เกณฑ์วัดการเลียนแบบตะวันตกมุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด
ถาม : อะไรคือขอบเขตการเลียนแบบ(ตะชับบุฮฺ)ชาวตะวันตก ? ทุกสิ่งที่ใหม่และเก่าที่มาจากตะวันตกและถูกใช้ในสังคมเราล้วนเป็นการลอกเลียนแบบพวกเขาหรือไม่? หรืออีกนัยหนึ่ง เราจะใช้เกณฑ์อะไรเพื่อวินิจฉัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะเป็นการเลียนแบบชนกาฟิร?
ตอบ : อัลหัมดุลิลลาฮฺ ...
มีรายงานจากอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา เล่าจากท่านนบี ว่า ผู้ใดที่เลียนแบบกลุ่มชนใด เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา (บันทึกโดย อบู ดาวูด 3512, อัล-อัลบานีย์ให้หุก่มว่า หะสัน เศาะฮีหฺ ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อบี ดาวูด : 3401)
อัล-มุนาวีย์ และอัล-อัลเกาะมีย์ กล่าวว่า ความหมายก็คือ การที่ภายนอกนั้นเขาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของพวกเขา และดำเนินตามแนวทางและวิถีทางของพวกเขาทั้งในเรื่องการแต่งกายหรือการกระทำบางอย่าง
อัล-กอรีย์ กล่าวว่า ความหมายคือ ใครที่ลอกเลียนชนกาฟิร เช่นในเรื่องการแต่งกายและอื่นๆ หรือเลียนแบบพวกที่เหลวไหลหรือคนเลว หรือเลียนแบบพวกตะเศาวุฟหรือผู้มีคุณธรรมทั้งหลาย เขาก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา นั่นคือในเรื่องบาปหรือบุญ
อิบนุ ตัยมิยะฮฺ กล่าวไว้ใน อิกติฎออ์ อัศ-ศิรอฏ อัส-มุสตะกีม ว่า อิมามอะห์มัดและคนอื่นได้ใช้อ้างหะดีษนี้ ซึ่งอย่างน้อยที่สุด มันนำไปสู่หุก่มที่ว่า ห้ามลอกเลียนชนกาฟิร เช่นที่อัลลอฮฺตรัสว่า
« وَمَنْ يَتَوَلَّهُمْ مِنْكُمْ فَإِنَّهُ مِنْهُمْ » (سورة المائدة: من الآية 51)
ความว่า ผู้ใดในระหว่างพวกเจ้าที่ผูกสัมพันธ์กับพวกเขา แน่นอน เขาก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา (อัล-มาอิดะฮฺ : 51)
มันคล้ายกับที่อับดุลลอฮฺ บิน อัมร์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา กล่าวว่า ใครที่อาศัยอยู่ในดินแดนพวกมุชริกีน ได้ร่วมจัดงานเฉลิมฉลองและเทศกาลต่างๆ และได้เลียนแบบพวกเขาจนกระทั่งได้เสียชีวิต ในวันกิยามะฮฺเขาก็จะถูกต้อนรวมกับพวกเขา นี่อาจจะตีความได้ว่าการเลียนแบบใดๆ ทุกประเภทนั้นนำไปสู่การกุฟรฺ(ปฏิเสธศรัทธา) และหลายส่วนของมันเป็นที่ต้องห้าม หรืออาจจะตีความได้ว่าผู้เลียนแบบเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาเฉพาะในพฤติกรรมร่วมที่เขาได้เลียนแบบ ซึ่งหากพฤติกรรมนั้นเป็นกุฟรฺหรือมะอฺศิยัต(บาป)หรือเป็นสัญลักษณ์ของพวกเขา เขาผู้เลียนแบบนั้นก็จะโดนหุก่มเดียวกันด้วย มีรายงานจากอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา จากท่านนบี ถึงการห้ามมิให้เลียนแบบคนต่างศาสนิก ท่านได้กล่าวว่า ผู้ใดที่เลียนแบบกลุ่มชนใด เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา (อ้างแล้ว) กอฎีย์ อบู ยะอฺลาได้ร่วมบันทึกหะดีษนี้ อุละมาอ์หลายท่านได้อ้างใช้หะดีษนี้ในการวินิจฉัยว่าการแต่งเสื้อผ้าบางอย่างตามลักษณะของผู้ไม่ใช่มุสลิมนั้นเป็นที่น่ารังเกียจ (ดู เพิ่มเติม เอานุล มะอฺบูด ชัรหฺ สุนัน อบี ดาวูด)
การเลียนแบบชนกาฟิรนั้นมีสองประเภท คือ การเลียนแบบที่ต้องห้าม และ การที่เลียนแบบที่อนุญาต
ประเภทที่หนึ่ง การเลียนแบบที่ต้องห้าม นั่นคือการประพฤติตามการกระทำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศาสนาอื่น โดยที่เขาผู้เลียนแบบนั้นทราบดี และไม่มีระบุว่าเป็นหลักบัญญัติในศาสนาเรา อันนี้ย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม ทว่าบางอย่างนั้นอาจจะนำไปสู่การตกศาสนาได้ตามหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าผู้เลียนแบบจะทำเพื่อเอาใจชนกาฟิร หรือเพราะความปรารถนาของตนเอง หรือเพราะคิดไปว่ามันมีประโยชน์ในโลกนี้หรือโลกหน้า
หากมีผู้ถามว่าถ้าทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เขาก็จะได้บาปหรือไม่ เช่นผู้ที่จัดงานวันเกิดเป็นต้น? คำตอบก็คือ ผู้ใดที่กระทำโดยไม่รู้เขาก็จะไม่บาป แต่เขาต้องได้รับการสอนและบอกกล่าวให้รู้ หากเขายังดื้อรั้นทำต่อหลังจากที่รู้แล้ว นั่นถึงจะบาป
ประเภทที่สอง การเลียนแบบที่อนุญาตให้ทำได้ นั่นคือการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ดั้งเดิมนั้นไม่ได้นำมาจากชนกาฟิร แต่มีปรากฏว่าชนกาฟิรเองก็ทำสิ่งนั้นด้วย การเลียนแบบประเภทนี้ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม (แต่การทำไม่เหมือนกับพวกเขาอาจจะให้ผลที่ดีกว่า)การเลียนแบบในประเภทนี้อาจจะทำให้เราพลาดไม่ได้รับผลบุญที่เราถูกสั่งไม่ให้ตามพวกเขา
การเลียนแบบชาวคัมภีร์(ยิวและคริสต์)หรือพวกอื่นๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับทางโลกนั้นไม่เป็นที่อนุญาตนอกจากด้วยเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
1. การเลียนแบบต้องไม่เกี่ยวข้องกับการประเพณีหรือสัญลักษณ์เฉพาะของพวกเขา
2. ต้องไม่เกี่ยวข้องกับบัญญัติทางศาสนา โดยอาศัยการตรวจสอบหรือบอกเล่าจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ เช่นมีระบุไว้ในอัลกุรอานหรือในหะดีษ หรือด้วยสายรายงานเอกฉันท์ ตัวอย่างเช่นการกราบให้ความเคารพผู้อื่น ซึ่งเป็นที่อนุญาตสำหรับชนรุ่นก่อนอิสลาม
3. ต้องไม่มีบัญญัติในศาสนาเราถึงเงื่อนไขเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ หากมีระบุในบัญญัติของศาสนาเราว่าอนุญาตหรือห้ามการกระทำสิ่งนั้น ก็เพียงพอแล้วที่จะถือใช้ตามที่มีระบุในบัญญัติของเรา
4. การเลียนแบบนี้ต้องไม่ขัดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีในบัญญัติของศาสนาเรา
5. การเลียนแบบนี้ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเฉลิมฉลองของพวกเขา
6. การเลียนแบบต้องอยู่ในกรอบของความจำเป็นและต้องไม่เลยเถิดเกินไปจากนั้น
(ดู เพิ่มเติม อัส-สุนัน วะ อัล-อะษารฺ ฟี อัน-นะฮฺยุ อัน อัต-ตะชับบุฮฺ บิ อัล-กุฟฟารฺ เขียนโดย สุฮัยล์ หะสัน หน้า 58-59)