สัญญาณปัญหาการพูดของ ลูกน้อย
  จำนวนคนเข้าชม  18248

สัญญาณปัญหาการพูดของลูกน้อย

          พัฒนาการอย่างหนึ่งของเจ้าตัวเล็กที่พ่อแม่รอคอยก็คือ "การพูด" บ้านไหนลูกพูดช้าไปสักนิด พ่อแม่อาจจะเริ่มกังวล สงสัยว่าลูกมีปัญหาหรือผิดปกติอะไรหรือเปล่า หรือมีอะไรที่ผิดปกติ มีความรู้เรื่องโรคบางโรคที่อาจมีผลต่อพัฒนาการด้านการพูดของเด็กมาฝากเป็นข้อมูลกันค่ะ

         แม่ๆหลายคนกังวลเรื่องการพูดของลูกกันมาก ว่าลูกจะพูดชัดไหม ทำไมยังไม่ยอมพูด พูดได้ไม่กี่คำ และอีกต่างๆนานา คนที่เป็นแม่แสนจะกังวล สัญญาณเหล่านี้ช่วยให้คุณได้รู้ค่ะ

1.เล่นเสียงตามวัยหรือไม่ และเสียงที่ได้นั้นตามวัยหรือเปล่า เป็นลักษณะการสังเกตทั่วไปที่พูดแล้วไม่ได้ตามเกณฑ์อายุ

2.เคยพูดได้ อยู่ดีๆก็หยุด ทำไม่ได้ ต้องดูว่าที่หยุดไปสัมพันธ์กับอะไร เช่น เปลี่ยนพี่เลี้ยง หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กตกใจ เช่น ต้องไปอยู่กับยาย โดยที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน เด็กก็อาจจะหยุดพูด ต้องให้เวลาเด็กปรับตัว แต่ถ้าสภาพแวดล้อมเหมือนเดิมแล้วเด็กหยุดพูด อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น

3.คำสั่งที่เคยทำได้ ต่อมาทำไม่ได้ หรือทำผิด ลองทดสอบสิ่งที่เด็กไม่เคยชิน เช่น ถามลูกเมื่อชี้ไปที่สิ่งของ หรืออวัยวะง่ายๆ ดูว่าลูกตอบได้หรือไม่ เพื่อทดสอบการพูดและความเข้าใจของเด็ก

4.มีการเจ็บป่วย มีการติดเชื้อไม่สบายหรือชัก แล้วหมดสติไป พอฟื้นขึ้นมาก็ไม่พูด กรณีนี้อาจจะมีความสัมพันธ์กับตัวโรคโดยตรง หรือได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้รับความกระทบกระเทือน ก็อาจมีปัญหาด้านการพูดได้

5.จำนวนครั้งที่พูดได้ พูดได้มากน้อยแค่ไหน

6.ถึงจะยังเล็กแต่ก็ควรพูดได้หลายเสียง ถ้าลูกพูดเก่งแต่ไม่มีความหลากหลายของเสียง แบบนี้ชัดเจนว่ามีปัญหาการพูดแล้ว เวลาสังเกตควรต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานทั่วไปมาเปรียบเทียบด้วย

          หากพบว่าลูกส่งสัญญาณบางอย่างถึงคุณแล้ว ต้องหาสาเหตุแห่งสัญญาณนั้นให้เจอ เพื่อความแน่นอนควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า

โรคกับปัญหาการพูด

          เมื่อลูกมีปัญหาการพูดเป็นหน้าที่ของแม่ๆ ที่ต้องหาให้เจอว่าปัญหามาจากไหน ที่ไม่ควรมองข้ามคือโรคบางอย่าง อาจทำให้ลูกเกิดอาการพูดไม่ชัด ไม่พูด พูดไม่ถูกต้อง มาดูกันดีกว่าว่าโรคเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

         หูหนวกหูตึง เด็กที่หูหนวกจะไม่รู้สึกกับการเล่นเสียง ถึงแม่จะตอบสนองด้วยการอุ้ม แสดงความรักก็ตาม ขณะที่บางคนเรียนแบบแต่ท่าทางเพราะไม่ได้ยินเสียง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ ถ้าเคยเล่นเสียงอยู่ แล้วเล่นเสียงลดน้อยลง ๆ จนกระทั่งเงียบไปเลย ต้องตรวจการได้ยิน แต่บางโรงพยาบาลจะตรวจตั้งแต่เด็ก

         ปากแหว่งเพดานโหว่ สาเหตุหนึ่งเกิดจากแม่เป็นหัดเยอรมันขณะท้อง ช่วง 1-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้ปากแหว่งเพดานโหว่ เพราะขณะที่เพดานปากกำลังเจริญเติบโต พอติดเชื้อ เพดานปากก็หยุดการเจริญเติบโต มีโอกาสพูดบางเสียงที่ไม่ชัด เช่น ตัว "ส" หรืออักษรที่ต้องกักลมไว้ในปากเยอะๆ

          พังผืดใต้ลิ้น เกิดจากเอ็นใต้ลิ้นยึดรั้งเอาไว้ เด็กจะบังคับลิ้นได้ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะเมื่อพูดภาษาไทย เพราะเป็นเสียงที่ใช้ปลายลิ้นค่อนข้างเยอะ เช่น ล ต น ฯลฯ ลักษณะแบบนี้พ่อแม่สามารถสังเกตเองได้ เมื่อลิ้นโดนดึงรั้งออกมาก็จะมีลักษณะเป็นสองแฉก ถ้าไม่แน่ใจลองให้ลูกอ้าปากแล้วแลบลิ้น ถ้าลิ้นของเด็กโดนดึงรั้งจะเป็นแฉกโดยความเว้าของส่วนที่ถูกยึดไว้ ขึ้นอยู่กับว่าถูกดึงรั้งมากน้อยแค่ไหน ยิ่งรั้งมากอาจจะยกลิ้นได้เพียงนิดเดียว

         สมองพิการ กลุ่มของอาการที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวและท่าทาง เกิดจากความผิดปกติของสมอง จะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ แขน ขา ตัวอ่อน คออ่อน มีพัฒนาการช้า เคลื่อนไหวร่างกายไม่ถนัดนัก มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการกลืน การหายใจ การมองเห็น และการได้ยิน บางรายอาจจะมีอาการชักร่วมด้วย

          มะเร็งลิ้น ทำให้ลิ้นมีขนาดใหญ่มาก มีปัญหาเรื่องการกินและการหายใจมาเป็นอันดับแรก ช่วงที่ยังเป็นไม่มาก สังเกตได้จากการที่เด็กกินแล้วหกเลอะเทอะ กินได้ช้า หายใจลำบาก เด็กบางคนต้องผ่าตัดเอาบางส่วนของลิ้นออก ทำให้พูดไม่ชัด หมอจะพยายามผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อส่วนอื่นของลิ้นมาทำเป็นปลายลิ้น อาจจะมีขนาดเล็กกว่าหรือไม่ค่อยเหมือน แล้วจึงฝึกการใช้

         เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เกิดอาการชัก เกร็ง การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างนั่ง ยืน เดิน หรือหายใจ กินข้าวลำบากเพราะขากรรไกรค้าง กลืนน้ำลายไม่ได้ ซึ่งการใช้ลิ้นเริ่มจากการกินและการหายใจ หากทำอย่างแรกไม่ดี การพูดก็จะไม่ดีตามไปด้วย

          โรคต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก จึงอาจลดความเสี่ยงเรื่องพัฒนาการพูดได้บ้าง สิ่งสำคัญคือการหมั่นพูดคุยกับลูก กระตุ้นเสริมแรงให้ลูกได้พูดอย่างใจ เพื่อฝึกให้ใช้ภาษา และการสื่อสารที่ถูกต้อง เท่านี้ลูกๆของแม่ ก็จ้อ ได้อย่างไม่มีอุปสรรคแล้ว

สาเหตุที่ลูกไม่พูดอาจเกิดจาก

1. เป็นโรคที่ทำให้เกิดปัญหาการได้ยิน สูญเสียการได้ยิน

2. การที่คนรอบข้างเข้าใจภาษาท่าทางของเด็กไปหมด โดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่ป่วยหนักหรือป่วยยาว เริ่มพูดน้อยลงเพราะคนรอบข้างเอาใจใส่ และยอมให้แทบทุกเรื่อง กลายเป็นว่ายอมรับภาษาท่าทางน้น ซึ่งขัดขวางไม่ให้เด็กมีพัฒนาการเป็นไปตามวัย

3. พ่อแม่ หรือ คนรอบข้างไม่เปิดโอกาสให้พูด

4. ภาษาที่หลากหลาย เช่น พ่อเป็นคนไทย แม่เป็นคนจีน พี่เลี้ยงเป็นชาวพม่า มีกรณีศึกษาของเด็กคนหนึ่ง แม้จะอายุ 2 ขวบแล้วแต่ไม่พูดเลย เพราะมีตัวกระตุ้นหลายภาษาเกิน

5. ดูทีวีมากเกินไป ไม่ได้สื่อสารกับผู้คนรอบข้าง จึงไม่พัฒนาด้านการพูด

หากอยากพูดกับลูกที่มีปัญหาเรื่องการพูด อาจต้องมีเทคนิคสักนิด

1. พูดด้วยคำพูดและสีหน้าท่าทางที่อ่อนโยน ให้ลูกรู้สึกว่าปลอดภัย และมั่นใจว่าสิ่งที่ทำจะไม่เป็นอันตรายแก่ตัวลูก

2. เป็นตัวอย่างการพูดที่ดี ใช้คำพูดที่ถูกต้องกับลูกเสมอ ควรปฏิเสธสิ่งที่ไม่ถูก และเสริมสิ่งที่ถูก

3. ช่างสังเกต ดูว่าลูกพูดคำไหนได้บ้าง และพูดคำไหนไม่ได้บ้าง และพูดได้ในช่วงเวลาไหน เด็กบางคนชอบคุยตอนอาบน้ำ บางคนชอบคุยก่อนนอน ขึ้นอยู่กับลักษณะของเด็กแต่ละคน

4. ช่วยกระตุ้น พ่อแม่บางคนคุยกับลูกตลอด แต่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกพูดเลย กลายเป็นการสื่อสารจากพ่อแม่ฝ่ายเดียว อยากให้ลูกพูด ต้องกระตุ้นและเปิดโอกาสให้ลูกพูด เช่นสอนร้องเพลงเด็กๆ ตามความสนใจของลูก และเป็นสิ่งที่ลูกชอบ ถึงจะเป็นแรงเสริมให้ลูกอยากพูดคุย 

5. ต้องสนุก อย่าใช้วิธีบังคับให้เด็กพูดให้ถูกต้อง เด็กจะปฏิเสธและต่อต้านด้วยการนิ่ง ไม่ยอมพูด เราต้องเข้าใจลูกด้วย

ที่มา : Modermom