หลักการอิห์ซานต่อวิถีชีวิต
  จำนวนคนเข้าชม  23891

หลักการอิห์ซานและผลต่อวิถีชีวิต


          อิสลามเป็นศาสนาแห่งความโปรดปรานและพรอันประเสริฐของอัลลอฮ์  เพื่อเป็นทางนำในการดำเนินชีวิตแก่มนุษยชาติทั้งมวล โดยมีอัลกุรอานเป็นคัมภีร์เล่มสุดท้ายและทรงแต่งตั้งท่านมุฮัมมัด ทำหน้าที่ในการเผยแผ่สาส์นแห่งอิสลามแก่มวลมนุษย์ชาติบนโลกนี้ ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

“และวันที่เราจะแต่งตั้งพยานขึ้นจากทุกประชาชาติ(เพื่อเป็นพยาน)ต่อพวกเขาจากหมู่พวกเขาเอง และเราก็นำเจ้ามาเป็นพยานต่อเขาเหล่านั้น และเราได้ให้คัมภีร์แก่เจ้าเพื่อชี้แจงแก่ทุกสิ่ง และเพื่อเป็นทางนำและเป็นความเมตตาและเป็นข่าวดีแก่บรรดามุสลิม”(อัลกุรอาน 16:89)

          ศาสนาไม่เพียงแต่เป็นสิ่งจำแนกระหว่างมนุษย์กับสัตว์เท่านั้น แต่ยังทำให้มนุษย์สูงส่งกว่าสัตว์ด้วย ศาสนาจึงได้กำหนดการปฏิบัติต่างๆเพื่อให้มนุษย์ได้พัฒนาตัวเอง ประการหนึ่งที่ศาสนากำหนดให้ผู้ศรัทธาประพฤติปฏิบัติคือจรรยามารยาท ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้มนุษย์มีบุคลิกภาพที่น่าเคารพนับถือ เป็นที่เคารพยกย่องและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้คน

         อิสลามจึงเป็นระบอบที่สอดคล้องกับสามัญสำนึก มีความสมบูรณ์และครอบคลุมในทุกๆ ด้าน อิสลามไม่เพียงแต่เป็นคำสอนในเรื่องของความศรัทธาและประกอบพิธีทางศาสนบัญญัติเท่านั้น และยังได้กำหนดจรรยามารยาทให้มุสลิมปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย ถือว่าความศรัทธาที่สมบูรณ์นั้นจะต้องสะท้อนออกมาในรูปของจรรยามารยาทที่ดีงาม จรรยามารยาทในอิสลามจึงมีรากฐานมาจากคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นบทบัญญัติจากพระเจ้า ซึ่งจะสื่อด้วยคำสอนและแบบอย่างของนะบีมุฮัมมัด ที่มีแบบอย่างอันดีงามสำหรับผู้ที่หวังในอัลลอฮ์และวันสุดท้าย อัลลอฮ์  ได้กล่าวในอัลกุรอานความว่า

“โดยแน่นอนในเราะซูลของอัลลอฮ์มีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้า สำหรับผู้ที่หวังจะพบอัลลอฮ์และวันปรโลกและรำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมาก” (อัลกุรอาน 33:21)

         อิสลามสอนว่า มนุษย์ถูกส่งมาบนโลกนี้เป็นการชั่วคราวและมีชีวิตที่แตกต่างกันทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ฐานะและโอกาส นั่นคือการทดสอบจากอัลลอฮ์ ว่าเขาจะนึกถึงและศรัทธาต่อพระองค์หรือไม่ การทดสอบนี้จะครอบคลุมตั้งแต่ความกลัว ความหิว การสูญเสียทรัพย์สิน ชีวิต และอื่นๆ ในขณะที่บางคนจะถูกทดสอบด้วยความมั่งคั่งร่ำรวย อำนาจ วาสนา บารมี จนถึงวาระสุดท้าย ทุกชีวิตจะต้องกลับไปฟังผลการตัดสินในวันกิยามะฮ์

วัตถุประสงค์หลักหรือเป้าหมายสำคัญของพระองค์ ในการสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ได้มีเพื่ออื่นใดนอกจากการเคารพภักดีต่อพระองค์เพื่อที่จะได้มีชีวิตที่สงบสุขทั้งในโลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์ ดังที่ได้กล่าวในอัลกุรอานความว่า

“และข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อการเคารพภักดีต่อข้า” (อัลกุรอาน 51:56)

          ความคิดในเรื่องการ “เคารพภักดี” หรือในภาษาอาหรับเรียกว่า “อิบาดะฮ์” อิสลามจึงต่างไปจากศาสนาอื่น ซึ่งมิได้มีข้อจำกัดเฉพาะการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนที่เป็นการปฏิบัติทางศีลธรรม ดังนั้นการกระทำทุกอย่างที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นการกระทำการภักดีต่อพระเจ้าด้วยเช่นกัน

          หลักคำสอนของอิสลามเน้นคุณธรรม มารยาทที่ดี เหตุผลของการประทานนะบีมุฮัมมัด เพื่อความสมบูรณ์แบบของจรรยามารยาทที่ดีงาม ดังหะดีษได้กล่าวความว่า

“แท้จริงฉันถูกบังเกิดขึ้นเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของจรรยามารยาทอันดีงาม” (รายงานโดย อะหมัด)

         ชีวประวัติของนะบีมูฮัมมัด คือแบบอย่างให้กับมวลมนุษยชาติ อัลลอฮ์ ได้บัญชาให้นะบีมุฮัมมัด สั่งสอนและให้ความสำคัญกับจริยธรรมและมารยาทอันงดงามอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

           อิสลามบัญญัติการเคารพภักดีที่ไม่เพียงแค่เป็นพิธีกรรมทางศาสนา แต่เป็นผลสัมฤทธิ์แห่งการศรัทธาที่แสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรม อิสลามไม่ได้สั่งสอนให้มนุษย์กระทำความชั่ว และในทางกลับกันอิสลามได้สอนมนุษย์ให้มีจรรยามารยาทที่ดีงาม ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงการประทานบทบัญญัติการละหมาดว่า

 “เจ้าจงอ่านสิ่งที่ถูกวะห์ยุ(คำวิวรณ์)แก่เจ้าจากคัมภีร์และจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด เพราะแท้จริงการละหมาด นั้นจะยับยั้งการกระทำที่ลามกและความชั่ว” (อัลกุรอาน 29:45)

           ดังนั้น การสร้างความบริสุทธิ์ในชีวิต คือเป้าหมายสำคัญของการละหมาด และในบทบัญญัติซะกาตหรือบริจาคทานไม่เพียงเพื่อสร้างความพึงพอใจกับคนที่ได้รับ แต่เป็นการสร้างและปลูกฝังความรัก สร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันและยังเป็นการสร้างความเสมอภาคในสังคม ดังอัลกุรอานได้กล่าวความว่า

 “เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สมบัติของพวกเขาเป็นทาน เพื่อทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ และล้างมลทินของพวกเขาด้วยส่วนที่เป็นทานนั้น” (อัลกุรอาน 9:103)

          ความจริงแล้ว บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้ประทานแก่สังคมที่เต็มไปด้วยการรบราฆ่าฟัน เป็นสังคมแห่งความมืดมนหรือญาฮีลียะฮ์(ความอวิชชา) อิสลามเข้าไปมีบทบาทในการเปลี่ยนสังคมสู่การเป็นสังคมที่มีเกียรติจนหลุดพ้นออกจากความมืดสู่วิถีแห่งอีมาน อิสลามไม่ได้มีภารกิจเสริมสร้างและพัฒนาสังคมใดสังคมหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น แต่ยังตอบสนองในการสร้างและปรับเปลี่ยนสังคมอื่นทั่วโลกในทุกยุคทุกสมัยอีกด้วย


อิห์ซาน คือรากฐานจริยธรรมในอิสลาม

          “อิห์ซาน” คือ ความดี หรือสิ่งที่ดีงาม ในที่นี้หมายถึง การทำให้อิบาดะฮ์มีความสมบูรณ์สวยงาม กล่าวคือ ผู้ทำอิบาดะฮ์ที่เริ่มต้นด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ เช่น การการสำรวม(คูชูอ์) การปกป้องและระมัดระวังจากการตั้งภาคีโดยคิดว่าเรามองเห็นพระองค์ อีมามนะวาวีได้กล่าวว่า อิห์ซาน เป็นการรักษาซึ่งมารยาทอันสำรวม เสมือนกับที่เราเห็นพระองค์และพระองค์ทรงเฝ้ามองเรา จงทำอิบาดะฮ์ให้ดีงามที่สุดแม้นว่าไม่เห็นพระองค์ ดังนั้นการยอมรับตนเองในความสัมพันธ์ของมนุษย์กับอัลลอฮ์ ถือเป็นหลักประการสำคัญในการดำรงวิถีชีวิตที่ถูกต้อง อันเป็นรากฐานของศีลธรรมจริยธรรมต่างๆ

          คำว่า “อิห์ซาน” นะบีมุฮัมมัด ได้อธิบายไว้ในหะดีษ ที่ท่านญิบรีลมาสอนเกี่ยวกับอิสลาม อีมาน และอิห์ซาน มีใจความท่อนหนึ่งว่า “(ญิบรีล)ถามว่า เจ้าจงชี้แจงเกี่ยวกับอิห์ซานซิ นะบีมุฮัมมัดr จึงตอบว่า  “ท่านต้องเคารพภักดี(การทำอิบาดะฮ์) ต่ออัลลอฮ์ เสมือนท่านเห็นพระองค์ แม้นว่าท่านจะไม่เห็นพระองค์แต่พระองค์ทรงเห็นท่าน” (รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)

          จากหะดีษข้างต้น ทำให้เราเข้าใจความหมายของอิห์ซานว่า พฤติกรรมทุกอย่างควรจะกระทำขึ้นโดยระลึกเสมอว่า อัลลอฮ์  ทรงเฝ้ามองดูเราอยู่ตลอดเวลา หากเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี เราต้องยอมรับเสมอว่าอัลลอฮ์ กำลังดูเราอยู่  โดยการทำอิบาดะฮ์ให้ดีที่สุดทั้งในที่เร้นลับและเปิดเผย แสดงความรู้สึกถึงการมีความรับผิดชอบในการงานที่ได้กระทำไว้อย่างนอบน้อม โดยหวังการตอบแทนจากพระองค์ อิห์ซานจะยกระดับบุคคลให้เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด  หลักคำสอนอิสลามล้วนแล้วแต่เพื่อสร้างคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงาม แต่คุณธรรมจริยธรรมจะไม่เกิดขึ้นหากปราศจากอิห์ซาน เพราะอิห์ซานเปรียบเสมือนป้อมปราการ ปกป้องดูแลบุคคลคนหนึ่งให้มีจิตใจนอบน้อม ถ่อมตน ห่างไกลจากพฤติกรรมที่ชั่วร้าย และนำพาบุคคลนั้นสู่ความสงบสุขในชีวิตอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม นอกจากนี้แล้ว อิห์ซานยังแสดงถึง การกระทำความดีงาม การเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์แม้กระทั่งสัตว์ ดังที่ได้กล่าวในหะดีษบทหนึ่งว่า

 “แท้จริงอัลลอฮ์ได้กำหนดให้กระทำความดีต่อทุกๆสิ่ง ดังนั้นเมื่อพวกท่านจะฆ่าสัตว์ ก็จงฆ่าด้วยความปรานี เมื่อพวกท่านเชือดคอสัตว์ก็จงเชือดด้วยวิธีที่ดีที่สุด ด้วยการลับมีดให้คมและให้สัตว์ที่เชือดนั้นเจ็บปวดน้อยที่สุด” (รายงานโดยมุสลิม)

            จากบทหะดีษแสดงให้เห็นว่า อัลลอฮ์  ทรงบัญญัติให้ทำความดีในทุกกิจการงาน และการความดี หรืออิห์ซานนั้นอาจถึงระดับขั้นเป็นข้อบังคับทางศาสนบัญญัติ(วาญิบ) เช่น การเคารพบิดามารดา การละทิ้งสิ่งที่ต้องห้าม(หะรอม) การเชื่อมความสัมพันธ์กับเครือญาติ หรือระดับไม่บังคับ แต่จะเป็นสิ่งที่สนับสนุน เช่น การบริจาคทาน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นต้น อิห์ซานหรือการทำความดีเป็นสิ่งที่กว้างขวางมากที่ครอบคลุมถึงทุกอิริยาบถของการดำเนินชีวิต ดังคำกล่าวของนะบีมุฮัมมัด     “อิห์ซานนั้นมีในทุกๆ สิ่ง” แต่จะแตกต่างกันในลักษณะและรูปแบบของความดีนั้นๆ

           ศาสนาอิสลามมุ่งเน้นให้มีการแข่งขันกันทำความดี ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น และในการกระทำความดีต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญาทรัพย์สิน ตลอดจนตัวบุคคลต้องพร้อมที่จะกระทำความดี

           อิห์ซานในอิสลามครอบคลุมทุกอิริยาบทของมนุษย์ ทั้งที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า มนุษย์กับเพื่อนมนุษย์ ตลอดจนกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  ด้วยเหตุนี้อิห์ซานจะนำพาคนๆหนึ่งให้มีความรักในความดี รังเกียจความชั่ว นอบน้อมถ่อมตน ห่างไกลจากความแข็งกร้าว อิสลามสั่งใช้ให้ทำความดีกับทุกสิ่งที่มีชีวิตบนโลกนี้ และครอบคลุมถึงผู้ที่สิ้นชีวิต แม้กับสัตว์ที่เราเชือดเพื่อเป็นอาหารก็ตาม


เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ