การแข่งขัน
  จำนวนคนเข้าชม  10791

อัซ-ซับก์  การแข่งขัน (การได้ชัยชนะ)


          อัซ-ซับกฺ คือ การไปถึงยังเป้าหมาย (เส้นชัย) ก่อนผู้อื่น และการแข่งขันถือว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ และในบางครั้งอาจเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ (อิสติหฺบาบ) ตามเจตนาและเป้าหมาย  ส่วนคำว่า อัซ-ซะบะกุ คือ ค่าตอบแทน (รางวัล) ที่มอบให้แก่ผู้ที่ชนะในการแข่งขัน

เคล็ดลับของการอนุญาตให้มีการแข่งขัน

          การแข่งขันและการปล้ำกันเป็นความดีงามของอัลอิสลามอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้เป็นที่อนุญาตในศาสนาอิสลาม เนื่องจากทั้งสองอย่างนี้มีความยืดหยุ่นและเป็นการฝึกฝนทางด้านศิลปะทางการทหาร มีการจู่โจมและการล่าถอย รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ร่างกาย ฝึกความอดทน อดกลั้น และเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่อวัยวะทุกๆ ส่วนของร่างกาย สำหรับการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ

ประเภทของการแข่งขัน

          การแข่งขันเกิดขึ้นด้วยการวิ่งแข่งความเร็วระหว่างหลายๆ คน หรือแข่งด้วยการยิงธนู และเล่นอาวุธ หรือแข่งด้วยควบม้าหรืออูฐ

เงื่อนไขความถูกต้องของการแข่งขัน

เพื่อความถูกต้องของกรแข่งขันจำเป็นต้องมีเงื่อนไขต่างดังดังนี้

1. สัตว์พาหนะที่ใช้ขี่หรืออาวุธที่ใช้แข่งขัน ต้องเป็นชนิดเดียวกัน

2. ต้องมีการกำหนดระยะทางของการแข่งขัน และระยะห่างของการขว้าง/ยิงให้ชัดเจน

3. ของรางวัลต้องเป็นสิ่งแน่นอนและเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาต

4. ต้องมีการเจาะจงพาหนะหรือตัวบุคคลที่ใช้ในการแข่งขันให้ชัดเจน

หุกมการปล้ำและการต่อยมวย

     1. อนุญาตให้แข่งปล้ำมวย ว่ายน้ำ และทุกๆ สิ่งที่สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ร่างกายและเป็นก่อให้เกิดความอดทน และทนทาน ตราบใดที่ไม่ทำให้ละเลยต่อสิ่งที่เป็นวาญิบ หรือสิ่งที่สำคัญกว่า หรือมีการกระทำที่ต้องห้ามปะปนอยู่ หรือมากมายด้วยอันตราย

     2. การชกมวยและการปล้ำมวยแบบอิสระที่มีการเล่นกันทุกวันนี้ในสนามกีฬาเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต เพราะแฝงด้วยอันตรายและความเสียหาย และมีการเปิดอวัยวะพึงสงวน (เอาเราะฮฺ) และมีการตัดสินที่ไม่ถูกต้องตามบัญญัติของอัลลอฮฺ

           ไม่อนุญาตให้มีการยุแหย่สัตว์ให้โกรธกัน และทำให้พวกมันเกิดโทสะ และไม่อนุญาตให้ใช้สัตว์เป็นเป้ายิง (ธนู ปืนและอื่นๆ)

การรับสิ่งตอบแทน (รางวัล) ในการแข่งขัน

          การแข่งขันด้วยหวังผลตอบแทน (รางวัล) ถือว่าไม่ถูกต้อง ยกเว้น การแข่งขันวิ่งอูฐ หรือวิ่งม้า หรือยิงธนู เพราะท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม  ได้กล่าวว่า

«لا سَبَقَ إلَّا فِي نَصْلٍ أَوْ خُفٍّ أَوْ حَافِرٍ». أخرجه أبو داود والترمذي.

ความว่า “จะไม่ใช่การแข่งขันเว้นแต่ในหัวลูกศร (ยิงธนู) หรือฝีเท้า (แข่งอูฐ) หรือกีบเท้าสัตว์ (แข่งม้า)" (หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด 2574 และ อัต-ติรมิซีย์ 1700 และนี่เป็นสำนวนของท่าน)

การรับรางวัลในการแข่งขันมีอยู่ 3 กรณี คือ

1. อนุญาตให้มีการแข่งขันด้วยของรางวัล คือ การขี่ม้า การขี่อูฐ และการยิงธนู

2. ไม่อนุญาตให้มีการแข่งขัน ไม่ว่าจะมีของรางวัลหรือไม่ก็ตาม เช่น การเล่นลูกเต๋า หมากรุก การพนัน และสิ่งที่คล้ายกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น

3. อนุญาตให้มีการแข่งขันโดยไม่มีของรางวัล และไม่อนุญาตด้วยการมีรางวัล นี่คือหลักการเดิมของการแข่งขันส่วนใหญ่ เช่น การแข่งฝีเท้า การแข่งเรือ การแข่งมวยปล้ำ และสิ่งที่คล้ายกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น แต่อนุญาตให้มอบรางวัลหรือค่าตอบแทนที่ไม่มีการกำหนดตายตัวหรือบอกกล่าวไว้ล่วงหน้าแก่ผู้ชนะเพื่อเป็นการให้กำลังใจ

          การเดิมพัน หมายถึง ทุกๆ การดำเนินการทางการเงินที่ได้กำไรและขาดทุนโดยปราศจากความอุตสาหะ

หุก่มของการเดิมพันและการพนัน

     ห้ามเล่นเดิมพัน การพนัน และการเล่นทอดลูกเต๋า

1. อัลลอฮฺได้ตรัสว่า


ความว่า “แท้จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับบูชายัญและการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยตอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย” (อัลมาอิดะฮฺ, 5:90)

2. จากท่านบุร็อยดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม  ได้กล่าวว่า

«مَنْ لَعِبَ بالنَّرْدَ شِيرِ فَكَأنَّماَ صَبَـغَ يَدَهُ في لَـحْـمِ خِنْزِيرٍ ودَمِهِ». أخرجه مسلم.

ความว่า “ผู้ใดที่เล่นลูกเต๋าเสมือนกับว่าเขาได้จุ่มมือของเขาลงในเนื้อหมูและเลือดของมัน” (บันทึกโดยมุสลิม 2260)

หุก่มการแข่งฟุตบอลในปัจจุบัน

          การแข่งฟุตบอลในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของความเพลิดเพลินที่บาฏิล(ไม่ถูกต้อง) การเล่นฟุตบอลโดยผ่านสโมสรกีฬา กลุ่มต่างๆ และประเทศ จึงไม่เป็นที่อนุญาต เพราะการเล่นดังกล่าวเป็นการเลียนแบบคนกาฟิร เป็นการร้องเรียนเพื่อตัดสินคดีความต่อฏอฆูตและกฎหมายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและอื่นๆ เป็นการสูญเสียเวลาไปกับความเพลิดเพลินและการละเล่น เป็นการสูญเสียทรัพย์สิน เปิดเผยอวัยวะที่พึงปกปิด (เอาเราะฮฺ) และขาอ่อน มีฟิตนะฮฺของเด็กหนุ่มหน้าตาดี มีการปะปนกันระหว่างชายหญิง ปิดกั้นการรำลึกถึงอัลลอฮฺและการละหมาด ด้วยการละทิ้งละหมาดหรือละหมาดล่าช้า สร้างความแตกแยก ความเป็นศัตรูกัน และการเกลียดชังกันระหว่างผู้เล่นและกองเชียร์ โดยเฉพาะในช่วงการแข่งขัน มีการสร้างฟิตนะฮฺและการแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดการด่าทอ และเสียดสีระหว่างกัน ทำให้เสียเวลาในการศึกษาหาความรู้และการเชิญชวนสู่อัลลอฮฺ เพราะบ่อยครั้งที่มีการชนกันระหว่างผู้เล่นและเกิดแขนขาหัก ดังนั้นการแข่งขันฟุตบอลจึงเป็นส่วนหนึ่งของความเพลิดเพลินที่จอมปลอมที่บรรดาศัตรูอิสลามใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหันเหมนุษย์ออกจากภารกิจหลักที่พวกเขาถูกสร้างมา นั่นก็คือการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺและการเชิญชวนสู่พระองค์ ขอพระองค์โปรดคุ้มครองเราให้ปลอดภัยด้วยเถิด แต่ถ้าปลอดจากผลเสียที่ต้องห้ามต่างๆ ถือว่าอนุญาต

การรับของขวัญจากตลาดการค้า

          ของขวัญและวางวัลต่างๆที่มีการแจกกันตามท้องตลาดตามปริมาณสินค้า และในการแข่งขัน การโชว์สินค้า การจัดมหกรรมกีฬา สินค้า และศิลปะ การแข่งขันวาดภาพเสมือน ภาพถ่ายสิ่งมีชีวิต การแข่งขันโชว์เครื่องแต่งกาย การแข่งเทพีความงาม เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งที่นำไปสู่สิ่งที่อัลลอฮฺห้าม

เช่นเดียวกับการละเล่นที่ล่อลวงสติปัญญาของคน กินทรัพย์ของผู้อื่นโดยมิชอบ สูญเสียเวลา สร้างความเสื่อมเสียแก่ศาสนาและจริยธรรม และหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการนั้น ดังนั้นมุสลิมจึงจำเป็นต้องระมัดระวังจากสิ่งเหล่านั้น


มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

Islam house

แปลโดย : อิสมาน จารง