ความจริงเกี่ยวกับการนอนกรน
8 Facts รู้ไว้ใช่ว่า .
1. อาการนอนกรน เป็นปัญหาของการนอนหลับ ที่พบบ่อยในคนอายุ 30-35 ปี ซึ่งมักจะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน ผนังคอหนา เนื้อเยื่อในช่องคอ หย่อนตัวขณะนอนหลับ2. ประมาณร้อยละ 20 เป็นเพศชาย และร้อยละ 5 เป็นเพศหญิง และอาการ นอนกรนจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
3. เสียงกรนเกิดจากการที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบ ซึ่งมักเกิดจากการผ่อนคลายหรือหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนขณะนอนหลับ เช่น กล้ามเนื้อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย หรือโคนลิ้น ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและสะบัดของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณนั้นเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
4. การอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนจากต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์ที่โต ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการนอนกรนที่สำคัญในเด็กหรือเนื้องอกหรือซีสต์ (Cyst) ในทางเดินหายใจส่วนบนหรือการที่มีโพรงจมูกอุดตันจากหลายสาเหตุ เช่น อาการคัดจมูกจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผนังกั้นช่องจมูกคด เนื้องอกในโพรงจมูกและ/หรือโพรงอากาศข้างจมูก ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ก็เป็นสาเหตุที่ให้เกิดอาการนอนกรนได้เช่นกัน
5. อาการนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่องปกติ แต่กลับบ่งบอกถึงการมีสิ่งอุดกั้นในระบบ ทางเดินหายใจส่วนบน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมากจนกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับได้ ใครมีปัญหาควรรีบปรึกษาแพทย์
6. การนอนกรนอาจส่งผลให้ง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียน หรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ถ้าต้องขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ นอกจากนั้น จะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง
7. ลักษณะทั่วไป ที่อาจส่งเสริมให้เกิดอาการนอนกรนขณะหลับได้ เช่น คอสั้น อ้วน น้ำหนักมาก มีความผิดปกติในลักษณะโครงสร้างของใบหน้า เช่น คางเล็ก ถอยร่นมาด้านหลัง
8. หญิงที่มีรอบคอเกินกว่า 15 นิ้ว และชายที่มีรอบคอใหญ่กว่า 17 นิ้ว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคนอนกรนได้ พอๆ กับคนที่มีต่อมทอนซิลโต และจมูกอักเสบเนื่องจากโรคภูมิแพ้
" อาการนอนกรนกำลังเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ฮิตที่ไต่อันดับความนิยมที่ไม่น่าชื่นชมทั้งกับคนกรน และคนข้างตัวมากขึ้นทุกวัน ข้อมูลล่าสุดพบว่า สถิติโรคนอนกรนในคนไทย พบในกลุ่มผู้ชายมากถึง 20-30% ส่วนผู้หญิงพบได้ 10-15% โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน คนที่ อาการรุนแรงมากพบได้สูงถึง 5% อาการนอนกรนในวันนี้ ไม่เพียงแค่สร้างความรู้สึกรำคาญ แต่ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญญาณมรณะด้วย เพราะ ในบางคน อาการนอนกรนสื่อถึงการขาดอากาศหายใจในช่วงสั้นๆ ที่อาจทำให้หลับยาวแบบไม่ตื่นฟื้นไม่มีทีเดียว ดังนั้น จึงควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ และนี่คือ 21 ข้อเท็จจริงที่เรานำมาฝาก "
13 TIPS กำจัดเสียงกรน
1. ดื่มน้ำผึ้งผสมน้ำหนึ่งช้อนโต๊ะก่อนนอน2. อย่ารับประทานอาหารหนัก สามชั่วโมงก่อนนอน กระเพาะที่เต็มไปด้วยอาหารจะส่งผลให้กะบังลมถูกกดทับ ทำให้การเดินลมในร่างกายตีบตัน
3. หลีกเลี่ยงการใช้หมอนนุ่มๆ เพราะจะไปทำให้คอหอยผ่อนคลาย ทำให้ระบบช่องลมไม่ขยาย
4. ปรับความชันของเตียงนอนให้ส่วนหัวสูงขึ้นจากแนวราบสี่นิ้ว จะช่วยผ่อนการ กดทับของลิ้น และกราม ส่งผลให้ลดอาการกรนระหว่างหลับ
5. นอนตะแคง จะช่วยลดและผ่อนคลายความดันในช่องทางเดินอากาศที่เกิดจากการมีน้ำหนักมากเกินไปได้ แต่ถ้าไม่ชินกับการนอนตะแคง อาจใช้ลูกเทนนิส 2-3 ลูก เปลือกถั่วใส่ถุง หรือกระเป๋าวางไว้ด้านหลัง ลูกบอลหรือเปลือกถั่วเหล่านี้จะช่วยให้ไม่พลิกตัวไปนอนหงายได้
6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ และยาแก้แพ้ต่างๆ เป็นตัวทำให้การหายใจช้าลง และตื้นขึ้น กล้ามเนื้อหย่อนคลายลงมากกว่าปกติ จึงมีแนวโน้มได้มากว่าโครงสร้างลำคอจะอุดตันช่องทางเดินอากาศได้ง่าย เป็นสาเหตุให้เกิดอาการนอนกรน
7. ลดน้ำหนัก ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดสำหรับผู้ที่มี น้ำหนักตัวมากผิดปกติ ทำให้การหายใจเป็นไปได้อย่างยากลำบาก การลดน้ำหนักสามารถช่วยได้ แต่หมายถึงลดให้ใกล้เคียงกับน้ำหนักตามสัดส่วน
8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังสามารถช่วยลดน้ำหนักได้อย่างปลอดภัยที่สุด ทั้งยังช่วยปรับสภาพกล้ามเนื้อ และทำให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น
9. กำจัดปัจจัยในที่นอนที่ทำให้เกิดอาการหอบหืดภูมิแพ้ เช่น ไร ฝุ่น ขนสัตว์ จะช่วยลดอาการคัดจมูกได้ด้วย
10. เพื่อป้องกันการนอนหงาย (แล้วจะกรน) อาจจะนำเอาลูกเทนนิส 2-3 ลูกมาใส่ถุงผ้าแล้วเย็บติดกับเสื้อที่ใส่นอน เวลานอนจะทำให้นอนหงายลำบาก เราจะต้องนอนตะแคงตัวไปเอง เป็นอุปกรณ์กันการนอนกรนแบบประหยัด
11. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่
12. ใช้เครื่องมือที่เป่าลมเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นหรือไม่อุดกั้นขณะนอนหลับ
13. หากเป็นมากต้องไปหาหมอ จะมีการตรวจหาความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับ (ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ) และอาจมีการรักษาโดยการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือการผ่าตัด แล้วแต่หมอจะเห็นเหมาะสม
ลองหันมาใช้วิธีต่างๆเหล่านี้ดู และอย่าลืม!!! ก่อนเข้านอนทุกครั้ง อ่านดุอาอ์
"บิสมิกัลลอฮุมมะ อะห์ยา วะอะมูตุ"