มารู้จักกับอัลกุรอาน
พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานทะยอยประทานมาให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด นับตั้งแต่ท่านได้รับวะหฺยุ (วิวรณ์) ครั้งแรก ขณะที่ท่านอายุ 40 ปี จนถึงอายุ 63 ปี รวมเวลาของการประทานอัลกุรอานทั้งหมด 23 ปี
ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต (วะฟาต) ท่านได้อ่านอัลกุรอานทั้งหมดต่อหน้าญิบรีลในเดือนรอมฎอนสุดท้ายของชีวิตท่าน 2 ครั้ง ซึ่งเดิมแล้วท่านจะอ่านต่อหน้าญิบรีลทุกๆปีในเดือนรอมฎอน 1 ครั้ง และการอ่านครั้งสุดท้ายนี้ท่านได้อ่านอัลกุรอานเรียงตามอายะฮฺเหมือนดังรูปเล่มอัลกุรอานที่เราได้อ่านกันทุกวันนี้ นอกจากนี้ญิบรีลยังได้สอนการอ่านอัลกุรอานทั้ง 7 สำเนียงอีกด้วย
เพราะฉะนั้นอายะฮฺแต่ละอายะฮฺจึงได้รับการตรวจสอบจากท่านนบี เองโดยตรง บรรดาเศาะฮาบะฮฺจำนวนหลายร้อยคนที่จดจำอัลกุรอานทั้งเล่ม อย่างไรก็ดีอัลกุรอานยังไม่มีการจัดพิมพ์ให้อยู่ในเล่มเดียวเหมือนปัจจุบัน เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีกระดาษและระบบการพิมพ์ บรรดาเศาะฮาบะฮฺแต่ละท่านก็มีการรวบร่วมอัลกุรอานกันเป็นการส่วนตัว ซึ่งแน่นอนว่ามีการจัดลำดับก่อนหลังที่ไม่ตรงกัน
ภายหลังท่านนบี ได้จากไปท่านอุมัรได้สนับสนุนให้ท่านอบูบักร (632-634) คอลีฟะฮฺแห่งอิสลาม รวบรวมอัลกุรอานให้อยู่ในเล่มเดียวกันอย่างเป็นสากล ให้เป็นไปตามลำดับที่ท่านนบี ได้อ่านให้ญิบรีลก่อนจากโลกนี้ไป เนื่องจากว่าได้มีเศาะฮาบะฮฺที่จำอัลกุรอานทั้งเล่มเสียชีวิตไปในสงครามยะมามะฮฺหลายท่าน ท่านอบูบักรได้มอบงานนี้ให้กับ ซัยดฺ บิน ษาบิต เศาะฮาบะฮฺที่เชี่ยวชาญอัลกุรอาน ทำการรวบรวมอัลกุรอานตามที่ท่านนบี ได้อ่านเป็นครั้งสุดท้ายกับญิบรีล อัลกุรอานฉบับนี้ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่บ้านของฮับเซาะฮฺ บุตรสาวของท่านอุมัร
ในสมัยของท่านเคาะลีฟะฮฺคนที่สามแห่งอิสลามคือท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน รัฐอิสลามได้ขยายตัวออกไปกว้างไกล ท่านจึงต้องการที่จะทำการคัดลอกต้นฉบับของอัลกุรอานส่งไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อการเผยแผ่อัลกุรอานที่เป็นระบบ มีการจัดเรียงลำดับซูเราะฮฺอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการออกเสียงที่สอดคล้องกันทั้งรัฐ ท่านได้มอบงานนี้ให้ ซัยดฺ บิน ษาบิต และเศาะฮาบะฮฺกลุ่มหนึ่งทำการคัดสำเนาจากอัลกุรอานของท่านหญิงฮับเซาะฮฺส่งออกไปทั่วโลกมุสลิม ต้นฉบับชุดนี้บางเล่มยังคงมีอยู่ในโลกมุสลิม
เมื่อเราทราบประวัติความเป็นมาของอัลกุรอานโดยย่อ เราก็พอจะเห็นเป็นเค้าโครงว่าอัลกุรอานได้รับการบันทึกเป็นเล่มอย่างเคร่งครัด แต่อย่างไรก็ตามวิธีการเด่นที่รักษาอัลกุรอานไว้ได้อย่างไม่มีใครเถียงนั่นก็คือ "การท่องจำ" ที่ดำเนินผ่านศตวรรษแล้วศตวรรตเล่า บุคคลแรกที่จำอัลกุรอานทั้งเล่มก็คือ ท่านนบีมุฮัมมัด ซึ่งท่านได้รับอัลกุรอานทะยอยลงมา 22.5 ปี และคนรุ่นแรกที่จดจำต่อจากท่านก็คือบรรดาเศาะฮาบะฮฺจำนวนหลายร้อยคน จากนั้นก็ถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป จนถึงทุกวันนี้ ชาวมุสลิมแทบทุกคนจะจำอัลกุรอานได้บางส่วน และมีบางคนสามารถจดจำได้ตลอดทั้งเล่ม ฉะนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าวิธีการจดจำอัลกุรอานแบบท่องจำ กลายเป็นวีธีการหลักในการรักษาอัลกุรอานเอาไว้ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ความมหัศจรรย์แห่งการท้าทาย อัลกุรอานเป็นอายะฮฺที่ถูกประทานมาจากอัลลอฮฺ ชาวมุสลิมเองได้พบหลักฐานที่นำมาพิสูจน์เรื่องนี้มากมาย ซึ่งเป็นที่ภูมิใจแก่ชาวมุสลิมเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในทางภาษาศาสตร์ ภาษาที่อัลกุรอานใช้นั้นสั้นแต่มีความหมายที่ชัดเจน การนำคำที่ง่ายๆแต่งดงามมาใช้สื่อความ ลีลาที่เร่งเร้าและแทงทะลุเข้าสู่จิตใจของมนุษย์เป็นรูปแบบพิเศษในการใช้ภาษา การเริ่มต้นการลงท้าย การวางตำแหน่งของคำ เป็นรูปแบบที่งดงามไร้ที่ติ นี่เป็นสิ่งที่ประจักษ์ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับ
และเมื่ออัลกุรอานได้บันทึกเรื่องใดเรื่องนั้นเป็นความเป็นจริงเสมอ ซึ่งถูกพิสูจน์มาแล้วทั้งสิ่งที่ผ่านมาและสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น
และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้นไม่เห็นดอกหรือว่า แท้จริงชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนั้น แต่ก่อนนี้รวมติดเป็นอันเดียวกัน แล้วเราได้แยกมันทั้งสองออกจากกัน และเราได้ทำให้ทุกสิ่งมีชีวิตมาจากน้ำ ดังนั้นพวกเขาจะยังไม่ศรัทธาอีกหรือ
(อัล อัมบียาอฺ 21:30)
โอ้ชุมนุมแห่งญินและมนุษย์ทั้งหลาย เอ๋ย ! หากพวกเจ้ามีความสามารถที่จะผ่านไปให้พ้นขอบฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนี้ได้ ก็จงผ่านไปให้พ้นเถิด แต่ว่าพวกเจ้าไม่สามารถที่จะผ่านไปให้พ้นได้เว้นแต่ด้วยพลัง (พระบัญชาและพระประสงค์ของอัลลอฮฺ)
(อัร เราะมาน 55:33)
ที่ต้องสังเกตเป็นพิเศษก็คือ นบีมุฮัมมัด นั้นไม่เคยศึกษาเล่าเรียน หรือผ่านสถาบันใดๆมาเลย เป็นผู้นำคัมภีร์เล่มนี้มาประกาศ จึงไม่สามารถสันนิษฐานว่าท่านเป็นคนประพันธ์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้เองที่อัลกุรอานเป็นสิ่งหลักที่ใช้ยืนยันว่าท่านนบีมุฮัมมัด เป็นผู้นำสาส์นมาจากผู้เป็นเจ้า
และหากปรากฏว่าพวกเจ้าอยู่ในความแคลงใจใด ๆ จากสิ่งที่เราได้ลงมาแก่บ่าวของเราแล้ว ก็จงนำมาสักซูเราะฮฺหนึ่งเยี่ยงสิ่งนั้น และจงเชิญชวนผู้ที่อยู่ในหมู่พวกเจ้าอื่นนอกจากอัลลอฮฺหากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง
(อัล บะเกาะเราะฮฺ 2:23)
หรือพวกเขากล่าว่า "เขา (มุฮัมมัด) เป็นผู้ปั้นแต่งขึ้น" จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) "พวกท่านจงนำกลับมาสักบทหนึ่งเยี่ยงนั้น และจงเรียกร้องผู้ที่พวกท่านสามารถนำมาได้ นอกจากอัลลอฮ์ หากพวกท่านเป็นผู้สัจจริง"
(ยุนุส 10:38)
หรือพวกเขากล่าวว่า "เขา (มุฮัมมัด) ได้ปลอมแปลงอัลกุรอานขึ้นมา" (มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิด "ดังนั้น พวกท่านจงนำมาสักสิบซูเราะฮ์ที่ถูกปลอมแปลงขึ้นให้ได้อย่างอัลกรุอาน และพวกท่านจงเรียกผู้ที่มีความสามารถในหมู่พวกท่านอื่นจากอัลลอฮ์ (ให้มาช่วย) ถ้าพวกท่านเป็นพวกสัตย์จริง
(ฮูด 11:13)
จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด แน่นอนหากมนุษย์และญินรวมกันที่จะนำมาเช่นอัลกุรอานนี้ พวกเขาไม่อาจจะนำมาเช่นนั้นได้ และแม้ว่าบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้ช่วยเหลือแก่อีกบางคนก็ตาม
(อัล อิสรออฺ 17:88)
พวกเขาไม่พิจารณาดูอัลกุรอานบ้างหรือ ? และหากว่า อัลกุรอานมาจากผู้ที่ไม่ใช่อัลลอฮฺแล้วแน่นอนพวกเขาก็จะพบว่าในนั้นมีความขัดแย้งกันมากมาย
(อัล นิสาอฺ 4:82)
แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน
(อัล อิจญฺ 15:9)
หากพวกเขาไม่ตอบสนองการเรียกร้องของพวกท่านก็จงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลกรุอานถูกประทานลงมาด้วยวะฮีย์ของอัลลอฮ์ และนั่นคือไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ แล้วพวกเจ้า (มุชริกีน) ยังมินอบน้อมอีกหรือ?"
(ฮูด 11:13-14)
คัมภีร์เปลี่ยนโลก แม้คัมภีร์อัลกุรอานจะเป็น "สื่อ" ที่สำคัญที่สุดในการพิสูจน์ความแท้จริงของอิสลามว่าเป็นศาสนาที่ถูกประทานมาจากผู้เป็นเจ้า แต่อย่างไรก็ตาม คัมภีร์นี้ไม่ได้มาเพียงแค่ให้คนอ่านตีความไปวันๆหนึ่ง แต่เพื่อนำมนุษยชาติไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง
บรรดาผู้ได้รับคัมภีร์ทั้งหลาย ! (หมายถึงพวกยิวและคริสต์ ) แท้จริงร่อซูลของเรา(นะบีมุฮัมมัด )ได้มายังพวกเจ้าแล้ว โดยที่เขาจะแจกแจงแก่พวกเจ้า ซึ่งมากมายจากสิ่งที่พวกเจ้าปกปิดไว้จากคัมภีร์(อันได้แก่ลักษณะของท่านนะบีมุฮัมมัดและการลงโทษผู้ทำซินา โดยการขว้างด้วยหินจนตายเป็นต้น) และเขาจะระงับไว้มากมาย(คือไม่บอกกล่าวสิ่งที่พวกเขาปกปิดไว้ )
แท้จริงแสงสว่างจากอัลลอฮ์ และคัมภีร์อันชัดแจ้งนั้นได้มายังพวกเจ้าแล้ว ด้วยคัมภีร์นั้นแหละ อัลลอฮ์จะทรงแนะนำผู้ที่ปฏิบัติตามความพึงพระทัยของพระองค์ ซึ่งบรรดาทางแห่งความปลอดภัย และจะทรงให้พวกเขาออกจากความมืดไปสู่แสงสว่างด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และจะทรงแนะนำพวกเขาสู่ทางอันเที่ยงตรง
(อัล มาอิดะฮฺ 5: 15-16)
บทความโดย: ศูนย์บริการวิชาการอิสลาม