อัร ริบา - ดอกเบี้ย
  จำนวนคนเข้าชม  71819

 

อัร-ริบา (ดอกเบี้ย)

มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

 

          บทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินครอบคลุมสามด้าน คือ ความยุติธรรม  ความเพิ่มพูน และความอธรรม ที่ยุติธรรมก็คือการซื้อขาย ที่เพิ่มพูนก็คือการบริจาค ส่วนที่อธรรมก็คือ ริบา (ดอกเบี้ย) เป็นต้น

          ริบา คือการเกินเลยในการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งสองสิ่งที่มีสาเหตุริบาอยู่ในตัวของมัน


หุก่มของริบา

     1- ริบาถือเป็นบาปใหญ่ประเภทหนึ่ง และมันเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในทุกศาสนาที่เป็นศาสนาแห่งฟากฟ้า(ศาสนาที่มีคัมภีร์จากพระผู้เป็นเจ้าซึ่งรวมศาสนายูดายของยิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม) เนื่องจากมันแฝงไปด้วยความเสียหายที่ใหญ่หลวง มันเป็นต้นเหตุของการเป็นศัตรูกันระหว่างมนุษย์ มันนำไปสู่การงอกเงยของทรัพย์สินผ่านการขูดรีดจากทรัพย์สินของคนจน มันเป็นการอธรรมต่อผู้ที่มีความจำเป็น ทำให้คนรวยกดขี่คนยากจน ปิดหนทางการบริจาคและการทำดีต่อผู้อื่น และทำลายความรู้สึกเมตตาสงสารต่อเพื่อนมนุษย์

อัลลอฮ์ ตะอาลาตรัสว่า

          "และอัลลอฮฺทรงอนุมัติการซื้อขาย และทรงห้ามริบา(ดอกเบี้ย) ดังนั้นผู้ใดที่การตักเตือนจากพระเจ้าของเขาได้มายังเขา แล้วเขาก็เลิก(จากสิ่งที่ถูกห้าม) สิ่งที่ล่วงแล้วมาก็เป็นสิทธิของเขา(ไม่ต้องคืนหรือชดใช้) และเรื่องราวของเขานั้นมอบให้เป็นภาระของอัลลอฮฺ(ที่จะทรงพิจารณาเขา) และผู้ใดวกกลับไป(กระทำ)อีก ชนเหล่านี้แหละคือชาวนรกโดยที่พวกเขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล"

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 275)

     2-  ริบาเป็นการกินทรัพย์สินของเพื่อนมนุษย์โดยมิชอบ ทำให้การหารายได้ การทำธุรกิจ และการผลิตที่มนุษย์มีความต้องการเกิดการชะงักงัน ผู้ที่รับดอกเบี้ยทรัพย์ของเขาเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ทำให้เขาละทิ้งการทำธุรกิจ และการทำประโยชน์ที่มนุษย์จะได้ประโยชน์จากมัน จุดจบของผู้ที่ยุ่งเกี่ยวกับริบาทุกคนคือความถดถอยของทรัพย์สินเงินทอง


บทลงโทษเกี่ยวกับริบา

        ริบาเป็นบาปใหญ่ และแท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้ประกาศสงครามกับผู้ที่กินและผู้ที่ให้ริบา ซึ่งต่างจากบาปอื่นๆ

1-อัลลอฮ์ ตรัสว่า

          "บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! พึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงละเว้นดอกเบี้ยที่ยังเหลืออยู่เสียหากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา และ ถ้าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตาม ก็พึงรับรู้ถึงสงครามจากอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์(หมายถึงอัลลอฮฺและศาสนทูตประกาศเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย) และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้ว สำหรับพวกเจ้าก็คือต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่อธรรม และไม่ถูกอธรรม”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 278-279)

2- รายงานจากท่าน ญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

لَعَنَ رَسُولُ الله صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّم آكِلَ الرِّبَا، وَمُوْكِلَـهُ وَكَاتِبَـهُ، وَشَاهِدَيْـهِ، وَقَالَ: هُـمْ سَوَاءٌ. أخرجه مسلم.

         "ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ประณามผู้ที่กินริบา ผู้ให้กิน ผู้บันทึก และผู้เป็นพยานทั้งสองคน และท่านกล่าวว่า พวกเขาอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกัน(ในบาป)"

(บันทึกโดย มุสลิม 1598)

3- รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«اجْتَنِبُوا السَّبْعَ المُوبِقَاتِ» قَالُوا: يَا رَسُولَ الله، وَمَا هُنَّ؟ قَالَ: «الشِّرْكُ بِالله، وَالسِّحْرُ، وَقَتْلُ النَّفْسِ الَّتِي حَرَّمَ الله إلَّا بِالحَقِّ، وأكلُ الرِّبَا، وأكلُ مَالِ اليَتِيمِ، وَالتَّوَلِّي يَوْمَ الزَّحْفِ، وَقَذْفُ المُـحْصَنَاتِ المُؤْمِنَاتِ الغَافِلاتِ». متفق عليه.

“พวกท่านจงออกห่างจากสิ่งที่ทำให้หายนะ (บาปใหญ่) เจ็ดอย่าง”

พวกเขา(บรรดาเศาะหาบะฮฺ)ได้ถามว่า “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ มันคืออะไรบ้าง?”

       ท่านจึงกล่าวว่า “(มันคือ) ♦ การตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ ♦ การใช้เวทมนต์ไสยศาสตร์ ♦ การฆ่าชีวิตหนึ่งที่พระองค์ทรงห้ามเว้นแต่ด้วยความชอบธรรม ♦ การกินริบา(ดอกเบี้ย) ♦ การกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้า ♦ การถอยหนีในวันแห่งการเผชิญหน้ากับศัตรู ♦ และการใส่ความหญิงหนึ่งที่ดีที่เป็นผู้มีศรัทธาและบริสุทธิ์”

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หมายเลข 2766  และสำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 89)

ประเภทของริบา

     1- ริบา นะสีอะฮฺ  คือการเพิ่มที่ผู้ขายรับจากผู้ซื้อเป็นสิ่งทดแทนการยืดเวลา(ชำระ) เช่น เขาให้เงินไปหนึ่งพันบาทเป็นเงินสด โดยที่อีกฝ่ายต้องคืนให้หลังจากหนึ่งปีเป็นเงินหนึ่งพันสองร้อยบาทเป็นต้น

         หรือการผันหนี้แก่ผู้ขัดสน ในลักษณะที่ว่าเขามีทรัพย์ที่ค้างชำระเหนือบุคคลหนึ่ง เมื่อถึงเวลาชำระเขาก็จะกล่าวแก่บุคคลนั้นว่า “ท่านต้องการชำระทันที หรือต้องการเพิ่มดอกเบี้ย(โดยที่ยังไม่ต้องชำระ)" ถ้าหากอีกฝ่ายพอใจจะชำระก็ชำระ หรือไม่เขาก็จะเพิ่มเวลาให้ โดยมีการเพิ่มทรัพย์(หนี้)ขึ้นด้วย ทำให้จำนวนทรัพย์ที่ต้องชำระเหนือลูกหนี้ผู้นั้นมีมากขึ้น เฃ่นนี้คือรากฐานของ ริบาหรือดอกเบี้ยในสมัยญาฮิลิยะฮฺ ที่อัลลอฮฺได้ทรงห้ามไว้และกำหนดให้มีการยืดเวลาแก่ผู้ขัดสน(โดยไม่มีการเพิ่ม) ซึ่งริบาประเภทนี้เป็นริบาที่อันตรายที่สุด เพราะมีผลเสียมากมาย โดยที่มันได้รวบรวมทุกประเภทไว้ในตัวมัน คือ นะสีอะฮฺ  ริบาฟัฎล์ (ดอกเบี้ยส่วนต่าง) และ ริบาเงินกู้

1.1- อัลลอฮฺตรัสว่า

           “โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงอย่ากินดอกเบี้ยหลายเท่าที่ถูกทบทวี และพวกเจ้าพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ”

(อาละอิมรอน 130)

1.2- อัลลอฮฺตรัสว่า

         “และหากเขา (ลูกหนี้) เป็นผู้ยากไร้ก็จงให้มีการรอคอย(ให้ผ่อนผัน) จนกว่าจะถึงคราวสะดวก และการที่พวกเจ้าจะให้เป็นทานนั้นย่อมเป็นการดีแก่พวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 280)

          หรือการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์ในประเภทของริบาฟัฎล์ (ดูความความหมายในหัวข้อถัดไป) กันทั้งสองฝ่าย โดยมีการล่าช้าในการส่งมอบของทั้งสองฝ่าย หรือเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่น ซื้อขายทองกับทอง ข้าวสาลีกับข้าวสาลี (โดยไม่รับมอบทันที) เป็นต้น หรือขายประเภทหนึ่งกับอีกประเภทหนึ่งจากประเภทเหล่านี้โดยมีการค้างชำระ (เช่น ขายทองด้วยเงินโดยไม่มีการส่งมอบกันทันที หรือข้าวสาลีกับข้าวบาร์เลย์โดยไม่มีการส่งมอบให้แก่กันทันที แม้จะไม่มีการเพิ่มราคาจากเดิมกันก็ตาม)

    2- ริบาฟัฎล์ คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินกับเงิน หรืออาหารกับอาหารโดยมีการเพิ่ม(เป็นส่วนต่าง เช่น นำข้าวชนิดหนึ่งจำนวนหนึ่งลิตรมาแลกกับข้าวชนิดอื่นจำนวนหนึ่งลิตรครึ่ง เป็นต้น) ซึ่งถือเป็นสิ่งหะรอม ศาสนาได้มีหลักฐานอย่างชัดเจนถึงการห้ามริบานี้ในสิ่งหกประเภท ดังที่รอซูลุลลอฮฺได้กล่าวว่า

«الذَّهَبُ بِالذَّهَبِ، وَالفِضَّةُ بِالفِضَّةِ، وَالبُرُّ بِالبُرِّ، وَالشَّعِيرُ بِالشَّعِيرِ، وَالتَّمْرُ بِالتَّمْرِ، وَالمِلْـحُ بِالمِلْـحِ، مِثْلاً بِمِثْلٍ، سَوَاءً بِسَوَاءٍ، يَداً بِيَدٍ، فَإذَا اخْتَلَفَتْ هَذِهِ الأَصْنَافُ فَبِيعُوا كَيْفَ شِئْتُـمْ إذَا كَانَ يَداً بِيَدٍ». أخرجه مسلم.

         “ทองคำแลกทองคำ เงินแลกเงิน ข้าวสาลีแลกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์แลกข้าวบาร์เลย์ ผลอินทผลัมแลกผลอินทผลัม และเกลือแลกเกลือ ปริมาณต้องเท่ากัน  ส่งมอบกันทันทีมือต่อมือ ดังนั้นหากสิ่งเหล่านี้ต่างประเภทกัน พวกท่านจงซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ตามต้องการตราบใดที่มีการส่งมอบมือต่อมือ”

(บันทึกโดยมุสลิม 1587)

 สิ่งที่อยู่ในขอบข่ายริบาฟัฎล์

      - ให้เทียบเคียง(กิยาส)ทุกๆ สิ่งที่มีสาเหตุแห่งริบา(อิลละฮฺ)เหมือนกันกับสิ่งหกประเภทดังกล่าวข้างต้น นั่นคือ อิลละฮฺ(สาเหตุการเป็นริบา)ของทองและเงินก็คือการเป็นเงินตรา และอิลละฮฺในสี่ประเภทที่เหลือก็คือ การเป็นสิ่งที่ใช้ตวงและเป็นอาหาร หรือการชั่งและเป็นอาหาร

     - เครื่องตวงให้ถือเครื่องตวงชาวมะดีนะฮฺเป็นเกณฑ์ ส่วนเครื่องชั่งก็ให้ยึดเครื่องชั่งของชาวมักกะฮฺ ส่วนสิ่งที่ไม่มีทั้งสองที่(ไม่ได้ใช้การชั่งหรือตวง)ก็ให้ยึดธรรมเนียมปฏิบัติ และทุกๆ สิ่งที่มีการห้ามริบาฟัฎล์ก็ถือว่าห้ามริบานะสีอะฮฺเช่นกัน

     - ริบาเงินกู้  ลักษณะของมันก็คือ การที่บุคคลหนึ่งทำการให้กู้ยืมสิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่ผู้อื่น แล้ววางเงื่อนไขแก่เขาว่าต้องจ่ายคืนมากกว่าที่กู้ไป หรือเขาต้องให้ประโยชน์หนึ่งประโยชน์ใด เช่นให้เขาได้อยู่อาศัยในบ้านของผู้กู้หนึ่งเดือนเป็นต้น ซึ่งริบานี้ถือว่าต้องห้าม แต่ถ้าหากเขาไม่ได้วางเงื่อนไขไว้แล้วผู้กู้ได้ให้ประโยชน์หรือจ่ายสิ่งที่ดีกว่าด้วย(ความสมัครใจ)ตัวเองถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาตและได้ผลบุญ


หุก่มของริบาฟัฎล์

     1- เมื่อใดที่การซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งที่เป็นประเภทเดียวกันและมีสาเหตุของริบาในตัวมันถือว่าการเกินเลยกัน (การแลกด้วยจำนวนที่ไม่เท่ากัน) และการไม่ส่งมอบกันทันทีถือเป็นสิ่งที่หะรอม เช่นการซื้อขายทองกับทอง ข้าวสาลีกับข้าวสาลี เป็นต้น การซื้อขายแบบนี้มีเงื่อนไขที่จะทำให้มันถูกต้อง (ตามหลักศาสนา) คือจะต้องเท่ากันในจำนวน และมีการส่งมอบกันในทันที เพราะเป็นสิ่งที่มีประเภทและสาเหตุของริบาอย่างเดียวกัน

    2- เมื่อใดที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของสองประเภทที่มีสาเหตุของริบาฟัฎล์อย่างเดียวกันแต่ต่างประเภทกันถือว่าการไม่ส่งมอบกันทันทีเป็นที่ต้องห้าม ส่วนการเกินเลยกัน(การแลกด้วยจำนวนไม่เท่ากัน)เป็นสิ่งที่อนุญาต เช่นซื้อขายทองกับเงิน หรือข้าวสาลีกับข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น ถือว่าอนุญาตให้มีการเกินเลยกัน (เช่น แลกข้าวสาลี 1 กิโลกรัม แลกกับข้าวบาเลย์ 2 กิโลกรัม) เมื่อใดที่มีการรับกันทันทีมือต่อมือ(ไม่มีการค้างกัน) เพราะทั้งสองสิ่งต่างประเภทกันแต่มีสาเหตุริบาอันเดียวกัน (คือเป็นเงินตราหรืออาหาร)

     3-เมื่อใดที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของสองประเภทที่มีสาเหตุของริบาแตกต่างกันถือว่าอนุญาตให้มีการเกินเลยกันและค้างชำระกัน เช่น ซื้ออาหารด้วยเงิน หรือ อาหารด้วยทองคำ เป็นต้น ถือว่าอนุญาตให้มีการเกินเลยกัน (เช่นข้าว 1กระสอบแลกกับเงิน 300 บาท) และอนุญาตให้มีการล่าช้าในการส่งมอบกัน (ส่งมอบข้าวสารวันนี้ แต่เงินจ่ายพรุ่งนี้หรือเดือนหน้า) เพราะสิ่งแลกเปลี่ยนทั้งสองต่างประเภทกันและมีสาเหตุแห่งริบาต่างกันด้วย

     4- เมื่อใดที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของสองประเภทที่ไม่มีสาเหตุของริบาอยู่ในทรัพย์ทั้งสอง ถือว่าอนุญาตให้มีการเกินเลยกันและค้างชำระกัน เช่น ซื้อขายอูฐหนึ่งตัวแลกกับอูฐสองตัว หรือ เสื้อหนึ่งตัวแลกกับเสื้อสองตัว เป็นต้น ถือว่าอนุญาตให้มีการเกินเลยกันและค้างชำระกันได้
- ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายของประเภทเดียวกันแต่ต่างชนิด นอกจากจะต้องมีคุณลักษณะที่เหมือนกัน ดังนั้นจึงห้ามซื้อขายผลอินทผลัมสดแลกกับผลอินทผลัมแห้ง (เป็นอินทผลัมเหมือนกันแต่ต่างชนิด อันหนึ่งสด อันหนึ่งแห้ง) เพราะของสดเมื่อแห้งลงจะมีจำนวนลดลงทำให้เกิดส่วนต่างกัน(ริบาฟัฎล์)ที่ถือว่าต้องห้าม


หุก่มการซื้อขายทองรูปพรรณ

          ไม่อนุญาตให้มีการซื้อขาย(แลกเปลี่ยน)เครื่องประดับเงินหรือทองกับสิ่งที่เป็นประเภทเดียวกันโดยมีการเกินเลยกัน (เช่น ไม่นำทองรูปพรรณชิ้นหนึ่งไปแลกด้วยทองรูปพรรณอีกชิ้น โดยที่ทั้งสองชิ้นไม่เท่ากัน) เพราะลักษณะของการผลิตสิ่งของแต่ละอันต่างกัน แต่ทางออกก็คือให้ขายของตนชิ้นนั้นด้วยเงินก่อนแล้ว แล้วเอาเงินนั้นไปซื้อเครื่องประดับ(ของอีกฝ่าย)


หุก่มการคิดดอกเบี้ยของธนาคาร

          ผลประโยชน์ที่ธนาคารในปัจจุบันรับไปจากการกู้ยืมนั้นถือว่าเป็นริบาที่ต้องห้าม และผลประโยชน์ที่ธนาคารมอบให้เพื่อตอบแทนการฝากก็เป็นริบาที่ไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ประโยชน์จากมันแต่จะต้องทำให้มันหมดไป

 

หุก่มการฝากเงินไว้กับธนาคารในระบบดอกเบี้ย

    - จำเป็นที่มุสลิมจะต้องใช้บริการธนาคารอิสลามเมื่อใดก็ตามที่เขาต้องการฝากหรือโอนเงิน แต่ถ้าหากไม่มีธนาคารอิสลามถือว่าอนุญาตให้ใช้บริการธนาคารอื่นเพราะความจำเป็นในการฝากแต่จะต้องไม่รับผลประโยชน์(ดอกเบี้ย) และการโอนกับธนาคารอื่นก็เช่นกันตราบใดที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติศาสนา

     - ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิมที่จะทำงานกับธนาคารหรือองค์กรใดๆ ที่มีการรับหรือให้ริบา(ดอกเบี้ย) และค่าตอบแทนที่ได้รับจากแหล่งดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ผิดหลักและเขาจะต้องถูกลงโทษจากอัลลอฮฺ

 

จะทำอย่างไรกับทรัพย์สินที่เป็นดอกเบี้ย

          ริบาถือเป็นบาปใหญ่ เมื่ออัลลอฮฺประทานความเมตตาให้ผู้ทำริบาและเขาได้กลับตัวสู่พระองค์(เตาบัต) แต่ยังมีทรัพย์ที่เขาได้สะสมมันมาจากการทำริบาเหลืออยู่กับเขาและเขาต้องการทำให้มันพ้นไปจากตัวเขา จะมีสองลักษณะดังนี้

     1- ลักษณะแรกคือ ริบานั้นยังอยู่ที่บุคคลอื่นเขายังมิได้รับมันมา เขาก็จงรับเฉพาะต้นทุนของเขาและปล่อยส่วนเกินที่เป็นริบาไว้

     2- ลักษณะที่สองคือทรัพย์ริบาถูกรับมาแล้วอยู่ในมือเขา เขาก็ต้องไม่คืนมันแก่เจ้าของและไม่ใช้ประโยชน์จากมันด้วย เพราะมันเป็นรายได้ที่สกปรก ทางออกก็คือให้เขาบริจาคมันไป หรือใช้มันให้หมดไปกับโครงการสาธารณะประโยชน์ เช่น สร้างเสาไฟให้แสงสว่างแก่ถนน หรือสร้างถนน สร้างห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น


หุก่มการซื้อขายสัตว์

     - ไม่ถือว่ามีสาเหตุแห่งริบาในการซื้อขายสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่นเดียวกับสิ่งที่ซื้อขายกันด้วยจำนวน ดังนั้นจึงอนุญาตให้ซื้อขายอูฐหนึ่งตัวแลกอูฐสองหรือสามตัว แต่เมื่อใดที่มันกลายเป็นสิ่งที่ชั่งตวง (กลายเป็นเนื้อ) ก็จะมีเหตุแห่งริบา จึงห้ามซื้อขายเนื้อแพะหนึ่งกิโลกรัมแลกเนื้อแพะสองกิโลกรัม แต่อนุญาตให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนเนื้อแพะหนึ่งกิโลกรัมกับเนื้อวัวสองกิโลกรัมเพราะต่างประเภทกันเมื่อใดที่มีการส่งมอบกันทันที (โดยไม่มีการค้างชำระ)

     - อนุญาตให้ซื้อทองเพื่อสะสมหรือเพื่อหวังกำไร เช่นซื้อทองมาขณะที่ราคาของมันยังต่ำ แล้วขายไปเมื่อราคามันเพิ่มขึ้น


หุ่กมการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราและธนบัตรต่างๆ

         การแลกเงิน คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นเงินตรากับเงินตราไม่ว่าจะเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ทำจากทองหรือแร่เงิน หรือธนบัตรที่มีการใช้กันในปัจจุบันก็มีหุก่มเดียวกับทองคำและเงิน เพราะเป็นเงินตรา(เป็นมูลค่า)เหมือนกัน

     - เมื่อมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นเงินตราชนิดเดียวกัน เช่นทองคำแลกทองคำ หรือธนบัตรชนิดเดียวกัน เช่น เงินริยาลแลกกับเงินริยาล (หรือเงินบาทแลกเงินบาท) ไม่ว่าจะเป็นเหรียญหรือธนบัตรจำเป็นจะต้องให้เท่ากันในเรื่องของจำนวน(20 บาทที่เป็นธนบัตร ต้องด้วยแลก 20 บาทที่เป็นเหรียญ) และต้องมีการรับกันทันทีระหว่างทั้งสองฝ่ายในที่ที่ตกลงซื้อขาย


     - เมื่อมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นเงินตรากับเงินตราแต่ต่างชนิดกัน เช่น ทองคำแลกเงิน หรือ เงินริยาลของซาอุดิอารเบียแลกกับเงินดอลลาร์ของอเมริกา ถือว่าอนุญาตให้มีการเกินเลยกันเรื่องของจำนวน แต่วาญิบที่จะต้องมีการส่งมอบและรับกันทันทีระหว่างทั้งสองฝ่ายในที่ที่ตกลงซื้อขาย

     - เมื่อผู้ทำการแลกเปลี่ยนทั้งสองคนแยกย้ายกันก่อนที่จะมีการส่งมอบจำนวนของทั้งหมดหรือบางส่วน (หุก่มก็คือ)ส่วนที่ใช้ได้ก็คือเฉพาะจำนวนที่ได้มีการรับกันไปแล้วในที่ตกลงเท่านั้น ส่วนที่เหลือที่ยังไม่มีการส่งมอบและรับกันไปถือว่าเป็นโมฆะ  ตัวอย่างเช่น ฝ่ายหนึ่งได้ให้เงินสกุลดีนาร์ไปหนึ่งดีนาร์เพื่อแลกกับเงินสกุลดิรฮัมจำนวนสิบดิรฮัม แต่ฝ่ายหลังขณะนั้นมีเงินอยู่เพียงห้าดิรฮัมให้ถือว่าการแลกเปลี่ยนนี้ที่ใช้ได้ก็คือจำนวนครึ่งดีนาร์เท่านั้นส่วนที่เหลือเป็นอะมานะฮฺ(เงินฝาก)ที่อยู่กับผู้ขายอีกฝ่าย

 



islamhouse