สำนึกจริยธรรม
โดย อิจรลาลีย์
การสำนึกถึงความจำเป็นของจริยธรรมถือเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของระบอบจริยธรรมอิสลาม ความจำเป็นของจริยธรรมในที่นี้ หมายถึง การที่บุคคลสำนึกถึงหน้าที่ที่ตนพึงปฏิบัติต่อผู้อื่น โดยถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ละทิ้งไม่ได้ การสำนึกว่าตนต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน สำนึกว่าตนมีหน้าที่ มีหลักการ และมีอิสระในการเลือกปฏิบัติ สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ตัดสินและตอบแทนในทุกการกระทำ ความรู้สึกถึงความจำเป็นดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดชอบสูงสุด และเป็นเสาหลักของจริยธรรมอิสลาม ดังกล่าวเป็นเพราะ1. หากขาดจิตสำนึกว่าจริยธรรมเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว แน่นอนว่า ความรับผิดชอบย่อมหายไป เมื่อความรับผิดชอบหายไปจากสังคม ความหวังที่จะกำหนดให้ทุกอย่างตั้งอยู่บนความเที่ยงธรรมก็ย่อมสูญสิ้นไปด้วยเช่นกัน
2. ความโดดเด่นของจริยธรรมที่ดีงาม ขึ้นอยู่กับการมีสำนึกของบุคคลในสังคม หากทุกคนขาดจิตสำนึกดังกล่าวแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลจะมองว่าสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนหรือชั่วช้าต่างๆนั้นเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจอย่างแท้จริง
อิสลามจึงถือหลัก “ เอียะฮ์ซาน” หรือ การทำดี เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการประพฤติตน ซึ่งความดีที่อิสลามหมายถึง ก็คือ การเคารพ ภักดี ต่ออัลลอฮ เสมือนกับว่า เราเห็นพระองค์ แม้นว่าความเป็นจริงเราไม่อาจเห็นพระองค์ในโลกนี้ได้ แต่เราต้องสำนึกอยู่เสมอว่า พระองค์ทรงเห็น ทรงได้ยินเราอยู่ตลอดเวลาท่านศาสดา มุฮัมหมัด ถูกถามว่า ความดีคืออะไร? ท่านตอบว่า
“ คือการที่ท่านเคารพภักดีต่ออัลลอฮ ประหนึ่งว่าท่านเห็นพระองค์ แม้นว่าท่านจะไม่เห็นพระองค์ แต่แท้จริงแล้วพระองค์ทรงเห็นท่าน”
(บันทึกโดย อิหม่ามมุสลิม)
พระคัมภีร์ได้ระบุยืนยันถึงการตรวจสอบ สอดส่องดูแลของพระองค์ ว่า
"และพระองค์ทรงอยู่ร่วมกับพวกท่านทั้งหลาย ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะอยู่ ณ ที่ใด และอัลลอฮทรงเห็นสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ"
( อัลฮะดี๊ด 57 / 4 )
"แท้จริง อัลลอฮนั้น ไม่สิ่งใดในพื้นดินและฟากฟ้าที่จะปิดบังพระองค์ได้ "
( อาละอิมรอน 3 / 5 )
มูลฐานของ สำนึกจริยธรรมพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้ประมวลไว้ด้วยเรื่องของ แนวทางการปลูกฝังจิตใต้สำนึกด้านจริยธรรม และ คุณธรรม อย่างมากมายหลายที่ด้วยกัน ซึ่งครอบคลุมทุกเรื่องไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เพื่อมุ่งให้ปัจเจกบุคคล พิจารณาตนเอง เอาใจใส่ต่อสังคม และมุ่งให้สังคม เอาใจใส่ต่อปัจเจกบุคคลเฉกเช่นเดียวกัน
การสำนึกถึงความจำเป็นของการมีจริยธรรมมาจากพื้นฐานต่างๆดังต่อไปนี้
1. บทบัญญัติของศาสนา
เพราะศาสนาเป็นแนวทางที่นำมนุษย์สู่ความดี และจริยธรรมที่ประเสริฐ
" พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งร่อซูลขึ้นคนหนึ่ง ในหมู่ผู้ไม่รู้หนังสือจากพวกเขาเอง เพื่อสาธยายโองการต่างๆของพระองค์แก่พวกเขาและทรงทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ผุดผ่อง และทรงสอนคัมภีร์และความสุขุมคัมภีร์ภาพแก่พวกเขา
และแม้ว่าแต่ก่อนนี้ พวกเขาอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้งก็ตาม "
( อัลญุมุอะฮฺ 62 / 2 )
บัญญัติต่างๆที่มีในพระคัมภีร์ที่ผู้เป็นร่อซูล ( ศาสนทูต ) แห่งพระองค์นำมานั้นได้ ถือเป็นสิ่งซักฟอกขัดเกลาจิตใจผู้ศรัทธา จากการปฏิเสธศรัทธาและความผิดต่างๆ โดยที่สภาพของพวกเขาก่อนที่ร่อซูลจะถูกส่งมานั้น อยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้ง
2. สติปัญญา
เพราะเป็นสิ่งชี้แนะมนุษย์สู่ความประพฤติที่ดีงาม และ ออกห่างจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย สิ่งที่อิสลามนำมาเสนอนั้นล้วนแต่มีเหตุผล มีคุณ และรักษาคุ้มครองความเป็นมนุษย์เอาไว้ หากมนุษย์ใช้สติปัญญาพิจารณา ดังตัวอย่างจากดำรัสของพระองค์ที่ว่า
"ผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริง สุรา และการพนัน และแท่นหินสำหรับเชือดบูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมม อันเกิดจาการกระทำของชัยฏอน
ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ
ที่จริงชัยฏอนนั้น เพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรูกัน และการเกลียดชังกันระหว่างพวกเจ้าในสุราและการพนัน เท่านั้น
และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮและการละหมาด แล้วพวกเจ้าจะยังไม่ยุติอีกละหรือ ?"
( อัลมาอิดะฮฺ 5 / 91 )
3. สำนึกจริยธรรม อันได้จาก การส่งเสริมและการขู่สัมทับกล่าวคือ แนวทางการอบรมของอิสลามในด้านการยับยั้งสิ่งไม่ดีนั้นมีอยู่หลายทางด้วยกัน อาทิ
- การขู่สัมทับให้ทราบถึงการลงโทษของอัลลอฮในโลกนี้ ที่มีต่อผู้ฝ่าฝืนและผู้อธรรม ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า
"หากพวกเจ้ากตัญญู ข้าก็จะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า และหากพวกเจ้าเนรคุณ แท้จริงการลงโทษของข้านั้นสาหัสยิ่งนัก"
( อิบรอฮีม 14 / 7 )
- การแจ้งถึงผลตอบแทน ณ ที่พระองค์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
"ดังนั้น จึงไม่มีชีวิตใดรู้ถึงสิ่งที่ถูกซ่อนไว้สำหรับพวกเขา ให้เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตา เป็นการตอบแทนในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้"
( อัซซัจญฺดะฮฺ 32 / 17 )
หมายถึงไม่มีใครจะสามารถล่วงรู้ถึงปริมาณความโปรดปรานที่พระองค์ทรงตระเตรียมไว้แก่บ่าวของพระองค์ อันเป็นสิ่งที่ ตาไม่เคยเห็น หูไม่เคยได้ยิน และหัวใจไม่เคยนึกฝันมาก่อน
4. สำนึกจริยธรรม อันได้จากการปรามของผู้มีอำนาจกล่าวคือ การปรามจากสติปัญญาก็ดีหรือจากวิธีการเชิญชวนสู่ความดี หรือบอกกล่าวถึงบทลงโทษก็ดี อาจไม่สามารถยับยั้งความชั่วจากบางกลุ่มบางพวกได้ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงได้มอบอำนาจให้กับผู้ปกครอง หรือ ผู้พิพากษา เพื่อดำเนินการตัดสินตามเกณฑ์ตัดสินของพระองค์
" และขโมยชายและขโมยหญิงนั้น จงตัดมือของเขาทั้งสองคน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองนั้นได้แสวงหาไว้
(และ) เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างการลงโทษ จากอัลลอฮ และอัลลอฮนั้นทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณ "
( อัลมาอิดะฮฺ 5 / 38 )
"หญิงมีชู้และชายมีชู้ พวกเจ้าจงโบยแต่ละคนในสองคนนั้น คนละหนึ่งร้อยที
และอย่าให้ความสงสารยับยั้งการกระทำของพวกเจ้าต่อคนทั้งสองนั้น ในบัญญัติของอัลลอฮเป็นอันขาด หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮ และวันปรโลก"
( อันนู๊ร 24 / 2 )
ทั้งหมดนี้คือกฎเกณฑ์การยับยั้งความชั่วที่อิสลามได้กำหนดและวางระบบจริยธรรมไว้มาช้านานแล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ความชั่วช้าแพร่สะพัดบนหน้าแผ่นดิน และการฝังจิตใต้สำนึกให้มีความเกรงกลัวต่อความผิด เกรงกลัวต่อพระผู้เป็นเจ้า ถือเป็นจิตใต้สำนึกสูงสุดที่จะบังคับให้บุคคลหันหลังจากความผิด ความชั่วช้าทั้งมวล
.Part 2 >>>>Click
Part 4 next >>>>Click