การวางเงื่อนไขในการแต่งงาน
  จำนวนคนเข้าชม  15265

การวางเงื่อนไขในการแต่งงาน

มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

หนังสือมุคตะศ็อร อัล-ฟิกฮิล อิสลามีย์

เงื่อนไขในการแต่งงานมีสองประเภท


หนึ่ง  เงื่อนไขที่ถูกต้อง

          เช่น การวางเงื่อนไขว่าต้องเพิ่มมะฮัร(สินสอด) หรือห้ามไล่นางออกจากเมืองของนาง หรือห้ามแต่งคนที่สองต่อจากนาง หรือการวางเงื่อนไขว่าฝ่ายหญิงต้องเป็นสาวที่ยังไม่ผ่านการแต่งงาน หรือต้องเป็นหมู่เครือญาติของเขา
 

สอง  เงื่อนไขที่ไม่ถูกต้อง  มีสองชนิดคือ

1. เงื่อนไขที่ทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะ เช่น

          1.1 การแต่งงานแบบ ชิฆอรฺ คือ ชายคนหนึ่งที่ได้ยกลูกสาวหรือพี่สาวน้องสาวโดยที่เขาเป็นผู้ปกครองหญิงเหล่านั้น ให้แต่งงานกับชายอีกผู้หนึ่ง และตั้งเงื่อนไขว่าฝ่ายชายจะต้องยกลูกสาวหรือพี่สาวน้องสาวให้กับเขา หรือกรณีที่คล้ายกันนี้ นี่คือการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องและเป็นที่ต้องห้าม ถึงแม้จะบอกกล่าวสินสอดในการทำการแต่งงานหรือไม่ได้บอกกล่าวเลย

          ถ้าเกิดกรณีการแต่งงานเช่นนี้ แต่ละฝ่ายจะต้องทำการกล่าวพิธีแต่งงานใหม่ โดยไม่ต้องมีการตั้งเงื่อนไขเช่นที่ผ่านมา (การแต่งงานแบบสลับเช่นนี้ถือว่าทำได้ถ้าหากไม่มีการตั้งเงื่อนไขไว้แต่แรก) และการแต่งงานใหม่นี้จะสมบูรณ์ด้วยค่าสินสอดใหม่ และทำการกล่าวพิธีแต่งงาน(อะกัด)ใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวคำหย่ากันก่อนแต่อย่างใด

      รายงานจาก อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้กล่าวว่า แท้จริงรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ห้ามการแต่งงานแบบชิฆอรฺ (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5112 สำนวนรายงานเป็นของท่าน และ มุสลิม 1415)

          1.2 การแต่งงานของ มุหัลลิล คือ ชายคนหนึ่งที่แต่งงานกับหญิงที่ถูกหย่าขาดสามครั้ง โดยตั้งเงื่อนไขว่าเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับนางแล้วก็จะหย่านาง เพื่อให้นางกลับไปแต่งงานกับสามีคนเก่า หรืออาจจะตั้งเจตนาอย่างนั้นไว้ในใจของเขา หรือทั้งสองฝ่ายได้ทำการตกลงกันก่อนทำการแต่งงาน

          การแต่งงานแบบนี้ถือว่าเป็นโมฆะและหะรอม ใครที่ทำเช่นนี้เขาจะเป็นผู้ที่ถูกสาปแช่ง ตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لَعَنَ الله المُـحَلِّلَ وَالمُـحَلَّلَ لَـهُ». أخرجه أبو داود والترمذي.

ความว่า "อัลลอฮฺทรงสาปแช่งชายที่แต่งงานเพื่อหย่า(มุหัลลิล) และสามีคนเก่าที่ชายคนนั้นแต่งงานเพื่อหย่าเพราะเขา(มุหัลลัล ละฮู)" (หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด 2076 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และอัต-ติรมิซีย์ 1119)

          1.3 การแต่งงานแบบ มุตอะฮฺ คือ ชายคนหนึ่งทำการแต่งงานกับหญิงด้วยการกำหนดเวลาหนึ่งวัน หรือหนึ่งสัปดาห์ หรือหนึ่งเดือน หรือหนึ่งปี หรือน้อยกว่า หรือมากกว่านั้น และได้ให้ค่าสินสอดแก่นางและเมื่อครบเวลาที่กำหนดก็หย่าขาดจากกัน

          การแต่งงานนี้ใช้การไม่ได้ และไม่อนุญาต เพราะทำให้เป็นอันตรายแก่ฝ่ายหญิง และทำเหมือนกับผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งของที่จะเปลี่ยนจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง และยังเกิดอันตรายแก่ลูกๆ ด้วย เพราะพวกเขาจะไม่มีบ้านพักอาศัยที่อบอุ่นและเติบโตพร้อมที่จะได้รับการเลี้ยงดูที่ดี จุดประสงค์การแต่งงานเช่นนี้คือต้องการสนองอารมณ์อย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อสืบทอดลูกหลานและอบรมเลี้ยงดู และแท้จริงการแต่งงานแบบมุตอะฮฺนี้ได้ถูกอนุญาตในยุคแรกๆ ของอิสลามในช่วงเวลาหนึ่งหลังจากนั้นก็ถูกห้ามอย่างถาวร

     จากการรายงานของ สับเราะฮฺ อัล-ญุฮะนีย์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«يَا أَيُّـهَا النَّاسُ إنِّي قَدْ كُنْتُ أَذِنْتُ لَكُمْ فِي الاسْتِـمْتَاعِ مِنَ النِّسَاءِ، وَإنَّ الله قَدْ حَرَّمَ ذَلِكَ إلَى يَومِ القِيَامَةِ، فَمَنْ كَانَ عِنْدَهُ مِنْـهُنَّ شَيْءٌ فَلْيُـخَلِّ سَبِيْلَـهُ، وَلا تَأْخُذُوا مِـمَّا آتَيْتُـمُوهُنَّ شَيْئاً». أخرجه مسلم.

ความว่า "โอ้ผู้คนทั้งหลาย แท้จริง ฉันได้เคยอนุญาตแก่พวกท่านทั้งหลายในการแต่งงานแบบมุตอะฮฺกับบรรดาผู้หญิง และแท้จริงพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงห้ามสิ่งดังกล่าวแล้วตราบจนถึงวันกิยามะฮฺ ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ยังคงเสพสุขกับพวกนางเช่นนั้นก็จงละทิ้งเสีย และห้ามเอาคืนสินสอดที่พวกท่านได้ให้ไว้กับพวกนางแล้ว” (บันทึกโดย มุสลิม 1406)

         • ใครก็ตามที่มีภรรยาอยู่แล้วสี่คน หลังจากนั้นก็ได้มีการแต่งงานกับคนที่ห้า การแต่งงานนั้นถือว่าใช้ไม่ได้และเป็นโมฆะ และจำเป็นต้องยุติการแต่งงานนั้น


การแต่งงานของหญิงมุสลิมกับชายที่ไม่ใช่มุสลิม

          หญิงมุสลิมะฮฺห้ามแต่งงานกับชายที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่ว่าฝ่ายชายจะเป็นชาวคัมภีร์(ชาวยิวหรือคริสต์)หรือพวกอื่นๆ เพราะผู้หญิงนั้นสูงส่งกว่าเขาด้วยการที่นางเชื่อในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าและการศรัทธาต่อพระองค์ และด้วยความบริสุทธิ์ของนางเอง และถ้ามีการแต่งงานนั้นเกิดขึ้นก็ถือว่าใช้ไม่ได้และต้องห้าม จำเป็นต้องยุติการแต่งงานนั้น เพราะไม่มี วิลายะฮฺ (สิทธิการเป็นผู้ปกครองรับผิดชอบ) ของผู้ไม่ใช่มุสลิมเหนือมุสลิมหรือมุสลิมะฮฺ ดังคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

ความว่า “และพวกเจ้าจงอย่าแต่งงานกับหญิงมุชริก(หญิงที่ไม่ใช่มุสลิม)จนกว่านางจะศรัทธา และทาสหญิงที่เป็นผู้ศรัทธานั้นดียิ่งกว่าหญิงที่เป็นมุชริก แม้ว่านาง(ที่ไม่ใช่มุสลิม)ได้ทำให้พวกเจ้าพึงใจก็ตาม และพวกเจ้าจงอย่าทำพิธีแต่งงานให้กับบรรดาชายมุชริก จนกว่าพวกเขาจะศรัทธา และทาสชายที่เป็นผู้ศรัทธานั้นดีกว่าชายมุชริก และแม้ว่าเขาได้ทำให้พวกเจ้าพึงใจก็ตาม “ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 221)

2. เงื่อนไขที่ไม่ถูกต้อง แต่ไม่ใด้ทำให้การแต่งงานนั้นเป็นโมฆะ เช่น

          2.1 ถ้าสามีได้กำหนดเงื่อนไขในพิธีแต่งงานหรือในการอากัดว่า ให้ละเว้นสิทธิใดสิทธิหนึ่งของฝ่ายหญิง เช่น กำหนดว่าจะไม่ให้ค่าสินสอดแก่ฝ่ายหญิง หรือจะไม่ให้ค่าเลี้ยงดู หรือจะแบ่งเวลาอยู่ด้วยกันน้อยกว่าจำนวนที่เวลาของภรรยาคนอื่นๆ ของเขา หรือมากกว่าจำนวนเวลาที่คนอื่นๆ ได้รับ หรือภรรยาคนใหม่กำหนดเงื่อนไขว่าฝ่ายชายต้องหย่ากับภรรยาคนแรก การแต่งงานนั้นถูกต้องใช้ได้ แต่เงื่อนไขที่ตั้งไว้ไม่เป็นผลแต่อย่างใด

          2.2 และถ้าฝ่ายชายได้กำหนดเงื่อนไขว่าฝ่ายหญิงต้องเป็นหญิงมุสลิมะฮฺ แต่ปรากฏว่านางเป็นชาวคัมภีร์ หรือวางเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยแต่งงานหรือโสด แต่ก็ปรากฏว่านางเป็นหม้าย หรือวางเงื่อนไขว่าต้องไม่มีข้อตำหนิที่การแต่งงานกำหนดว่าใช้ได้ เช่น ตาบอด เป็นใบ้ หรือเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็ไม่รู้ว่าไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไข การแต่งงานนั้นยังถือว่าถูกต้องใช้ได้ แต่ฝ่ายชายมีสิทธิที่จะยกเลิกการแต่งงานได้ถ้าเขาต้องการ

          2.3 ถ้าเขาแต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาคิดว่าเป็นไท แล้วปรากฏว่านางเป็นทาส เขาก็มีสิทธิที่จะเลือก ถ้านางผู้นั้นเป็นผู้ที่อนุญาตให้แต่งงานกับเขาได้ และถ้าผู้หญิงแต่งงานกับชายคนหนึ่งที่นางคิดว่าเขาเป็นไท แต่ปรากฏว่าเขาเป็นทาส  นางก็มีสิทธิที่จะเลือกอยู่กับชายคนนั้นหรือจะยกเลิกการแต่งงานได้

แปลโดย : ริซัลย์ สะอะ

Islam House