ผู้ที่อ่อนแอ ผู้ที่ยากจน ผู้ที่ไม่มีชื่อเสียง
  จำนวนคนเข้าชม  13816

ความประเสริฐของมุสลิมผู้ที่อ่อนแอ ผู้ที่ยากจน ผู้ที่ไม่มีชื่อเสียง

 

            รายงานจาก ฮาริษะห์ อิบนิวะฮับ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านร่อซูล กล่าวว่า

            “ฉันจะบอกให้พวกท่านทราบเอาไหมว่า ชาวสวรรค์นั้นคือพวกใด? คือพวกที่อ่อนแอถ่อมตัว (สภาพทางดุนยาของเขาขาดแคลน ผู้คนดูถูกเหยียดหยามเขา) ถ้าหากเขาสาบานต่ออัลเลาะห์ พระองค์จะทรงให้เป็นไปตามที่เขาสาบาน ฉันจะบอกให้พวกท่านทราบเอาไหมว่า ชาวนรกนั้นคือพวกใด? คือพวกที่หยาบคาย จองหอง ลำพองตน”

บันทึกโดยบุคคอรีย์ และมุสลิม
(ดูในบุคอรีย์ เล่ม 10 หน้า 408 และดูในมุสลิม หะดีษเลขที่ 2853)


คำอธิบาย

             ใครจะได้เป็นชาวสวรรค์นั้น ย่อมมีเครื่องหมายบ่งบอก ใครจะเป็นชาวนรกก็มีสัญลัษณ์ชี้ให้เห็น ชาวสวรรค์นั้นลักษณะของพวกเขาคือ จะมีความผูกพันอยู่กับอัลเลาะห์เสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้พวกเขาเป็นบุคคลที่มีอุปนิสัยเรียบง่าย มีความเอ็นดูเมตตาต่อบรรดาผู้ศรัทธา นอบน้อมถ่อมตน มีความมักน้อย ไม่โลภหลงโลกดุนยา ดูเหมือนว่าเขาเป็นคนอ่อนแอต่ำชั้นในสายตาของผู้คนทั่วๆไป แต่ที่จริงแล้วเขาเป็นบุคคลที่อัลเลาะห์ทรงสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือถ้าหากเขาขอดุอาอฺ อัลเลาะห์จะทรงรับดุอาอฺของเขา และในวันกิยามะห์เขาจะได้เข้าสวรรค์ เนื่องจากความศรัทธาที่เขามีอยู่

              สำหรับชาวนรกนั้นจะมีลักษณะเป็นผู้ที่ลุ่มหลงโลก แสดงตัวโอ้อวดความยิ่งใหญ่ ข่มเหงผู้คน ไม่มีความเอ็นดูเมตตาอยู่ในหัวใจ เป็นคนที่ก้าวร้าวต่อผู้คน เห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้งและชอบกระทำในสิ่งที่เป็นความชั่วร้าย ดังนั้นใครมีลักษณะอย่างไร คงจะพิจารณาตัวเองกันได้ทุกๆคน

สิ่งที่ได้รับจากหะดีษนี้

1. ห้ามเป็นคนที่อุปนิสัยโอ้อวด ยะโส
2. ส่งเสริมให้นอบน้อมถ่อมตนต่อพี่น้องมุสลิม
3. แจ้งให้ทราบถึงลักษณะของชาวสวรรค์และชาวนรก

 

             รายงานจาก อบิลอับบาส ซะฮัล อิบนิซะอัด อัซซาอิดี้ย์ กล่าวว่า :
            
มีชายคนหนึ่งเดินทางผ่านท่านนบี ท่านนบีได้ถามชายอีกคนหนึ่งที่นั่งอยู่ด้วยกันว่า :
          ท่านมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับชายผู้นี้

เขาตอบว่า ชายผู้นี้เป็นคนที่มีฐานะดี มีสกุล ชายคนนี้นั้นสาบานได้เลยว่า จริงๆแล้ว ถ้าหากเขาจะสู่ขอใครก็จะได้แต่งงาน ถ้าหากเขาขอร้องเรื่องใดๆ ก็จะได้รับความช่วยเหลือ

ท่านร่อซูล ก็นิ่งเฉย

หลังจากนั้นมีชายอีกคนหนึ่งเดินผ่านมา ท่านรอซูล ถามอีกว่า :
          ท่านมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับชายผู้นี้ 

เขาตอบว่า โอ้ท่านรอซูล ชายคนนี้เป็นคนหนึ่งจากบรรดามุสลิมผู้ที่ยากจน จริงๆแล้ว ถ้าหากเขาสู่ขอใครก็ไม่ได้แต่งงาน ถ้าหากเขาขอร้องเรื่องใดๆ ก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ ถ้าหากเขาพูดจาก็จะไม่มีคนฟัง

ท่านรอซูลกล่าวว่า : คนนี้แหละดีกว่าคนนั้น แม้จะมีผู้คนอย่างคนนั้นเต็มแผ่นดินก็ตาม

บันทึกโดยบุคคอรีย์ และมุสลิม
(ดูในบุคอรีย์ เล่ม 9 หน้า 117 และไม่มีในมุสลิม นักหะดีษกล่าวว่า มีอยู่ในบุคอรีย์เท่านั้น)

 คำอธิบาย
      
              ศาสนาอิสลามมุ่งมั่นในการสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ลบล้างทัศนะคติที่ผิดๆ ของพวกญาฮิลียะห์ และส่วนหนึ่งของทัศนคติที่ผิดๆก็คือ การยกย่องผู้คนโดยใช้ความร่ำรวยเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงคุณธรรมความดีงาม
             ท่านร่อซูล ถามซ่อฮาบะห์ท่านหนึ่งถึงชายที่กำลังเดินผ่านมาว่าเขาเป็นคนอย่างไร ศ่อฮาบะห์ท่านนั้นตอบว่า ชายผู้นี้เป็นคนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ถ้าหากไปสู่ขอใครก็จะได้แต่งงาน ถ้าหากขอร้องใครก็จะได้รับความช่วยเหลือ เพราะอำนาจเงินตราและบารมีของเขา
             ท่านรอซูลถามถึงชายอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังเดินผ่านมาอีก ซ่อฮาบะห์ท่านนั้นตอบว่า ชายผู้นี้เป็นคนยากจน ไม่มีบารมีใดๆในหมู่ผู้คน
             ในที่สุดท่านรอซูล จึงได้อธิบายมาตรฐานของบุคคลไว้อย่างชัดเจนว่า คนเรานั้นวัดกันที่คุณงามความดี และความยำเกรงอัลเลาะห์เป็นสำคัญ ใครคบกับคนที่โลภหลงดุนยา เขาก็อาจจะได้รับผลประโยชน์บ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเขาจะต้องเสียใจไปนานแสนนานในวันกิยามะห์ ใครคบกับผู้มีความศรัทธาอย่างมั่นคง เขาจะได้รับผลประโยชน์ ทั้งดุนยาและอาคิเราะห์ มุอฺมินผู้มีความศรัทธานั้น หากว่ามีอยู่หนึ่งคนและเป็นคนยากจน กระนั้นก็ตาม เขาย่อมดีกว่าคนร่ำรวยที่มุ่งแต่โลกดุนยาที่ไม่มีศรัทธาอยู่ในหัวใจจำนวนนับพันคนเสียอีก

 สิ่งที่ได้รับจากหะดีษนี้

1. ไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามคนจน
2. คุณค่าของคนอยู่ที่การยำเกรงอัลเลาะห์ และการเป็นคนดีมีคุณธรรม
3. ส่งเสริมให้แต่งงานกับหญิงหรือชายที่เป็นคนดี มีอีมานศรัทธาอย่างแท้จริง แม้จะยากจนก็ตาม
4. ความหรูหราแห่งโลกดุนยา ไม่มีคุณค่าอย่างแท้จริง สังคมมุสลิมไม่ควรให้ความสำคัญ

 

 รายงานจาก อบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ จากท่านนบี กล่าวว่า :
          
              สวรรค์และนรกโต้เถียงกัน (คือเล่าสู่กันฟังว่า กลุ่มใดจะได้เข้ามาอยู่ในส่วนของทั้งสอง)
นรกกล่าวว่า : “บรรดาผู้ที่บังคับขู่เข็ญผู้คน และบรรดาผู้ที่อวดโต ยะโสนั้น จะต้องเข้ามาอยู่ในนรก”
สวรรค์กล่าวว่า : “บรรดาผู้ที่อ่อนแอ และบรรดาผู้ที่ขัดสน จะได้เข้ามาอยู่ในสวรรค์ ”
และอัลเลาะห์ทรงตัดสิน(คือแจ้งให้ทราบถึงจุดประสงค์ของพระองค์) ว่า แท้จริงเจ้านั้นคือสวรรค์ เป็นความเอ็นดูเมตตาของข้า ข้าจะเอ็นดูผู้ที่ข้าประสงค์ให้ได้เข้าไปอยู่ในเจ้า และแท้จริงเจ้านั้นคือนรก เป็นการลงโทษทรมานของข้า ข้าจะลงโทษทรมานผู้ที่ข้าประสงค์ให้ได้เข้าไปอยู่ในเจ้า ทั้งสวรรค์และนรกนั้น ข้าจะให้มีผู้คนเข้าอยู่จนเต็ม

บันทึกโดยมุสลิม
(ดูในมุสลิม หะดีษเลขที่ 2846)

 คำอธิบาย

              การบังคับขู่เข็ญผู้คน การทำตัวอวดใหญ่โตเป็นเรื่องที่บ่าวของอัลเลาะห์ทั้งหลายไม่น่าจะปฏิบัติต่อกัน ใครก็ตามถ้าหากเขาได้กระทำดังกล่าว เท่ากับว่าเขาละเมิดขอบเขตของอัลเลาะห์ ดังนั้น เขาจะต้องถูกทำโทษในนรก
 
            สำหรับการนอบน้อมถ่อมตน ไม่เย่อหยิ่ง นับเป็นลักษณะของผู้ศรัทธา เพราะเขาเกรงกลัวอัลเลาะห์ ละอายถ้าหากจะละเมิดขอบเขตคำสั่งของพระองค์ เขาจึงจะได้เข้าสวรรค์เป็นสิ่งตอบแทน ท่านอุมัร อิบนุลค๊อตตอบ กล่าวว่า “เกียรติยศในดุนยานี้วัดกันด้วยทรัพย์สิน แต่เกียรติยศในวันอาคิเราะห์วัดกันที่การงาน ใครกระทำงานอันเป็นงานของชาวสวรรค์ เขาก็จะได้รับสวรรค์ตอบแทน ใครทำงานอันเป็นงานของชาวนรก เขาก็จะได้รับนรกตอบแทน”
            
             อย่าได้เข้าใจผิดว่าคนอ่อนแอที่หะดีษกล่าวถึงนั้นเป็นคนที่น่ารังเกียจ ไม่ทำการงานใดๆ แต่พวกเขาคือผู้ที่จริงจังต่อการงานในหน้าที่ทุกอย่าง แต่ไม่โอ้อวด ไม่ได้ออกประกาศโฆษณาของตนเอง เพราะพวกเขาพึงพอใจแล้วที่จะได้รับผลตอบแทนจากอัลเลาะห์ ไม่ปรารถนาตำแหน่งฐานะจอมปลอมจากผู้ใด

สิ่งที่ได้รับจากหะดีษนี้

1. ทุกคนควรทำงานในหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์ที่สุด และหวังในความเมตตาจากอัลเลาะห์
2. เกียรติยศในโลกนี้มีอยู่กับเราไม่นานก็หายไป ดังนั้นไม่ต้องคำนึงถึงให้มากนัก วันอาคิเราะห์สำคัญกว่า
3. คุณค่าของคนเรานั้นอยู่ที่จริยธรรมอันดีงาม ไม่ใช่อยู่ที่ฐานะหรือวงศ์ตระกูล

 

รายงานจากอบีฮุรอยเราะห์ จากท่านรอซูล กล่าวว่า :

           จะมีมาในวันกิยามะห์ บุคคลที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ แต่ ณ ที่อัลเลาะห์แล้ว เขาไม่มีน้ำหนักเลย แม้แต่เท่าน้ำหนักริ้นตัวหนึ่ง

บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม
( ดูในบุคอรีย์ เล่ม 8 หน้า 324 และดูในมุสลิม หะดีษเลขที่ 2785)

คำอธิบาย

              ตราชูในวันกิยามะห์นั้น ไม่ได้มีไว้ชั่งไขมันหรือเนื้อหนัง แต่จะชั่งผลงานที่เคยกระทำไว้ในดุนยา ดังนั้นใครก็ตาม แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวมาก มีทรัพย์สิน ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงส่ง แต่ไม่มีอามั้ลอิบาดะห์เตรียมไว้ในวันอาคิเราะห์ เขาจะไม่มีน้ำหนักใดๆเลย

ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า :

“และในวันกิยามะห์ เราจะไม่ให้มันมีค่าแก่พวกเขาเลย” ( อัลกะฮฺฟฺ : 105)
 
             มุสลิมทุกคนจึงต้องสะสมคุณงามความดีและการงานที่ดี เพื่อเตรียมไว้เป็นเสบียงในวันอาคิเราะห์ให้มาก ก่อนจะสะสมทรัพย์สินเพื่อความผาสุกในโลกดุนยา เพราะการทำเช่นนั้น ในวันอาคิเราะห์ ตราชูจะได้มีน้ำหนัก มิใช่เอาแต่ชอบรับประทานเพื่อให้มีน้ำหนักมากๆ การรับประทานมากๆเพื่อให้มีน้ำหนักมากนั้น เป็นเรื่องของโลกนี้เท่านั้น มันจะไม่สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ใดๆในวันอาคิเราะห์เลย

สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษนี้

 อิสลามพุ่งเป้าหมายไปสู่ความเป็นจริงอันถาวร ไม่ให้ความสำคัญกับฉากภายนอก

 

 

รายงายจากอบีฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า :

             บางทีคนที่ผมเผ้ายุ่งเหยิงเต็มไปด้วยฝุ่น ถูกผลักไสไล่ส่งที่ประตูบ้าน เพราะผู้คนรังเกียจ ดูถูกเหยียดหยาม ไม่ยอมเปิดประตูรับเขานั้น ถ้าหากเขาสาบานต่ออัลเลาะห์ (ขอดุอาอฺวิงวอนต่อพระองค์) อัลเลาะห์ จะทรงรับคำวิงวอนของเขา

บันทึกโดยมุสลิม
(ดูในมุสลิมฮะดีษเลขที่ 2622)

คำอธิบาย
             คนเราบางครั้งผมเผ้ายุ่งเหยิงมีฝุ่นเกาะเต็มไปหมด เนื่องจากการทำงานหนัก หรือต้องออกทำการ “ญิฮาด” ต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะห์ หรือเสื้อผ้าขาดวิ่นเพราะความยากจน เมื่อเขาอยู่ในสภาพนั้นก็ทำให้ผู้คนทั้งหลายมองและเมิน ไม่ให้ความสนใจ ไม่เชิญไปงานเลี้ยง ไม่มีใครเชิญเข้าร่วมประชุม

             ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าหากเขาขอดุอาอฺต่ออัลเลาะห์ พระองค์จะทรงรับดุอาอฺของเขา และเขามุ่งอยู่กับการงานที่จะทำให้เขาได้รับความเอ็นดูเมตตา และได้รับผลตอบแทนทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ งานอย่างนี้ทำให้เขาอบบอุ่นใจ

             ดังนั้นจึงอย่าตัดสินคนด้วยเครื่องนุ่งห่ม เสื่อผ้าหรือยากดีมีจน อย่าประเมินคุณค่าของผู้ที่ทำงานในหนทางของอัลเลาะห์ต่ำกว่าความเป็นจริง ให้รักใคร่พี่น้องมุสลิม เพื่อร่วมกันอยู่ในหนทางของอัลเลาะห์ อย่ารักกันเพื่อต้องการผลประโยชน์ของโลกดุนยาที่ไม่คงทนถาวร

สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษนี้

1. อัลเลาะห์ทรงมองดูบ่าวของพระองค์ที่การงานและจิตใจ มิได้มองที่ร่างกายหรือเสื้อผ้า
2. คุณค่าของคนดูกันที่การงาน ไม่ใช้เสื้อผ้า ทรัพย์สิน วงศ์ตระกูล


 

 

ที่มา: ริยาดุสซอลีฮีน

 
โดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ