ดาโต๊ะ โมกอล ต้นตระกูล สุลต่านสุลัยมาน
  จำนวนคนเข้าชม  22491

 

 ประวัติความเป็นมาสุลต่านสุไลมานและสายสกุล

โดย สุรยุทธ ชื่นภักดี

 

          สุลต่านสุลัยมาน (ซาห์) เป็นบุตรชายคนโตของท่านดาโต๊ะ โมกอล ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชาวอาหรับเปอร์เซีย นับถือศาสนาอิสลามตามซุนนะฮ์ ตามแนวทางของท่านนะบีมุฮัมมัด หรือที่เรียกว่า "สุนหนี่" ท่านได้อพยพครอบครัวและบริวารจากเมืองสาเลห์ (ชวาภาคกลาง) อันเนื่องมาจากการรุกรานจากนโยบายเรือปืน ของนักเดินเรือชาวโปตุเกส สเปน และอังกฤษ ซึ่งไม่เพียงแต่หาสินค้าพื้นเมืองเพื่อทำการค้า แต่ยังทำการล่าอาณานิคมไปด้วย โดยการระดมยิงปืนใหญ่จากเรือเผาทำลายเมืองที่ไม่ยอมตกเป็นอาณานิคมของตน เมืองสาเลห์ในอดีต หรือเมืองสาเลห์ก็หนีไม่พ้นจากการรุกรานนั้นเช่นกัน

          ท่านโมกอลจึงอพยพครอบครัวและบริวารโดยทางเรือมาตั้งหมู่บ้านที่ตำบลเขาหัวแดง ริมทะเลปากอ่าวสงขลา ในปี พ.ศ. 2145 ซึ่งบริเวณหัวเขาแดงในอดีต ก่อนที่ท่านโมกอลจะอพยพมานั้นเป็นบริเวณที่เป็นเทือกเขา ในส่วนที่เป็นที่ราบก็เป็นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมอยู่เสมอ และในส่วนที่เป็นที่ดอนก็แห้งแล้ง ทำให้ไม่มีความเหมาะสมที่จะเพาะปลูก และไม่เป็นที่ต้องการของชนพื้นเมืองเดิม

          เนื่องจากสันนิษฐานว่าท่านโมกอล เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทั้งในด้านการปกครอง การค้าและการเดินเรือ ท่านกลับเห็นว่าภูมิประเทศบริเวณเขาหัวแดงนี้ เหมาะที่จะร้างบ้านเรือนมากทีสุด เนื่องจากสามารถสร้างเป็นเมืองท่าหรือสถานีการค้าได้ เพราะอยู่ริมทะเลมีแหล่งจอดเรือได้สะดวก และมีชัยภูมิที่เหมาะสมจากการที่มีภูเขาหัวแดง ทำหน้าทีกำบังลมมรสุม รวมทั้งป้องกันภัยรุกราน ที่สำคัญคือ ในบริเวณดังกล่าวอยู่ไม่ห่างจากแหล่งสินค้าที่ประเทศทางตะวันตกต้องการ เช่น ของป่า สัตว์ป่า และแร่ธาตุ ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการรวบรวมสินค้าจากภูมิภาค ทั้งในตอนบนและตอนล่างของเมืองสงขลาด้วย ท่านโมกอลจึงตัดสินใจสร้างบ้านเมืองขึ้นในบริเวณดังกล่าว


 

         เมืองสงขลาภายใต้การปกครองของท่านโมกอลเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการ และคูเมืองโอบล้อมอย่างแข็งแรง และเริ่มขยายอาณาเขตการปกครองมายังบริเวณพื้นทีว่างเปล่าบนเกาะใหญ่ และบริเวณชายฝั่งที่อยู่ระหว่างเขตเมืองพัทลุงและปัตตานี ความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วนี้ทราบถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ซึ่งมีหน้าที่ดูแลหัวเมืองทางภาคใต้ของกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงได้รายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเมืองสงขลา ภายใต้การปกครองของท่านโมกอลไปยังกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ(ครองราชย์ พ.ศ.2148-2153)

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้โปรดเกล้าแต่งตั้งท่านโมกอล ให้เป็นข้าหลวงใหญ่แห่งพระเจ้ากรุงสยาม ประจำเมืองพัทลุงอยู่ที่เขาหัวแดง แขวงเมืองสงขลา มีหน้าที่ปกครองดูแลเมืองพัทลุง และเก็บเงินค่าธรรมเนียมเทียบท่าจอดเรือจากบรรดาเรือสินค้า ส่งเป็นส่วยเข้าท้องพระคลังหลวงที่กรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้นอกจากได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเก็บส่วยแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของกรุงศรีอยุธยาเอง เนื่องจากความเจริญทางด้านการค้าของเมืองสงขลา ทำให้กรุงศรีอยุธยาระบายสินค้าส่งออกมายังเมือง ที่มีท่าจอดเรือสะดวกและมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติอยู่แล้ว

 

 

         ท่านโมกอลได้ดำรงตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ.2163 จึงถึงแก่อสัญกรรม รวมระยะเวลาที่ท่านปกครองเมืองสงขลา 15 ปีเศษ และท่านสุลัยมานได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม(ครองราชย์ พ.ศ.2153-2171) ให้ขึ้นครองนครสงขลา สืบต่อจากบิดานปี พ.ศ.2163 ในฐานะผู้สำเร็จราชการนครสงขลา เช่นเดียวกับบิดา

 

ติดตามตอนต่อไป

สุลตานสุลัยมาน >>>>Click