ระบบเศรษฐกิจ กับ อิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  19187

  

ระบบเศรษฐกิจ กับ อิสลาม


           ความจำเป็นพื้นฐานประการหนึ่งของมนุษย์ คือมนุษย์ต้องอาศัยกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาตอบสนองความต้องการของการดำรงชีวิต ในฐานะที่อิสลามเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ที่สอนมนุษย์ในทุกแง่มุมที่เป็นความต้องการของชีวิต ดังนั้นอิสลามจึงมีคำสอนที่ว่าด้วยเศรษฐกิจ สรุปได้ดังนี้

 วัตถุประสงค์และวิธีการของเศรษฐกิจอิสลาม

          ระบบเศรษฐกิจอิสลามมีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การประกันสิทธิ์ การครอบครองทรัพย์สมบัติขั้นต่ำสุดที่มนุษย์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับศักดิ์ศรีและเกียรติยศของมนุษย์พร้อมกับเจตนารมณ์อันสูงส่งของอัลลอฮ์ ที่ต้องการให้มนุษย์ใช้ศักยภาพที่มีอยู่เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของพระองค์ โดยปราศจากการบีบบังคับ เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวอิสลามจึงกำหนดวิธีการ 2 รูปแบบคือ

     ก.  การกำหนดกฎเกณฑ์ เช่น บทบัญญัติที่ว่าด้วยการครอบครองกรรมสิทธิ์ การกระจายรายได้ การจัดสรรทรัพยากร ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ระหว่างคนรวยกับคนจน ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ซึ่งอิสลามได้กำหนดเป็นศาสนบัญญัติอย่างชัดเจน โดยที่มุสลิมต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

     ข.  การรณรงค์ส่งเสริม ซึ่งถือเป็นการยกระดับให้มุสลิมใช้ชีวิตอย่างปกติสุข มีจริยธรรมอันสูงส่ง และพัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี

          ดังกรณีซะกาต อิสลามถือว่าซะกาต คือหลักประกันสังคมที่สำคัญในเศรษฐกิจ ดังนั้นอิสลามจึงกำหนดศาสนบัญญัติว่าด้วยซะกาตอย่างชัดเจน การกำชับให้คนรวยจ่ายซะกาตแก่ผู้ด้อยโอกาส และถือว่าการไม่จ่ายซะกาตถือเป็นบาปอันยิ่งใหญ่สมควรได้รับโทษอันสาสม ในขณะเดียวกันมีการส่งเสริมให้มุสลิมบริจาคทาน (เศาะดะเกาะฮ์) โดยถือว่าการบริจาคทานที่นอกเหนือจากการจ่ายซะกาตนั้น เป็นกุศลทานอันยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน


กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

          ตามทัศนะอิสลามมิได้กำหนดเพื่อตัดขาดระบบเศรษฐกิจ ความต้องการของมนุษย์ ต้องการครอบครองทรัพย์สิน แต่มิได้ปล่อยโอกาสให้แต่ละคนกอบโกยทรัพย์สมบัติตามใจชอบ บทบัญญัติในอิสลามจึงมีลักษณะของการ “คุมกิเลส” มากกว่าการ “ดับกิเลส” ซึ่งเป็นการฝืนสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่อิสลามยอมรับว่าโดยสามัญสำนึกแล้ว มนุษย์มีความต้องการครอบครองทรัพย์สินและถือว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกกระตือรือร้นในการทำงาน

อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอาน ความว่า

“มนุษย์ถูกประดับประดาให้เกิดความรักในบรรดาสิ่งที่เป็นเสน่ห์อันได้แก่ผู้หญิงและลูกชาย ทองและเงินอันมากมาย ม้าตัวดีๆ ปศุสัตว์และไร่นา” (อัลกุรอาน 3:14)

         อัลกุรอานได้กล่าวถึงทรัพย์สมบัติที่เป็นกรรมสิทธิ์ของมนุษย์ เพื่อสอนให้ทราบว่า มนุษย์มีความต้องการครอบครองทรัพย์สมบัติ ในอัลกุรอานระบุว่าทรัพย์สมบัติเป็นของอัลลอฮ์ เพื่อให้รับรู้ว่าเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในการจัดสรรดูแลทรัพย์สมบัติอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด อิสลามไม่อนุญาตให้ใช้ทรัพยากรอย่างเปล่าประโยชน์หรือถือครองด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง อัลลอฮ์ตรัสไว้ความว่า

“และจงบริจาคแก่พวกเขาซึ่งทรัพย์สมบัติของอัลลอฮ์ที่พระองค์ทรงประทานแก่พวกเจ้า” (อัลกุรอาน 24:33)

“และจงบริจาคในแนวทางของอัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงให้พวกเจ้าเป็นตัวแทนของมัน” (อัลกุรอาน 57:7)

         นอกจากนี้อิสลามถือว่าความเหลื่อมล้ำในการถือครองกรรมสิทธิ์ เป็นปกติของสังคมมนุษย์ การที่มีคนรวยและคนจนในสังคมไม่ถือว่าสังคมนั้นผิดปกติ ตราบใดที่คนรวยมอบสิทธิ์ที่พึงได้ให้แก่คนจนและปฏิบัติหน้าที่กระจายรายได้ ให้ผู้ด้อยโอกาสตามที่กำหนดไว้ อัลกุรอานได้กล่าวในเรื่องนี้ความว่า

“และอัลลอฮ์ทรงทำให้บางคนในหมู่พวกเจ้าดีเด่นกว่าอีกบางคนในเรื่องปัจจัยยังชีพ”    (อัลกุรอาน 16:71)

“เราต่างหากที่เป็นผู้จัดสรรการทำมาหากินของพวกเขาระหว่างพวกเขาในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ และเราได้เชิดชูบางคนในหมู่พวกเขาเหนือกว่าอีกบางคนหลายขั้น” (อัลกุรอาน 43:32)

        อิสลามไม่ยอมรับให้มีชนชั้นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินอย่างล้นฟ้าและใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ในขณะเดียวกันยังมียาจกที่แทบไม่มีที่ซุกหัวนอนในสังคมเดียวกัน ช่องว่างที่ห่างไกลระหว่างสองชนชั้นนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นในสังคมมุสลิม เพราะผู้ร่ำรวยจะต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ ในขณะที่ผู้ยากจนต้องหาทางพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงไม่สอนให้มนุษย์แบ่งปันการถือครองกรรมสิทธ์ในทรัพย์สินอย่างเท่าเทียมกัน เพราะความเสมอภาคด้านการถือครองทรัพย์สิน ถือเป็นความคิดที่ฝืนกับสามัญสำนึกของมนุษย์ เช่นเดียวกันแนวคิดที่มิให้มนุษย์ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในเมื่อมนุษย์มีความเหลื่อมล้ำทางด้านสติปัญญาโอกาส แม้กระทั่งความรู้สึกขยันและขี้เกียจในการทำงาน แล้วมีเหตุผลอะไรที่จะบังคับให้มนุษย์ได้รับผลตอบแทนอย่างเท่าเทียมกัน

          ในสังคมมุสลิมจึงเป็นสังคมปรองดองระหว่างกัน ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มคนรวย และไม่มีความรู้สึกเคียดแค้นของกลุ่มยากจน ทั้งสองกลุ่มจึงไม่มีวันเกิดการปะทะเนื่องจากความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาด


เงื่อนไขของการถือครองกรรมสิทธิ์และแนวทางเพื่อทำให้ทรัพย์สมบัติงอกเงย

          อิสลามถือว่าทรัพย์สมบัติเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ มนุษย์ได้ถือครองทรัพย์สมบัติในฐานะผู้แทนเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะกระทำตามอำเภอใจ เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากเจ้าของที่แท้จริงเสียก่อน

อิสลามกำหนดเงื่อนไขการถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังนี้

1. ถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินด้วยวิธีการที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการทางศาสนบัญญัติเท่านั้น

2. ไม่อนุญาตให้มีการสะสมทรัพย์สมบัติโดยที่ไม่สามารถสร้างประโยชน์

3. ทรัพย์สมบัติที่ถือครองนั้นจะต้องใช้จ่ายในแนวทางที่ถูกต้อง ไม่จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย และไม่ตระหนี่ ขี้เหนียวจนเกินไป

4. อนุญาตให้ใช้ทรัพย์สมบัติ มีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนในสังคมอย่างยุติธรรม

5. ทรัพย์สมบัติที่เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม จะต้องบริหารจัดการโดยส่วนรวม ไม่อนุญาตให้บุคคลถือครองเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตน ไม่มีการสัมปทานโดยวิธีการผูกขาด

นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“มนุษย์มีหุ้นส่วนในสิ่งของสามชนิด (คือ) น้ำ สนามหญ้า และไฟ”(รายงานโดยอาหมัดและอาะบูดาวูด) เพราะทั้งสามประการถือเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรตกอยู่ในกิจการของคนๆเดียว ทุกคนต้องมีส่วนร่วมบริหารจัดการ หรืออาจมอบหมายให้รัฐจัดการดูแลอย่างยุติธรรม


แนวทางการถือครองทรัพย์สมบัติที่ต้องห้าม

 แนวทางหรือวิธีการถือครองทรัพย์สมบัติต้องห้ามในอิสลามมีดังนี้

1. การฉ้อโกง นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ ความว่า

“ผู้ใดที่ฉ้อโกงผู้นั้นมิได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉัน”

2. การกักตุนสินค้าที่เป็นที่ต้องการขั้นพื้นฐานของสังคม

3. การใช้ระบบดอกเบี้ย เพราะถือเป็นการเอากำไรโดยไม่ต้องทำงานเลย ระบบดอกเบี้ยถือเป็นระบบที่ทำลายความเอื้ออาทร เป็นระบบการขูดรีด ความอยุติธรรมและการบีบบังคับมนุษย์ด้วยกัน


ทัศนะอิสลามเกี่ยวกับงาน

         อิสลามสอนให้มนุษย์ทำงานด้วยความมุมานะ ทำให้สามารถสร้างคุณประโยชน์แก่ตนเอง  ครอบครัวและสังคม การนิ่งเฉยโดยคาดหวังความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือการขอทานไม่เป็นที่อนุญาต และเป็นการกระทำที่น่าตำหนิอย่างมาก อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

“จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด)ว่า พวกท่านจงทำงานเถิด แล้วอัลลอฮ์จะทรงเห็นการทำงานของพวกท่าน และเราะซูลของพระองค์ตลอดจนบรรดาผู้ศรัทธาก็เห็นด้วย” (อัลกุรอาน 9:105)

          อิสลามสอนให้มนุษย์มุ่งมั่นไขว่คว้าความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ ด้วยการหมั่นทำความเคารพภักดี เพื่อเป็นเสบียงสำหรับการใช้ชีวิตในโลกหน้า(อาคีเราะฮ์) ขณะเดียวกันอิสลามกำชับว่าอย่าให้ความสำคัญกับโลกหน้ามากจนกระทั่งหลงลืมทำงานเพื่อการใช้ชีวิตอย่างสงบสุขบนโลกนี้ด้วย อิสลามสอนมุสลิมว่า หลังจากเสร็จสิ้นการละหมาดวันศุกร์(ญุมอะฮ์) แล้ว ให้ออกไปหาปัจจัยยังชีพต่างๆที่อัลลอฮ์ทรงเตรียมไว้ ณ บนหน้าแผ่นดิน ส่วนหนึ่งของการขอพรที่มุสลิมทุกคนพร่ำวอนต่ออัลลอฮ์คือ

“โอ้พระเจ้าของฉันโปรดประทานให้แก่พวกเราซึ่งสิ่งดีงามในโลกนี้และสิ่งดีงามในวันปรโลก และโปรดคุ้มครองพวกเรให้พ้นจากการลงโทษแห่งไฟนรกด้วยเถิด” (อัลกุรอาน 2:201)

ชายคนหนึ่งถามท่านนะบีมุฮัมมัด  ว่า งานชนิดใดที่ดียิ่งสำหรับคนๆหนึ่ง ท่านนะบีมุฮัมมัดตอบว่า

“งานของคนใดคนหนึ่งที่กระทำด้วยมือของตนเอง และรูปแบบของการซื้อขายที่บริสุทธิ์จากการละเมิดและการฉ้อโกงทั้งปวง” (หะดีษรายงานโดย อาหมัดและบัชชาร)

หะดีษรายงานโดยอัลบุคอรีสอนไว้ความว่า “แน่แท้ เมื่อเจ้าหาไม้ฟืนแล้วมัดแล้ววางไว้บนหลัง (แล้วนำไปขาย) นั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่เจ้าไปขอทานจากคนอื่น ซึ่งบางทีเขาอาจจะให้หรือปฏิเสธก็ได้”

          ครั้งหนึ่งนะบีมุฮัมมัด นั่งอยู่พร้อมกับบรรดาสาวกของท่าน และได้เห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเดินมุ่งหน้าสู่ตลาดด้วยท่าทางขยันขันแข็งยิ่งนัก บรรดาสาวกพากันพร่ำบ่นด้วยความเสียดายว่า น่าจะเกณฑ์ชายคนนี้ไปเป็นทหาร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในสงครามเพื่ออัลลอฮ์ นะบีมุฮัมมัด จึงได้กล่าวว่า

“ถ้าหากชายผู้นี้แสวงหาปัจจัยยังชีพเพื่อลูกๆของเขาที่ยังเล็กอยู่ เขาก็จัดอยู่ในประเภทของคนที่ทำงานในหนทางของอัลลอฮ์ หากเขาแสวงหาปัจจัยยังชีพเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ของเขาที่สูงอายุแล้วเขาก็จัดอยู่ในกลุ่มคนของคนที่ทำงานในหนทางของอัลลอฮ์ หากเขาแสวงหาปัจจัยยังชีพสำหรับเลี้ยงดูตัวเองจนไม่ถึงกับต้องไปขอทาน เขาก็จัดอยู่ในกลุ่มคนของคนที่ทำงานในหนทางของอัลลอฮ์เช่นเดียวกัน ถ้าเขาออกไปหาทรัพย์สินด้วยเจตนาเพื่อการโอ้อวดและหยิ่งในความมั่งคั่งที่ตนเองได้รับแล้ว เขาถูกจัดอยู่ในหนทางของเหล่ามารร้าย(ซัยฏอน)” (หะดีษรายงานโดย ฏอบรอนี)

          อิสลามไม่ได้กำหนดลักษณะและประเภทของงาน ว่างานไหนดียิ่งไปกว่ากัน แต่ได้สอนว่าตราบใดที่เป็นงานที่สุจริตและทำโดยบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ์ ไม่ใช่เพื่อโอ้อวดแล้ว ถือว่าเป็นงานที่ดีและมีเกียรติในทัศนะของอัลลอฮ์ หะดีษข้างต้นได้ระบุลักษณะงานของชายคนหนึ่ง เป็นเพียงตัวอย่างที่สอนว่า มนุษย์สามารถประกอบอาชีพอะไรก็ได้ที่สุจริต แม้อาชีพที่ไม่ต้องใช้ความสามารถอะไรเลย เว้นแต่ความขยันขันแข็ง เช่น การหาเศษไม้ เศษขยะ หรือวัสดุเก่าที่เหลือใช้ ซึ่งดูเหมือนเป็นอาชีพที่ต่ำต้อย แต่หากมีการจัดการที่ดี อาชีพเหล่านี้สามารถนำมาซึ่งรายได้อันมหาศาลทีเดียว

         อิสลามยังกำชับให้สมาชิกในสังคมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน ดังหะดีษที่รายงานโดย ฏอบรอนีกล่าวไว้ความว่า “จะไม่เป็นผู้ศรัทธาสำหรับผู้ที่นอนหลับในเวลากลางคืนในสภาพที่อิ่มหนำ ทั้งๆที่เขารู้ว่ามีเพื่อนบ้านของเขากำลังหิวโหยอยู่”

นะบีมุฮัมมัด ยังได้กล่าวอีกความว่า

“หากมีคนๆหนึ่งที่ทุกข์ยากลำบากจนกระทั่งต้องอดอาหารอยู่เป็นเนือง ใช้ชีวิตในชุมชนใดโดยที่ชุมชนนั้นไม่ให้ความช่วยเหลือแล้ว แน่นอนอัลลอฮ์จะไม่คุ้มครองให้แก่ชุมชนนั้น” (หะดีษรายงานโดย ฮากิม)


           ดังนั้นสมาชิกทุกคนในสังคมต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ปัญหาปากท้องในสังคมนั้นและจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างสุดความสามารถ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจอิสลามที่เป็นหลักประกันแห่งความสงบสุขของชีวิต ทั้งบนโลกนี้และโลกหน้า(อาคีเราะฮ์)

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ