การอ่านอัลกุรอานด้วยท่วงทำนอง
  จำนวนคนเข้าชม  30409

   

การอ่านอัลกรุอานด้วยท่วงทำนอง

 

  

คำถาม :

      ข้าพเจ้าได้ยินมาว่ามีหะดีษหลายบทที่บัญญัติให้อ่านอัลกุรอานด้วยทำนอง ไม่ทราบว่าเราจะเข้าใจหะดีษดังกล่าวว่าอย่างไร ?

 

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

คำตอบ :

 


การอ่านอัลกุรอานด้วยทำนอง หมายถึง ...


          1. การอ่านอัลกุรอานด้วยเสียงที่ไพเราะชัดเจน จนทำให้จิตใจเกิดความสำรวม อ่อนโยน และโศกเศร้า โดยไม่แสดงออกอาการที่เกินควรนัก อ่านด้วยท่วงทำนอง ในที่นี่หมายถึงการอ่านดังชัดเจน ดังที่มีกล่าวในหะดีษที่บันทึกโดย อิหม่ามมุสลิม

จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า

 «ما أذن الله لشيء كأذَنه لنبي يتغنّى بالقرآن يجهر به»

 “อัลลอฮฺไม่ทรงอนุญาตใดๆ ดังที่พระองค์ทรงอนุญาตให้กับท่านนบีด้วยการอ่านอัลกุรอานด้วยท่วงทำนองเสียงดังไพเราะ”

  

          จากหะดีษข้างต้นบ่งบอกถึง การบัญชาและส่งเสริมให้อ่านอัลกุรอานด้วยเสียงที่ไพเราะ ในหะดีษ ยังได้ขยายความหมายของคำว่า التغنّي (อัตตะฆ็อนนีย์) คือ การอ่านด้วยเสียงดังที่ไพเราะ โดยทำนองที่อ่านนั้นต้องเป็นไปตามธรรมชาติไม่ใช่เกิดจากการฝืนทำแต่อย่างใด และไม่ใช่การอ่านตามทำนองดนตรีอาหรับ ชาวอาหรับก่อนที่อัลกุรอานจะถูกประทานลงมานั้น พวกเขาชื่นชอบการขับร้องบทกลอนด้วยท่วงทำนอง โดยเฉพาะในขณะขี่อูฐ ทั้งนี้เพื่อให้อูฐนั้นเดินอย่างกระฉับกระเฉง

          เมื่ออัลกุรอานถูกประทานลงมา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กำชับให้บรรดามุสลิมสนใจเฉพาะกับอัลกุรอานเท่านั้น ท่านได้ใช้ให้อ่านอัลกุรอานด้วยเสียงดังและไพเราะพร้อมทั้งรักษาหลักการอ่านให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการแทนที่ดนตรีบทเพลงที่พวกเขาเคยชื่นชอบ บทเพลงและดนตรีก็ถูกแทนที่ด้วยเสียงอัลกุรอาน เฉกเช่นที่การกระทำที่ต้องห้ามอื่นๆ ถูกแทนด้วยสิ่งที่ดีกว่า เช่นการละหมาดอิสติคอเราะฮฺ ถูกบัญญัติมาเพื่อแทนที่การเสี่ยงทายด้วยลูกธนู การแต่งงานถูกบัญญัติมาเพื่อแทนที่การประพฤติผิดทางเพศ เป็นต้น

  

          2. บางครั้งการอ่านด้วยท่วงทำนอง อาจหมายถึง การอ่านที่เหมือนทำนองเพลงหรือดนตรีอาหรับ เพื่อให้คนที่ฟังรู้สึกประทับใจ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือทำให้เกิดความสำรวมใจแต่อย่างใด ดังที่ปรากฏในหะดีษเกี่ยวกับสัญญาณวันกิยามะฮฺ

  

          3. เป็นไปไม่ได้ที่คำว่า التغنّي (อัตตะฆ็อนนีย์) หมายถึง อัลอิสติฆนาอ์ คือไม่มีความจำเป็นที่มนุษย์ต้องนำอัลกุรอานมาใช้ เพราะคำนี้มีความหมายที่แตกต่างกัน ส่วนทางด้านภาษาก็ไม่ยอมรับที่จะให้ความหมายเช่นนั้น

          การอ่านที่เป็นท่วงทำนองนั้นต้องเป็นไปตามธรรมชาติ โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล และไม่จำเป็นต้องฝึกอ่านตามทำนองที่ถูกกำหนดขึ้นมา

         อิบนุล ก็อยยิม กล่าวว่า การอ่านอัลกุรอานด้วยท่วงทำนองที่เป็นธรรมชาติของแต่ละคน โดยไม่ฝืนทำตามทำนองที่กำหนดเองหรือที่ต้องเรียนต้องฝึกกันเป็นการเป็นงาน ก็ถือว่าอนุญาตให้กระทำได้ ดังที่

ท่านอบูมุซา อัลอัชอะรีย์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวกับท่านนบี  ว่า

                                                                                                         «لَوْ عَلِمْتُ لحَبّرْتُهُ لَكَ تَحْبِيراً»

                                                        “หากฉันทราบว่า (ท่านแอบฟังฉันอ่านอัลกุรอานอยู่) แน่นอนฉันคงต้องอ่านให้เพราะกว่านั้นอีก”

 

       การกระทำเช่นนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาตกระทำได้ ส่วนการอ่านด้วยการฝึกอ่านให้ตรงตามหลักทำนองนั้น บรรดาอัสสะลัฟ ศอลิหฺ (กัลยาณชนรุ่นแรก) ถือว่าเป็นมักรูฮฺ (สิ่งที่น่ารังเกียจ) พวกเขาตำหนิการกระทำเช่นนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า กัลยาณชนรุ่นแรกอ่านอัลกุรอานด้วยนำเสียงที่โศกเศร้า พวกเขาพยามยามอ่านด้วยเสียงที่ไพเราะและตรึงใจ ทั้งหมดล้วนมาจากธรรมชาติที่อยู่ในตัวของแต่ละคน


 

ข้อชี้แจงเกี่ยวกับความหมายการอ่านด้วยท่วงทำนอง

 

     1. ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า หะดีษที่เกี่ยวกับสัญญาณวันกิยามะฮฺ และคำฟัตวาของท่านอิหม่ามมาลิก ชี้ให้เห็นว่า ห้ามอ่านอัลกุรอานตามหลักทำนองที่ได้วางไว้ เพราะถือว่าผิดวิสัยของการอ่านอัลกุรอานและขัดแย้งกับความสงบที่มีในตัวอัลกุรอาน ในการนี้ไม่เป็นที่ขัดแย้งเลยว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นที่ต้องห้าม

 

     2. ส่วนหะดีษของอะนัสและอบูษัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา และหะดีษของท่านอื่นๆ เป็นหะดีษที่บอกถึงลักษณะการอ่านอัลกุรอานของพวกเคาะวาริจญ์ พวกเขาอ่านอัลกุรอานทั้งกลางวันและกลางคืนแต่ทว่าการอ่านนั้นไม่ได้ยังประโยชน์อะไรแก่เขาเลย ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับอัซซุนนะฮฺ(หะดีษ) ที่มีหน้าที่อธิบายขยายความอัลกุรอาน ดังนั้นพวกเขาไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจกับความหมายอัลกุรอานที่แท้จริงได้ อีกทั้งผลบุญของการอ่านก็ไม่ได้รับ

         ในหะดีษหลายบทระบุว่าพวกเขาได้ออกจากศาสนาอิสลามเสมือนกับลูกธนูได้พุ่งผ่านร่างของเหยื่อ(หมายถึงไม่มีร่องรอยของศาสนาเหลืออยู่เลย) ได้มีคำสั่งให้ต่อสู้กับพวกเขา พวกเขาเป็นสรรพสิ่งที่เลวที่สุดบนโลกนี้ พวกท่านจะดูถูกการละหมาดของพวกท่านเอง(จะคิดว่าการละหมาดของตนเองยังด้อย) เมื่อนำไปเทียบการการละหมาดของพวกเขา พวกท่านจะดูถูกการอ่านอัลกุรอานของพวกท่านเองเมื่อนำไปเทียบกับการอ่านอัลกุรอานของพวกเขา นี่คือลักษณะของชาวเคาะวาริจญ์และผู้ที่มีนิสัยเยี่ยงอย่างพวกเขา

         อิบนุตัยมิยะฮฺ กล่าวว่า หะดีษที่เกี่ยวกับเคาะวาริจญ์เป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺ(ถูกต้อง)ทั้งสิบสายรายงาน อิหม่ามมุสลิมได้บันทึกไว้ในตำราเศาะฮีหฺ ของท่าน อิหม่ามอัลบุคอรีย์ก็ได้ทำการบันทึกบางส่วนไว้เช่นกัน พวกเคาะวาริจญ์ คือพวกที่ถือว่ามุสลิมที่กระทำบาปใหญ่นั้นกลายเป็นกาฟิร พวกเขาคือพวกอุตริในศาสนา พวกเขาตีความตัวบทอัลกุรอานอย่างผิดเพี้ยน และเป็นขบถต่อหมู่คณะหรือรัฐบาลอิสลาม (ขออัลลอฮฺทรงโปรดประทานความปลอดภัยแก่เราทั้งในโลกนี้และโลกหน้าด้วยเถิด)นี่คือลักษณะเฉพาะของพวกเคาะวาริจญ์และผู้ที่มีลักษณะคล้ายพวกเขา ส่วนบรรดากอรีในวันนี้เท่าที่ข้าพเจ้าทราบไม่ได้มีลักษณะเช่นพวกเขา

 

      3. ส่วนคำฟัตวาของอิหม่ามอะหฺมัดที่เกี่ยวกับการออกเสียงหรือสระที่เพิ่มขึ้นมาเนื่องจากยืดหยุ่นเสียงถือว่าเป็นการอ่านไม่ถูกต้อง ฟัตวานี้ถือว่าการกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ดังที่ อัลกอฎีย์ อบูยะอฺลา ได้กล่าวไว้ การกระทำดังกล่าวเหมือนเป็นการเพิ่มอักษรใหม่ขึ้นมาอีก เช่นเพิ่ม วาว และอลิฟ ใน คำว่า มุหัมหมัด เป็น มู หาม หมาด อย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเอกฉันท์ ในสมัยของท่านอิหม่ามอะหมัดนั้นผู้คนชอบขับกลอนเป็นทำนองเพลง พวกเขาจะลากเสียงยาวตามแต่ใจชอบ อิสหาก อัลเมาศิลีย์ เคยตำหนิ อิบรอฮิม อัลมะฮฺดีย์ ในเรื่องนี้เพราะเป็นทำให้ภาษาอาหรับผิดเพี้ยนจากเดิม ในเมื่อการขับกลอนด้วยทำนองอย่างผิดเพี้ยนถูกตำหนิแล้ว ในการอ่านอัลกุรอานก็ยิ่งสมควรตำหนิหากอ่านผิดเพี้ยนจากภาษาเดิม แต่สิ่งที่กล่าวมานั้นไม่ปรากฏเห็นในสมัยเรา อัลหัมดุลิลละฮฺ

 

     4. อิบนุตัยมิยะฮฺ กล่าวว่า ท่วงทำนองที่บรรดาอุละมาอ์ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในการอ่านอัลกุรอ่าน คือการอ่านคำที่ต้องอ่านด้วยเสียงยาวแต่กลับไปอ่านเสียงสั้น คำที่ต้องอ่านด้วยเสียงสั้นกลับไปอ่านเสียงยาว คำที่ตายกลับไปใส่สระ ส่วนคำที่มีสระกลับไปอ่านตาย สาเหตุที่อ่านเช่นนั้นก็เพื่อให้สอดคล้องกับทำนอง การอ่านเช่นนั้นหากส่งผลให้ความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม ก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม


 

การผสานระหว่างหลักฐานที่ห้ามและหลักฐานที่อนุมัติ

          ไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างหลักฐานที่ห้ามกับหลักฐานที่อนุมัติแต่อย่างใด เพราะหลักฐานที่ห้ามนั้นคือห้ามการอ่านที่เกินขอบเขตของการอ่านที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม หรือตัดทอน หรือทำให้กฎของการอ่านนั้นบกพร่อง หรือขัดแย้งกับสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดติดต่อกันมา และการอ่านด้วยทำนองเพลงเป็นที่ต้องห้ามเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีเครื่องดนตรีประกอบก็ตาม ทั้งนี้เพื่อรักษาสมาธิของผู้อ่านในระหว่างที่อ่านอัลกุรอานอยู่

อนุญาตให้อ่านอย่างถูกหลักการอ่านด้วยเสียงที่ไพเราะ หากอ่านด้วยท่วงทำนองหมายถึงการเพิ่มเติมหรือลดทอนตัวอักษรหรืออ่านขัดกับหลักการอ่านที่สืบทอดกันมาก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม

และหากการอ่านด้วยท่วงทำนองหมายถึงการอ่านที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กระตุ้นจิตใจของมนุษย์ให้เกิดความสำรวมและความโศกเศร้ากับอายะฮฺอัลกุรอานถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ตราบใดที่ไม่ทำให้คำและความหมายเปลี่ยน แต่ทั้งนี้ต้องไม่อ่านตามทำนองเพลงที่คิดค้นหรือกำหนดมาเอง

 

          อิหม่ามอัสสุยูฏีย์ กล่าวว่า หากการอ่านอัลกุรอานด้วยท่วงทำนอง ด้วยเสียงที่ไพเราะหรือเสียงยาว โดยการอ่านนั้นยังอยู่ในกรอบที่ถูกยอมรับ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หากการอ่านที่เกินขอบเขตที่ศาสนากำหนดก็ถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม

ท่านได้กล่าวในหนังสืออธิบายหนังสือ อัรริสาละฮฺ อีกว่า จากคำพูดของบรรดานักวิชาการ สรุปได้ว่า

         การอ่านอัลกุรอานด้วยเสียงที่ดีไพเราะตามหลักทำนองการอ่านที่ได้กำหนดหรือคิดขึ้นมานั้น เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ มีบางท่านเห็นว่าการอ่านเช่นนั้นขัดกับการอ่านอัลกุรอานของกัลยาณชนรุ่นแรก เพราะการอ่านเช่นนั้นทำให้กอรี(นักอ่าน)ลืมกฎการอ่านที่ถูกต้อง จึงได้ห้ามอ่านแบบนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีต้องห้ามขึ้นมาภายหลัง ส่วนการอ่านด้วยเสียงที่ดีและไพเราะโดยไม่ยึดติดกับทำนองการอ่านที่คิดค้นมา ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยเอกฉันท์

 

         อิบนุ กุดามะฮฺ กล่าวว่า บรรดานักวิชาการมีมติเห็นพ้องว่า การอ่านอัลกุรอานด้วยน้ำเสียงที่เศร้าสร้อย ด้วยการตัรตีล(ค่อยๆ อ่านอย่างตั้งใจ) ด้วยเสียงที่ดีไพเราะ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ

ข้าพเจ้าเห็นว่า คำพูดของท่านอิบนุกุดามะฮฺสอดคล้องกับหะดีษที่รายงานโดยท่านบุร็อยดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า

 « اِقْرَءُوا الْقُرْآنَ بِالحْزُْنِ فَإِنَّهُ نَزَلَ بِالحْزُنِ »   “พวกท่านจงอ่านอัลกุรอานด้วยความเศร้า เพราะอัลกุรอานนั้นถูกประทานลงมาด้วยความเศร้าโศก”

 

และหะดีษที่รายงานโดยอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ว่า

« إِنَّ أَحْسَنَ النَّاسِ قِرَاءَةً مَنْ إِذَا قَرَأَ يَتَحَزَّن »  “แท้จริงคนที่ดีที่สุดคือคนที่เวลาอ่านอัลกุรอานแล้วเขาจะอ่านด้วยความเศร้า”


หะดีษทั้งสองบทข้างต้นเป็นหะดีษเฎาะอีฟ (อ่อน) และหะดีษบทแรกเป็นหะดีษที่เฎาะอีฟ ญิดดัน(อ่อนมาก)

 

 

ที่มา วารสารอัดดะอฺวะฮฺ ฉบับที่ 1798 หน้าที่ 44

http://www.islamqa.com/index.php?ref=1377&ln=ara