อิสลามกับงานสาธารณกุศล
  จำนวนคนเข้าชม  19457

 อิสลามกับงานสาธารณกุศล


          งานสาธารณกุศล หมายถึง งานที่มนุษย์สร้างคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคุณประโยชน์เชิงรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เว้นแต่เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์

          หัวใจของศรัทธาชนที่อุทิศตนทำงานด้านสาธารณกุศล จะมีความผูกพันและโยงใยกับโลกอาคิเราะฮ์(ปรโลกอันนิรันดร์) หวังในผลตอบแทนของอัลลอฮ์  และใฝ่ฝันที่จะเข้าสวนสวรรค์ของพระองค์  ชีวิตของเขาบนโลกนี้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความสิริมงคล หัวใจที่เบิกบาน มีชีวิตที่สดใส ที่ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้

          งานสาธารณกุศลจึงเป็นวัตถุประสงค์หลักของอิสลามที่ประกาศโดยนะบีมุฮัมมัด อิสลามเชิญชวนสู่การกระทำความดีผ่านบทบัญญัติในอัลกุรอานและแบบอย่าง(ซุนนะฮ์) สรุปได้ดังนี้

1. อิสลามได้กำชับให้ศรัทธาชนกระทำแต่ความดี ดังปรากฏในอัลกุรอานความว่า

 “และจงประกอบความดี หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ” (อัลกุรอาน 22:77)

 “และความดีใด ๆ ที่พวกเขากระทำ พวกเขาจะไม่ถูกปฏิเสธในความดีนั้นเป็นอันขาด และอัลลอฮ์ทรงรู้ดีต่อบรรดาผู้ที่ยำเกรง”(อัลกุรอาน 3:115)

2. อิสลามกำชับให้ศรัทธาชนใช้วาจาที่สุภาพอ่อนโยน ดังปรากฏในอัลกุรอานความว่า

 “และจงพูดจาแก่เพื่อนมนุษย์อย่างดี” (อัลกุรอาน 2:83)

นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์แล้ว เขาพึงใช้วาจาที่ดีหรือนิ่งเสีย”

3. อิสลามกำชับให้มุสลิมเร่งรีบในการกระทำความดี อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

“และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง” (อัลกุรอาน 3:133)

          อะบูฮุร็อยเราะฮ์เล่าว่า มีกลุ่มผู้ยากจนมาหานะบีมุฮัมมัด พร้อมร้องเรียนว่า บุคคลที่ร่ำรวยสามารถกอบโกยผลบุญอันมากมาย และได้พำนักอยู่ ณ ชั้นสูงสุดในสวนสวรรค์ พวกเขาละหมาดเหมือนพวกเราละหมาด พวกเขาถือศีลอดเหมือนกับเราถือศีลอด แต่พวกเขามีทรัพย์สมบัติอันเหลือเฟือในการทำหัจญ์ การทำอุมเราะฮ์ ญิฮาดและการบริจาคทาน ในขณะที่พวกเราไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ นะบีมุฮัมมัด จึงกล่าวว่า

“เอาไหมล่ะ! ฉันจะบอกพวกท่าน หากพวกท่านปฏิบัติแล้ว พวกท่านจะได้ผลบุญมากกว่าผู้คนก่อนหน้าพวกท่านไม่มีใครที่สามารถเทียบเคียงพวกท่านและพวกท่านจะเป็นผู้ประเสริฐสุด เว้นแต่จะมีบุคคลที่กระทำเหมือนพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงกล่าว ตัสบีห์ (سُبْحَانَ الله) ตะห์มีด(الحَمْدُ لِله) และตักบีร(اللهُ أَكْبَرُ) หลังละหมาดทุกครั้ง จำนวน 33 ครั้ง”

4. อิสลามเชิญชวนให้ศรัทธาชนกระทำแต่ความดี อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

“และจงให้มีขึ้นในบรรดาพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่เชิญชวนไปสู่ความดีและใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และห้ามปรามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบ และชนเหล่านี้แหละคือผู้ได้รับความสำเร็จ” (อัลกุรอาน 3:104)

นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“ผู้ใดที่ชี้แนะให้กระทำความดี เขาจะได้ผลบุญเทียบเท่ากับผู้ที่ปฏิบัติความดีนั้น”

5. อิสลามสอนให้มุสลิมส่งเสริมการกระทำความดี อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

“เจ้าเห็นแล้วมิใช่หรือ ผู้ที่ปฏิเสธการตอบแทน นั่นก็คือผู้ที่ไม่สนใจใยดีต่อเด็กกำพร้า และไม่สนับสนุนในการให้อาหารแก่ผู้ขัดสน” (อัลกุรอาน 107:1-3)

อัลกุรอานได้เล่าถึงสาเหตุของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่ต้องเข้านรกว่า

แท้จริง เขามิได้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ผู้ยิ่งใหญ่ และเขามิได้ส่งเสริมให้อาหารแก่คนขัดสน” (อัลกุรอาน 69:33-34)

อัลกุรอานได้ประณามผู้ปฏิเสธศรัทธาว่า

ความว่า “มิใช่เช่นนั้นดอก แต่ว่าพวกเจ้ามิได้ให้เกียรติแก่เด็กกำพร้าต่างหาก และพวกเจ้ามิได้ส่งเสริมกันในการให้อาหารแก่คนยากจนและขัดสน” (อัลกุรอาน 89:17-18)

อัลกุรอานสอนให้เรารู้ว่า นอกจากอิสลามได้สั่งใช้มุสลิมให้อาหารแก่ผู้ขัดสนแล้ว อิสลามได้เพิ่มภารกิจแก่มุสลิมด้วยการกำชับให้สนับสนุนและส่งเสริมในการให้อาหารแก่ผู้ยากไร้อีกด้วย

6. อิสลามสอนให้มุสลิมมีความตั้งใจที่จะกระทำความดี

อิสลามเปิดโอกาสให้ผู้ที่ตั้งใจที่จะกระทำความดี เพราะการตั้งใจที่บริสุทธิ์ย่อมประเสริฐกว่าการกระทำที่มีสิ่งไม่ดีแอบแฝงอยู่ ดังปรากฏในหะดีษที่นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“โลกใบนี้มีไว้เพื่อคน 4 ประเภทได้แก่

 1) บ่าวที่อัลลอฮ์ ทรงประทานทรัพย์สมบัติและความรู้ให้แก่เขา เขาเกรงกลัวอัลลอฮ์ และกระชับสัมพันธ์ไมตรีระหว่างเพื่อนนุษย์และเขารับรู้สิทธิของอัลลอฮ์ ที่พึงให้ บุคคลผู้นี้คือบุคคลที่ประเสริฐสุด

2) บ่าวที่อัลลอฮ์ ทรงประทานความรู้แต่ไม่ประทานทรัพย์สมบัติให้แก่เขา เขาจึงตั้งใจอย่างบริสุทธิ์และกล่าวว่า “หากฉันมีทรัพย์สมบัติแล้ว ฉันจะกระทำเหมือนกับคนๆ นั้น เขาจึงตั้งใจที่จะกระทำความดีตลอดเวลา ดังนั้นเขาทั้งสองคนได้รับผลบุญอย่างเท่าเทียมกัน

3) บ่าวที่อัลลอฮ์ ทรงประทานทรัพย์สมบัติแต่ไม่ประทานความรู้ เขาจึงทำลายทรัพย์สมบัติของเขาโดยปราศจากความรู้ ไม่เกรงกลัวอัลลอฮ์  ไม่กระชับสัมพันธ์ไมตรีระหว่างเพื่อนมนุษย์และไม่รับรู้สิทธิของอัลลอฮ์ ที่พึงให้ บุคคลผู้นั้นคือบุคคลที่ชั่วช้าที่สุด และ

4) บ่าวที่อัลลอฮ์ไม่ประทานทั้งทรัพย์สมบัติและความรู้ แต่เขากล่าวว่า “หากฉันมีทรัพย์สมบัติ ฉันจะกระทำเยี่ยงคนๆ นั้น เขาจึงตั้งใจที่จะกระทำความชั่วอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเขาทั้งสองคนจะได้รับบาปอย่างเท่าเทียมกัน”

7. อิสลามส่งเสริมให้กระทำความดี แม้เพียงน้อยนิด อัลกุรอานได้กล่าวไว้ความว่า

 “ดังนั้น ผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน” (อัลกุรอาน 99:7)

 อัลลอฮ์ ได้ตรัสอีกความว่า

 “แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอธรรมแม้เพียงน้ำหนักเท่าผงธุลี และถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด พระองค์ก็จะทรงเพิ่มพูนความดีนั้นเป็นทวีคูณ และทรงประทานให้จากที่พระองค์ ซึ่งรางวัลอันใหญ่หลวง” (อัลกุรอาน 4:40)

นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“การบริจาคเงินจำนวน 1 ดิรฮัม มีคุณค่าที่ประเสริฐกว่า 100,000 ดิรฮัม” เหล่าเศาะฮาบะฮ์จึงถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นะบีมุฮัมมัด จึงตอบว่า “ ผู้ชายคนหนึ่งมีเงินจำนวน 2 ดิรฮัม เขาได้บริจาคจำนวน 1    ดิรฮัม (ครึ่งหนึ่งของทรัพย์สมบัติของเขา)ในขณะที่ชายคนหนึ่งไปที่กรุสมบัติของเขาและได้บริจาคจำนวน 100,000 ดิรฮัม”

8. อิสลามประณามคนที่ขัดขวางการทำความดี

การขัดขวางการกระทำความดีเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่มีนิสัยอันต่ำช้า ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

“และเจ้าอย่าปฏิบัติตามทุกคนที่เป็นนักสาบานที่ต่ำช้า ผู้นินทาตระเวนใส่ร้ายผู้อื่น ผู้ขัดขวางการทำความดี ผู้อธรรมล่วงละเมิดและกระทำบาป” (อัลกุรอาน 68:10-12)

อัลลอฮ์ ได้ตรัสอีกความว่า

 “เจ้าทั้งสอง(2 มะลาอิกะฮ์) จงโยนทุกคนที่ปฏิเสธศรัทธา และดื้อรั้นลงในนรกญะฮันนัม ผู้ขัดขวางการทำดี ผู้ฝ่าฝืนและเคลือบแลง(ในวันปรโลก)” (อัลกุรอาน 50:24-25)

9. อิสลามส่งเสริมสู่การกระทำความดี อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

“และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและความยำเกรง และจงอย่าช่วยกันในสิ่งที่เป็นบาปและเป็นศัตรูกัน และพึงกลัวเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรุนแรงในการลงโทษ” (อัลกุรอาน 5:2)

นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“อุปมาผู้ศรัทธาด้วยกัน อุปมัยดั่งอาคารหลังหนึ่งที่ทุกส่วนต่างค้ำจุนซึ่งกันและกัน”  และนะบีมุฮัมมัดได้สอดนิ้วมือทั้งสองข้างของท่านเข้าด้วยกัน

10. ผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำความดี ย่อมได้รับผลบุญอย่างเท่าเทียมกัน

ท่านหญิงอาอิชะฮ์เล่าว่า นะบีมุฮัมมัด กล่าวว่า

 “หากหญิงคนหนึ่งบริจาคอาหารที่มีประโยชน์ที่มีอยู่ในบ้านของนาง นางจะได้รับผลบุญจากการที่นางบริจาคไว้ สามีของนางก็จะได้รับผลบุญเนื่องจากเขาเป็นผู้แสวงหา และคนใช้ในบ้านก็จะได้ผลบุญเช่นเดียวกัน(เนื่องจากมีส่วนร่วมในการทำความดี) ทั้ง  3 คนจะได้รับผลบุญอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการลดหย่อนแต่อย่างใด”

เช่นเดียวกันกับผู้ที่ทำงานในองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ถึงแม้เขาจะทำงานโดยรับเงินเดือนประจำหรือค่าตอบแทนอื่นๆ หากเขามีความตั้งใจที่บริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮ์ แล้ว เขาจะได้รับผลบุญเช่นเดียวกันกับผู้บริจาคทุกประการ


คุณลักษณะเฉพาะของงานสาธารณกุศลในอิสลาม

งานสาธารณกุศลในอิสลามมีคุณลักษณะสรุปได้ดังนี้

1. มีความครอบคลุม

          งานสาธารณกุศลในอิสลาม มีเนื้อที่กว้างขวางครอบคลุมทุกอย่างที่เป็นความดี อิสลามสอนให้มุสลิมปฏิบัติความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่บรรดาผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะอยู่ใกล้หรือไกล เป็นมิตรหรือศัตรู มุสลิมหรือชนต่างศาสนิก มนุษย์หรือสัตว์

          มุสลิมไม่ได้รับอนุญาตให้วางกรอบการกระทำความดีเฉพาะแก่พวกพ้องหรือญาติสนิทเท่านั้น ความโกรธแค้นและความเป็นศัตรูไม่สามารถเป็นกำแพงสกัดกั้นมิให้มุสลิมปฏิบัติความดี มุสลิมจึงเป็นบุคคลที่แผ่เมตตาแก่ทุกสรรพสิ่ง ดังนะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“จะไม่มีสิทธิ์เข้าสวรรค์ เว้นแต่ผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี บรรดาเศาะฮาบะฮ์จึงกล่าวว่า พวกเราทุกคนมีจิตใจที่โอบอ้อมอารีอยู่แล้ว นะบีมุฮัมมัดจึงกล่าวว่า แท้จริง มิใช่เป็นการโอบอ้อมอารีแก่บรรดาญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น แต่เป็นการโอบอ้อมอารีที่ครอบคลุมทุกสิ่ง”

          อิสลามสอนให้มุสลิมกระทำความดี แม้ต่อชนต่างศาสนิก อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

“อัลลอฮ์ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีและให้ความยุติธรรมแก่บรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า แท้จริง อัลลอฮ์ทรงรักผู้มีความยุติธรรม” (อัลกุรอาน 60:8) 

อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า

“และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก” (อัลกุรอาน  76:8)

         อัลกุรอานกำชับให้มุสลิมกระทำความดี แม้แต่กับเชลยสงคราม และถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นคุณสมบัติของบรรดาศรัทธาชนที่แท้จริง

         อิสลามสอนให้มุสลิมกระทำความดีแม้แต่สัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อบริโภคหรือใช้งาน ดังนะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“ท่านทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮ์ด้วยการทำความดีแก่สัตว์เลี้ยง จงขับขี่มันด้วยดี และจงบริโภคมันด้วยดี”

          อิสลามสอนให้มุสลิมกระทำความดีต่อแมว สุนัขและสัตว์อื่นๆ การกระทำความดีต่อสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการเข้าสวรรค์ ในขณะที่การทำร้ายหรือกระทำทารุณสัตว์ เป็นสาเหตุแห่งความพิโรธของอัลลอฮ์ จนทำให้คนนั้นต้องถูกทรมานในขุมนรก
 
2. มีความหลากหลาย

          ความดีมีมากมายหลายประเภท ดังนั้นมุสลิมไม่ควรจำกัดความดีเพียงมิติเดียว ต้องหาวิธีการทำความดีที่หลากหลาย ตามความต้องการของสังคมและกำลังความสามารถของแต่ละคน

          บางครั้งทำความดีด้วยการบริจาคทรัพย์สมบัติ ให้อาหาร มอบเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรือบริจาคความดีที่เป็นรูปธรรมทั้งหลาย

          บางครั้งทำความดีเชิงนามธรรม เช่นให้การสั่งสอนอบรม และทำความเข้าใจในศาสนา สร้างรอยยิ้มให้แก่เพื่อนมนุษย์ ผ่อนทุกข์คลายกังวล ซับน้ำตาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ให้กำลังใจ ให้ความหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ขจัดความท้อแท้สิ้นหวัง หรือบริจาคทรัพย์สินเงินทอง ให้ยืมสิ่งของหรือเงินแก่ผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งนะบีมุฮัมมัด ได้สอนว่าผลบุญของการให้ยืมมีมากกว่าการบริจาคทานเสียอีก

          บางครั้งอาจบริจาคเวลาและความคิดหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่นแพทย์ วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ซึ่งอาจจะบริจาคเวลาเพียง 1 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ หรือ 10 วันใน 1 ปีเพื่องานสาธารณกุศล เพราะการบริจาคเวลาและทรัพย์สินทางปัญญาหรือความเชี่ยวชาญ มีประโยชน์และเป็นที่ต้องการมากกว่าการบริจาคทรัพย์สินเงินทองในบางครั้งด้วยซ้ำไป

          บางครั้งไกล่เกลี่ยคู่กรณีที่บาดหมางกัน สั่งใช้ให้กระทำความดีและห้ามปรามความชั่วหรือการบริจาคคำพูดที่ไพเราะหรือแม้แต่เก็บขยะหรือสิ่งปฏิกูลบนท้องถนนที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้เดินทาง

มีหะดีษบทหนึ่งความว่า  อะบูฮุร็อยเราะฮ์เล่าว่า ฉันได้ยินนะบีมุฮัมมัด กล่าวว่า

“ แท้จริงฉันเห็นชายคนหนึ่งกำลังกลิ้งตัวอย่างมีความสุขในสวรรค์ เนื่องจากเขาเคยตัดทิ้งต้นไม้ที่ล้มทับบนถนน เพื่อมิให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนที่สัญจรไปมา” (รายงานโดยมุสลิม)

     มีหะดีษที่เล่าโดยอะบูซัรความว่า “ฉันถามรสูลุลเลาะฮ์ว่าอะไรหรือที่ทำให้คนๆ หนึ่งรอดพ้นจากไฟนรก นะบีตอบว่าศรัทธาต่ออัลลอฮ์”

ฉันถามว่า : โอ้นะบีจำเป็นต้องมีอะมัล(การปฏิบัติ)พร้อมกับการศรัทธาด้วยหรือ?

นะบีตอบว่า : ท่านจงบริจาคทรัพย์สมบัติเล็กๆ น้อยๆ จากสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานแก่ท่าน  
 
อะบูซัรถามว่า : หากเขาเป็นคนอนาถาที่ไม่สามารถบริจาคสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เลย

นะบีตอบว่า : จงสั่งใช้ในความดี และห้ามปรามความชั่ว

อะบูซัรถามว่า : หากเขาไม่มีความสามารถสั่งใช้ความดีและห้ามปรามความชั่ว

นะบีตอบว่า : จงช่วยเหลือคนอื่นในการงานที่เขาถนัด

อะบูซัรถามว่า : หากไม่มีงานที่เขาถนัด

นะบีตอบว่า : จงช่วยเหลือผู้ถูกรังแกอย่างอธรรม

 อะบูซัรถามว่า : โอ้นะบี หากเขาเป็นผู้อ่อนแอไม่สามารถช่วยเหลือผู้ถูกรังแกอย่างอธรรม

นะบีตอบว่า : จงหวังในสิ่งดีๆ แก่เพื่อนของเขาและจงยับยั้งการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนมนุษย์

อะบูซัรถามว่า : โอ้รสูลุลเลาะฮ์! หากเขากระทำดังกล่าวเขาจะเข้าสวรรค์ได้หรือไม่

นะบีตอบว่า : ไม่มีศรัทธาชนคนใดที่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจากการกระทำดังกล่าว เว้นแต่สิ่งนั้นจะนำพาเขาเข้าสู่สวนสวรรค์

3. มีความต่อเนื่อง

         งานสาธารณกุศลในอิสลามจะมีความต่อเนื่อง การทำความดีของมุสลิมจะมีความเกี่ยวเนื่องกับความศรัทธา ซึ่งจะต้องปฏิบัติเมื่อถึงเวลาที่สั่งใช้ให้กระทำ เช่น การจ่ายซะกาตเมื่อครบจำนวนและเวลาที่กำหนด การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์เมื่อถึงวันรายอฟิฏรี ในขณะเดียวกันมุสลิมมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับเงื่อนเวลา เช่น การทำความดีแก่เพื่อนบ้าน ญาติสนิทมิตรสหาย การอุปถัมภ์ช่วยเหลือผู้ขัดสนและเด็กกำพร้า ให้อาหารแก่เพื่อนบ้านที่กำลังหิวโหย ดังที่นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“จะไม่เป็นผู้ศรัทธาสำหรับผู้คนที่นอนหลับในเวลากลางคืนในสภาพที่อิ่มหนำ ทั้งๆที่เขารู้ว่ามีเพื่อนบ้านกำลังหิวโหยอยู่”

          เช่นเดียวกันกับการให้ที่พำนักพักพิงแก่ผู้เดินทาง ให้เกียรติและดูแลแขกผู้มาเยี่ยมมาเยือน ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนและการทำความดีอื่นๆ อีกมากมายที่เปิดกว้างสำหรับมุสลิม แข่งขันในการสะสมแต้มแห่งความดีเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ มุสลิมทุกคนจึงใฝ่ฝันที่จะกระทำแต่ความดี ไม่ว่าในรูปแบบของการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นหรือการเชิญชวนและเสนอแนะคนอื่นให้ปฏิบัติความดี ซึ่งทุกฝ่ายล้วนได้รับผลบุญจากอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน

          คุณค่าการทำงานในอิสลาม มิใช่ประเมินด้านปริมาณที่มากมายเพียงอย่างเดียว อัลลอฮ์ จะทรงตอบแทนคุณงามความดีที่ได้ปฏิบัติแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ดังอัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

 “ดังนั้นผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน” (อัลกุรอาน 99:7)

บรรดาเศาะฮาบะฮ์เคยบริจาคทานเสี้ยวหนึ่งของลูกอินทผาลัมหรือองุ่นเม็ดหนึ่ง พร้อมกล่าวว่า อินทผาลัมหรือองุ่นเม็ดนี้ประกอบด้วยละอองธุลีอันมากมายที่เราจะต้องได้รับผลบุญในวันแห่งการตอบแทน

อิบนุมัสอูดเล่าว่า นะบีมุฮัมมัด กล่าวว่า

 “ท่านทั้งหลายมีหน้าที่ป้องกันตัวเองจากไฟนรก แม้ด้วยการบริจาคเสี้ยวหนึ่งของลูกอินทผาลัม”

          บางคนสร้างเงื่อนไขให้แก่ตนเองในการทำงานสาธารณกุศลโดยยึดเงื่อนเวลาเป็นตัวกำหนด เช่นช่วงที่เป็นนักศึกษา ช่วงที่ยังไม่มีครอบครัว ช่วงที่ยังไม่มีภาระ ช่วงที่สุขสบาย ช่วงที่อยู่ในตำแหน่งที่ดี หรือช่วงหลังเกษียณ เมื่อยังไม่ถึงเวลาดังกล่าวแล้ว เขาก็จะหันหลังให้กับงานสาธารณกุศลอย่างสิ้นเชิง แต่สำหรับมุสลิมผู้ศรัทธา งานสาธารณกุศลคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดช่วงไม่ได้ ต้องพยายามทำงานตราบใดที่มีกำลังความสามารถและโอกาส แม้ว่าเขาจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม

4. มีแรงจูงใจอันสูงส่ง

        ความมีแรงจูงใจอันสูงส่งที่ช่วยผลักดันให้มุสลิมยอมอุทิศตนทำงานด้วยความสมัครใจ มีใจสาธารณะ ยึดมั่นในหลักการการทำความดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งท้าทายและบททดสอบ มีความมุ่งมั่นทำงานสู่ความสำเร็จโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย ส่วนหนึ่งของแรงจูงใจอันสูงส่งได้แก่

4.1 แสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์

ประการแรกที่เป็นแรงจูงใจที่สำคัญสำหรับมุสลิมในการทำงานสาธารณกุศลคือ การแสวงหาความโปรดปรานและความพึงพอใจจากอัลลอฮ์  ดังอัลกุรอาน กล่าวไว้ความว่า

 “และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก (พวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮ์ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด” (อัลกุรอาน 76:8-9)
 
อัลลอฮ์ ได้ตรัสอีกความว่า

 “และอุปมาบรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขา เพื่อแสวงหาความพึงใจของอัลลอฮ์ และเพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่ตัวของพวกเขาเองนั้น ดังอุปมัยสวนแห่งหนึ่ง ณ ที่เนินสูง ซึ่งมีฝนหนักประสบแก่มัน แล้วมันก็นำมาซึ่งผลของมันสองเท่า แต่ถ้ามิได้มีฝนหนักประสบแก่มัน ก็มีฝนปรอยๆ และอัลลอฮ์นั้นทรงเห็นในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกันอยู่” (อัลกุรอาน 2:265)

          ส่วนหนึ่งของการแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ คือ ความใฝ่ฝันที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชาวสวรรค์ การได้รับผลบุญและความสุขสบายในสวรรค์ ดังปรากฏในหะดีษกุดซีย์ที่อัลลอฮ์ ตรัสว่า “ฉันได้เตรียมสำหรับบ่าวที่ดีของฉันในสวรรค์ ด้วยการตอบแทนที่มนุษย์ไม่เคยประจักษ์ด้วยสายตา ไม่เคยสดับรับฟังด้วยหู และไม่เคยคาดคิดโดยจินตนาการ จงอ่านอัลกุรอานความว่า

 “ดังนั้น จึงไม่มีชีวิตใดรู้การตอบแทนที่ถูกซ่อนไว้สำหรับพวกเขา ให้เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตา เป็นการตอบแทนในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้” (32:17)

         มุสลิมทุกคนใฝ่ฝันที่จะเข้าสวรรค์ซึ่งมิใช่เป็นเพียงพำนักแห่งความรื่นรมย์ที่สามารถสัมผัสได้เท่านั้น แต่ยังเป็นวิมานแห่งความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์   ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

 “อัลลอฮ์ได้ทรงสัญญาแก่บรรดามุมินชายและบรรดามุมินหญิง ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายใต้สวนสวรรค์เหล่านั้น โดยที่พวกเขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล และบรรดาสถานที่พำนักอันดีซึ่งอยู่ในบรรดาสวนสวรรค์แห่งความวัฒนาสถาพร และความโปรดปรานจากอัลลอฮ์นั้นใหญ่กว่า นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (อัลกุรอาน 9:72)

          แรงจูงใจด้านจิตวิญญาณอันสูงส่งเช่นนี้เป็นแรงผลักดันให้บรรดาเศาะฮาบะฮ์เร่งรีบการกระทำความดีภายหลังจากพวกเขาได้สดับรับฟังอัลกุรอานที่เชิญชวนให้กระทำความดี โดยไม่หวงแหนทรัพย์สมบัติที่เป็นเพียงสิ่งครอบครองนอกกายแต่อย่างใด ประการเดียวที่เป็นความใฝ่ฝันของพวกเขาคือการได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮ์ ดังปรากฏในหะดีษที่เล่าโดยอะนัสความว่า

“อะบูฏ็อลหะฮ์เป็นชาวอันศ็อรผู้มีสวนอินทผาลัมมากที่สุด และสวนอินทผาลัมที่เขารักและหวงแหนมากที่สุดคือสวนที่ชื่อว่า บัยรุหาอ์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของมัสยิดนะบี นะบีมูฮัมมัดเคยเข้าในสวนและดื่มน้ำอันใสสะอาดจากสวนดังกล่าว หลังจากที่อายะฮ์อัลกุรอานถูกประทานลงมาความว่า  

“พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ และสิ่งใดที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้ในสิ่งนั้นดี” (อัลกุรอาน 3/92)

อะบูฏ็อลหะฮ์จึงรีบไปหานะบีมุฮัมมัด พร้อมกล่าวว่า โอ้เราะซูลลุลเลาะฮ์ อัลลอฮ์ ได้ตรัสความว่า “พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ” สวนที่ฉันรักและหวงแหนมากที่สุดคือสวนบัยรุหาอ์ ดังนั้นฉันบริจาคสวนนี้โดยหวังในความดีและเก็บรักษา ณ อัลลอฮ์ ท่านจงใช้ประโยชน์จากสวนนี้ตามที่ท่านเห็นควรเถิด นะบีมุฮัมมัดจึงตอบด้วยความดีใจว่า “นับเป็นทรัพย์สมบัติที่มีกำไร นับเป็นทรัพย์สมบัติที่มีกำไร”

4.2 แรงจูงใจด้านจริยธรรม

          อัลกุรอานได้สร้างแรงจูงใจอันสำคัญสำหรับมุสลิมที่ทำงานด้านสาธารณกุศลด้วยการเรียกพวกเขาว่าผู้ยำเกรง ผู้ศรัทธาที่แท้จริง ผู้มีสติปัญญา ผู้กระทำความดี และบรรดาคนดี ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

“คัมภีร์นี้ ไม่มีความสงสัยใด ๆ ในนั้น เป็นทางนำสำหรับบรรดาผู้ยำเกรงเท่านั้น คือบรรดาผู้ศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับและดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขานั้น พวกเขาก็บริจาค” (อัลกุรอาน 2:2-3) 

อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า

“คือบรรดาผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา พวกเขาก็บริจาค ชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือ ผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง โดยที่พวกเขาจะได้รับหลายชั้น ณ พระเจ้าของพวกเขา และจะได้รับการอภัยโทษและปัจจัยยังชีพอันมากมาย” (อัลกุรอาน 8:3-4)

อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า

“ และบรรดาผู้อดทนโดยหวังพระพักตร์ (ความโปรดปราน) ของพระเจ้าของพวกเขา และดำรงการละหมาดและบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา โดยซ่อนเร้นและเปิดเผย และพวกเขาขจัดความชั่วด้วยความดี ชนเหล่านั้นสำหรับพวกเขาคือที่พำนักในบั้นปลายที่ดี” (อัลกุรอาน 13:22)  

อัลลอฮ์ ได้ตรัสอีกความว่า

"และในทรัพย์สมบัติของพวกเขาจัดไว้เป็นส่วนของผู้เอ่ยขอ และผู้ไม่เอ่ยขอ” (อัลกุรอาน 51:19)  

         มุสลิมใฝ่ฝันที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นหนึ่งในจำนวนผู้คนที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงข้างต้น ทั้งนี้เพื่อยกระดับตนเองเข้าสู่การเป็นศรัทธาชนที่แท้จริงที่จะได้รับการตอบแทนที่ยั่งยืนจากอัลลอฮ์

4.3  มีความสิริมงคล(บะเราะกะฮ์)และได้รับการตอบแทนบนโลกนี้       

          อิสลามเป็นศาสนาที่กำหนดเป้าหมายให้แก่มุสลิม ในการใช้ชีวิตที่รวบรวมความดีไว้ คือความดีงามบนโลกนี้และความดีงามในปรโลก การที่มุสลิมใฝ่ฝันที่จะได้รับความดีงามในปรโลกแต่เขาจะได้รับสิ่งดีๆบนโลกนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความบะเราะกะฮ์(สิริมงคล)ในชีวิตตนเอง ครอบครัว ทรัพย์สินเงินทอง และการได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮ์ ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

 “และหากว่าชาวเมืองนั้นได้ศรัทธากันและมีความยำเกรงแล้วไซร้ แน่นอนเราก็เปิดให้แก่พวกเขา ซึ่งบรรดาความบะเราะกะฮ์(สิริมงคล)จากฟากฟ้าและแผ่นดิน” (อัลกุรอาน 7:96) 

อัลลอฮ์ ได้ตรัสอีกความว่า

 “และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงหาทางออกให้แก่เขาและจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากแหล่งที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา”(65:2-3)

อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า

 “และอันใดที่พวกเจ้าบริจาคจากสิ่งใดก็ดี พระองค์จะทรงทดแทนมัน และพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ดีเลิศแห่งบรรดาผู้ประทานปัจจัยยังชีพ” (34:39) 

นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“ทุกๆ เช้าของบ่าวทุกคน จะมีมะลาอิกะฮ์(เทวทูต) 2 มะลาอิกะฮ์ ลงมาโดยมะลาอิกะฮ์หนึ่งจะกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์ขอได้โปรดประทานสิ่งทดแทนสำหรับผู้บริจาคด้วยเถิด ในขณะที่มะลาอิกะฮ์หนึ่งกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์ขอได้โปรดประทานความพินาศแก่ผู้ตระหนี่ถี่เหนียวด้วยเถิด”

กวีอาหรับได้กล่าวไว้ความว่า

“จงบอกฉัน ผู้บริจาคใจบุญคนไหนบ้างที่หมดตัวเยี่ยงยาจกอนาถา      และจงบอกฉัน ผู้ตระหนี่ขี้เหนียวคนใดบ้างที่มีชีวิตค้ำฟ้าชั่วนิรันดร์”

          การตอบแทนความดีงามบนโลกนี้มีลักษณะที่หลากหลาย เช่น ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์และแข็งแรง มีหัวใจที่เบิกบาน มีครอบครัวที่เปี่ยมสุข มีลูกหลานที่ดี มีทรัพย์สินเงินทองที่เพียงพอและไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

"ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขาที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้” (อัลกุรอาน 16:97)

          มุสลิมจะไม่ใช้ชีวิตอย่างคับแค้นและเศร้าหมอง ถูกรุมเร้าด้วยสารพันปัญหาและจมปลักในความอับจนที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ดังที่อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

"และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือ การมีชีวิตอยู่อย่างคับแค้นและเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮ์ในสภาพของคนตาบอด” (อัลกุรอาน 20:124)

          มุสลิมไม่ว่าในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม องค์กรและประชาชาติ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีที่สามารถสัมผัสได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นวิถีชีวิตที่เคียงคู่กับความเป็นมุสลิมที่แท้จริงที่แยกออกจากกันไม่ได้ มุสลิมกับความดีเปรียบเสมือนด้านสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน ที่หากปราศจากด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะกลายเป็นเศษเงินที่หมดคุณค่าและไร้ความหมายโดยปริยาย

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ