ความรู้ในส่วนของการศรัทธา
  จำนวนคนเข้าชม  7440

ความรู้ในส่วนของการศรัทธา


1.) บรรดาพระนามของอัลลอฮ์ และคุณลักษณะ(ศิฟาต)ของพระองค์ การต้องมีอีมานและยอมรับต่อพระนามต่างๆของอัลลอฮ์ และคุณลักษณะของพระองค์ ตามที่อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอาลา ทรงยืนยันไว้ และตามที่ท่านนะบีได้บอกเกี่ยวกับพระองค์โดยไม่ต้องเทียบตัวอย่างกับสิ่งใด ในบรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งหมด และต้องปฏิเสธไม่ยอมรับในการเปรียบเทียบนั้น ตามที่อัลลอฮ์ทรงปฏิเสธไว้ (เช่น พระองค์ไม่ทรงมีบุตร ธิดา เป็นต้น) หรือตามที่เราะซูล ได้กล่าวห้ามการเปรียบเทียบไว้ ทั้งนี้จำต้องไม่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมใดๆ ดังที่อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนกับพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้

 2.) การยกตัวอย่างเปรียบเปรย รวมทั้งการปฏิเสธที่จะเชื่อต่อพระนามของอัลลอฮ์ และต่อคุณลักษณะของพระองค์ นั้นเป็นการปฏิเสธ(กุฟร) ส่วนการเปลี่ยนแปลงตามที่ อะหลุล บิดอะฮ์ (กลุ่มที่เพิ่มเติมสิ่งที่ผิดเพี้ยนในศาสนา) กล่าวสมมุติไว้ว่าเป็นการเปรียบเปรยนั้น บางประเภทเข้าขั้นปฏิเสธ(กุฟร)  เช่นการโยงความหมายไปสู่ความหมายลับ (บาฏินียะฮ์) บางประเภท เป็นการอุตริที่หลงผิด และบางประเภทเป็นความเข้าใจผิด

3.) การเชื่อว่าอัลลอฮ์ ทรงเข้ารวมกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งในบรรดาสิ่งถูกสร้าง(มรรคลูก) หรือการเข้าทรง หรือการจำแลงมาในร่างหนึ่งร่างใด ล้วนเป็นการปฏิเสธ(กุฟร) และต้องถือว่าผู้มีความเชื่อ เช่นนั้นได้หลุดพ้นออกไปจาก มิลละฮ์ อิสลามียะฮ์ (ออกจาอิสลาม หรือตกศาสนา) แล้ว

4.) การต้องมีศรัทธาต่อบรรดามลาอิกะฮ์ทุกท่านไม่ว่าจะโดยส่วนรวม หรือโดยเฉพาะท่าน เท่าที่รู้จักได้จากหลักฐานที่ถูกต้อง

5.) การมีศรัทธาต่อบรรดาพระคัมภีร์ที่อัลลอฮ์ ได้ประทานลงมาทั้งหมด โดยเฉพาะความศรัทธาข้อที่ว่า อัลกุรอาน เป็นคัมภีร์ที่ประเสริฐที่สุด และมายกเลิกบทบัญญัติของคัมภีร์ที่ลงมาก่อนหน้านั้นทั้งหมด และความจริงที่บรรดาคัมภีร์ก่อนหน้าได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปจนหมดสิ้น ดังนั้นมุสลิมจำเป็นต้องถือปฏิบัติเฉพาะอัลกุรอานเท่านั้น

6.) การมีศรัทธาต่อบรรดา อัมบิยาอ์(เราะซูล ทั้งหลาย) เศาะละวาต ตุล ลอฮ์ อะลัยฮิม และอัมบิยาอ์ และเราะซูล นั้นประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งปวง และถ้าบุคคลใดอ้างว่าตนเองนั้นประเสริฐกว่าเท่ากับผู้นั้นได้ปฏิเสธต่ออัลลอฮ์
มุสลิมจำเป็นที่ต้องศรัทธาทุกอย่างที่มีหลักฐานจากอัลกุรอาน และอัลฮะดิษ ที่ได้บ่งบอกไว้เกี่ยวกับศาสนาในแต่ละท่าน และต้องศรัทธาต่อบรรดานบี และเราะซูลของอัลลอฮ์ทุกท่าน ทั้งต้องถือว่าท่านนะบีมุฮัมมัด ประเสริฐที่สุดในบรรดานบี และอัลลอฮ์ได้ทรงส่งท่านมาเพื่อมนุษย์ทั้งปวง

7.) ต้องศรัทธาว่า การประทานวะหยูจากอัลลอฮ์ แก่มนุษย์นั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว พร้อมกับท่นนะบีมุฮัมมัด และท่านนะบีเป็นศาสนทูตท่านสุดท้าย (คอตะมุล อัมบิยาอ์ วัลมุรสะลีน) ส่วนผู้ใดมีความเชื่ออื่นนอกเหนือไปจากนี้ ถือว่าผู้นั้นได้ปฏิเสธต่ออัลลอฮ์

8.) การมีศรัทธาต่อวันสิ้นโลกและทุกๆสิ่งที่เกี่ยวพันกับวันนี้ ตามที่มีหลักฐานที่ถูกต้องระบุไว้ในอัลกุรอาน และฮะดิษ รวมไปถึงสัญญาณเหตุการณ์ บุคคลต่างๆ และเงื่อนไข(อัชรอต) ของวันกิยามะฮ์ด้วย

9.) การมีศรัทธาต่อการกำหนดกฎสภาวะ (อัล กอดัร) ทั้งที่ดีและร้าย ทั้งหมดนั้นมาจากอัลลอฮ์ การศรัทธาว่า อัลลอฮ์ ทรงล่วงรู้สิ่งต่างๆก่อนที่มันจะมีขึ้น และทรงบันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้แล้วในเลาฮิล มะฟฟูซ (สมุดบันทึก ณ ที่อัลลอฮ์) และสิ่งใดก็ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ มันก็จะเกิดขึ้นตามนั้น ส่วนสิ่งใดที่พระองค์ไม่ทรงประสงค์มันก็จะไม่เกิดไม่เป็นขึ้นมาได้เลย ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามความประสงค์ของพระองค์ทั้งสิ้น และอัลลอฮ์ นั้นทรงอำนาจเหนือทุกสิ่ง และทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งขึ้นมา ตามพระประสงค์ของพระองค์

10.) การมีศรัทธาต่อทุกๆ สิ่งเร้นลับที่มีหลักฐานบ่งบอกถึงไว้ เช่นบัลลังก์ของอัลลอฮ์ สวนสวรรค์ ไฟนรก การได้รับการตอบแทนความดี และความชั่วในหลุมฝังศพ ทางศิรอต และตราชั่งในวันพิพากษาโทษ ฯลฯ โดยต้องไม่ใช้การจินตนาการ หรือความคิดเห็นใดๆเข้าไปอรรถาธิบาย หรือบิดเบือน

11.) การต้องมีศรัทธาต่อการขออภัยโทษ(ชะฟะอะฮ์) ของท่านนะบีมุฮัมมัด คือการที่ท่านนะบี() จะช่วยไถ่โทษ แก่บรรดามุสลิมีน และศรัทธาการขอชะฟะอะฮ์ของบรรดาอัมบิยาอ์ ของมลาอิกะฮ์ ของคนศอลิห์ ทั้งหลาย ในวันกิยามะฮ์ ตามที่มีหลักฐานบ่งบอกไว้ในอัลกุรอาน และฮะดิษ

12.) การศรัทธาว่าบรรดาผู้ศรัทธา (มุมิน) จะได้เห็นองค์พระผู้ภิบาลของพวกเขาในวันกิยามะฮ์ ทั้งในลานมะฮ์ชัร์ และในสวนสวรรค์นั้นเป็นสัจจริง แต่จะไม่มีผู้ใดได้เห็นพระองค์ในโลกดุนยานี้ ส่วนผู้ปฏิเสธความเชื่อนี้เท่ากับผู้นั้นได้หลงผิดไปแล้ว

13.) บรรดา กะรอมาต(สิ่งที่อัลลอฮ์ ประทานให้กับบ่าวที่ดีบางคน)ของคนวะลีย์(ใกล้ชิด) และคนศอลิห์(ดีงาม) นั้นเป็นสัจจริง(ฮักกุน) แต่มิได้หมายความว่าทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นผิดวิสัยจะเป็นกะรอมาตไปทั้งหมด เช่นอาจเกิดไปตามขั้นตอนสภาพอากาศ หรือเป็นผลงานของชัยฏอนมารร้าย หรือ อะห์ลุล บาฏิล(ผู้ที่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง)ต่างๆ ก็เป็นได้ ส่วนการจะทราบว่าสิ่งใดเป็นกะรอมาตหรือไม่นั้น สามารถตรวจสอบได้จากอัลกุรอานและซุนนะฮ์

 14.) บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหมดนั้นเป็น เอาลิยาอุลลอฮ์ คือ บ่าวของอัลลอฮ์ ส่วนใครจะใกล้ชิดต่อพระองค์แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความศรัทธา และการปฏิบัติตามบทบัญญัติอิสลาม และการทำความดีของเขาเองว่ามีมากหรือน้อยเพียงไร


หลักการศรัทธา
รร.ศาสนูปถัมภ์ ประเวศ กทม.