วัตถุประสงค์ของการแต่งงานในอิสลาม
ก่อนการตัดสินใจแต่งงาน บ่าวสาวจำเป็นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการแต่งงานดังนี้
1 เพื่อสืบสกุลและวงศ์ตระกูลที่ดี
ด้วยวิธีการแต่งงานที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาเท่านั้น ที่บ่าวสาวจะสามารถให้กำเนิดลูกหลานที่ดีมีคุณธรรม พร้อมทั้งเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ และเป็นผู้แทนของพระองค์สู่การจรรโลงสังคมและการพัฒนา เป็นไปได้ยากที่สิ่งที่ดีจะกำเนิดจากแหล่งที่สกปรก สายน้ำที่ใสสะอาดจะต้องมาจากต้นน้ำลำธารที่ใสสะอาดเช่นกัน
ดังนั้นลูกที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์แบบต้องห้าม ย่อมไม่สามารถที่จะเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ ได้อย่างสมบูรณ์ และไม่สามารถเป็นกำลังในการค้ำจุนอิสลามที่บริสุทธิ์ได้ ดังที่เกิดขึ้นมากมายซึ่งได้กลายเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน เพราะลูกนอกสมรสจะกลายเป็นเชื้อพันธุ์ที่แพร่ความชั่วร้ายในสังคมต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด (ขออัลลอฮ์ทรงคุ้มครองให้ลูกหลานเราห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ด้วยเถิด)
2 เพื่อสร้างความอิ่มเอมทางร่างกายและจิตใจ
ธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมาพร้อมกับกิเลสตัณหาและอารมณ์ใคร่ ความต้องการที่จะอยู่เป็นคู่ ถือเป็นพื้นฐานของมนุษย์ทั่วไป ดังนั้นตราบใดที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างชีวิตคู่ตามความพึงพอใจ ชีวิตมนุษย์จะไม่เป็นปกติสุข จิตใจจะว้าวุ่นและกระวนกระวาย แม้กระทั่งร่างกายอาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้ อิสลามจึงอนุมัติให้มีการแต่งงาน เพื่อสร้างความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิตมนุษย์ ดังที่อัลลอฮ์ ได้กล่าวว่า
“และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง และ ทรงมีความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า แท้จริงในการนี้ แน่นอน ย่อมเป็นสัญญาณแก่หมู่ชนผู้ใคร่ครวญ”
(อัรรูม : 21)
ดังนั้นความต้องการที่จะสร้างความอิ่มเอมทางร่างกายและจิตใจ ถือเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ทุกคน ซึ่งอิสลามได้เสนอทางออกด้วยประตูที่มีชื่อว่า “การแต่งงาน”
3 เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ
คนจะไม่สามารถก้าวสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้จนกว่าเขาจะได้แต่งงาน เพราะการแต่งงานประกอบไปด้วย สามี ภรรยาที่ดี และลูกหลานที่ดี นอกจากจะทำให้เกิดความสุขในชีวิตแล้ว ยังทำให้ครอบครัวสามารถเพิ่มพูนความดีงามได้อีกหลายระดับ
อิสลามถือว่า การมีลูกที่ดี และหมั่นขอดุอาอ์ให้กับพ่อแม่ที่เสียชีวิตแล้ว ถือเป็นการเพิ่มพูนความดีงามให้แก่พ่อแม่ แม้ว่าท่านทั้งสองจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม ถ้าหากมีลูกที่ดีลูกๆ จะสามารถทำความดีทดแทนให้กับพ่อแม่ได้เสมือนว่าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้ามนุษย์ผู้นั้นเป็นคนดีมีคุณธรรมยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีลูกสืบสายสกุล เพราะตามธรรมชาติของมนุษย์ไม่ใจกว้างพอที่จะมอบทรัพย์สินเงินทองหรือถ่ายทอดความดีงามของตน แก่คนใดคนหนึ่งที่ไม่ใช่ลูกหลานของตนเอง ถึงแม้จะเป็นพี่น้องร่วมท้องที่คลานตามกันมาก็ตาม
การผูกพันธ์ด้วยวิธีการแต่งงานตามหลักศาสนา จะเป็นข้อผูกมัดพันธนาการให้ชายหญิงได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความรัก ความห่วงใย มีความอบอุ่นและความเมตตา ในขณะที่การใช้ชีวิตที่อยู่บนพื้นฐานเพียงแค่การระบายอารมณ์และสนองกิเลสตัณหาเพียงอย่างเดียวนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของสัตว์เดรัจฉานที่คอยเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งกลายเป็นที่มาของความเสื่อมโทรมและเสื่อมทรามของสังคมอย่างไม่มีวันสิ้นสุด สังคมมนุษย์ที่ยึดมั่นหลักการสร้างครอบครัวที่ถูกต้องตามครรลองศาสนาจึงเป็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข ในขณะที่สังคมที่เต็มไปด้วยการทำซินา(การผิดประเวณี) จะมีแต่ความเกลียดชัง อิจฉาริษยา ขัดแย้งเข่นฆ่า มีแต่ความปั่นป่วนในสังคมอย่างไม่มีวันสุดสิ้น
4 เพื่อร่วมกันสร้างสหกรณ์ชีวิต
อัลลอฮ์ ทรงสร้างมนุษย์เป็นคู่กันทั้งชายหญิง โดยที่แต่ละฝ่ายมีความต้องการอีกฝ่าย เพื่อเติมเต็มชีวิตให้มีความสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้สังคมสันติสุขจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ยกเว้นบนพื้นฐานอันมั่นคง
เพศชายเพียงเพศเดียวไม่สามารถที่จะเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างสังคมที่สมบูรณ์ และเพศหญิงเพียงเพศเดียวก็ไม่สามารถสรรค์สร้างสังคมที่บริบูรณ์เช่นเดียวกัน ดังนั้นทั้งชายและหญิงต้องร่วมกันสร้างหุ้นส่วนชีวิต เพื่อน้อมรับและปฏิบัติตามบทบัญญัติทางศาสนาอย่างครอบคลุมและสมบูรณ์
บ่าวสาวทุกคนจึงต้องให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ประการนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมใช้ชีวิตในเรือลำเดียวกันในฐานะสามี ภรรยา
จากหนังสือ "แต่งงานง่าย ซินายาก" / โดย อ.มัสลัน มาหะมะ