แบบอย่างที่ดีงามสำหรับสังคมมนุษย์
  จำนวนคนเข้าชม  7036

 

แบบอย่างที่ดีงามสำหรับสังคมมนุษย์

โดย อ.มัสลัน มาหะมะ


         ยุคของนะบีมุฮัมมัด ถือเป็นยุคที่ดีเลิศของมนุษย์ ที่วางรากฐานการใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับมุสลิมในการใช้ชีวิตร่วมกันกับสังคมอื่นไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ท่านนะบีมุฮัมมัด สามารถประยุกต์ใช้คำสอนของอิสลามได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ทุกสถานการณ์

          ช่วงการใช้ชีวิตของนะบีมุฮัมมัด ได้ประสบและเข้าไปมีส่วนร่วมในสถานการณ์ต่างๆมากมาย ท่านเข้าร่วมต่อสู้ในสมรภูมิสงคราม การหย่าศึก ทำสนธิสัญญาหยุดสงคราม สร้างสัมพันธ์ไมตรีอันดีงามกับสังคมระหว่างประเทศ ท่านใช้ชีวิตอันโดดเดี่ยวเนื่องจากการถูกปิดกั้นทางสังคม ท่านเคยทนต่อสภาพการยุแหย่จากฝ่ายตรงกันข้ามเพื่อให้เกิดสงครามกลางเมือง ท่านประสบวิกฤตชีวิตจนแทบเอาตัวไม่รอดและใช้ชีวิตในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศที่ฝ่ายตรงกันข้ามเกรงขาม และเหล่าทหารหาญเต็มใจรับคำสั่งแม้ว่าต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม ปรากฏการณ์เหล่านี้ นับเป็นสิ่งจำเป็นที่มุสลิมต้องศึกษา ทุกคนควรตระหนักว่าความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนตลอดจนการประยุกต์ใช้หลักศาสนบัญญัติที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมมุสลิมต้องประสบกับภาวะเสื่อมถอย

          ในสถานการณ์ปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัฒน์ที่บีบบังคับให้โลกนี้เปรียบเสมือนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ เพียงหมู่บ้านหนึ่งยิ่งเพิ่มความจำเป็นต่อการศึกษาและทำความเข้าใจชีวประวัติของนะบีมุฮัมมัด ให้ลึกซึ้งและถึงแก่นยิ่งขึ้น

 

           นะบีมุฮัมมัด ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยการส่งสารเชิญชวนผู้นำและองค์ประมุขของแต่ละประเทศให้เข้ารับอิสลาม ท่านอนุญาตบรรดาสาวก (เศาะฮาบะฮ์) อพยพลี้ภัยไปยังประเทศเอธิโอเปียที่ปกครองโดยกษัตริย์ ที่ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรม ทั้งที่กษัตริย์ไม่ได้เป็นมุสลิม หลังจากที่ท่านถูกทำร้ายโดยชาวฏออิฟในขณะที่ท่านเดินทางไปเผยแผ่อิสลาม ณ เมืองนั้น ท่านเคยพำนักพักพิงและอาศัยบ้านของชายชาวฏออิฟที่ชื่อว่า มัฏอัมบินอะดิย์ ซึ่งยังไม่ได้เป็นมุสลิมเช่นเดียวกัน

ท่านเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากมติของชาวกุร็อยช์ที่ตัดความสัมพันธ์กับชนตระกูลฮาซิมและตระกูลมุฏฏอลิบ (ซึ่งเป็นต้นตระกูลของนะบีมุฮัมมัด ) โดยที่สองตระกูลดังกล่าวไม่ต้องการเห็นนะบีมุฮัมมัด ถูกทำร้าย อย่างไม่ยุติธรรมและพวกเขาพากันประสานสามัคคีปกป้องนะบีมุฮัมมัด ในฐานะสมาชิกร่วมตระกูล โดยที่พวกเขาบางส่วนยังไม่ได้เป็นมุสลิมด้วยซ้ำ แต่พวกเขายอมทนทุกข์ทรมานร่วมทุกข์ร่วมสุขกับนะบีมุฮัมมัด เป็นเวลานานถึง 3 ปี จนกระทั่งพวกเขาที่มีทั้งผู้หญิง คนเฒ่าคนแก่และลูกต้องฝืนกินใบไม้และหนังสัตว์ที่แห้งกรอบแทนอาหารเพียงเพื่อประทังชีวิตไปวันๆ

 

          ในขณะที่นะบีมุฮัมมัด มีอายุเพียง 20 ปี  ท่านเคยเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสัญญาประชาคมที่ชาวกุร็อยช์ได้ตกลงร่วมกันว่าจะไม่รุกรานและไม่สร้างความอยุติธรรมระหว่างกัน ทุกคนจะได้รับการปกป้องจากการกดขี่ข่มเหงในสังคม ถึงแม้สัญญาดังกล่าวไม่ใช่เป็นผลงานของท่าน แต่ท่านเต็มใจเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน เพราะเนื้อหาในสัญญาสอดคล้องกับสิ่งที่อิสลามเรียกร้องตลอดมา เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่ในความทรงจำของท่านตลอดเวลา จนกระทั่งท่านเคยกล่าวในขณะที่อยู่ ณ นครมะดีนะฮ์ว่า “ฉันเคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการทำสัญญาประชาคมที่บ้านของอับดุลลอฮ์บินญัดอาน ซึ่งหากฉันได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในสนธิสัญญาที่มีเนื้อหาในลักษณะดังกล่าวอีกครั้ง ฉันก็ยินดีเข้าร่วมอย่างแน่นอน” ท่านกล่าวคำพูดนี้ในขณะที่เป็นผู้นำสูงสุด ณ นครมะดีนะฮ์

          นะบีมุฮัมมัด ได้สร้างสันติภาพครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ด้วยการอนุญาตให้บรรดามุสลิมที่อาศัยในนครมักกะฮ์อพยพลี้ภัยไปยังนครมะดีนะฮ์  ทั้งที่ชาวมุสลิมไม่ได้ตกเป็นฝ่ายที่อ่อนแอหรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถตอบโต้ได้ ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่าหลังจากการเผยแผ่แก่ชาวมักกะฮ์ที่ใช้เวลา 13 ปี ชาวกุร็อยช์เกือบทุกเผ่าและตระกูลต่างศรัทธาต่อศาสนาใหม่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเข้ารับอิสลามของ อุษมานบินอัฟฟาน อับดุลรอฮ์มาน   บินเอาวฟ อุมัรบินค็อฏฏอบและหัมซะฮ์บินอาบีฏอลิบ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลในเผ่าต่างๆ นะบีมุฮัมมัด สามารถใช้โอกาสนี้จุดชนวนและเติมเชื้อเพลิงก่อสงครามได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปลุกปั่นกระแสความอยุติธรรมในสังคมที่ชนชั้นต่ำถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่จากชนชั้นสูงอย่างไร้มนุษยธรรมตลอดมา แต่ท่านเลือกแนวทางสันติภาพและกำชับให้ศรัทธาชนในช่วงนั้นใช้ความอดทนพร้อมกล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงระงับมือของพวกท่าน (อย่าตอบโต้โดยการใช้กำลัง) และจงดำรงละหมาดและจงบริจาคทานเถิด”

(อัลกุรอาน 4:77)

          นะบีมุฮัมมัด  เข้าร่วมข้อตกลงในสนธิสัญญาหุดัยบียะฮ์กับชาวกุร็อยช์ซึงในช่วงนั้นสงครามระหว่างสองฝ่ายกำลังปะทุอย่างกว้างขวาง และเนื้อหาในสนธิสัญญาดังกล่าว หากมองแล้วฝ่ายมุสลิมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ถึงขนาดบรรดาเศาะฮาบะฮ์ส่วนใหญ่แสดงความไม่พอใจและมีการประท้วง โดยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งในเบื้องต้น โดยเฉพาะท่านอุมัร บินค็อฏฏอบ แต่ในทัศนะอิสลามแล้วสนธิสัญญาดังกล่าวถือเป็นยุทธศาสตร์แห่งสันติภาพที่ในอัลกุรอานระบุว่าเป็นชัยชนะอันชัดแจ้งเลยทีเดียว ดังที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสความว่า

 “แท้จริงเราได้ให้ชัยชนะแก่เจ้า ซึ่งเป็นชัยชนะอย่างชัดแจ้ง”

(อัลกุรอาน 48:1)

          หลังจากนะบีมุฮัมมัด ได้อพยพสู่นครมะดีนะฮ์ และหลังจากที่ท่านได้วางรากฐานของสังคมใหม่ที่สมานฉันท์และเข้มแข็งแล้ว ภารกิจแรกที่ท่านได้ปฏิบัติคือส่งสารถึงผู้นำและเจ้าเมืองต่างๆ เพื่อประกาศอิสลามที่ยึดมั่นความเป็นภราดรภาพ เป็นประชาชาติเดียวกัน มอบสิทธิและหน้าที่ที่พึงได้ให้แก่ชนต่างศาสนิกที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม  โดยเฉพาะชาวยิวที่พำนักอาศัยในนครมะดีนะฮ์ พร้อมกับนำเนื้อหาของสารมาปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริงโดยใช้มาตรฐานอันเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

           หลังจากการเสียชีวิตของนะบีมุฮัมมัด บรรดาผู้นำผู้ทรงคุณธรรม(เคาะลีฟะฮ์)ต่างเจริญรอยตามนโยบายของท่านตลอดมา ดังกรณีที่เกิดขึ้นในสมัยเคาะลีฟะฮ์อุมัรที่ได้เปิดเมืองปาเลสไตน์ โดยที่อิสลามให้เกียรติและมอบสิทธิแก่ชนพื้นเมืองในการประกอบพิธีทางศาสนา ตามความเชื่ออย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของการพิชิตเมือง

 

          ปรากฏการณ์ดังกล่าว ถือเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญ ที่จะต้องยึดเป็นแบบอย่างในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับชนต่างศาสนิก โดยที่บรรดาผู้รู้ (อุละมาอ์) ที่ได้รับมอบหมายชี้แจงได้ให้ความกระจ่างในข้อปลีกย่อยต่างๆ อย่างเป็นธรรม ถูกต้อง เนื่องจากสังคมประกอบด้วยชุมชนอันหลากหลายทั้งความเชื่อ เจตคติ ศาสนาและ ชาติพันธุ์ ความหลากหลายในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อสามารถนำมาปฏิบัติตามบทบัญญัติได้อย่างถูกต้อง สนธิสัญญาต่างๆ ถือเป็นคุณค่าอันสูงส่งของอารยธรรมอิสลาม ซึ่งมีอาณาเขตและปริมณฑลอันกว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีใครที่สามารถตีความอารยธรรมอิสลามภายใต้กรอบอันคับแคบหรือมีข้อจำกัดด้านเวลาหรือสถานที่ เว้นแต่ผู้นั้นเป็นผู้ไม่รู้จริงในศาสนาหรือถูกปิดบังด้วยความรู้สึกทิฐิส่วนตัว

 

          มุสลิมทุกคนพึงตระหนักว่า อิสลามคงอยู่และเผยแพร่ได้ในสังคมอย่างกว้างขวาง ตราบใดที่สังคมนั้นห้อมล้อมด้วยบรรยากาศที่สงบสันติและอิสระเสรี  ยามใดที่สังคมเกิดความวุ่นวายและแตกร้าว มีความรุนแรงและเผชิญหน้ากัน การเผยแผ่อิสลามไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทและซึมซับเข้าไปในจิตใจของผู้คนได้

          สนธิสัญญาต่างๆ ที่ได้กระทำไว้ในสมัยนะบีมุฮัมมัด และสมัยบรรดาเคาะลีฟะฮ์ผู้ทรงคุณธรรมจึงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับมุสลิม เพื่อทำการศึกษาวิจัยในการกำหนดจุดร่วมเพื่อรังสรรค์กับชนต่างศาสนิกให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์อันแท้จริงของอิสลาม และ เพื่อสามารถตอบปัญหาปัจจุบันได้อย่างถูกต้องแม่นยำโดยอาศัยการชี้นำของอัลกุรอานที่ได้รับการอรรถาธิบายโดยผู้รู้ (อุละมาอ์) ทรงคุณธรรม อัลลอฮ์  ได้ตรัสความว่า

"และโดยแน่นอน เราได้ทำให้อัลกุรอานนี้เป็นที่เข้าใจง่ายแก่การรำลึก แล้วมีผู้ใดบ้างที่รับข้อตักเตือนนั้น "

(อัลกุรอาน54:17)