ปฏิญญาครอบครัว
  จำนวนคนเข้าชม  9429

ปฏิญญาครอบครัว


โดย ยูซุฟ  อบูบักร


          อิสลามเป็นศาสนาที่พระองค์อัลลอฮฺทรงคัดสรรมาให้แก่มวลมนุษยชาติ  เป็นศาสนาแห่งความเมตตาปราณี  ถูกส่งมาเพื่อจรรโลงโลกใบนี้ให้เกิดดุลยภาพในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะด้านวัตถุหรือด้านจิตวิญญาณ  อิสลามไม่ได้แยกออกจากกันระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร  เป็นวิถีที่ครอบคลุมทั้งศาสนา  การเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจ  การค้า  การศึกษา  จรรยามารยาท ฯลฯ

         อิสลามเป็นวิถีที่ครอบคลุม ตั้งแต่การใช้ชีวิตในระดับปัจเจกบุคคลตลอดจนการใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม  คุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นผู้เข็มแข็ง  ผู้อ่อนแอ  หรือทุพลภาพ  ให้เกียรติผู้ใหญ่  เมตตาต่อเด็กน้อย  มีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง  ตามสิทธิของแต่ละฝ่ายที่พึงจะได้รับ  การให้เกียรติแก่ผู้รู้ และส่งเสริมให้สั่งเสียตักเตือนแก่ผู้ที่ไม่รู้  ไม่ด่าท่อว่าร้ายผู้อื่นไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิมหรือชนต่างศาสนิก 

         สอนให้สนใจต่อโลก  ทรัพยากรทั้งหมดที่พระองค์ทรงสรรค์สร้างมาต้องร่วมกันหวงแหนปกปักษ์รักษา ไม่ตัดต้นไม้ทำลายผืนป่า  หรือฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  เพียงเพื่อความสนุกสนานหรือเป็นเพียงเกมส์กีฬา มีความเอื้อเฟื้อเมตตาต่อสรรพสิ่งที่ถูกสร้างไม่ยกเว้นแม้กระทั่งสัตว์  เช่น  สุนัข  หรือแมว  และส่วนหนึ่งจากคำสอนแห่งอิสลามแนะนำไม่ให้ละเลยต่อความดีงามที่ดูว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย  แม้ว่าจะเป็นการยิ้มแย้มให้แก่พี่น้อง  ศาสนาอิสลามมีคำตอบในทุกๆ คำถาม  บอกไว้ตั้งแต่เรื่องเล็กสุดอย่างอะตอม สสาร  จนกระทั่งไปถึงเรื่องใหญ่อย่างโลกและจักรวาล  ทุกอักขระ  ทุกวลีของคัมภีร์อัลกุรอานเป็นบทบัญญัติที่ล้ำสมัยไม่มีวันล้าหลังหรือดับสูญ

          ท่านนบีมุฮัมมัด  ถูกส่งมาเพื่อเผยแผ่ความดีงาม  นำความเมตตามาแบ่งปันชาวโลก  และเชิญชวนมนุษยชาติสู่การเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียว  เพราะนัยยะของการบังเกิดมนุษย์ขึ้นมาบนโลกนี้  คือการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺอย่างศิโรราบ  ดั่งที่พระองค์ตรัสไว้ ความว่า 

  

“และข้าไม่ได้สร้างญินและมนุษย์มาเพื่ออื่นใด  นอกจาการเคารพภักดีต่อข้า”

(อัซซาริยาต / 56)

           ฉะนั้นการดำเนินชีวิตของมุสลิมย่อมมีขอบเขตหรือกรอบ  เขาจะไม่ปล่อยวิถีให้ดำเนินไปตามอำเภอใจหรือขึ้นอยู่กับภาวะอารมณ์แห่งตน  สิทธิหน้าที่ที่เขาพึงมีต่อพระเจ้าผู้ทรงสร้าง  สิทธิระหว่างตัวเขากับผู้ถูกสร้างด้วยกัน  การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลทั่วไปที่ร่วมอยู่อาศัยในสังคมเดียวกัน  จะต้องไม่หลุดออกไปจากกรอบ  หรือแนวทางที่บทบัญญัติแห่งอิสลามได้กำหนดไว้

           ครอบครัว...นับเป็นแหล่งแรกและสำคัญที่สุดในการอบรมตักเตือน  เป็นสถาบันหลักในการร่วมฟูมฟัก  ผลิตทรัพยากรมนุษย์ออกมาโลดแล่นในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ  ครอบครัวมิได้เป็นแค่แหล่งอบรมฟูมฟักมนุษย์เท่านั้น  แต่ยังเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรม  เป็นดั่งสายธารที่ให้ความอบอุ่นแก่สมาชิก  ดังนั้นเพื่อให้การสร้างสถาบันครอบครัวประสบความสำเร็จและสอดรับกับปรัชญาในการครองเรือน  จำเป็นต้องมีปฏิญญาหรือคำมั่นสัญญาของครอบครัว  หรือต้องมีธรรมนูญในการดำเนินชีวิตภายใต้สถาบันครอบครัว  และส่วนหนึ่งของปฏิญญาครอบครัวที่เราจะนำเสนอ  มีดังต่อไปนี้ 

 


1.  ต้องศรัทธาต่ออัลลอฮฺอย่างจริงจัง   

ปัจจัยส่วนหนึ่งคือต้องมีความบริสุทธิ์ในการเคารพภักดีต่อพระองค์  เกรงกลัวและยำเกรงต่อพระองค์อย่างหนักแน่นมั่นคง  ปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์ทรงใช้  ละเว้นสิ่งจากที่พระองค์ทรงห้าม  และจงรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺให้มากๆ


2.  ต้องศรัทธาต่อบรรดาเทวทูต (มะลาอิกะฮฺ)  บรรดาคัมภีร์  บรรดาศาสนทูต  วันปรโลก  และกฎสภาวการณ์ที่อัลลอฮฺทรงกำหนด 

อัลลอฮฺตรัสไว้  ความว่า 

“รอสูล (มุฮัมมัด) ได้ศรัทธาต่อสิ่งที่ได้ถูกประทานลงมาแก่เขาที่มาจากพระผู้อภิบาลของเขา

และบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายก็ได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ  บรรดเทวทูต (มลาอิกะฮฺ) ของพระองค์  บรรดาคัมภีร์ของพระองค์ 

และบรรดารอสูลของพระองค์ (พวกเขากล่าวว่า) เราจะไม่แยกระหว่างท่านหนึ่งท่านใดจากบรรดารอสูลของพระองค์” 

 (อัลบะกอเราะฮฺ / 285)  


3.  ต้องศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด

และปฏิบัติตนตามจริยวัตรของท่านอย่างหนักแน่น  ปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านสั่งใช้  ออกห่างจากสิ่งที่ท่านห้าม  อัลลอฮฺตรัสไว้  ความว่า 

“และสิ่งใดที่รอสูล (ศาสนทูต) นำมายังพวกสูเจ้าก็จงยึดปฏิบัติ  และสิ่งใดที่เขาได้ห้ามปรามพวกสูเจ้าก็จงละเว้นเสีย” 

(อัลฮัชรฺ / 7)    


4.  ดำรงการละหมาด  

และรักษาให้อยู่ในเวลาที่ศาสนากำหนด  อัลลอฮฺตรัสไว้  ความว่า 

“แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนดเวลาไว้แก่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย” 

(อัลนิสาอฺ / 103)  


5.  บริจาคทานบังคับ (ซะกาต)  และทานสมัครใจ (เศาะดะเกาะฮฺ) 

ส่วนหนึ่งจากทรัพย์ที่อัลลอฮฺ ประทานให้  อัลลอฮฺตรัสไว้  ความว่า 

“และบรรดาผู้ที่ทรัพย์สินของพวกเขามีส่วนที่ถูกกำหนดไว้  สำหรับผู้ที่มาร้องขอและผู้ที่ไม่ร้องขอ” 

(อัลมะอาริจญฺ / 24-25)


6.  ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน 

อัลลอฮฺตรัสไว้  ความว่า

 “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายการถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว

เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้มาก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว  เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” 

(อัลบะกอเราะฮฺ / 183)  


7.  เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ 

ในกรณีที่มีความสามารถ  อัลลอฮฺตรัสไว้  ความว่า 

“และสิทธิของอัลลอฮฺที่มีต่อมนุษย์นั้นคือการมุ่งสู่บ้านหลังนั้น  อันได้แก่ผู้ที่มีความสามารถหาทางไปยังบ้านหลังนั้น” 

(อาละอิมรอน / 97)  


8.  สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคู่สามี-ภรรยา 

โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของชีวิตคู่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก  ความอบอุ่น  และความเมตตาอาทร  อัลลอฮฺตรัสไว้  ความว่า

“และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์ คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้า  เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขขณะอยู่กับเธอ 

และทรงให้มีความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า แท้จริงในเรื่องดังกล่าวนี้  แน่นอนย่อมเป็นสัญญาณแก่บรรดากลุ่มชนผู้ใคร่ครวญ” 

(อัรรูม /21) 

         และนับเป็นความจำเป็นที่คู่สามี-ภรรยาจะต้องร่างกำหนดธรรมนูญในการดำเนินชีวิต  วางรากฐานเพื่อสร้างความเข้าใจในชีวิตการครองเรือน  เพื่อว่าความรัก ความเมตตา  จะดำเนินไปอย่างมั่นคงไม่สั่นคลอน  และก้าวบรรลุถึงความเปี่ยมสุขที่แท้จริง  


9.  สามีจะต้องมีวุฒิภาวะในการเป็นผู้นำของครอบครัว 

อัลลอฮฺตรัสไว้  ความว่า

 “บรรดาบุรุษนั้นเป็นผู้ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาสตรี  เนื่องด้วยการที่อัลลอฮฺได้ทรงให้บางคนจากพวกเขาประเสริฐกว่าอีกบางคน 

และด้วยการที่พวกเขาได้ใช้จ่ายไปจากทรัพย์สินของพวกเขา” 

(อัลนิสาอฺ /34)  


10.  เอาใจใส่ต่อสิทธิและหน้าที่ภายในบ้านที่พึงมีระหว่างคู่สามี-ภรรยา 

ท่านนบีมุฮัมมัด  กล่าวไว้  ความว่า

 “สามีมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกในครอบครัว และเขาจะถูกสอบสวนในสิ่งที่รับผิดชอบ 

และภรรยาก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านของสามี และเธอจะถูกสอบสวนในสิ่งที่รับผิดชอบ” 

 (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ  และมุสลิม)
.

.

  อ่านต่อ Click >>>>> part 2 ......

>>>>> part 3......