อัลมุนาฟิกุ-อัลกุฟร์
โดย อ.อับดุลลอฮ์ มานะ
มุนาฟิก แปลว่า ผู้กลับกลอก ผู้สับปลับ พระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้เปิดโปงการกระทำของบุคคลประเภทนี้ และลักษณะอันน่าเกียจของพวกเขา ที่เด่นชัดคือ การกล่าวเท็จ และมีพฤติกรมเท็จ และพฤติกรรมภายนอกไม่ตรงกับพฤติกรรมภายในจิตใจ อิสลามได้ตำหนิพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อไม่ให้มุสลิมนำมาปฏิบัติ และถือเป็นความเลวร้าย ที่จะได้รับการลงโทษอย่างหนักจากอัลลอฮ์
ดังนั้นมุสลิมที่ดี พึงเกรงกลัวอัลลอฮ์ พระองค์ได้กล่าวไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์อัลมุนาฟิกูน อายะฮ์ที่ 1 ความว่า
"เมื่อพวกกลับกลอกมาหาเจ้า พวกเขากล่าวว่าเราขอปฏิญาณว่า ท่านเป็นเราะซูล ของอัลลอฮ์
แต่อัลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่งว่า เจ้าเป็นเราะซูลของพระองค์ และอัลลอฮ์ ทรงเป็นพยานว่า พวกมุนาฟิกีนนั้นเป็นผู้โกหก"
คำว่า มุนาฟิก ในอายะฮ์นี้ นักอธิบาย อัลกุรอาน กล่าวว่า คือ อับดุลลอฮ์ อิบนุอุบัยดิบนุซาลูน และพวกพ้องของเขา ผู้กลับกลอกดังกล่าวนี้จะได้รับการทรมานในวันกิยามะฮ์ รุนแรงกว่าผู้ปฏิเสธ และทำให้เขาหมดสภาพจากการเป็นมุสลิม อัลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮ์ อัลนิซาอ์ อายะฮ์ที่ 145 ความว่า
"แท้จริงบรรดาผู้กลับกลอกจะอยู่ในนรกขั้นต่ำสุด"
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ อัลลอฮ์ ทรงกล่าวถึงลักษณะผู้ปฏิเสธ 2 อายะห์ ในตอนแรกของซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ แต่พระองค์ได้กล่าวลักษณะผู้กลับกลอกไว้ 13 อายะฮ์
มุนาฟิก มี 2 ชนิด
1. มุนาฟิกใหญ่
2. มุนาฟิกเล็ก
มุนาฟิกใหญ่ คือ
1.1 ปฏิเสธเราะซูล หรือปฏิเสธบางสิ่งที่เราะซูล นำมา
1.2 เกียจชังเราะซูล หรือเกียจชังบางสิ่งที่เราะซูล นำมา
1.3 ดีใจต่อความพ่ายแพ้ของอิสลาม
มุนาฟิกเล็ก คือ
2.1 เมื่อเขาพูดเขาก็โกหก
2.2 เมื่อเขาสัญญาเขาก็ผิดสัญญา
2.3 เมื่อมีคนไว้เนื้อเชื่อใจเขาก็บิดพลิ้ว
ดังมีรายงานจากท่านนะบี บันทึกในหะดิษศอเฮี๊ยะ บุคอรีย์ และ มุสลิม ความว่า
"เครื่องหมายของผู้กลับกลอกมี 3 ประการ เมื่อเขาพูดเขาก็โกหก
เมื่อเขาสัญญาเขาก็ผิดสัญญา เมื่อเขาได้รับความไว้วางใจเขาก็บิดพลิ้ว"
อีกรายงานหนึ่งว่ามี 4 ประการ ผู้ใดที่มีอยู่ในตัวของเขา เขาเป็นผู้กลับกลอกอย่างแท้จริง และผู้ใดที่ประการใดประการหนึ่งมีอยู่ในตัวของเขา ก็ถือวาเขาเป็นคนกลับกลอก จนกว่าเขาจะละทิ้งมัน คือ ผู้อื่นให้สัญญากับเขา เขาก็บิดพลิ้วต่อสัญญา
ทั้ง 3-4 ประการนี้ ไม่ทำให้หมดสภาพจากการเป็นมุสลิม แต่ถือว่าเขาได้ทำบาปใหญ่
อัลกุฟร์(การปฏิเสธ)
การปฏิเสธ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. การปฏิเสธที่ทำให้ตกศาสนา
2. การปฏิเสธที่ไม่ทำให้ตกศาสนา
การปฏิเสธที่ทำให้ตกศาสนา มีหลายชนิด
- การปฏิเสธ อัลกุรอาน หรือ อัลหะดิษ หรือบางส่วนจากอัลกุรอาน หรือจากอัลหะดิษ พระองค์ทรงกล่าวไว้ใน อัลกุรอาน ซูเราะห์ อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ ที่ 58 ความว่า
"พวกท่านจะศรัทธาเป็นบางส่วนของคัมภีร์ และปฏิเสธบางส่วนกระนั้นหรือ"
- การปฏิเสธ และหยิ่งยโส เช่นการปฏิเสธของอิบลีส พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวไว้ ใน อัลกุรอาน ซูเราะห์ อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ ที่ 34 ความว่า
"และจงรำลึกถึง ขณะที่เราได้กล่าวแก่มลาอิกะฮ์ว่า จงสุญูด คาราวะต่ออาดัม แล้วพวกเขาก็สุญูด
นอกจากอิบลีส มันไม่ยอมสุญูด และแสดงความหยิ่งยโส มันจึงเป็นกาเฟร(ผู้ปฏิเสธ)"
- การปฏิเสธ และสงสัยต่อวันกิยามะฮ์
- ปฏิเสธ โดยการแสดงออกด้วยวาจาว่าเป็นอิสลาม แต่แฝงการปฏิเสธไว้ในใจ และการปฏิบัติ อัลลอฮ์ ทรงกล่าวไว้ใน อัลกุรอาน ซูเราะห์ อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ 8 ที่ ความว่า
"และจากหมู่มนุษย์มีผู้กล่าวว่า เราได้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลกแล้ว ทั้งๆที่พวกเขาไม่ได้ศรัทธา"
- ปฏิเสธส่วนหนึ่งส่วนใดของศาสนา เช่นปฏิเสธต่อหลักการอิสลาม และปฏิเสธต่อหลักการศรัทธา
การปฏิเสธที่ไม่ทำให้ตกศาสนา
- ปฏิเสธความโปรดปราน(เนี๊ยะมัต)จากอัลลอฮ์ อัลลอฮ์ ทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อิบรอฮีม อายะฮ์ที่ 7 ความว่า
"หากพวกเจ้าขอบคุณ ข้าจะเพิ่มพูนแก่พวกเจ้า และหากพวกเจ้าเนรคุณ การลงโทษของข้านั้นรุนแรงยิ่ง"
- การปฏิเสธทางการกระทำ คือ ทุกๆการฝ่าฝืนที่ศาสนาใช้ คำปฏิเสธ เช่น หะดิษที่ปรากฏใน ศอเฮี๊ยะ บุคอรีย์ ความว่า
"การด่าคนเป็นการฝ่าฝืน และการฆ่าเขาเป็นการปฏิเสธ"
อีกบทหนึ่งบันทึกโดย ศอเฮี๊ยะ มุสลิม ความว่า
"ผู้ทำซินา เขาจะไม่ทำซินา ขณะที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ผู้ดื่มเหล้า เขาจะไม่ดื่มเหล้า ขณะที่เขาเป็นมุมินผู้ศรัทธา"
- ผู้ตัดสินที่ไม่ตัดสินตามอัลกุรอาน แต่เขายอมรับว่าอัลกุรอาน เป็นข้อตัดสินจาก อัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า