโดยอัลบานีย์ในอัสซิลซิละฮฺ อัศเศาะฮีหะฮฺ/342)


6 รูปร่างหน้าตา

           รูปร่างหน้าตาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความพึงพอใจซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้นะบีมุฮัมมัด จึงกล่าวความว่า

 “ผู้ใดหมั้นหมายผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง หากเขาสามารถมองผู้หญิงคนนั้นซึ่งอาจทำให้เขาแต่งงานกับหล่อนได้ ก็จงกระทำเถิด” (บันทึกโดยอาหมัด/14626)

 ท่านญาบิร  ซึ่งเป็นผู้เล่าหะดีษได้กล่าวเสริมว่า

“ฉันได้ขอหมั้นหญิงชาวบะนีสะลิมะฮ์คนหนึ่ง และฉันได้แอบซ่อนตัวที่ต้นอินทผาลัม กระทั่งฉันได้ดูนางจนเป็นที่พอใจ ฉันจึงแต่งงานกับนาง”

          นะบีมุฮัมมัด ได้เคยถามท่านอัลมุฆีเราะฮ์ซึ่งได้หมั้นกับหญิงสาวชาวอันศอร์ว่า “ท่านเคยดูนางหรือยัง”

อัลมุฆีเราะฮ์ตอบว่า “ยัง”

นะบีมุฮัมมัด   จึงกล่าวว่า “จงไปดูนางเถิดเพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชีวิตคู่ของเจ้ามีความยั่งยืน” (บันทึกโดยอัตติรมีซีย์/1110)

           หากชายชาตรีชอบสตรีที่มีรูปร่างหน้าตาสะสวย แล้วสตรีก็มีความพึงพอใจชายชาตรีผู้มีหน้าตาหล่อเหลาเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่อยากจะบอกแก่หนุ่มสาวว่า ความสวยงาม และความหล่อเหลาด้านรูปร่างหน้าตาเป็นเพียงภาพลวงตาภายนอกและสามารถดำรงอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างจะเลือนหาย ความสวยงามภายในจิตใจและความหล่อทางนิสัยต่างหากที่จะติดตัวบุคคลอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้เท่านั้นที่เป็นสายใยคอยผูกมัดชีวิตคู่ให้สามารถดำเนินไปอย่างถาวรนิรันดร์

           การเลือกคู่ครองที่เน้นความสวยงามหรือความหล่อเหลาเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ชีวิตคู่ต้องอับปาง และไม่สามารถนำนาวาไปสู่ชายฝั่งแห่งความสุขที่แท้จริงได้ สถิติการหย่าร้างซึ่งเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่มาจากสาเหตุเรื่องรูปร่างหน้าตาที่ไม่ดีแต่อย่างใด แต่มาจากทั้งคู่หรือคนใดคนหนึ่งมีนิสัยที่ไม่ดีต่างหาก ใครที่ติดตามข่าวคราวสังคมในแวดวงดาราและวงการนางงามทั้งหลาย น่าจะเข้าใจสัจธรรมในข้อนี้ดี


7 หนุ่มสด สาวพรหมจรรย์

           ความหนุ่มสดและสาวพรหมจรรย์ซึ่งเป็นฐานะของผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงาน และถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของหนุ่มสาว

 “นะบีมุฮัมมัด เคยถามท่านญาบิร ว่า ท่านแต่งงานกับใคร ญาบิรตอบว่า หญิงหม้าย นะบีมุฮัมมัด จึงตอบว่า ทำไมท่านไม่เลือกสาวบริสุทธิ์ (ที่ยังไม่ผ่านการแต่งงาน) เพราะท่านจะได้มอบความสำราญให้แก่นาง และนางก็จะได้ให้ความสำราญแก่ท่าน”

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์/5247และมุสลิม/3710)

 ท่านอุมัรบินค็อฏฏอบ ได้กล่าวว่า

 “ท่านทั้งหลายพึงแต่งงานกับสาวพรหมจรรย์เถิด เพราะนางมีปากหวานกว่า มีมดลูกที่ดีกว่า และนางจะพึงพอใจสิ่งที่ง่ายๆ (ว่านอนสอนง่ายกว่า)” (มุศ็อนนัฟอิบนิอะบีชัยบะฮฺ 3/465)


8 เกียรติยศและวงศ์ตระกูล

           เกียรติยศและวงศ์ตระกูลที่ดีไม่ได้หมายความถึงการมีทรัพย์สินเงินทองที่มากมาย ในอดีตการที่ตระกูลหนึ่งจะเป็นที่เคารพนับถือนั้น เนื่องจากคนในตระกูลมีจิตใจที่โอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น   ในสมัยอวิชชา(ญาฮิลียะฮ์) ยุคแรก ท่านฮาติม อัฎฎออีย์ เป็นผู้นำเผ่าอาหรับที่ได้รับการยกย่องมาก ซึ่งท่านไม่ได้เป็นผู้ร่ำรวย เช่นเดียวกับบนีฮาชิม ต้นตระกูลของนะบีมุฮัมมัด ไม่ได้เป็นตระกูลที่มั่งมี แต่ประชาชนยกย่องเนื่องจากความดีงามที่ได้สะสมไว้ต่างหาก

           เป็นที่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันค่านิยมนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนทั่วไปมักยกย่องคนร่ำรวยมากกว่าคนที่มีจิตใจดีมีคุณธรรม คนรวยมักได้รับความเคารพนับถือ ถึงแม้จะเป็นเจ้าพ่อแห่งความชั่วร้ายก็ตาม ในขณะเดียวกันคนยากจนจะถูกมองด้วยสายตาที่ดูหมิ่นดูแคลน แม้นว่าเขาจะเป็นคนดีมีคุณธรรมก็ตาม

           ทั้ง 8  ประการถือเป็นเกณฑ์ขั้นพื้นฐานในการพิจารณาคู่ครอง โดยที่อิสลามไม่บีบบังคับให้คู่บ่าวสาวเลือกคุณสมบัติของคู่ครองเป็นการเฉพาะ เพียงแต่เป็นการแนะนำ ให้ผู้ชายได้เลือกสตรีที่เพียบพร้อมด้วยศาสนาอันงดงาม มีกริยามารยาทที่ดี แทนการเลือกสตรีผู้มีทรัพย์สมบัติ วงศ์ตระกูลและรูปร่างหน้าตาเป็นอันดับแรก ดังที่นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวความว่า

 “โดยปกติแล้วสตรีจะถูกขอแต่งงานเนื่องด้วยสาเหตุ 4  ประการ คือ 1) เนื่องจากทรัพย์สินของนาง  2) วงศ์ตระกูล  3) ความสวยงาม และ 4) ศาสนาของนาง ดังนั้นจงเลือกแต่งงานกับสตรีที่ยึดมั่นในศาสนา แน่นอนชีวิตของท่านจะประสบความสำเร็จ” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์/ 5090, มุสลิม/ 3708)

           เช่นเดียวกันผู้ปกครองของหญิงสาวที่ต้องเลือกสามีให้ลูกสาวเป็นผู้มีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมด้วยศาสนาและมารยาทที่ดี ดังที่นะบี มุฮัมมัด ได้กล่าวความว่า

 “หากมีคนขอหมั้น (ลูกสาวท่าน) โดยที่ท่านพึงพอใจในศาสนาและมารยาทของเขาแล้ว ท่านจงจัดการแต่งงานให้เขาเถิด หากท่านไม่กระทำ ความวุ่นวายบนผืนแผ่นดินและความปั่นป่วนอันใหญ่หลวงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” (บันทึกโดย อัตติรมิซีย์/ 1107)

           การครองคู่สามีภรรยา บุคคลสองคนต้องลงเรือชีวิตลำเดียวกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งคู่ต้องช่วยเหลือประคับประคองด้วยความรัก ความเข้าใจ หาไม่แล้วชีวิตคงจะล่มเสียก่อนที่จะถึงที่หมาย ความเหมาะสมในด้านต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วจึงเป็นสิ่งที่สมควรพิจารณา

           อิสลามให้สิทธิแก่ผู้ปกครองในการจัดการแต่งงานลูกสาวหรือผู้อยู่ใต้ปกครองให้แก่ชายที่เขาเห็นชอบ โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ลูกสาวทราบก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าพ่อหรือผู้ปกครองสามารถยกลูกสาวให้แต่งงานแก่ชายใดก็ได้ตามอำเภอใจ หากลูกสาวไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบพอชายคนนั้น และนางได้ฟ้องร้องต่อผู้นำ ก็สามารถยกเลิกการแต่งงานนั้นได้ ดังหะดีษบทหนึ่งรายงานว่า

 “หญิงสาวนางหนึ่งเข้าพบนะบีมุฮัมมัด และบอกแก่ท่านว่า "บิดาของฉันจัดการแต่งงานฉันกับหลานของตัวเอง เพื่อต้องการความมีหน้ามีตา"

ท่านนะบี   จึงให้สิทธิแก่นางที่จะตัดสินเรื่องราวเอง

หญิงสาวคนนั้นจึงกล่าวว่า “ความจริงแล้วฉันยินดีรับการกระทำของพ่อ เพียงแต่ฉันต้องการสอนเหล่าสตรีว่า การตัดสินใจที่จะจัดการแต่งงานลูกสาวแก่ใครคนหนึ่งนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับบิดาเพียงฝ่ายเดียว”

(บันทึกโดยอัตติรมิซีย์/3282)

จากหนังสือ "แต่งงานง่าย ซินายาก"

โดย อ.มัสลัน  มาหะมะ