อัล-ก็อรฎ์ (การกู้ยืม)
  จำนวนคนเข้าชม  19943

อัล-ก็อรฎ์ (การกู้ยืม)

           อัล-กอรฎ์ คือการมอบทรัพย์ให้แก่บุคคลหนึ่งนำไปใช้ประโยชน์แล้วนำมาชดใช้คืน(ในภายหลัง) หรือนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีการชดใช้ ทั้งนี้ก็เพื่อหวังในผลบุญจากอัลลอฮฺในทั้งสองกรณี

การบัญญัติการกู้ยืม

          การให้กู้ยืมถือว่าเป็นสุนัต เพราะเป็นการทำดีต่อผู้ที่มีความจำเป็นและทำให้เขาได้สมหวังเมื่อใดที่เขายิ่งมีความจำเป็นมากและการให้กู้ก็ให้เพื่อพระองค์อัลลอฮฺอย่างแท้จริงผลบุญก็จะยิ่งมากขึ้นตามไป
 
ความประเสริฐของการกู้ยืม

     1- อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสว่า

ความว่า “มีใครบ้างไหมที่จะให้อัลลอฮฺทรงยืมหนี้ที่ดี แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มพูนหนี้นั้นให้แก่เขามากมายหลายเท่า และอัลลอฮฺนั้นทรงกำไว้และทรงแบออก และยังพระองค์เท่านั้นพวกเจ้าจะถูกนำกลับไป” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 245)

     2- รายงานจากท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ نَفَّسَ عَنْ مُؤْمِنٍ كُرْبَةً مِنْ كُرَبِ الدُّنْيَا نَفَّسَ الله عَنْـهُ كُرْبَةً مِنْ كُرَبِ يَومِ القِيَامَةِ، وَمَنْ يَسَّرَ عَلَى مُعْسِرٍ يَسَّرَ الله عَلَيْـهِ فِي الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ، وَمَنْ سَتَرَ مُسْلِـماً سَتَرَهُ الله فِي الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ، وَالله فِي عَوْنِ العَبْدِ مَا كَانَ العَبْدُ فِي عَوْنِ أَخِيْـهِ». أخرجه مسلم.

ความว่า “ผู้ใดที่ทำให้มุอ์มินท่านหนึ่งพ้นจากความยากลำบากหนึ่งในโลกนี้ อัลลอฮฺจะช่วยให้เขาพ้นความลำบากหนึ่งในวันกิยามะฮฺ และผู้ใดให้ความสะดวกแก่ผู้ที่ลำบาก อัลลอฮฺจะให้เกิดความง่ายแก่เขาในโลกนี้และโลกหน้า และผู้ใดที่ปกปิด(สิ่งที่น่าอับอาย)ของมุสลิมคนหนึ่ง อัลลอฮฺก็จะทรงปกปิดความน่าอับอายของเขาในโลกนี้และโลกหน้า และอัลลอฮฺจะคอยช่วยเหลือบ่าวคนหนึ่งตราบที่เขาช่วยเหลือเพื่อนของเขา” (บันทึกโดยมุสลิม 2699)

     - การให้กู้ยืมถือว่าเป็นสุนัตสำหรับผู้ให้กู้ และเป็นสิ่งที่มุบาหฺ(อนุญาต)สำหรับผู้ขอกู้ และทุกสิ่งที่สามารถซื้อขายได้ก็ถือว่าสามารถกู้ยืมได้เมื่อใดที่รู้จำนวนแน่นอน และผู้ให้กู้เป็นบุคคลที่มีลักษณะเป็นผู้ที่สามารถบริจาคได้ ผู้กู้ก็จะต้องชดใช้คืนสิ่งที่กู้ ถ้าเป็นสิ่งที่มีสิ่งที่เหมือนกันก็ชดใช้ด้วยสิ่งที่เหมือน ถ้าไม่มีสิ่งที่เหมือนก็ชดใช้เป็นราคาที่เท่ากันแทน

     - ทุกการกู้ยืมที่นำมาซึ่งผลประโยชน์(แก่ผู้ให้กู้)ถือว่าเป็นดอกเบี้ยที่ต้องห้าม เช่นให้กู้ยืมสิ่งหนึ่งโดยมีเงื่อนไขจะต้องให้(ผู้ให้กู้)ได้อาศัยในบ้าน(ของผู้กู้) หรือให้กู้ยืมทรัพย์โดยต้องให้ผลประโยชน์ เช่นให้กู้หนึ่งพันบาทโดยจะต้องจ่ายหนึ่งพันสองร้อยบาทหลังจากหนึ่งปี เป็นต้น

- การทำดีในการกู้ยืมถือว่าเป็นสิ่งสุนัตถ้าหากไม่ได้มีเงื่อนไขล่วงหน้าไว้ เช่นกู้ยืมอูฐอายุน้อย แต่จ่ายคืนเป็นอูฐวัยย่างเข้าปีที่เจ็ดแทน ทั้งนี้เพราะเป็นการชดใช้ที่ดีกว่าและเป็นมารยาทที่ดีงาม และผู้ใดให้มุสลิมคนหนึ่งกู้ยืมสองครั้ง(ได้ผลบุญ)เท่ากับเขาได้บริจาคให้คนๆ นั้นหนึ่งครั้ง

          รายงานจากท่านอบู รอฟิอฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า แท้จริงท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กู้ยืมอูฐอายุน้อยตัวหนึ่งจากชายคนหนึ่ง ต่อมาได้มีอูฐที่เป็นซะกาตมาถึงยังท่าน ท่านนบี จึงได้สั่งท่านอบู รอฟิอฺ นำอูฐไปชดใช้ให้แก่ชายคนนั้น (ท่านอบู รอฟิอฺ ได้ไปดูอูฐซะกาต ดังกล่าว) แล้วท่านก็ได้กลับมาหาท่านนบีและกล่าวว่า “ฉันไม่พบนอกจากอูฐที่ดีๆ วัยหกปีย่างเข้าเจ็ดปี” ท่านนบีได้กล่าวว่า

«أَعْطِه إيَّاهُ، إنَّ خِيَارَ النَّاسِ أَحْسَنُـهُـمْ قَضَاءً». أخرجه مسلم

ความว่า “จงให้อูฐที่ดีนั้นแก่เขาไป แท้จริงคนที่ดีที่สุดคือคนที่ชดใช้อย่างดีที่สุดในหมู่พวกเขา” (บันทึกโดยมุสลิม 1600)

การลดหนี้เพื่อสนับสนุนให้มีการชำระล่วงหน้า

          อนุญาตให้มีการลดหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระเพื่อที่จะให้ลูกหนี้ได้ชดใช้หนี้ทันที ไม่ว่าจะโดยการร้องขอของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ก็ตาม หรืออาจจะเป็นการร้องขอของบุคคลที่จะช่วยชดใช้ซึ่งเป็นบุคคลที่มีภาระต้องรับผิดชอบจ่ายแทนให้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้หรือค่าเลี้ยงดู ที่สามารถจะทวงจากเขาได้เมื่อต้องการ (หมายถึงผู้จ่ายแทนที่ว่านี้อาจจะเป็นลูกหนี้ ของลูกหนี้ ของเจ้าหนี้รายแรก หรืออาจจะเป็นผู้ปกครองที่ต้องรับผิดชอบค่าเลี้ยงดูของผู้อยู่ใต้ปกครอง เช่น พ่อที่ต้องการจ่ายหนี้ของลูก เป็นต้น)

ความประเสริฐของการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ที่ขัดสนและการยกหนี้ให้

        การยอมยืดเวลาให้แก่ผู้ยากไร้ถือเป็นส่วนหนึ่งของมารยาทที่ดีงาม และที่ดีกว่าก็คือการยกเลิกหนี้ให้

1-อัลลอฮฺตรัสว่า

ความว่า “และหากเขา (ลูกหนี้) เป็นผู้ยากไร้ก็จงให้มีการรอคอย(ให้ผ่อนผัน)จนกว่าจะถึงคราวสะดวก และการที่พวกเจ้าจะให้เป็นทานนั้น ย่อมเป็นการดีแก่พวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 280)

2- รายงานจากท่านอบู อัล-ยุสร์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ أَنْظَرَ مُعْسِراً أَوْ وَضَعَ عَنْـهُ، أَظَلَّـهُ الله فِي ظِلِّـهِ». أخرجه مسلم.

ความว่า “ใครที่ยืดเวลาให้แก่ผู้ขัดสนหรือยกหนี้ให้ อัลลอฮฺจะทรงให้เขาได้อยู่ใต้ร่มเงาของพระองค์” (บันทึกโดยมุสลิม 3006)

ลูกหนี้มีสี่ประเภทดังนี้

1- เป็นผู้ที่ไม่มีอะไรเลย ประเภทนี้วาญิบต้องผ่อนเวลาให้กับเขาและไม่ทวงถามหนี้จากเขา

2- ประเภทที่มีทรัพย์มากกว่าจำนวนหนี้ที่เขาติดอยู่ ประเภทนี้อนุญาตให้ทวงถามหนี้จากเขาได้ และเขาต้องถูกบังคับให้ชดใช้

3- ผู้ที่มีทรัพย์สินเท่ากับจำนวนหนี้ที่ติดอยู่ ประเภทนี้เขาต้องถูกบังคับให้ทำตามสัญญา

4- ผู้ที่มีทรัพย์แต่น้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ติดอยู่ ประเภทนี้คือผู้ล้มละลาย ต้องถูกอายัดโดยคำเรียกร้องของเจ้าหนี้ทุกคน หรือบางคน และจะต้องแบ่งทรัพย์ของเขาระหว่างเจ้าหนี้ทุกคนตามส่วนของแต่ละคน

โทษของผู้ที่กู้ยืมโดยมีเจตนาที่จะไม่ใช้คืน

           วาญิบเหนือบุคคลที่กู้ยืมทรัพย์ผู้อื่น ที่จะต้องมีเจตนาแน่วแน่เพื่อจะชดใช้หนี้ ไม่อย่างนั้นแล้วอัลลอฮฺจะทรงให้ทรัพย์สินนั้นหายนะ ดังที่ท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ أَخَذَ أَمْوَالَ النَّاسِ يُرِيدُ أَدَاءَهَا أَدَّى الله عَنْـهُ، وَمَنْ أَخَذَ يُرِيدُ إتْلافَهَا أَتْلَفَهُ الله». أخرجه البخاري.
 
ความว่า “ผู้ใดที่รับเอาทรัพย์ของผู้อื่น(กู้ยืม)โดยมีเจตนาจะชดใช้ อัลลอฮฺจะทรงชดใช้ให้แก่เขา(คือจะทรงแนะหนทางเพื่อใช้หนี้ให้หมดได้) และผู้ใดที่รับเอา(ทรัพย์ของผู้อื่น)โดยมีเจตนาจะทำลาย(ไม่ยอมชดใช้) อัลลอฮฺจะทรงทำลายเขา" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 2387)

มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

อิสลามเฮ้าส์

แปลโดย : อิสมาน จารง