คุณค่าและอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ
  จำนวนคนเข้าชม  8108

อิสลาม คือคุณค่าและอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ

          อิสลามคือคุณค่าและอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติ ซึ่งสามารถสรุปสาระหลักในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

     •อิสลามเป็นคำสอนของอัลลอฮ์   ที่ถือว่ามนุษย์ทุกคน ถึงแม้จะแตกต่างด้านเชื้อชาติ  สัญชาติและเผ่าพันธุ์ ต่างมีตระกูลอันดั้งเดิมที่มาจากครอบครัวเดียวกัน ดังอัลลอฮ์   ตรัสไว้ความว่า

“โอ้มนุษย์ชาติทั้งหลาย จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้า ที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง (นะบีอาดัม)” (อัลกุรอาน 4:1)

อัลลอฮ์  ยังได้ตรัสอีกความว่า

“โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกันและกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (อัลกุรอาน 49:13)

       การประกาศหลักการและเจตนารมณ์อันบริสุทธ์นี้ถือเป็นการปฏิเสธความเหลื่อมล้ำ การแบ่งชนชั้นวรรณะทางสังคม เนื่องจากความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ วงศ์ตระกูลและเผ่าพันธุ์ของมนุษย์โดยสิ้นเชิง

     • อิสลามถือว่าความหลากหลายทางด้านภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และวงศ์ตระกูลของมวลมนุษย์ คือหนทางสู่การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ เกื้อกูล เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นต้นเหตุแห่งการบาดหมาง การเข่นฆ่า สงครามและการนองเลือดระหว่างกัน อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

“และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกันและกัน” (อัลกุรอาน 49:13)

           การรู้จักซึ่งกันและกัน ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเข้าถึง เข้าใจ ร่วมมือ เกื้อกูลและถือเป็นบันไดขั้นแรกของกระบวนการสร้างอารยธรรมอันสูงส่ง

     • อิสลามถือว่า มนุษย์มีฐานะอันทรงเกียรติยิ่งและประเสริฐสุดในบรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย ถึงแม้จะมีความแตกต่างด้านสีผิว เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและศาสนา แต่ความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่งถือเป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่เขาจะได้รับฐานะอันทรงเกียรตินี้  อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

“แน่แท้ เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัมและเราได้พิทักษ์ปกป้องพวกเขาทั้งหลายทั้งทางบกและทางทะเล  และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา  และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดเป็นส่วนใหญ่” (อัลกุรอาน 17:70)

     • อิสลามถือว่าสตรีเพศมีฐานะที่ทัดเทียมบุรุษด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน และความสัมพันธ์ระหว่างสองเพศต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออาทร ความห่วงใย ความรักและความโอบอ้อมอารี  อิสลามไม่ถือว่าเพศชายหรือเพศหญิงมีฐานะที่เหนือกว่าเพศใดเพศหนึ่ง  ความดีและการยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมเป็นตัวชี้วัดการมีเกียรติที่เหนือกว่า ดังนั้นจึงถือว่าสตรีที่มีคุณธรรมอันสูงส่ง ย่อมมีเกียรติเหนือกว่าชายที่เลว ส่วนชายที่ซาบซึ้งในธรรมพร้อมประกอบ คุณงามความดีย่อมประเสริฐกว่าหญิงชั่วอย่างแน่นอน

     • บนพื้นฐานแห่งกระบวนทัศน์ดังกล่าว อิสลามจึงประกาศเป็นศาสนาสากลที่ตระหนักและให้ความสำคัญแก่มนุษย์ และเรียกร้องเชิญชวนมนุษยชาติทั้งมวล โดยไม่จำกัดกลุ่มชน เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติหรือลักษณะภูมิประเทศ และด้วยความเป็นสากลในการเชิญชวน การเรียกร้อง หรือในการตอบรับของประชาคมโลก อิสลามจึงปฏิเสธแนวคิดชาตินิยม รัฐนิยมหรือการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ของตนเอง

 อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือนแก่มนุษย์ทั้งหลาย แต่ว่าส่วนมากของมนุษย์ไม่รู้” (อัลกุรอาน 34:28)

นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า

“ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่เรียกร้องบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่ทำสงครามบนฐานแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์ และไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติของฉันสำหรับผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการต่อสู้ในการปกป้องและพิทักษ์รักษาแนวคิดของการคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์”

           ด้วยเหตุดังกล่าวในประวัติศาสตร์ของอิสลามจึงเต็มไปด้วยการสร้างคุณประโยชน์ที่มวลมนุษย์หลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ได้มีส่วนร่วมก่อสร้างขึ้น เพื่อตอบสนองการเชิญชวนของพระผู้เป็นเจ้า บนพื้นฐานของมนุษย์ที่มีพระเจ้าองค์เดียว และมีรากเหง้าที่มาจากมนุษย์คนเดียวกัน

     • อิสลามได้ยอมรับในหลักการเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนา ต้องเป็นผลพวงของเจตนารมณ์และความต้องการอันเสรี อันนำไปสู่การยอมรับในหลักการและเหตุผลของบุคคล อิสลามจึงสั่งห้ามมิให้มีการบังคับขู่เข็ญให้นับถือศาสนา และการบังคับดังกล่าว ถือเป็นอาชญากรรมและสร้างตราบาปให้แก่มนุษย์ที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง  อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

“ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนาอิสลาม” (อัลกุรอาน 2:256)

อัลลอฮ์  ตรัสอีกความว่า

“เจ้าไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา (ให้เกิดความศรัทธา)” (อัลกุรอาน 88:22) 

อัลลอฮ์  ได้ปฏิเสธพฤติกรรมอันจะนำไปสู่การบังคับในศาสนาด้วยคำดำรัสของพระองค์ความว่า

“และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนผู้ที่อยู่ในแผ่นดินทั้งมวลจะศรัทธา เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ” (อัลกุรอาน 10:99)

          ด้วยเหตุนี้บรรดานักวิชาการมุสลิม ต่างเห็นพ้องว่าสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างมุสลิมกับชนต่างศาสนิกนั้น เนื่องจากต้องการขัดขวางความอยุติธรรมและตอบโต้การรุกราน ปลดปล่อยมวลมนุษย์จากการถูกกดขี่ เรียกร้องศักดิ์ศรีและปกป้องการเผยแผ่อิสลามจากการล่วงละเมิด  การที่ผู้คนไม่ศรัทธาในอิสลามเพียงประการเดียว จะถือเป็นข้ออ้างในการประกาศสงครามกับกลุ่มชนนั้นไม่ได้โดยเด็ดขาด

     • อิสลามยอมรับคำสอนที่ประกาศและเผยแผ่โดยบรรดาศาสนทูต และไม่เคยปฏิเสธอารยธรรมอันดีงามที่มนุษยชาติในยุคก่อนได้สรรค์สร้างและพัฒนา  และถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นอีกมิติหนึ่งของการพัฒนามนุษย์ที่เหมาะสมกับยุคสมัยนั้นๆ อิสลามมิได้เป็นอื่นใดนอกจากอิฐก้อนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการสร้างอาคารเป็นไปอย่างเสร็จสิ้นและสมบูรณ์ อัลลอฮ์  ตรัสไว้ความว่า

“แท้จริงเราได้มีโองการแก่เจ้าเช่นเดียวกับที่เราได้มีโองการแก่ นูฮ์และบรรดาศาสนทูตหลังจากเขา” (อัลกุรอาน 4:163) 

        นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า “อุปมาการเป็นศาสนทูตของฉัน และศาสนทูตท่านอื่น ๆ ในยุคก่อนหน้าฉัน  ประหนึ่งชายคนหนึ่งที่สร้างอาคารอย่างสวยงาม เพียงแต่ขาดอิฐก้อนหนึ่ง ณ มุมหนึ่งของบ้าน ผู้คนทั้งหลายได้เดินเวียนรอบ ๆ บ้านหลังนั้น และตะลึงในความวิจิตรงดงามของบ้านหลังนั้นพร้อมกับกล่าวว่า  : หากมีอิฐ ก้อนหนึ่งวางไว้ตรงนั้น (ณ มุมที่ยังไม่สมบูรณ์ แน่นอนบ้านหลังนั้นจะดูสวยงามโดยไม่มีที่ติเลยทีเดียว) ฉันนี่แหละคืออิฐก้อนนั้น และฉันคือศาสนทูตคนสุดท้าย”(รายงานโดยอัล- บุคอรีย์/3535 และมุสลิม/2286)

     • อิสลามยอมรับศาสนายุคก่อนๆ และยอมรับชนต่างศาสนิกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และพลเมืองของรัฐอิสลาม นอกจากนี้ยังได้กำหนดสิทธิอันชอบธรรมที่เขาพึงได้รับ อาทิ ความอิสระและเสรีภาพในการนับถือศาสนา  การยอมรับในกฏหมาย และข้อบังคับที่ว่าด้วยสิทธิของบุคคล รวมทั้งการสั่งห้ามมิให้กระทำการใดๆ ที่สร้างความอธรรม การรุกรานหรือล่วงละเมิดด้วยการแอบอ้างศาสนาที่มีพื้นฐานจากการตีความที่ผิดและไม่เข้าใจในศาสนบัญญัติที่ถูกต้อง  อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

“สำหรับพวกท่านก็คือ ศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน” (อัลกุรอาน 109:6)

          หมายถึงต่างฝ่ายต่างก็ปฎิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตนโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน 

     นะบีมุฮัมมัด  ได้กล่าวว่า “พึงทราบเถิดว่าผู้ใดที่ปฏิบัติอธรรมต่อคนต่างศาสนิกที่อยู่ระหว่างการทำพันธะสัญญา หรือเหยียดหยามเขา หรือสั่งให้เขาทำงานในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา หรือยึดทรัพย์สินใดๆ ของเขา ทั้งๆ ที่เขาไม่เต็มใจมอบให้ ดังนั้นฉันจะเป็นคู่กรณีกับบุคคลผู้นั้น (ด้วยการทวงคืนสิทธิของผู้ถูกอธรรม) ในวันกิยามะฮ์” (รายงานโดยอบูดาวูด)

     • อัลกุรอาน เป็นคัมภีร์เพียงเล่มเดียวที่ได้สาธยายประวัติศาสตร์ในอดีตโดยปราศจากการบิดเบือน  อัลกุรอานได้เชิญชวนมวลมนุษย์ให้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบรรพชนในยุคก่อน รวมทั้งเรียกร้องให้มนุษย์นำผลการศึกษาดังกล่าวเป็นบทเรียนและอุทาหรณ์ สำหรับการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าและบังเกิดผลประโยชน์สูงสุด อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า

“แน่นอนได้ผ่านพ้นมาแล้วก่อนพวกเจ้าซึ่งแนวทางต่าง ๆ ที่อัลลอฮ์ทรงปฏิบัติแก่ประชาชาติในอดีต ดังนั้นพวกเจ้า จงท่องเที่ยวไปในแผ่นดิน และจงพินิจไตร่ตรองว่าบั้นปลายของบรรดาผู้ปฏิเสธเป็นเช่นไร” (อัลกุรอาน 3/136)

 

الكاتب : مرسلان محمد

โดย อ.มัสลัน มาหะมะ

Next 2 >>>>Click