การหย่า (الطلاق)
  จำนวนคนเข้าชม  155858


 

  

การหย่า  (الطلاق)

 

ตามหลักภาษาหมายถึง การแก้ ข้อผูกมัดของการแต่งงานออกโดยใช้คำหย่า (เฏาะลาก)

 

วิทยปัญญาของการบัญญัติการหย่า

         เป้าหมายของการแต่งงาน คือการดำรงไว้ซึ่งชีวิตคู่อย่างมั่นคง และเป็นปึกแผ่น และเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่สามี ภรรยา แต่ข้อกำหนดและระเบียบต่างๆบางครั้งไม่ได้รับการเอาใจใส่ ไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตร่วมกัน  จึงทำให้มีเหตุบาดหมางไม่เข้าใจกัน ไม่อาจปรับความเข้าใจกันได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบัญญัติกฎเกณฑ์ขึ้น  นั่นก็คือการหย่า
   
หลักฐานจากอัลกรุอ่าน ได้ดำรัสว่า

«ياأ يهاٱلنَّبِىُّ إِذَا طَلَّقْتُمُ ٱلنِّسَآءَ فَطَلِّقُوهُنَّ لِعِدَّتِهِنَّ وَأَحْصُواْ ٱلْعِدَّةَ»

 : โอ้ผู้เป็นนบี เมื่อพวกท่านประสงค์จะหย่าภรรยาพวกท่าน จงหย่าพวกนางให้ได้รับประโยชน์ในการนับระยะการกักตัวของพวกนางด้วย.

(อัฏเฏาะลาก 1)

          การหย่า จะมีผลบังคับใช้ถ้าผู้กล่าวคำหย่าเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ มีสติสัมปชัญญะ  และตัดสินใจด้วยตนเองได้  และการหย่าจะไม่มีผลถ้าผู้กล่าวคำหย่าเป็นผู้ที่ถูกบังคับ หรือมึนเมาโดยเจ้าตัวไม่รู้ว่าตัวเองพูดอะไร หรือโกรธที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่นเดียวกัน การกล่าวคำหย่าจะไม่มีผลกับผู้พลั้งพูดผิดหรือเลินเล่อหรือหลงลืมหรือหรือบ้าและผู้ที่มีลักษณะเดียวกันกับบุคคลเหล่านี้


ข้อชี้ขาด ( หุก่ม ) ในเรื่องการหย่าร้าง

          อนุญาตให้หย่าได้เมื่อมีความจำเป็น เช่น ภรรยามีนิสัยไม่ดีไม่งาม  ไม่สุภาพต่อสามี  และการหย่าเป็นที่ต้องห้ามถ้าไม่มีความจำเป็น เช่น คู่สามีภรรยาอยู่รวมกันอย่างราบรื่น และการหย่าจะเป็นที่ส่งเสริมเมื่อเห็นว่าอาจจะมีอันตรายเกิดขึ้น เช่น ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วภรรยาจะได้รับอันตราย หรือภรรยามีความเกลียดชังสามี และพฤติกรรมอื่นๆในทำนองเดียวกันนี้

สามีจำเป็นต้องหย่าเมื่อภรรยาของเขาเป็นผู้ที่ไม่ทำการละหมาด หรือนางปล่อยปะละเลยไม่สงวนเนื้อสงวนตัวจนกว่านางจะกลับตัวหรือยอมรับคำตักเตือน

ไม่อนุญาตให้สามีหย่าภรรยาของเขา ในขณะที่นางกำลังมีรอบเดือน หรือมีเลือดหลังคลอด หรือนางสะอาดจากรอบเดือนแต่ได้มีเพศสัมพันธ์กับนางแล้วและไม่เป็นที่ประจักษ์ว่านางกำลังตั้งครรภ์  หรือหย่านางสามครั้งโดยกล่าวคำหย่าครั้งเดียว หรือหย่านางสามครั้งในพิธีการเดียวกัน

การหย่ามีผลบังคับใช้กับสามีหรือตัวแทน และตัวแทนมีสิทธิ์จะหย่าเพียงครั้งเดียวและเมื่อไรก็ได้เมื่อเขาปรารถนา เว้นแต่สามีได้เจาะจงเวลาที่แน่นอนและจำนวนที่ชัดเจน


 

ถ้อยคำที่ใช้ในการหย่า สามารถจำแนกประเภทการหย่าเกี่ยวกับถ้อยคำได้ 2 ประเภท

1. การหย่าด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน เป็นการหย่าด้วยถ้อยคำที่มิได้ให้หมายความเป็นอย่างอื่นนอกจากการหย่า อย่างเช่น   (طلقتك) ฉันได้หย่าเธอแล้ว หรือ  ( أنت طالق )เธอได้หย่าแล้ว หรือ( أنت مطلقة )  เธอถูกหย่าแล้ว หรือ  ( علي الطلاق )สำหรับฉันได้หย่าแล้ว หรือถ้อยคำอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้   

2. การหย่าด้วยถ้อยคำที่เป็นนัย  เป็นการหย่าด้วยถ้อยคำที่อาจจะหมายถึงการหย่าและอย่างอื่นด้วย  เช่น กล่าวว่า  ( أنت بائن )เธอได้ขาดจากฉันแล้ว หรือ  ( ألحقي بأهلك )เธอจงไปอยู่กับญาติพี่น้องของเธอเถิด หรือถ้อยคำอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้  

          การหย่าจะมีผลบังคับใช้ทันทีถ้าใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน อันเนื่องจากถ้อยคำที่ใช้นั้นมีความหมายที่เด่นชัด แต่การหย่าด้วยถ้อยคำที่เป็นนัยนั้นจะไม่มีผลบังคับใช้นอกจากต้องมีเจตนาและตั้งใจที่จะหย่าพร้อมกับกล่าวคำหย่า

           เมื่อผู้เป็นสามีกล่าวแก่ภรรยาของเขาว่า ( أنت علي حرام )  เธอเป็นที่ต้องห้ามแก่ฉัน การบอกว่า เป็นที่ต้องห้ามในที่นี้มิใช่เป็นการหย่า หากแต่ว่าเป็นการสาบาน ที่ผู้กล่าวนั้นต้องไถ่ถอนการสาบาน (เสียกัฟฟาเราะฮฺ )

 

การหย่าจะมีผลทั้งกับผู้ที่จริงจังและล้อเล่น

 

จากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ รอฏอยัลลอฮุ อันฮู แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
 

« ثلاث جدهن جد وهزلهن جد : النكاح ، والطلاق ، والرجعة»

 "สามประการที่การจริงจังกับมันจะถือเป็นจริง และการทำเล่น ๆ กับมันก็ถือเป็นจริง นั้นก็คือ การแต่งงาน  การหย่าร้าง  และการกลับมาคืนดีกัน"

( รายงานโดยอบูดาวูด และอิบนุมาญะฮ )


รูปแบบของการหย่าร้าง

         การหย่าร้างนั้นอาจเป็นการหย่าที่มีผลทันที หรือเป็นการหย่าที่พาดพิงอิงกับอนาคต และในบางครั้งก็เป็นการหย่าที่มีข้อแม้และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

          1. การหย่าที่มีผลบังคับใช้ทันที เมื่อเขาได้กล่าวแก่ภรรยาของเขา ว่า   ( أنت طالق )เธอได้หย่าแล้ว หรือ    (طلقتك) ฉันได้หย่าเธอแล้ว หรือคำกล่าวอื่นๆในทำนองนี้ การกล่าวคำหย่ารูปแบบนี้ จะมีผลทันทีเนื่องจากผู้กล่าวคำหย่ามิได้พาดพิงถึงสิ่งอื่น

          2. การหย่าที่พาดพิงเกี่ยวพันกับอนาคต อย่างเช่น เขาได้กล่าวแก่ภรรยาของเขาว่า  ( أنت طالق غدا )     เธอได้หย่าแล้ววันพรุ่งนี้ หรือ  ( أنت طالق رأس الشهر )  เธอได้หย่าเมื่อขึ้นเดือนใหม่ การกล่าวคำหย่าแบบนี้จะมีผลเมื่อเวลาที่มีการพาดพิงมาถึง

          3. การหย่าที่มีข้อแม้และเงื่อนไข คือ การกล่าวถ้อยคำที่ใช้เพื่อการหย่าที่มีข้อแม้และเงื่อนไข ซึ่ง มีสอง ประเภท

          3.1 เป้าหมายในการกล่าวคำหย่านั้น เพื่อการเตือนให้กระทำ หรือให้เลิกการกระทำ หรือให้ระวัง หรือหักห้าม หรือเน้นในการแจ้งให้ทราบ หรืออื่นๆในทำนองนี้ อย่างเช่น เขากล่าวว่า
( إن ذهبت إلى السوق فأنت طالق )      ถ้าหากเธอไปตลาดเธอได้หย่ากับฉัน โดยมีเป้าหมายเพื่อหักห้ามนางไม่ให้ไปตลาด การกล่าวคำหย่าเช่นนี้จะไม่มีผล แต่จะเป็นการสาบาน ซึ่งสามีจำเป็น(  واجب )  ต้องไถ่ถอนสาบาน ( كفارة ) เมื่อนางละเมิด และการไถ่ถอนการสาบานนั้น ( الكفارة ) คือ เลี้ยงอาหารหรือให้เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ยากจน 10 คน  หรือปล่อยทาส ถ้าไม่มีความสามารถ ก็ให้ถือศีลอด เป็นเวลา 3 วัน

          3.2 หากว่าการกล่าวคำหย่านั้นมีเป้าหมายเพื่อการหย่าจริงเมื่อข้อแม้หรือเงื่อนไขที่อ้างถึงเกิดขึ้น อย่างเช่น  เขากล่าวว่า  ( إن أعطيتني كذا فأنت طالق ) ถ้าหากเธอยกทรัพย์สินจำนวนเท่านั้นให้ฉัน เธอก็ได้หย่า  การหย่าเช่นนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อข้อแม้หรือเงื่อนไขที่อ้างถึงเกิดขึ้น


           เมื่อสตรีที่ยังไม่ได้กำหนดสินสอดถูกหย่าก่อนที่จะมีการสมสู่กับนาง ผู้เป็นสามีจำเป็นต้องให้สิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่นาง สำหรับผู้มั่งมีก็ตามกำลังความสามารถของเขา และผู้ยากจนก็ตามกำลังความสามารถของเขา  และสตรีที่ยังไม่ได้กำหนดสินสอดถูกหย่าหลังจากได้มีการสมสู่นางแล้ว นางจะต้องได้รับสินสอดอันเหมาะสมตามสภาพ โดยจะไม่ได้รับสิ่งที่อำนวยประโยชน์ใด ๆ  

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า

«لَا جُنَاحَ عَلَيْكُمْ إِنْ طَلَّقْتُمُ النِّسَاءَ مَا لَمْ تَمَسُّوهُنَّ أَوْ تَفْرِضُوا لَهُنَّ فَرِيضَةً وَمَتِّعُوهُنَّ عَلَى الْمُوسِعِ قَدَرُهُ وَعَلَى الْمُقْتِرِ قَدَرُهُ مَتَاعًا بِالْمَعْرُوفِ حَقًّا عَلَى الْمُحْسِنِينَ»

 ไม่มีบาปใดๆ แก่พวกเจ้า ถ้าหากพวกเจ้าหย่าหญิง โดยที่พวกเจ้ายังมิได้แตะต้องพวกนาง หรือยังมิได้กำหนดมะฮัรใดๆ แก่พวกนาง

 และจงให้นางได้รับสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่พวกนาง โดยที่หน้าที่ของผู้มั่งมีนั้น คือตามกำลังความสามารถของเขา

 และหน้าที่ของผู้ยากจนนั้นคือตามกำลังความสามารถของเขา เป็นการให้ประโยชน์โดยชอบธรรม เป็นสิทธิเหนือผู้กระทำดีทั้งหลาย 

(อัลบะเกาะเราะฮฺ : 236)

          เมื่อสามีได้หย่าภรรายาของเขาก่อนที่จะมีการสมสู่หรืออยู่หอกับนางและได้กำหนดสินสอดแก่นางไว้เรียบร้อยแล้ว นางจะได้รับครึ่งหนึ่งของสินสอด นอกจากว่านางเองหรือวะลีย์ของนางยกมันให้แก่สามี แต่ถ้าหากว่าการหย่าร้างนั้นมีต้นเหตุเกิดจากนางเอง นางก็ไม่มีสิทธิ์ใด ๆ จากสินสอดนั้น  ดังที่

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า

«وَإِنْ طَلَّقْتُمُوهُنَّ مِنْ قَبْلِ أَنْ تَمَسُّوهُنَّ وَقَدْ فَرَضْتُمْ لَهُنَّ فَرِيضَةً فَنِصْفُ مَا فَرَضْتُمْ إِلَّا أَنْ يَعْفُونَ أَوْ يَعْفُوَ الَّذِي بِيَدِهِ عُقْدَةُ النِّكَاحِ وَأَنْ تَعْفُوا أَقْرَبُ لِلتَّقْوَى وَلَا تَنْسَوُا الْفَضْلَ بَيْنَكُمْ إِنَّ اللَّهَ بِمَا تَعْمَلُونَ بَصِيرٌ»

และถ้าหากพวกเจ้าหย่าพวกนาง ก่อนที่พวกเจ้าจะแตะต้องพวกนาง โดยที่พวกเจ้าได้กำหนดมะฮัรแก่นางแล้ว

ก็จงให้แก่นางครึ่งหนึ่งของสิ่งที่พวกเจ้ากำหนดไว้ นอกจากว่าพวกนางจะยกให้

หรือผู้ที่ตกลงแต่งงานอยู่ในมือของเขาจะยกให้ และการที่พวกเจ้าจะยกให้นั้นเป็นสิ่งที่ใกล้แก่ความยำเกรงมากกว่า

และพวกเจ้าอย่าลืมการทำคุณในระหว่างพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเห็นในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน

( อัลบะเกาะเราะฮฺ  237 ) 
         

          เมื่อคู่สามีภรรยาแยกกัน อันเนื่องจากการแต่งงานที่โมฆะและยังมิได้มีการสมสู่นางก็ไม่จำเป็นต้องได้สินสอดและสิ่งอำนวยประโยชน์ต่าง ๆ แต่ถ้าหลังจากได้สมสู่นางแล้ว  นางจำเป็นต้องได้รับสินสอดที่ได้ตกลงกันแล้ว อันเนื่องจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศกัน

 

 

 

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์

Islamhouse.com

การหย่า 2  Click >>>>