การศึกษาภาษาอาหรับ
โดย อ.อับดุลฮาดี มะกูดี
ภาษาอาหรับ เป็นภาษาของอัลกุรอาน ตามที่อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮุวาตะอาลา ทรงยืนยันไว้ว่า
"แท้จริง เราได้ประทานอัลกุรอานลงมา เป็นภาษาอาหรับ เพื่อพวกเจ้าจะได้ใช้สติปัญญา"
(ยูซุฟ / 22)
นอกจากจะเป็นภาษาของอัลกุรอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญของชีวิตมุสลิม แล้วยังเป็นภาษาที่มีความสำคัญต่อชาวโลกในขณะนี้ จนได้รับการจัดไว้เนภาษาหนึ่งที่ใช้ในองค์กรสหประชาชาติ
ในเมื่อภาษาอาหรับเป็นภาษาของอัลกุรอาน ซึ่งเป็นกะลามุลลอฮ์ (พจนารถของอัลลอฮ์) และเป็นภาษาของฮะดิษ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่มุสลิมจะต้องศึกษาภาษาอาหรับ เพื่อที่จะได้เข้าใจความหมายของอัลกุรอาน และอัลฮะดิษ ซึ่งทั้งสองเป็นแหล่งที่มีของบทบัญญัติศาสนา เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจบทบัญญัติศาสนาอย่างถูกต้อง จึงต้องศึกษาภาษาอาหรับเป็นอย่างดี ความสำคัญของการศึกษานั้น จะเห็นได้จากวะฮีย์ หรือโองการแรกที่อัลลอฮ์ทรงประทานลงมาคือ "จงอ่าน" ก่อนที่จะอ่านก็ต้องศึกษาก่อน ท่านนะบี ได้กล่าวเกี่ยวกับ การศึกษาวิชาความรู้ว่า
"การแสวงหาวิชาความรู้นั้น เป็นฟัรฎู เหนือมุสลิมทุกคน"
ขอให้เราทุกคนตั้งใจศึกษาหาวิชาความรู้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมวดวิชาภาษาอาหรับ ที่บรรจุอยู่ในตำราเรียนของโรงรียน ในเมื่อเราได้มีโอกาสดีแล้วที่ได้ศึกษาภาษาอาหรับ ขอให้พยายามศึกษาอย่างแท้จริง และจริงใจ และขอให้ตั้งเจตนาไว้ว่าจะศึกษาเพื่ออัลลอฮ์ เพื่อความเข้าใจในศาสนาของอัลลอฮ์ และให้นึกอยู่เสมอว่า จะใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถ ส่วนความสำเร็จนั้นเป็นการเตาฟีกจากอัลลอฮ์ ดังคำอาหรับที่ว่า
"จำเป็นที่ท่านจักต้องใช้ความอุตสาหะ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน ที่จะได้มาซึ่งความสำเร็จ"
(หมายถึง ความสำเร็จนั้น อยู่ที่การเตาฟีกจากอัลลอฮ์)
มารยาทของนักศึกษามุสลิม
ปัจจุบันนี้มารยาทต่างๆทางสังคมของเรา ได้รับรู้และทราบกันอยู่ตลอดจากพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือในโรงเรียน และสื่อต่างๆอยู่ทุกวัน จะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ส่วนใหญ่ความรู้และมารยาทต่างๆก็จะเป็นเรื่องที่สังคมทั่วไปของไทยเรา ตลอดจนมารยาทที่มาจากวัฒนธรรมตะวันตก
ส่วนมารยาทด้านอิสลามที่มุสลิมจะต้องรู้นั้น นักเรียนจะรับรู้ได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นจึงอยากเสนอมารยาทในอิสลาม ตามแบบฉบับคัมภีร์อัลกุรอาน และซุนนะฮ์ของท่านนะบีมุฮัมมัด โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษาทั่วไป เพราะการศึกษานั้นเป็นเป้าหมายหลักองคนทั่วไป ถ้าหากผู้ที่ศึกษาตั้งเป้าหมายไม่ดี บางทีการศึกษาจะล้มเหลว จบไปก็ไม่มีงานทำ ตกงาน หรือบางทีก็ล้มเหลวในชีวิต
ดังนั้น นักเรียนมุสลิม และนักศึกษาทุกคน ควรจะตั้งเจตนา และเป้าหมายที่ดีในการศึกษา
บางท่านอาจค้านว่า เมื่อมีความรู้ก็สามารถหางานทำได้ แต่ในยุค ไอ ที นี้ต้องยอมรับว่า ถึงมีความรู้ก็ตกงานเป็นจำนวนมาก ความเป็นจริงงานที่จะทำยังมีอีกมาก แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูนั้น ทำให้คนเราใจแตก เพราะเคยได้ค่าจ้างมาก พอมาได้น้อยจึงไม่อยากทำงาน ไม่อยากขวนขวาย จึงทำให้ตกงาน
เราเชื่อหรือไม่ว่า อัลลอฮ์ ทรงประทานเครื่องยังชีพ(ริสกี) ให้กับมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา แต่ต้องขวนขวายเอาเอง ทั้งนี้เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้สติปัญญา ได้ใช้แรงกำลัง ที่พระองค์ทรงให้มาไปในทางที่ถูกต้อง มีการคบค้าสมาคม มีความสัมพันธ์ร่วมมือกัน
มารยาทของนักเรียน นักศึกษาที่ควรจะต้องปฏิบัติคือ
1. มีความบริสุทธิ์ใจ คือ ในการทำงาน การพูด และการเรียนรู้ของเขา เพื่ออัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่งเท่านั้น อัลลอฮ์ ตรัสไว้ ความว่า
"(มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า แท้จริง การละหมาดของฉัน การทำความเคารพ(อิบาดะฮ์)ของฉัน
ความเป็นของฉัน ความตายของฉัน เป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก"
(อัลอันอาม / 162)
ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
"แท้จริง อัลลอฮ์จะไม่มองดูรูปร่างของพวกเจ้า และทรัพ์สินของพวกเจ้า แต่พระองค์จะมองดูหัวใจของพวกเจ้า และการงานของพวกเจ้า"
(บันทึกโดย มุสลิม)
2. จะต้องทำตัวให้เป็นคนที่มีมารยาทดี มีจริยธรรมอันดีงาม เพื่อการเสริมสร้างความสำเร็จในโลกหน้า ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพราะเป้าหมายของมุสลมไม่ได้หยุดอยู่เพียงในโลกนี้อย่างเดียว
ท่านนะบี จะขอพรเสมอว่า
"โอ้ อัลลอฮ์ ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ท่าน ให้พ้นจากความรู้ที่ไร้ประโยชน์ และหัวใจที่ไม่สำรวม"
(บันทึกโดย มุสลิม)
3. ต้องห่างไกลจากการอิจฉาริษยา และการอวดใหญ่อวดโต (ตะกับบุร)
4. ค่อยเรียนค่อยรู้ไปทีละน้อย สร้างความรู้ไปเรื่อยๆ เป็นขั้น เป็นตอน อะไรที่สำคัญมีประโยชน์ควรจะเรียนรู้ก่อน
5. ความรู้อย่างไหนเป็นประโยชน์ และดี ที่จะนำไปสู่ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ควรจะเรียนรู้ก่อน และนำมาปฏิบัติด้วย
6. การพิจารณาการสั่งเสียของ ลุกมาน หะกีม แก่ลูกๆของเขาที่ว่า
"อย่าได้โต้เถียงกับผู้มีความรู้ มันจะทำให้จ้าตกต่ำ และผู้คนจะปฏิเสธไม่ยอมรับเจ้า
เจ้าอย่าได้โต้เถียงกับคนโง่ คนทั่วไปเขาจะคิดว่าเจ้าโง่ไปด้วย และด่าทอเจ้า
แต่จงรับฟังผู้ที่มีความรู้มากกว่าเจ้า และคนที่มีความรู้น้อยกว่าเจ้า"
7. เมื่อไม่รู้ ไม่ควรอายที่จะถามครู หรือผู้รู้ หรือใครก็ได้ที่รู้ ด้วยเหตุนี้ท่านอุมัร อิบนุคอฏฏอบ กล่าวว่า
"ผู้ใดหน้าบาง (ไม่กล้าถามเมื่อไม่รู้) วิชาของเขาก็จะบาง(น้อย)ไปด้วย"
8. จงมีความขยันหมั่นเพียรดูตำรับตำรา ทบทวนบทเรียนอยู่เสมอ จะทำให้เกิดความแม่นยำ ความรู้ก็จะแน่น และพิ่มพูนอยู่เสมอ
9. จงให้ความเคารพต่อครู ให้เกียรติครูในทางที่ถูกที่ควร...