สุลต่านสุลัยมาน
สุลต่านสุลัยมาน ได้อพยพจากเมืองสาเลห์มาพร้อมบิดา (ท่านโมกอล) เมื่อท่านมีอายุเพียง 12 ปี เมื่อครั้งบิดาสร้างเมืองสงขลาและปกครองเมืองสงขลา ท่านมีส่วนช่วยเหลือบิดาในด้านการปกครอง และดูแลปราบปรามโจรสลัด ที่เข้ามาคุกคามเมืองสงขลอยู่เนืองๆ หลังจากที่ท่านโมกอลเสียชีวิตลง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้โปรดเกล้าแต่งตั้งท่านสุลัยมาน เป็นข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการนครสงขลาเช่นเดียวกับบิดา ซึ่งสมัยท่านสุลัยมานได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดีอย่างยิ่ง
ต่อมาในปี พ.ศ.2173 เจ้าพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์ ได้ขึ้นครองราชโดยทำการประหารชีวิตราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทั้งสองคน และสถาปนาตนเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง โดยมีพระนามว่า"สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง"(ครองราชย์ พ.ศ.2173-2199) ท่านสุลัยมานเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และมิใช่เป็นการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฏมณเฑียรบาล จึงประกาศแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา และได้ประกาศเป็นรัฐอิสระ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2173
ในช่วงเวลาที่นครสงขลาแข็งเมืองนั้น เมืองปัตตานีก็ไม่ยอมรับในอำนาจของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเช่นเดียวกัน(พ.ศ.2173) และได้ใช้โอกาสในช่วงการผลัดแผ่นดินนั้น ยกทัพมาตีเมืองพัทลุง และเมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นหัวเมืองสำคัญทางตอนใต้ของกรุงศรียุธยา อนึ่งเมืองนครศรีธรมราชในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงอยู่ในภาวะอ่อนแอขาดความสามัคคีเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการแต่งตั้งออกญาเสนาภิมุข(ยามาดา นางามาชา)ซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นมาเป็นเจ้าเมือง เมื่อออกญาถึงแก่ได้เสียชีวิตลง บุตรชาย(โอนิน) ได้ยึดอำนาจปกครองแทน และใช้นาจเพื่อพรรคพวกของตนเป็นหลัก ก่อให้เกิดความระส่ำระสายแก่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นอย่างยิ่ง แม้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะส่งทัพจากกรุงศรีอยุธยามาช่วยรบกับปัตตานี ก็ไม่สามารถสู้รบกับกองทัพจากเมืองปัตตานีได้
ในขณะเดียวกันเมืองสงขลาแทบจะเรียกได้ว่าอยู่นอกระบบการปกครองของกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากไม่ได้ถูกโจมตีจากปัตตานี อีกทั้งยังไม่ถูกเกณฑ์กำลังเข้ารวมกับกองทัพอยุธยาเพื่อรบกับปัตตานีด้วย แต่เนื่องจากการดำเนินนโยบายทางการเมืองผิดพลาดของเมืองสงขลาในขณะนั้นที่เชื่อมั่นว่าการพึ่งพากรุงศรีอยุธยาน่าจะดีกว่า จึงส่งฑูตไปยังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสาเหตุจากการถูกโจมตีจากเมืองปัตตานีในเวลาต่อมา และได้รับความเสียหายอย่างยับเยินแม้จะจัดเตรียมกำลังพลอย่างเข้มแข็งแลวก็ตาม โดยกรุงศรีอยุธยาไม่สามารถช่วยเหลือได้แต่ประการใด
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สุลต่านสุลัยมาน เกิดความไม่มั่นใจในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา จึงตั้งตนเป็นอิสระไม่อยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา ชาวเมืองต่างพากันเรียก"สุลต่านสุลัยมานาซาห์"
หลังจากตั้งตนเป็นรัฐสุลต่าน สุลัยมานได้ตระหนักดีว่าในกาลข้างหน้าคงหลีกเลี่ยงการรุกรานจากทั้งเมืองปัตตานี กรุงศรีอยุธยาและโจรสลัด ที่คอยปล้นสดมภ์ได้ยาก ท่านจึงร่วมมือกับชาวต่างชาติสร้างป้อมปราการ และหอรบมากมาย ดังปรกฏในจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศสว่า
"เมื่อ พ.ศ.2186 มีแขกมลายูคนหนึ่งได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองสงขลา และได้กบฏต่อพระเจ้ากรุงสยาม แขกมลายูผู้นี้ได้ทำป้อมประตูหอรบอย่างแข็งแรงแน่นหนา และได้ชักชวนบรรดาพ่อค้าทั้งหลาย ให้เข้าไปทำการค้าขายที่เมืองสงขลาอย่างมาก ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาก็ยกทัพไปปราบปรามหลายครั้งแต่ก็พ่ายแพ้กลับมาทุกคราว แขกมลายูคนนี้ได้ตั้งตัวเป็น เจ้าเมืองสงขลา"
หลังจากนั้นเมืองสงขลาได้เป็นเมืองที่เข้มแข็งและขยายอำนาจออกไปกว้างขวาง ท่านสุลัยมานได้ร่วมมือกับเจ้าเมืองไทรบุรี เข้ายึดเมืองพัทลุง อันเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ให้ยกทัพหลวงมาปราบถึง 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ(พ.ศ.2189 และ พ.ศ.2191) ต่อมาในปี พ.ศ.2192 ท่านสุลัยมานได้ยกกองทัพเข้าบุกยึดเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุงไว้ได้สำเร็จ
เมืองสงขลามีความเจริญรุ่งเรืองและเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญ โดยสินค้าหลักที่สำคัญคือ พริกไทย และรังนก บริเวณรอบทะเลสาบสงขลาเป็แหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญ ส่งผลให้เมืองสงขลาเป็นตาดการค้าพริกไทยที่สำคัญ ทำให้เศรษฐกิจการค้าของเมืองสงขลาเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก นอกจากนี้ยังมีสินค้าจำพวกข้า ถ้วย จาน ชาม และอื่นๆอีกด้วย
ในปี พ.ศ.2202 หลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ขึ้นครองราชย์ สุลต่านสุลัยมานได้ยอมรับอำนาจอันชอบธรรม ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้ส่งฑูตไปยังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงรับฑูตนั้นไว้ด้วยความยินดี เป็นการลดความตึงเครียดทางการเมือง ขณะเดียวกันเมืองสงขลายังคงมีอำนาจเช่นเดิมโดยที่อยุธยาไม่สามารถแทรกแซงได้
สุลต่านสุลัยมานถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2211 รวมอายุได้ 76 ปี
ดาโต๊ะ สุลต่านโมกอล >>>>Click