มุอฺมินที่เข้มแข็ง
มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะห์ แจ้งว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า :
ผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) ที่เข้มแข็งนั้นดี และเป็นที่รักสำหรับอัลเลาะห์ยิ่งกว่ามุอฺมินที่อ่อนแอ และทั้งหมด(หมายถึงมุอฺมินที่เข้มแข็ง และมุอฺมินที่อ่อนแอ) ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนดีกันทั้งนั้น จงเอาใจใส่ต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อท่าน และจงขอความช่วยเหลือต่ออัลเลาะห์ และท่านอย่าได้ท้อแท้ และหากว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาประสบกับท่าน แล้วท่านอย่าได้กล่าวว่า :
ถ้าหากฉันทำเช่นนั้น เช่นนี้ ก็คงจะต้องได้เช่นนั้น เช่นนี้
แต่ให้ท่านกล่าวว่า :
อัลเลาะห์ได้ทรงกำหนดเอาไว้แล้ว และสิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็จะทำสิ่งนั้น
และแท้จริงคำว่า ถ้าหากนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ชัยฏอนแทรกแซงบงการ
บันทึกโดยอิมามมุสลิม
คำอธิบาย
การศรัทธา (อีมาน) นั้นมีทั้งหมดเจ็บสิบกว่าแขนง และลำดับขั้นสูงสุดของการอีหม่านคือคำว่า ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮฺ และที่ต่ำที่สุดคือการขจัดภัยอันตรายต่างๆออกจากท้องถนน สภาพการอีหม่านของมุอฺมิน ก็จะแตกต่าง และไม่เท่าเทียมกัน การศรัทธานั้นจะมีมากหรือมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับการงานของพวกเขา ดังกล่าวนี้จึงเป็นหลักฐานที่จะชี้ให้เราได้เห็นว่าการศรัทธานั้นมีการเพิ่มและมีการลดลง ดังนั้นมุอฺมินคนใดก็ตามที่มีความตั้งใจอย่างจริงจัง และแรงกล้า ที่จะปฏิบัติคุณงามความดี มีกำลังใจในการสรรสร้างผลงานที่ดีมีประโยชน์ มุ่งมั่นและกล้าที่จะเผชิญกับอุปสรรค พร้อมที่จะต่อสู้กับความชั่วร้ายทุกรูปแบบ ทำทุกหนทางเพื่อเชิดชูศาสนาอิสลาม ชักชวนผู้อื่นให้ทำความดี หักห้ามผู้อื่นไม่ให้กระทำความชั่ว ด้วยความอดทน ไม่ย่อท้อต่อภัยอันตรายหรืออุปสรรคใดๆที่มาประสบพบพาขณะทำหน้าที่เชิญชวนสู่หนทางของอัลเลาะห์ ดำเนินตนอยู่ในโลกดุนยาอย่างถูกต้อง บริโภคแต่สิ่งที่เป็นฮะล้าล และออกห่างจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง(ฮะรอม) ผู้ใดที่ประพฤติปฏิบัติเช่นที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น ผู้นั้นแหละ คือผู้ศรัทธา(มุอฺมิน)ที่เข้มแข็ง สมดังที่อัลเลาะห์ ได้ทรงชี้นำแนวทางเอาไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ที่ว่า :
ความว่า :
และจงแสวงหาสิ่งที่อัลเลาะห์ได้ทรงประทานแก่เจ้าเพื่อโลกหน้า และอย่าลืมส่วนของเจ้าในโลกนี้ และจงทำความดีเสมือนกับที่อัลเลาะห์ได้ทรงทำความดีแก่เจ้า และอย่าแสวงหาความเสียหายในแผ่นดิน แท้จริง อัลเลาะห์ไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย
(อัลกอศ็อศ 28:77)
ส่วนผู้ใดมีลักษณะและการกระทำตรงกันข้ามกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นมุอฺมินแต่ท้อแท้ และชักช้ารีรอในการที่จะปฏิบัติในสิ่งที่เป็นสิทธิของอัลเลาะห์ ไม่เอาใจใส่ต่อตัวของเขาเอง ละเลยและเกียจคร้านในการปฏิบัติการงานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม หย่อนยานในเรื่องต่างๆของศาสนา แม้กระทั่งเรื่องดุนยาเขาก็ปล่อยปะละเลย ไม่ให้ความสนใจและเอาใจใส่ เช่นนี้แหละคือมุอฺมินที่อ่อนแอ ด้วยเหตุนี้เอง คนประเภทนแรกจึงเป็นที่รักสำหรับอัลเลาะห์ ยิ่งกว่าคนประเภทที่สอง
และเมื่อท่านนบี ได้เปรียบเทียบระหว่างความประเสริฐของมุอฺมินที่เข้มแข็ง และมุอฺมินที่อ่อนแอ ท่านนบี เกรงว่า ซอฮาบะห์บางคนจะเข้าใจผิดหรือคิดไปว่ามุอฺมินผู้ที่อ่อนแอนั้นไม่ดี ท่านนบี จึงได้กล่าวต่อในฮะดีษอีกว่า และทั้งหมดก็มีส่วนดีด้วยกันทั้งนั้น ตรงนี้เองแสดงให้เห็นว่าท่านนบี มีมารยาทอันสูงส่ง และเป็นผู้ที่ชี้นำด้วยความนุ่มนวลและอ่อนโยน
เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นแตกต่างกันออกไป บางคนมีบุคลิกที่เข้มแข็ง บ้างก็อ่อนแอ แต่หากเขามีใจที่ศรัทธาแล้ว ไม่ว่าจะเข้มแข็ง หรืออ่อนแอ เขาก็ต้องดีกว่าผู้ไม่ศรัทธาอย่างแน่นอน
ในหะดีษนี้ท่านนบีได้กล่าวอีกว่า :
จงเอาใจใส่ต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์กับท่าน และจงขอความช่วยเหลือจากอัลเลาะห์
เป็นคำกล่าวที่ได้ประมวลไว้ซึ่งความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า คนเราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆของศาสนา เช่นเดียวกับความจำเป็นในการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวต่างๆในดุนยา เพราะความสุขที่จะได้รับนั้นจะต้องมาจากความเอาใจใส่ต่อศาสนาและดุนยาควบคู่กันไป พร้อมกันนั้นจะต้องขอความช่วยเหลือจากอัลเลาะห์
เช่นเดียวกันท่านนบี ได้ส่งเสริมให้พึงพอใจในกฎสภาวะ และกำหนดการของอัลเลาะห์ เมื่อพระองค์ได้ให้คนหนึ่งคนใดประสบกับความเสียใจหรือความทุกข์ ให้เขาได้ประสบกับสิ่งที่เขารังเกียจหรือไม่ชอบ หรือผลประโยชน์ที่เขาคาดว่าจะได้รับหลุดลอยไป เขาอย่าได้คิดว่าที่เขาเป็นเช่นนี้ ก็เพราะเขาไม่ได้ทำเช่นนั้น เช่นนี้ ซึ่งเขาคิดว่าหากเขาทำไปจะประสบกับความสำเร็จ เขาจะไม่ทุกข์และไม่เสียใจ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และจะไม่ยังประโยชน์ใดๆกับเขา อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ชัยฏอยเล่นงานและบงการเขาอีกด้วย จำเป็นที่เขาจะต้องตระหนักและเชื่อมั่นว่าสิ่งต่างๆที่เขาประสบนั้นเป็นพระประสงค์ของอัลเลาะห์ เพื่อจะได้เพิ่มอีมานของเขา แล้วจิตใจของเขาจะได้สงบสุข คลายกังวล และหมดทุกข์
สาระที่ได้รับจากหะดีษนี้
1. การศรัทธาจะเข้มแข็งด้วยการปฏิบัติคุณงามความดี
2. ให้เอาใจใส่ต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
3. ให้ขอความช่วยเหลือจากอัลเลาะห์ในกิจการงานต่างๆ
4. มิให้ย่อท้อ อ่อนแอ และเกียจคร้าน ควรขอความคุ้มครองจากอัลเลาะห์
เสมือนกับที่ท่านนบี ได้ขอความคุ้มครองจากอัลเลาะห์ ไว้ว่า :
[อัลลอฮุมมะ อินนี อะอูซุบิกะ มินัลอัจฺซิ วัลกะซะลิ]
ความว่า โอ้อัลเลาะห์ แท้จริงฉันขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากความอ่อนแอ และความเกียจคร้าน
5. ให้ศรัทธาต่อกอฎอ กอดัร (กำหนดสภาวการณ์) และยอมรับยอมจำนนต่อสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดให้กับมนุษย์
โดย : อาจารย์ กอเซ็ม เดชเลย์