ผู้นำละหมาดให้ทำปานกลาง ไม่ช้าหรือเร็ว
  จำนวนคนเข้าชม  7220

ผู้ที่เป็นอิมามนำละหมาด ให้กระทำปานกลาง ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป

มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะห์ ว่า ท่านรอซูล  ได้กล่าวว่า :

              เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านละหมาด (เป็นอิมาม) ก็จงกระทำอย่างพอดีๆ (ไม่ให้นานหรือเร็วเกินไป) แท้จริงในหมู่พวกเขา (มะมูม)นั้น มีคนอ่อนแอ คนป่วย คนชรา และเมื่อคนหนึ่งคนใดทำละหมาดสำหรับตนเอง (ละหมาดคนเดียว) ก็จะกระทำให้ยาวนานเท่าใดก็ได้ แล้วแต่ความต้องการ

บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม
(ดูในบุคอรีย์เล่ม 2 หน้า 168 และดูในมุสลิม หะดีษเลขที่ 467)

บางรายงานมีเพิ่มคำว่า : และมีคนที่เขามีธุระ (จะต้องกระทำหลังละหมาด)


คำอธิบาย

              ท่านนบี ใช้ให้ผู้ที่เป็นอิมาม นำละหมาดอย่างปานกลาง ไม่ให้ช้าหรือเร็วเกินไป แต่ถ้าหากทุกคนที่ร่วมละหมาด ยินดีจะละหมาดนานๆ อิมามกับมะมูมรู้กันอยู่แล้ว อย่างนี้ก็ให้นำละหมาดนานๆ อ่านยาวๆได้ สาเหตุที่ท่านรอซูล ให้กระทำอย่างปานกลาง หรือค่อนข้างเร็วนั้น เพราะเป็นห่วงมะมูม ซึ่งบางคนอาจจะเป็นคนพิการ ป่วย อ่อนแอ ถ้าหากอิมามนำละหมาดนานเกินไปแล้ว บุคคลเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถตามได้จนกระทั่งจบ หรือบางคนอาจมีธุระจำเป็นเร่งด่วน จะต้องรีบกระทำให้เสร็จโดยเร็ว การที่อิมามนำละหมาดนานเกินไป ก็อาจจะทำให้ธุรกิจของเขาเสียหายได้

             บัญญัติศาสนานั้นเป็นเรื่องปฏิบัติได้โดยง่าย ไม่ก่อให้เกิดความลำบาก ด้วยเหตุนี้ ท่านรอซูล  จึงบอกกล่าวให้รู้ว่าผู้เป็นอิมามก็อย่าได้นำละหมาดนานเกินควร เพื่อแสดงให้เห็นว่า การทำอิบาดะห์ไม่เป็นอุปสรรคในการประกอบการงานอื่นๆ แต่ถ้าหากกระทำละหมาดคนเดียวจะกระทำอย่างเนิ่นนานเท่าใดก็ได้

สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษนี้


1. เมื่อเป็นอิมามนำละหมาดให้กระทำปานกลาง ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป
2. อิสลามให้เกียรติแก่สิทธิส่วนบุคคล และคำนึงถึงส่วนรวมด้วย


ที่มา: ริยาดุสซอลีฮีน


โดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ