ถึงเวลาตรวจตราเต้า
มาตรวจเต้านมกันเถอะ
การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นวิธีป้องกันมะเร็งเต้านมได้ทางหนึ่ง ควรสำรวจเต้านมของคุณเป็นประจำเดือนละครั้ง ช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ 7-10 วันหลังจากเริ่มมีประจำเดือน ในสุภาพสตรีที่หมดประจำเดือนแล้วควรเลือกวันใดวันหนึ่ง เช่น วันแรกของเดือน เพื่อความสะดวกและเตือนตนเองในการตรวจเป็นประจำทุกเดือน โดยสามารถตรวจได้หลายวิธีดังนี้
ตรวจหน้ากระจก
ยืนตรง มือแนบลำตัว สังเกตเต้านมทั้งสองข้างมีความผิดปกติหรือไม่
ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นประสานกันทางด้านหลังของศีรษะ แล้วออกแรงดันศีรษะมาด้านหน้า
ยกมือเท้าเอว ออกแรงกดสะโพก พร้อมกับโน้มข้อศอกและหัวไหล่ไปด้านหน้า แล้วกลับสู่ท่าเดิม เพื่อให้เกิดการหดตัวและเกร็งตัวของกล้ามเนื้ออก สังเกตลักษณะที่ผิดปกติ
ตรวจขณะอาบน้ำ
ยกแขนข้างซ้ายขึ้น ใช้ปลายนิ้วมือข้างขวา วางราบลงบนเต้านมข้างซ้าย บริเวณส่วนนอกและเหนือสุดของเต้านม
เริ่มคลำในลักษณะคลึงเบาๆ เป็นวงกลมเล็กๆ เคลื่อนเป็นวงกลมไปช้าๆ รอบเต้านม แล้วค่อยๆเขยิบเข้ามาเป็นวงแคบสู่บริเวณหัวนม และคลำบริเวณระหว่างเต้านมกับรักแร้ สังเกตดูว่ามีก้อนเนื้อแข็งเป็นไตหรือไม่
บีบหัวนมเบาๆ ดูว่ามีของเหลว เช่น น้ำเหลือง หรือน้ำเลือดออกมาหรือไม่ แล้วทำการตรวจซ้ำด้วยวิธีเดียวกันบนเต้านมข้างขวา
ตรวจในท่านอนราบ
นอนราบ ยกแขนข้างซ้ายขึ้นเหนือศีรษะ
ใช้หมอนหรือผ้ารองบริเวณใต้ไหล่ซ้าย
ใช้วิธีการคลำและตรวจเช่นเดียวกับวิธีการตรวจในขณะอาบน้ำ
หากพบสิ่งผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อ หรือเนื้อที่แข็งเป็นไต ควรปรึกษาแพทย์ทันที
เมื่อไหร่ควรตรวจแมมโมแกรม
ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยการทำแมมโมแกรมหรือการเอกซเรย์เต้านมร่วมด้วย
อายุมากกว่า 40 ปี
อายุมากกว่า 35 ปี และมีอาการของเต้านมที่ผิดปกติ
อายุน้อยกว่า 35 ปี แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าปกติ เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
โสด ไม่เคยมีบุตร
มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดช้าหลังอายุ 55 ปี
รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง หรือยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
เนื่องจากการทำแมมโมแกรมจะช่วยให้เห็นความผิดปกติที่เราอาจคลำไม่พบได้ดี กว่า ยิ่งในปัจจุบันมีการถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นระบบดิจิตอล หรือ Digital Mammogram ทำให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น สามารถเพิ่มความละเอียดในการแสดงภาพแม้ในก้อนแคลเซียมหรือเนื้องอกที่มีขนาด เล็กมาก โดยอาจตรวจร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์ ที่มีความสามารถในการแยกก้อนเนื้อและถุงน้ำ (ซีสต์) ได้ดี ช่วยให้แพทย์สามารถให้การรักษาและหยุดยั้งการลุกลามของมะเร็งได้อย่างทันท่วงที