การแต่งกายของมุสลิมะฮ์
โดย อ.อับดุลฆอนี บุญมาเลิศ
สิ่งที่มนุษย์มีความโดดเด่น นอกเหนือจากเรือนร่าง และด้วยภูมิปัญญาความสามารถแล้ว มนุษย์ยังมีความโดดเด่นอยู่เสมอในเรื่องของการตกแต่ง เกี่ยวกับร่างกาย ด้วยการสวมใส่ตามความชอบ ดังที่มีการพูดกันว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง นั่นคือสภาพโดยทั่วไป
แต่ทว่าสำหรับผู้ศรัทธาทั้งหญิงและชายที่มีหลักการของศาสนาอิสลามแล้ว หัวใจของเขาจะต้องไม่หลุดออกจากวงโคจรของศาสนาที่ได้ยึดถืออยู่ และดูเหมือนว่าสภาพโดยรวมทั่วไปในเรื่องการสวมใส่ของสุภาพสตรี เป็นการท้าทายศาสนาอย่างมาก ยกเว้นผู้ที่มีความแข็งแรงในเรื่องของการศรัทธาเท่านั้น ที่จะมีความสามารถทวนกระแสสังคมได้ แต่ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจว่าต้องผ่อนปรน หรือต้องทำตัวให้เข้ากับสังคม จะได้ไม่ล้าหลังหรือด้อยพัฒนา
ในแง่ของอิสลามแล้ว คือความเข้าใจผิด ถ้าคิดว่าการดำเนินตามหลักการอิสลามเป็นความล้าหลัง หรือด้อยพัฒนา และอยากจะบอกให้ทราบว่าการที่แฟชั่นที่คิดว่าเป็นความก้าวหน้า หรือเป็นการนำสมัยนั้นผิด เพราะเท่าไหร่แล้วที่อ้างว่าล้ำยุค หรือนำสมัยในส่วนของเครื่องแต่งตัวนั้น มันจะวนเวียนไปมาอย่างชนิดที่เรียกว่า ตามไม่ค่อยทัน และในที่สุดก็จะกลับมาสู่ที่เดิม บางทีของใหม่ยังไม่เท่าไหร่ก็จะตกรุ่น เผลอๆไม่นานก็กลับมาดังอีก แต่ถ้าคนที่อยู่แบบสบายๆ ไม่แสดงตัวนำสมัย ก็จะประหยัดและไม่สิ้นเปลืองดี แต่ถ้าตามระบบของศาสนาอิสลามแล้ว สะดวกสบายกว่าแน่นอน เพื่อให้เกิดความรู้ที่แท้จริงจะนำเสนอเงื่อนไขต่างๆต่อไปนี้
เงื่อนไขต่างๆที่จำต้องมีครบถ้วน ในการแต่งกายของสตรีมุสลิมะฮ์ มีดังนี้
1. จะต้องปกปิดร่างกายทั้งหมด
2. เครื่องสวมใส่จะต้องไปการทำให้ดูสวย หรือตกแต่งให้สวยสะดุดตา
3. จะต้องไม่มีกลิ่นหอมจรุงใจ
4. จะต้องไม่รัดรูปร่าง ให้ใช้แบบกว้างๆ หลวมๆ
5. จะต้องไม่บาง โปร่งใส
6. จะต้องไม่เหมือนกับเครื่องแต่งกายของผู้ชาย
7. จะต้องไม่เป็นเรื่องแต่งตัวที่เป็นแฟชั่นโด่งดัง
8. จะต้องไม่เป็นเครื่องแต่งตัวของพวกผู้ปฏิเสธ(กาเฟร์)โดยเฉพาะ
นี่คือเงื่อนไขที่จำเป็นต้องมีครบ ในการสวมใส่และการนุ่งห่มของสตรีมุสลิมะฮ์ เมื่อนางออกจากบ้าน หรือกรณีอยู่ต่อหน้าชายที่สามารถแต่งงานด้วยกันได้ ส่วนสามเงื่อนไขสุดท้ายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน หรืออยู่พร้อมกับญาติพี่น้อง และคนอื่นๆ และเงื่อนไขตั้งแต่ข้อสี่ ถึงข้อแปดนั้นรวมทั้งหญิง(มุสลิมะฮ์)และชาย(มุสลิมีน)
ต่อไปนี้ขอเสนอรายละเอียด เงื่อนไขต่างๆ ตามหลักฐานจากอัลกุรอาน และฮะดิษที่ถูกต้อง และคำของนักวิชาการ
จากซูเราะฮ์ อันนูร์ อายะฮ์ ที่ 31 อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า
"และจงกล่าวเถิดมุฮัมมัดแก่บรรดามุอ์มินะฮ์ให้พวกเธอลดสายตาของพวกเธอลงต่ำ และให้พวกเธอรักษาทวารของพวกเธอ และอย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้ และให้เธอปิดด้วยผ้าคลุมศรีษะของเธอลงมาถึงหน้าอกของเธอ และอย่าให้เธอเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ หรือบิดาของสามีของพวกเธอ หรือลูกชายของพวกเธอ หรือลูกชายสามีของพวกเธอ หรือพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่ชายน้องชายของพวกเธอหรือลูกชายของพี่สาวน้องสาวของพวกเธอ หรือพวกผู้หญิงของพวกเธอ หรือที่มือขวาของพวกเธอครอบครอง (ทาสและทาสี) หรือคนใช้ผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ หรือเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเพศสงวนของผู้หญิง และอย่าให้เธอกระทืบเท้าของพวกเธอ เพื่อให้ผู้อื่นรู้สิ่งที่พวกเธอควรปกปิดในเครื่องประดับของพวกเธอ และพวกกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮ์เถิด โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ "
จากอายะฮ์นี้ทำให้เราทราบว่า อัลลอฮ์ ทรงใช้ให้บรรดามุมินะฮ์ ลดสายตาและรักษาอวัยวะเพศของพวกนาง และทรงใช้ให้พวกนางปกป้องเครื่องประดับ แก่คนแปลกหน้า เว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้ โดยไม่มีเจตนาที่ไม่ดี
ท่านอิบนิ มัสอูด บอกว่า เครื่องประดับนั้นมี 2 ประเภทคือ
ชนิดที่หนึ่ง คนอื่นจะมองไม่ได้ นอกจากสามี เช่น แหวนและกำไร
ชนิดที่สอง คนแปลกหน้ามองได้ คือ ส่วนภายนอกของเสื้อผ้า
กล่าวกันว่า ชนิดที่สองนี้ คือใบหน้าและฝ่ามือ เพราะทั้งสองนั้นไม่ใช่สิ่งพึงสงวน
ท่านอัลบัยฏอวีย์ กล่าวว่า ความจริงทั้งสองสิ่งนั้น อนุญาตให้เปิดเผยได้ในเวลาละหมาดเท่านั้น มิใช่เพื่อการมอง เพราะร่างกายของสตรีทั้งหมดทุกส่วนนั้นไม่อนุญาตให้ผู้อื่นมอง นอกจากสามีและผู้ที่ห้ามแต่งงานกับเธอ (มะฮรอม) เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเช่นการรักษาพยาบาล และอัลลอฮ์ ได้ตรัส ในซูเราะฮ์ อัลอะหซาบ อายะฮ์ ที่ 59 ความว่า
"โอ้นะบีเอ๋ย ! จงกล่าวแก่บรรดาภริยาของเจ้า และบุตรสาวของเจ้า และบรรดาหญิงของบรรดาผู้ศรัทธา ให้พวกนางดึงเสื้อคลุมของพวกนางลงมาปิดตัวของพวกนาง นั่น เป็นการเหมาะสมกว่าที่นางจะเป็นที่รู้จัก เพื่อที่พวกนางจะไม่ถูกรบกวน และอัลลอฮฺทรงเป็นผู้อภัยผู้ทรงเมตตาเสมอ"
ข้อที่สอง เครื่องสวมใส่จะต้องไม่ทำให้เป็นที่ดึงดูดายตา
ในหัวข้อนี้มีหลักฐานจากคำตรัสของอัลลอฮ์ ซึ่งได้กล่าวไปแล้วในซูเราะฮ์ อันนูร ที่ว่า
"และอย่าให้พวกนางเปิดเผยเครื่องประดับของพวกนาง"
นั่นหมายความว่า ครอบคลุมทุกชนิดของการตกแต่ง และรวมถึงเสื้อผ้าที่มีการประดับ ทำให้สะดุดตาแก่เพศชายโดยตรง ซึ่งอัลลอฮ์ ทรงห้ามมิให้โชว์สัดส่วน ความงามของเรือนร่าง แต่กับเอาความสวยงามอีกอย่างหนึ่งมาเปิดแทนที่
ดังนั้นเรื่องนี้จึง ครอบคลุมในเรื่องของฮิญาบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเย็บปักถักร้อยลวดลาย หรือที่สตรีชอบทำการประดับผ้าคลุมผมด้วยกับพลอยต่างๆที่มีสีสัน เพื่อให้ดูหรูหรา ทั้งหมดนี้เป็นการตกแต่งที่ต้องห้ามโชว์ หรือทำให้เพศตรงข้ามเห็นความโดดเด่น ซึ่งถือว่าเป็นการแต่งตัวที่ต้องห้าม เพราะอัลลอฮ์ ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัลอะหซาบ อายะฮ์ ที่ 33 ความว่า
"และจงอยู่ในบ้านเรือนของพวกเธอและอย่าได้โออวดความงาม (ของพวกเธอ) เช่น การอวดความงาม (ของพวกสตรี) แห่งสมัยงมงายในยุคก่อน และจงดำรงการละหมาดและจ่ายซะกาต และจงภักดีต่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ อัลลอฮฺเพียงแต่ต้องการที่จะขจัดความโสโครกออกไปจากพวกเจ้า โอ้สมาชิกของวงศ์ตระกูล (นะบี) เอ๋ย และทรง (ประสงค์) ที่จะขัดเกลาพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์"
และคำว่า (التبرج)อัตตะบัรรุจญ์ นั้นคือ การที่สตรีออกปรากฏตัว และโชว์ความงามของพวกนาง และยั่วยุให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดอารมณ์ และทำการประเจิดประเจ้อของสตรีนั้น ถือเป็นบาปใหญ่ (كبا ئر الذنوب) เพราะท่านเราะซูล ได้กล่าวไว้ในบันทึก บุคอรีย์ และอัลฮากิม และคนอื่นๆว่า
"สาม จำพวกที่เจ้าอย่าได้ถามถึงพวกเขาเป็นอันขาด คือ คนที่แยกตัวออกจากส่วนรวม แม่เชื่อฟังผู้นำของตน และเขาตายอยู่ในสภาพที่เขาเป็นผู้ฝ่าฝืน ทาสหญิงหรือชายที่หนีนายของตนแล้วตายไป และหญิงที่สามีของนางไม่อยู่ทั้งๆที่เขาได้ให้ความพอเพียงในเรื่องการเป็นอยู่ของนางได้แล้ว พวกนางก็ยังออกไปเตร็ดเตร่นอกบ้าน ในขณะที่เขาไม่อยู่"
คำว่า เจ้าอย่าถามถึงพวกเขานั้น คือ ไม่ต้องถามถึงพวกเขาอีกแล้ว เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มพินาศ เช่นเดียวกับที่อิมามอัซซะฮะบีย์ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ อัลกะบาอิร ซึ่งท่านได้นับเรื่องการอัตตบัรรุจญ์ว่า ถือเป็นบาปใหญ่ โดยบอกไว้ในหนังสือของท่านว่า
"และการออกไปอวดโฉมของพวนาง นางก็จะสวมใส่เสื้อผ้าที่แพงๆ หรูๆ พร้อมทั้งแต่งตัวอย่างสวยงาม แล้วออกไปสู่สายตาของคนทั้งหลาย ทำให้เกิดฟิตนะฮ์ เนื่องจากตัวของนางเอง แม้ว่านางจะไม่มีปัญหาในตัวของนาง แต่คนทั้งหลายนั้นจะไม่รอดพ้นจากปัญหา(ฟิตนะฮ์)อย่างแน่นอน เมื่อพวกเขาเห็นนาง"
และอิมามอัซซะฮะบีย์ ได้กล่าวอีกว่า
และการกระทำที่สตรีถูกสาปแช่งนั้นคือ ที่พวกนางโชว์เครื่องประดับเป็นทองคำ เพชร พลอย อัญมณี ทั้งๆที่มีการสวมฮิญาบอยู่แล้ว ตลอดจนการใส่เครื่องหอม เวลาออกจากบ้าน พร้อมทั้งใส่เสื้อผ้าที่มีสีฉูดฉาด ผ้าคลุมสั้น เสื้อยาวแขนเปิดกว้าง ทั้งหมดนี้ คือการอวดโฉมที่อัลลอฮ์ ทรงโกรธกริ้วคนที่ทำเช่นนั้น ซึ่งสตรีทั้งหลายยังไม่รู้สิ่งที่นะบี พูดถึงพวกนางในฮะดิษของท่านว่า
"ฉันเห็นในนรก ซึ่งส่วนมากของชาวนรกเป็น สตรี"
แน่นอนแล้ว ที่อิสลามได้เน้นในการตักเตือน มิให้มีการอวดโฉมของสตรี เป็นเรื่องย้ำบ่อยครั้ง โดยอัลลอฮ์ ทรงระบุเรื่องนี้ไว้พร้อมกับการทำชิริก การลักขโมย และอื่นๆ จากนั้นที่เป็นบาปใหญ่ ท่านเราะซูล ให้สตรีสัตยาบันกับท่านว่า จะอยู่ในหลักการอิสลาม ท่านจึงกล่าวว่า
"ฉันทำสัตยาบันกับเธอว่า เธอจะต้องไม่ตั้งสิ่งใดเป็นภาคีกับอัลลอฮ์ จะไม่ลักขโมย จะไม่ผิดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ จะไม่ฆ่าลูกๆของตัวเอง จะไม่กุเรื่องเท็จเกี่ยวกับตัวนาง จะไม่ร้องเอะอะโวยวายเกี่ยวกับเรื่องการตาย จะไม่กระทำการอวดโฉมตัวเองแบบพวกยุคสมัยงมงาย"
ข้อที่สาม จะต้องไม่มีกลิ่นหอมจรุงใจ
เรื่องนี้มีฮะดิษเศาะเฮี๊ยะอยู่หลายบท ซึ่งห้ามอย่างหนักในการที่สตรีออกจากบ้านของนางในสภาพที่ใส่เครื่องหอม ท่านเราะซูล ได้กล่าวไว้ว่า
"หญิงใดที่ใส่เครื่องหอมออกจากบ้าน แล้วผ่านฝูงชนเพื่อให้พวกเขาได้กลิ่นหอมของนาง นางก็คือผู้ทำซินา" (บันทึกโดย อะหมัด และคนอื่นๆด้วยสายรายงานที่ดี)
ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
"หญิงใดใส่เครื่องหอมแล้วออกไปมัสยิด การละหมาดใดๆของนางจะไม่ถูกรับ จนกว่านางจะล้างออกเสียก่อน"
และในบันทึกของมุสลิม โดยรายงานของอบูฮุรอยเราะฮ์ กล่าวว่าท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
"หญิงใดที่อบควันเครื่องหอม นางก็อย่ามาร่วมละหมาดอิชาอ์กับเรา"
การยืนยันของฮะดิษต่างๆเหล่านี้ในเรื่องการใส่เครื่องหอม มีทั้งที่ใส่เครื่องหอมโดยตรง และเสื้อผ้าที่มีกลิ่นหอม ซึ่งทั้งสองสิ่งนั้นเป็นที่ต้องห้ามสำหรับสตรี ในตอนที่นางออกจากบ้านของนาง และเป็นเหตุของการห้ามนั้น อันเนื่องจากการใส่เครื่องหอมของสตรีนั้นเป็นการยั่วยุอารมณ์ เช่นเดียวกับการสวมใส่เครื่องแต่งกายที่สวยงาม การแต่งกายที่ดูหรูหรา และโดดเด่น ตลอดจนการไปอยู่ปะปนกันกับหมู่ชาย ดังนั้นการกระทำต่างๆเหล่านี้ เป็นที่ต้องห้ามในการไปมัสยิด และเป็นที่ต้องห้ามหนักในการที่พวกเธอออกไปท้องตลาด หรือถนนหนทาง
และอัลฮัยซะมีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัซซะวาญิรอันอิกติรอฟิลกะบาอิร ได้ถือเอาการออกนอกบ้านของสตรี โดยการใส่เครื่องหอม และแต่งตัวหรูเริ่ด แม้จะมีการขออนุญาติจากสามี ก็ถือว่าเป็น บาปใหญ่ (กะบาอิร)
ข้อที่สี่ เครื่องแต่งกายนั้นจะต้องไม่รัดรูป
อิมามอะหมัด ได้รายงานไว้ในหนังสือ มุสนัด จากอุซัยมะฮ์ บิน ไซยด์ กล่าวว่า
"ท่านเราะซูล ได้ให้ฉันใส่เสื้อคลุมตัวหนึ่งที่เป็นแบบกิบฏียะฮ์(เผ่าหนึ่งในอียิปต์) อย่างหนา ซึ่งเดี๊ยะห์ยะฮ์ อัลกัลบีย์ ได้ให้เป็นของขวัญแก่ท่านมา แล้วฉันก็ได้เอาให้ภรรยาของฉันใส่ ดังนั้น ท่านเราะซูล จึงได้พูดกับฉันว่า ทำไมเจ้าจึงไม่ใส่เสื้ออัลกิบฏียะฮ์ ตัวนั้นเล่า ? โอ้ เราะซูล ฉันได้ให้ภรรยาของฉันใส่ ท่านเราะซูล จึงได้บอกกับฉันว่า เจ้าจงใช้ให้นางสวมใส่เสื้อข้างในอีกตัวหนึ่ง ฉันกลัวว่าเสื้อคลุมตัวนั้นจะเผยขนาดของรูปทรงของนาง"
ดังนั้นเป้าหมายของฮิญาบก็คือ การป้องกันมิให้เกิดฟิตนะฮ์ในสตรี และจะป้องกันไม่ได้นอกจากการแต่งตัวด้วยผ้าคลุมที่หลวมและกว้าง ส่วนเครื่องนุ่งห่ม หรือเสื้อคลุมที่รัดรูปและแคบ แม้ว่าจะปิดผิวกายได้ตามความต้องการ แต่ยังมีการเน้นรูปร่างให้เห็นสัดส่วนของสตรี หรือบางส่วนของร่างกาย
และส่วนใหญ่ของสตรีจะเน้นส่วนบนให้มีการปกปิด เช่น ใบหน้า ศรีษะ คอ อก และถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น หากแต่ว่าพวกนางสวมใส่เสื้อผ้ายาวถึงตาตุ่ม หรือสูงกว่าเล็กน้อย จึงทำให้เห็นบางส่วนของขา หรือเท้า ขณะเดิน หรือขึ้นบันได หรือมีลมพัดเสื้อผ้า ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร วิธีแก้คือ ให้เสื้อผ้าของสตรียาวจนปกปิดส่วนต่างๆ จนไม่เปิดให้เห็นช่วงที่เดินหรือทำการสวมถุงเท้าที่หนาทึบ มีหลักฐานในซุนนะฮ์ ของตริมีซีย์ จากรายงานของอุมัร กล่าวว่า ท่านเราะซูล กล่าวว่า
"ใครที่เดินลากเสื้อผ้าของเขาในสภาพเย่อหยิ่ง อัลลอฮ์จะไม่ทรงมองเขาในวันกิยามะฮ์"
ท่านหญิงอาอิซะฮ์ ได้กล่าวว่า ดังนั้น บรรดาสตรีจะทำอย่างไรกับผ้าของนางที่ยาวลากนั้น ? ท่านนะบี ก็กล่าวว่า ก็ให้พวกนาวปล่อยยาวหนึ่งคืบ(ترخين شبرا) นางกล่าวว่าอย่างนั้น เท้าก็โผล่ให้เห็นอีก ท่านนะบี จึงได้บอกอีกว่า
"ดังนั้นพวกเธอก็ปล่อยให้ยาวหนึ่งศอก ไม่เกินไปกว่านั้น" (บันทึกโดย ติรมิซีย์ และคนอื่นๆ)
ดังนั้นจงใช้ความพินิจพิจารณาในฮะดิษที่ถูกต้องเหล่านี้ บรรดามุสลิมะฮ์ ที่สวมใส่เครื่องแต่งกายของพวกเธออย่างรัดรูป เผยให้เห็นสัดส่วนต่างๆ บริเวณคอ เอว แขน และรูปสะโพก หรือส่วนอื่นๆ จากเรือนร่าง ซึ่งพวกนางจะต้องขออภัยโทษ ต่ออัลลอฮ์ ให้มากๆและแยกการกระทำที่ไม่ดีงามออกให้พ้นตัว และรำลึกถึงคำพูดของท่านเราะซูล ให้มากในฮะดิษที่ว่า
" ความอายกับความศรัทธานั้น ควบคู่กันอยู่ตลอด ถ้าอย่างหนึ่งถูกยกออกไป อีกอย่างหนึ่งก็ถูกยกไปด้วย"
ข้อที่ห้า จะต้องไม่กว้างไม่แนบเนื้อ
มีบันทึกอยู่ในเศาะเฮี๊ยะมุสลิม จากอบูฮุรอยเราะฮ์ กล่าวว่า ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
"มีสองจำพวกของชาวนรก ซึ่งฉันยังไม่เห็นสองจำพวกนั้น พวกหนึ่งที่มีแซ่เหมือนหางวัว พวกเขาใช้ตีผู้คนทั้งหลาย และสตรีแต่งกายไม่มิดชิด เดินโชว์สัดส่วนใส่เครื่องหอม ศรีษะของพวกนางเหมือนตะโหนกอูฐที่เอียง นางเหล่านั้นจะมิได้เข้าสวรรค์ พวกนางจะไม่ได้กลิ่นของสวรรค์"
ดังนั้น จึงจำเป็นที่ฮิญาบของสตรีมุสลิมะฮ์ นั้นจะต้องมิดชิด และไม่รัดรูป เพราะการปกปิดนั้นจะไม่สมบูรณ์ด้วยการสวมใส่ที่มิดชิดและไม่รัดรูป และเนื่องจากว่าการใส่เสื้อผ้าที่บาง หรือรัดรูปนั้นจะให้เกิดฟิตนะฮ์ และความสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น
อิบนุ อับดิลบัรร์ ได้กล่าวว่า ท่านนะบี มีเป้าหมายที่จะบอกว่า บรรดาสตรีที่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดรูป ไม่มิดชิด พวกนางคือ (กาซิยาต) แต่งตัวโป๊ ตามความเป็นจริง
ข้อที่หก จะต้องไม่คล้ายกับเครื่องนุ่งห่มของผู้ชาย
อิมามบุคอรีย์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือเศาะเฮี๊ยะ รายงานโดย อิบนุ อับบาส ว่า
"ท่านเราะซูล สาปแช่งบรรดาชายที่ทำตัวเลียนแบบหญิง และบรรดาผู้หญิงที่ทำตัวเลียนแบบผู้ชาย"
จากหนังสือเศาะเฮี๊ยะอิมามอะหมัด รายงานจาก อับดุลลอฮ์ อิบนุ อุมัร ว่า แท้จริง ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
"สามคนที่ไม่ได้เข้าสวรรค์ และอัลลอฮ์ จะไม่ทรงมองพวกเขาในวันกิยามะฮ์ คือ คนที่เนรคุณต่อบิดามารดาของเขา หญิงที่แต่งตัวแบบผู้ชาย และคนที่มีชู้"
เหล่านี้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่า ห้ามหญิงแต่งตัวแบบผู้ชาย หรือแต่งตัวแบบหญิง หรือการเลียนแบบในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้เครื่องนุ่งห่ม ทั้งในบ้านและนอกบ้าน
ข้อที่เจ็ด จะต้องไม่เป็นเครื่องแต่งกายที่บอกความนิยมโด่งดัง
ท่านเราะซูล ได้กล่าวไว้จากรายงานของอบูดาวู๊ด ละอิบนุ มาญะฮ์ ที่ว่า
"ใครที่สวมใส่เสื้อผ้าเพื่อความโด่งดัง ในวันกิยามะฮ์ อัลลอฮ์ จะทรงให้เขาสวมใส่ชนิดเดียวกับที่เขาได้สวมใส่นั้น และจะทรงให้เปลวไฟลุกโชนอยู่ในนรก"
และเสื้อผ้าที่สวมใส่ด้วยเจตนาเพื่อให้ดูเด่นในหมู่ชน มีราคาแพง นำมาสวมใส่เพื่อเป็นการแสดงความร่ำรวย โอ่อ่าในเรื่องดุนยา ไม่ว่าหรือหญิง หรือชายก็ตามที่ทำเช่นนั้น เขาก็จะโดนลงโทษที่คาดไว้นั้นแน่นอน ยกเว้นผู้ที่เตาบะฮ์ กลับเนื้อกลับตัวเท่านั้น
ข้อที่แปด จะต้องไม่เป็นการเลียนแบบพวกกาเฟร์
ในฮะดิษเศาะเฮี๊ยะ ของอาบูดาวู๊ด รายงานของ อิบนุ อุมัร กล่าวว่า ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
"ใครที่ทำเลียนแบบชนกลุ่มใด เขาก็เป็นชนกลุ่มนั้น"
และความหมายของดำรัส ของอัลลอฮ์ จากซูเราะฮ์ อัลหะดิษ อายะฮ์ ที่ 16 ความว่า
"ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือ สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่หัวใจของพวกเขาจะนอบน้อม ต่อการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และสิ่งที่ได้ลงมาจากความจริง และพวกเขาอย่าเป็นเช่นบรรดาผู้ได้รับคัมภีร์มาแต่ก่อนนี้..."
อิบนุ กะษีร ได้พูด เกี่ยวกับความหมายของอายะฮ์นี้ว่า
"ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงได้ห้ามบรรดามุมินในการที่จะทำเลียนแบบพวกกุฟฟาร ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เป็นเรื่องพื้นฐานเดิมหรือปลีกย่อยก็ตาม"
และได้มีการถ่ายทอดจาก อิบนุ ตัยมียะฮ์ ในความหมายของอายะฮ์ เดียวกันนี้ตรงคำที่ว่า ولا تكو نو ا "อย่าได้เป็น" อย่างเช่น คือการห้ามที่ตรงๆ ในการที่จะเลียนแบบพวกกาเฟร และใครที่นึกว่า การแต่งตัว หรือเครื่องนุ่งห่ม มิได้เข้าอยู่ในการห้ามนั้น ก็เท่ากับว่าเขาผู้นั้นได้เบนออกไปจากความถูกต้องแล้ว เพราะว่า ท่านเราะซูล ได้ห้ามเอาไว้หลายที่ด้วยกัน เกี่ยวกับเรื่องเสื้อผ้าของกุฟฟาร์ เช่น ตัวอย่างที่อิมามมุสลิมได้บันทึกไว้ ในหนังสือเศาะเฮี๊ยะของท่าน โดยรายงานจาก อับดิลลิฮ์ บิน อัมร อิบนิลอาศ กล่าวว่า
"ท่านเราะซูล ได้เห็นฉันสวมชุดเหลืองสองตัว ท่านจึงกล่าวว่า แท้จริงนี้คือ ชุดของกุฟฟาร์ ท่านอย่าเอามาสวมใส่" (บันทึกโดยมุสลิม)
อาจมีบางคนกล่าวว่าการสวมใส่เครื่องนุ่งห่มไม่เกี่ยวกับพวกปฏิเสธ และการห้ามเลียนแบบนั้น เราจะขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ผู้เดียวเท่านั้น คือ
1.จำเป็นแก่พวกเราในฐานะที่เป็นมุสลิม เราจะต้องกระทำตามสิ่งที่อัลลอฮ์ และนะบี ของพระองค์ได้สั่งพวกเรา แม้ว่าเราจะไม่ทราบเหตุผลก็ตาม เรานั้นคือบ่าวของอัลลอฮ์ และพระองค์จะทรงบัญชาคำสั่ง ตามที่พระองค์ทรงประสงค์
2.นักวิชาการบางส่วนได้พูดถึงสาเหตุหลายประการ และข้อชี้ขาดของการห้ามนี้ ดังเช่นที่อิมาม อิบนุ ตัยมียะฮ์ ได้กล่าวว่า
"แท้จริงแล้ว อัลลอฮ์ ได้ทรงส่งบ่าวของพระองค์ และทรงส่งเราะซูลของพระองค์ คือ มุฮัมมัด เป็นแบบอย่างที่เป็นหลักบัญญัติ พระองค์ทรงแต่งตั้งท่านเป็นส่วนหนึ่งของแบบอย่างนั้น คือ ที่พระองค์ทรงตั้งหลักการที่อยู่ในคำพูด และการกระทำที่แยกแยะออกจากแนวทางของพวกที่พระองค์ทรงกริ้วและทางของพวกหลงผิด และได้ใช้ให้สวนทางกับพวกเขาด้วยแบบอย่างชัดเจน
แม้ว่าจะไม่เป็นที่ประจักษ์แก่คนส่วนใหญ่ในข้อเสีย เนื่องจากหลายประการด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็ได้แก่เมื่ออยู่ในแนวทางที่ชัดแจ้งนั้นก็จะทำให้เกิดความกลมกลืน และไม่แยกแยะในระหว่าง ผู้ที่เลียนแบบกับผู้ถูกเลียนแบบ ซึ่งจะนำไปสู่ความสอดคล้องกันทั้งในรูปของกริยามารยาท หรือการกระทำที่เป็นเรื่องที่สัมผัสได้ เพราะว่าเช่นเดียวกับคนที่สวมใส่เสื้อผ้าของผู้รู้ เขาจะพบว่าตนนั้น ได้ทำอย่างหนึ่งที่เหมือนกับเป็นการเห็นด้วยกับผู้รู้นั้น"
จึงขอจบในเงื่อนไขที่จำเป็นต้องมีครบในเรื่องเสื้อผ้าของสตรี และการปกปิดร่างกาย มีความจำเป็นต่อมุสลิม ที่จะต้องทำให้เงื่อนไขที่กล่าวไว้ปฏิบัติให้ครบถ้วนในภรรยาของพวกเขา ตลอดจนผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของตน เนื่องจากมีคำกล่าวของท่านนะบี ว่า
"พวกท่านทุกคนเป็นผู้ปกครอง ดูแลรับผิดชอบ พวกท่านทุกคนจะต้องถูกถามถึงผู้อยู่ภายใต้การปกครองของตน"(บันทึกโดย อิมามบุคอรีย์ และมุสลิม)
ท่านนะบี ได้กล่าวว่า
"แท้จริงอัลลอฮ์ นั้นจะทรงถามผู้ปกครองทุกคน ถึงสิ่งที่พวกเขาดูแลรับผิดชอบ ว่าดูแลอย่างดี หรือทำให้มันสูญหายตลอดจนถามผู้ชายถึงครอบครัวของเขา"
และอัลลอฮ์ ตรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัตตะหรีม อายะฮ์ที่ 6 ว่า
"โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงคุ้มครองตัวของพวกเจ้า และครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก เพราะเชื้อเพลิงของมัน คือ มนุษย์ และก้อนหิน มีมลาอิกะฮ์ ผู้แข็งกร้าว ห้าวหาญคอยเฝ้ารักษามันอยู่ พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮ์ ในสิ่งที่พระองค์ทรงมีบัญชาแก่พวกเขา และพวกเขาจะปฏิบัติตามที่ถูกบัญชา"
ดังนั้น พี่น้องทุกท่านจงระวังให้ดี คุณจะเป็นคนที่อัลลอฮ์ ให้ดูแลและเขาก็ทำให้สูญหาย จงระวังที่จะทำให้เขาเป็นเชื้อเพลิงของไฟนรก จงใช้ภรรยาของคุณคลุมฮิญาบให้ถูกต้องตามที่ อัลลอฮ์ และนะบี ได้ทรงใช้ จงนึกถึงดำรัสของอัลลอฮ์ ที่อยู่ในซูเราะฮ์ อันนูร อายะฮ์ที่ 63 ว่า
"ดังนั้น บรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา(มุฮัมมัด) จงระวังตัวเอาไว้ให้ดีเถิดว่า เคราะห์กรรมจะประสบกับพวกเขา หรือไม่ก็การลงโทษอันเจ็บปวด จะประสบกับพวกเขาเช่นกัน"
โอ้ อัลลอฮ์ ข้าพระองค์ได้ทำหน้าที่เผยแพร่แล้วใช่ไหม ?
โอ้ อัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงได้เป็นพยานให้ด้วยเถิด !
ข้าพระองค์ขอต่อ อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮุว่าตะอาลา ด้วยพระนามและคุณลักษณะอันงดงาม อันสูงส่งของพระองค์ ในการที่พระองค์จะทรงเอื้ออำนวยให้เรา และบรรดามุสลิมได้ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ และห่างไกลจากข้อห้ามของพระองค์อย่างสมบูรณ์ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงตอบรับคำวอนขอ