เ มื่ อ หั ว ใ จ ... ครุ่นคิด
เรียบเรียงโดย....อ. อัสมัน มีสมบูรณ์
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย...หนึ่งจากคำสั่งที่อัลลอฮ์ได้สั่งใช้ให้บ่าวของพระองค์ในอัลกุรอ่าน คือการใช้สติปัญญาพินิจพิจารณา ใคร่ครวญถึงการมีอยู่ของอัลลอฮ์ ตรึกตรองถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ตลอดจนสัญญาณต่างๆ อุทาหรณ์ และข้อเตือนใจที่อัลลอฮ์ได้ทรงเตือนบ่าวของพระองค์
قال تعالى: ﴿كَذَلِكَ يُبَيِّنُ اللَّهُ لَكُمُ الْآيَاتِ لَعَلَّكُمْ تَتَفَكَّرُونَ﴾
“เช่นนั้นแหละ อัลลอฮฺทรงแจกแจงบรรดาสัญญาณต่างๆของพระองค์แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ใช้ปัญญาใคร่ครวญ”
وقال تعالى: ﴿إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَاتٍ لِقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ﴾
“แท้จริง ในสิ่งนั้นย่อมมีสัญญาณต่างๆ สำหรับกลุ่มชนที่ใช้สติปัญญาใคร่ครวญ”
وقال تعالى: ﴿وَتِلْكَ الْأَمْثَالُ نَضْرِبُهَا لِلنَّاسِ لَعَلَّهُمْ يَتَفَكَّرُونَ﴾
“และตัวอย่างเหล่านั้น คือสิ่งที่เราได้ยกให้เป็นข้อเตือนใจแก่มนุษยชาติ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ใช้สติปัญญาใคร่ครวญอย่างแท้จริง”
นั่นหมายความว่า เรื่องราวเหล่านั้น ทั้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต หรือสิ่งที่เกิดกับตัวเรา หรือแม้แต่เกิดกับคนรอบข้างของเรา หากว่าเราได้ใช้หัวใจครุ่นคิดสักนิด เราจะพบว่านั่นคือข้อเตือนใจ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การใคร่ครวญนั้นคืออิบาดะห์ที่ใช้หัวใจ คือสิ่งที่เป็นกุญแจไปสู่ความดีงาม เป็นต้นตอแห่งความสำเร็จ และความผาสุกทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ ด้วยเหตุนี้เองชาวสลัฟ จึงให้ความสำคัญกับการใคร่ครวญ
قال عبد الرحمن بن زيد بن أسلم : : " مَا رَأْسُ هَذَا الدِّينِ وَصَلَاحُهُ إِلَّا التَّفَكُّرُ "
“ยอดสุดและความดีงามของศาสนา มิใช่สิ่งใดเลย นอกจากการใคร่ครวญ”
وقال الحسن البصري :: " التَّفَكُّرُ مِرْآةٌ تُرِيكَ حَسَنَاتِكَ وَسَيِّئَاتِكَ "
“การใคร่ครวญคือกระจกเงา ที่สะท้อนให้เจ้ามองเห็นทั้งความดีและความผิดของตัวเจ้าเอง”
وقال سفيان بن عيينة :: "التَّفَكُّرُ مِفْتَاحُ الرَّحْمَةِ، أَلَا تَرَى أَنَّهُ يَتَفَكَّرُ فَيَتُوبُ؟"
“การใคร่ครวญคือกุญแจแห่งความเมตตา เจ้าไม่เห็นหรือ เวลาที่เขาใคร่ครวญ เขาก็จะสำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัว”
وقال عمر بن عبد العزيز: : "الفِكْرَةُ فِي نِعَمِ اللَّهِ مِنْ أَفْضَلِ الْعِبَادَاتِ"
“การตรึกตรองในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ คือหนึ่งในรูปแบบของอิบาดะฮฺที่ประเสริฐที่สุด”
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ผู้ใดที่ใคร่ครวญถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ และตระหนักว่าพระองค์ทรงเฝ้าดูบ่าวของพระองค์อยู่ตลอดเวลา พระองค์ทรงได้ยิน ทรงเห็น ทรงรอบรู้
การใคร่ครวญเช่นนี้ คือสิ่งที่จะยับยั้งเขาจากการละเมิดคำสั่งของพระองค์ และจะปลุกจิตสำนึกให้เขาเกรงกลัวต่อพระองค์
قال تعالى: ﴿إِنَّمَا يَخْشَى اللَّهَ مِنْ عِبَادِهِ الْعُلَمَاءُ﴾
“แท้จริงผู้ที่เกรงกลัวอัลลอฮ์มากที่สุด คือบรรดาผู้ที่มีความรู้”
♥ ผู้ใดที่ใคร่ครวญถึงวันสิ้นโลก ว่าแท้จริงมันกำลังใกล้เข้ามา และมันคือชีวิตที่แท้จริง คิดถึงความสุขในสวรรค์ และการตอบแทนของพระองค์ แน่นอนว่าการใคร่ครวญนี้ จะปลุกเร้าให้เขา เตรียมความพร้อม เตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อรอวันแห่งการกลับคืนสู่พระองค์อย่างดีที่สุด
♥ ผู้ใดที่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน ถึงความต่ำต้อยของโลกดุนยาและธาตุแท้ของมัน และเห็นว่ามันทั้งไร้ค่า ต่ำช้า เขาจะไม่ทำให้มันคือเป้าหมายสูงสุดของการมีชีวิต แต่เขาจะใช้มัน เป็นสะพานไปสู่ความสำเร็จในโลกหน้า
♥ ผู้ใดที่ได้พิจารณาถึงความผิด และตระหนักถึงอันตรายอันใหญ่หลวง รวมถึงจุดจบที่เลวร้ายของการฝ่าฝืน เขาย่อมหวาดกลัวต่อการกระทำนั้นๆ และย่อมที่จะหลีกหนีจากมัน ให้ไกลที่สุด
♥ ผู้ใดที่ได้พินิจในเรื่องการอิบาดะฮฺ การภักดีต่ออัลลอฮฺ และรู้แจ้งว่าตนเองมิได้ถูกสร้างขึ้นมา เว้นแต่เพื่ออิบาดะฮฺต่ออัลลอฮ์ เขาย่อมที่จะมุมานะต่อสู้กับตัวเอง เพื่อปฏิบัติอิบาดะฮฺในรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุด ดีที่สุด และบริสุทธิ์ใจที่สุด
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย...แต่ผู้ใดที่ไม่ได้ใช้หัวใจไปในการใคร่ครวญที่เกิดประโยชน์ และก่อให้เกิดความดีงาม เขาได้ปล่อยให้หัวใจของเขา เป็นดั่งบ่อเกิดความคิดอันชั่วช้า ตกเป็นทาสของสิ่งที่ต่ำต้อย และการกระทำอันไร้ค่า ไร้เกียรติ ไร้ซึ่งศักดิ์ศรี
﴿أَفَلَمۡ يَسِيرُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَتَكُونَ لَهُمۡ قُلُوبٌ يَعۡقِلُونَ بِهَآ أَوۡ ءَاذَانٌ يَسۡمَعُونَ بِهَاۖ فَإِنَّهَا لَا تَعۡمَى ٱلۡأَبۡصَٰرُ وَلَٰكِن تَعۡمَى ٱلۡقُلُوبُ ٱلَّتِي فِي ٱلصُّدُورِ﴾
“แล้วพวกเขาไม่ได้เดินทางไปบนหน้าแผ่นดินดอกหรือ? เพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้หัวใจใคร่ครวญสิ่งต่างๆ
หรือใช้หูเพื่อรับฟังความจริง แท้จริง มิใช่ดวงตาทั้งหลายที่บอด แต่ทว่า หัวใจที่อยู่ในทรวงอกต่างหากนั่นแหละที่บอด”
ด้วยเหตุนี้ บรรดาอุลามาอฺจึงเปรียบ “จิตใจของมนุษย์” ว่าเหมือนกับ “โม่หิน” ที่มันหมุนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันจะบดทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ถูกใส่ลงไปในนั้น หากสิ่งที่ถูกใส่ลงไปคือข้าวสาลีหรือข้าวบาร์เลย์ สิ่งที่ได้ออกมาก็คือแป้งที่มีประโยชน์และมีคุณค่า
แต่หากใครใส่สิ่งสกปรก โสโครก เศษหิน ก้อนกรวด ทราย หรือแม้แต่เศษแก้วลงไป เขาจะไม่ได้รับสิ่งใดที่เป็นประโยชน์จากมันเลย แม้แต่น้อย!
ฉันใดก็ฉันนั้น จิตใจของมนุษย์ที่หมุนวนอยู่กับความคิดที่ดี ชีวิตเขาย่อมดำเนินไปบนหนทางแห่งความดีงาม แต่หากว่าเขาหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ไร้ค่า คิดหาทางทำบาป คิดเรื่องการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ และความต่ำช้า ท่านทั้งหลายลองคิดดูเถิดว่า คนผู้นี้จะมีสภาพเช่นไร!
الخطبة الثانية:
الحمد لله حمداً كثيراً طيباً مباركاً فيه كما يحبُّ ربنا ويرضى، وأشهد أن لا إله إلا الله وحده لا شريك، وأشهد أن محمداً عبده ورسوله؛ صلى الله وسلَّم عليه وعلى آله وصحبه أجمعين.
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย...แท้จริงแล้ว “การใคร่ครวญ” ที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้บ่าวของพระองค์นั้น คือหนึ่งใน อิบาดะห์ที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่า ซึ่งเราสามารถที่จะรักษาการงานนี้ได้ ด้วยพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการคือ
1. วิงวอนขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ
2. เราจะต้องต่อสู้กับหัวใจของเราเอง
โดยการออกห่างจากทุกหนทางที่จะนำไปสู่ความคิดที่ต่ำต้อย สกปรก และสิ่งที่น่าเกลียดที่จะเข้าสู่หัวใจ พร้อมกระนั้นเราจะต้องพยายาม ที่จะนำสิ่งดีงามมาสู่หัวใจ ทั้งความคิดที่ดี การรำลึกถึงสิ่งที่เป็นรประโยชน์ ทั้งในด้านศาสนาและการใช้ชีวิตในโลกนี้
ท่านพี่น้องทั้งหลาย...หากว่าบ่าวคนหนึ่ง ชอบที่จะปล่อยตัว ปล่อยให้ดวงตาและความคิดของเขา หลงใหลไปกับมองในสิ่งที่ต้องห้าม และเสื่อมเสีย คนแบบนี้หัวใจของเขาจะบริสุทธิ์ และสะอาดได้อย่างไรเล่า?! ในขณะที่เขาได้เปิดประตูให้ความชั่วไหลเข้ามาสู่หัวใจ
ลองจินตนาการดู... หากว่ามีผู้ชายคนหนึ่งกำลังอยู่ในสภาพที่หิวโซ จนแทบจะหมดแรง แล้วจู่ ๆ ก็มีอาหารแสนอร่อย ถูกนำมาวางอยู่ต่อหน้าเขา อาหารที่เขารักและโปรดปราน แต่ก่อนที่เขาจะหยิบมันขึ้นมากินมีคนพูดขึ้นว่า: "อาหารจานนี้มีพิษ หากกินเข้าไป เจ้าจะตายทันที"
ท่านทั้งหลาย! หากเขามั่นใจว่ามันมีพิษ เขาจะยังเอื้อมมือไปหยิบมันอีกหรือ?! มนุษย์หลีกเลี่ยงอาหารเพราะกลัวอันตรายจากมัน แต่กลับไม่หลีกเลี่ยงจากบาป ทั้งที่รู้ว่ามันจะนำเขาไปสู่ความหายนะ และความโกรธกริ้วของอัลลอฮ์
เพียงแค่ การใคร่ครวญแบบนี้ ก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว ขออัลลอฮ์ทรงปรับปรุงหัวใจ และความคิดของเรา ให้อยู่กับสิ่งที่จะเกิดประโยชน์แก่เรา ทั้งในศาสนา และชีวิตความเป็นอยู่ในดุนยานี้ และทำให้เราได้รับความพึงพอใจของพระองค์ ในวันที่เรากลับไปหาพระองค์ด้วยเถิด
คุตบะห์วันศุกร์ ศูนย์เรียนรู้อิสลาม อัส-สลาม จ.พังงา