ความจำเป็นที่ต้องยอมรับข้อกำหนดของอัลเลาะห์
  จำนวนคนเข้าชม  7210

ความจำเป็นที่ต้องยอมรับข้อกำหนดของอัลเลาะห์
และคำกล่าวสำหรับผู้ที่ถูกเรียกร้องไปสู่การดังกล่าว


عن أبي هريرة ـ رضي الله عنه قال : لما نزلت على رسول الله صلى الله عليه وسلم : ( لِلَّهِ مَا فِي السَّمَاوَاتِ وَمَا فِي الْأَرْضِ وَإِنْ تُبْدُوا مَا فِي أَنْفُسِكُمْ أَو تُخْفُوهُ يُحَاسِبْكُمْ بِهِ اللَّهُ ) (البقرة: من الآية284) ، أشتد ذلك على أصحاب رسول الله صلى الله عليه وسلم ، فأتوا رسول الله صلى الله عليه وسلم ثم بركوا على الركب فقالوا : أي رسول الله ، كلفنا من الإعمال ما نطيق : الصلاة والجهاد والصيام والصدقة ، وقد أنزلت عليك هذه الآية ولا نطيقها . قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : ( أتريدون أن تقولوا كما قال أهل الكتابين من قبلكم : سمعنا وعصينا ؟ بل قولوا : سمعنا وأطعنا غفرانك ربنا وإليك المصير ) قالوا :سمعنا وأطعنا غفرانك ربنا وإليك المصير . فلما اقترأها القوم ، وذلت بها ألسنتهم؛ أنزل الله تعالى في أثرها : ( آمَنَ الرَّسُولُ بِمَا أُنْزِلَ إِلَيْهِ مِنْ رَبِّهِ وَالْمُؤْمِنُونَ كُلٌّ آمَنَ بِاللَّهِ وَمَلائِكَتِهِ وَكُتُبِهِ وَرُسُلِهِ لا نُفَرِّقُ بَيْنَ أَحَدٍ مِنْ رُسُلِهِ وَقَالُوا سَمِعْنَا وَأَطَعْنَا غُفْرَانَكَ رَبَّنَا وَإِلَيْكَ الْمَصِيرُ) (البقرة:285) ، فلما فعلوا ذلك نسخها الله تعالى ؛ فأنزل عز وجل : ( لا يُكَلِّفُ اللَّهُ نَفْساً إِلَّا وُسْعَهَا لَهَا مَا كَسَبَتْ وَعَلَيْهَا مَا اكْتَسَبَتْ رَبَّنَا لا تُؤَاخِذْنَا إِنْ نَسِينَا أَوْ أَخْطَأْنَا ) قال : نعم ( رَبَّنَا وَلا تَحْمِلْ عَلَيْنَا إِصْراً كَمَا حَمَلْتَهُ عَلَى الَّذِينَ مِنْ قَبْلِنَا ) قال : نعم ( رَبَّنَا وَلا تُحَمِّلْنَا مَا لا طَاقَةَ لَنَا بِهِ ) قال : نعم ( وَاعْفُ عَنَّا وَاغْفِرْ لَنَا وَارْحَمْنَا أَنْتَ مَوْلانَا فَانْصُرْنَا عَلَى الْقَوْمِ الْكَافِرِينَ) (البقرة:286) ، قال: نعم ) رواه مسلم

 


เล่าจากท่านอบีฮุรอยเราะห์  ว่า :

เมื่ออายะห์นี้ ลงมายังท่านรอซูลุลลอฮ์  คืออายะห์ที่ว่า

  “สรรพสิ่งในชั้นฟ้า และสรรพสิ่งในแผ่นดิน ล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลเลาะห์ และถ้าหากพวกท่านเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจของพวกท่าน ( จากความชั่ว) หรือปกปิดมันไว้ อัลเลาะห์จะทรงนำมันมาถามพวกท่าน” จนจบอายะห์ 284 [ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ ]

 ได้สร้างความลำบากใจให้แก่เหล่าซอฮาบะห์ของท่านรอซูลลุลลอฮ์  พวกเขาคุกเข่าลงแล้วกล่าวว่า :
โอ้ท่านรอซูลุลลอฮ์ พวกเราถูกกำหนดให้ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด ญิฮาด การถือศีลอด และซะกาต พวกเราปฏิบัติตามได้ทั้งสิ้น แต่สำหรับอายะห์ที่ถูกประทานลงมายังท่านอายะห์นี้ พวกเราไม่สามารถจะปฏิบัติตามได้
ท่านรอซูล  กล่าวว่า : 
           พวกท่านต้องการจะพูดเหมือนกับที่พวกชาวคัมภีร์ (ยิว-คริสต์) ในยุคก่อนพวกท่านได้พูดไว้ใช่ไหม คือ : “พวกเราได้ยินแล้ว และเราได้ฝ่าฝืนแล้ว”  พวกท่านจะกล่าวอย่างนั้นไม่ได้ แต่พวกท่านจงกล่าวว่า : พวกเราได้ยินแล้ว เราเชื่อฟังแล้ว พวกเราหวังการอภัยโทษจากท่าน ข้าแด่องค์อภิบาลของเรา และการกลับคืนจะต้องไปสู่ท่านเท่านั้น”

 เมื่อหมู่คณะได้อ่านอายะห์นั้นคล่องแคล่วดีแล้ว อัลเลาะห์ได้ประทานอายะห์ลงมาหลังจากนั้นว่า :
          “ศาสนทูตศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมายังเขา จากองค์อภิบาลของเขา และศรัทธาชนทั้งหลายต่างก็ศรัทธาต่ออัลเลาะห์ ต่อมะลาอิกะห์ของพระองค์ ต่อบรรดาคัมภีร์ของพระองค์ และต่อบรรดาศาสนทูตของพระองค์ โดยพวกเราจะไม่แยกศรัทธาคนหนึ่งคนใดจากบรรดาศาสนทูตของพระองค์ (หมายถึงมิได้เลือกเชื่อฟังรอซูลบางท่าน และไม่เชื่อฟังรอซูลบางท่าน)

 และพวกเขากล่าวว่า : พวกเราได้ยินแล้วและเราปฏิบัติตามแล้ว พวกเราวอนขอการอภัยโทษจากท่าน ข้าแด่องค์อภิบาลของเรา และการกลับคืนจะต้องไปสู่ท่านเท่านั้น"

           ครั้นเมื่อพวกเขา (ศอฮาบะห์) ได้ปฏิบัติตามข้อความในอายะห์ดังกล่าวแล้ว อัลเลาะห์ตาอาลา ได้ทรงจำกัดความของอายะห์นี้  โดยพระองค์ทรงประทานอายะห์ลงมาอีกว่า:
           อัลเลาะห์จะไม่ทรงกำหนดบังคับผู้ใด นอกจากเท่าที่เขาจะมีความสามารถ เขาจะได้รับความดีตอบแทนจากที่เขาได้ขวนขวายกระทำไว้
 
ข้าแด่องค์อภิบาลของเรา โปรดอย่าเอาผิดเราในสิ่งที่เราลืม หรือที่เราได้กระทำผิดพลาดไป
ท่านรอซูลกล่าวว่า : ใช่แล้ว
โอ้พระเจ้าของพวกเรา ขอพระองค์อย่าได้ให้พวกเราแบกของหนักเหมือนสิ่งที่พระองค์ได้ให้ชนรุ่นที่มีมาก่อนพวกเราแบกมาแล้ว
ท่านรอซูลกล่าวว่า : ใช่แล้ว
โอ้พระเจ้าของพวกเรา ขอพระองค์อย่าได้ให้พวกเราแบกสิ่งที่ไม่มีความสามารถจะแบกสิ่งนั้นไว้
ท่านรอซูลกล่าวว่า : ใช่แล้ว
ขอพระองค์ทรงลบความผิดให้พวกเรา และขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้พวกเรา และขอพระองค์ทรงเอ็นดูเมตตาพวกเราด้วยเถิด พระองค์เป็นพระเจ้าของพวกเรา ดังนั้นขอพระองค์ทรงโปรดให้พวกเราได้รับชัยชนะ เหนือกลุ่มชนที่ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลายด้วยเถิด
ท่านรอซูลกล่าวว่า : ใช่แล้ว

รายงานโดยมุสลิม


คำอธิบาย

                ฮะดีษนี้ชี้ให้เห็นถึงความเฉียบขาดของท่านรอซูล  กล่าวคือ ในเมื่ออัลเลาะห์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงประทานอายะห์อัลกุรอานลงมาว่า : และถ้าหากพวกเจ้าเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในจิตใจของพวกเจ้า ( จากความชั่ว ) หรือพวกเจ้าปกปิดมันไว้ อัลเลาะห์จะทรงสอบสวนพวกเจ้าต่อสิ่งนั้น
 ทำให้บรรดาศอฮาบะห์รู้สึกว่า บัดนี้ได้ตกเป็นภาระหนักต่อการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอายะห์นี้เสียแล้ว เพราะเรื่องราวที่อยู่ในใจ ใครเล่าจะห้ามใจไม่ให้นึกคิดได้ ดังนั้นพวกเขาได้พากันมาหาท่านรอซูล  และบอกให้ท่านทราบว่า ไม่มีใครสามารถจะระงับเรื่องต่างๆที่รุมเร้าเข้ามาสู่จิตใจได้หรอก ถ้าหากอัลเลาะห์ทรงเอาความผิดในเรื่องนี้ด้วยแล้ว ใครเล่าจะรอดพ้นได้
             เมื่อท่านรอซูลได้ฟังคำร้องเรียนของบรรดาซอฮาบะห์แล้ว ท่านก็ได้ตักเตือนให้บรรดาซอฮาบะห์สำนึก และตระหนักเป็นอย่างดียิ่งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเป็นคำสั่งมาจากอัลเลาะห์แล้ว พวกเราจำเป็นต้องน้อมรับ ไม่มีคำว่า “ปฏิบัติไม่ได้” อย่างเด็ดขาด ถ้ามิเช่นนั้นก็จะเหมือนกับชนชาวยิวและชาวคริสต์ เมื่อพวกเขาคัดค้านบัญญัติของอัลเลาะห์ โดยอ้างว่าไม่มีความสามารถจะปฏิบัติตามคำบัญชาที่อัลเลาะห์ทรงสั่งมาได้ พวกเขาจะกล่าวว่า : “พวกเราได้ยินแล้ว และพวกเราฝ่าฝืนแล้ว” ดังนั้นมสุลิมทุกคนจะปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวยิวและชาวคริสต์ไม่ได้

            บรรดาซอฮาบะห์เมื่อได้ยินคำชี้แจงของท่านรอซูล  พวกเขาก็เกิดความเข้าใจ และต่างก็น้อมรับคำสั่งของอัลเลาะห์โดยดุษฎี

            และต่อมาภายหลังอัลเลาะห์ซุบฮานะฮุวะตะอาลา ทรงผ่อนปรนให้บ่าวของพระองค์ปฏิบัติได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยการที่พระองค์ทรงประทานอายะห์ลงมาเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่อัลเลาะห์จะทรงเอาโทษนั้น หมายถึงในเรื่องที่พวกเขาสามารถปฏิบัติความดีได้ แต่พวกเขาไม่ปฏิบัติ หรือพวกเขามีความสามารถที่จะละเว้นความชั่วได้ แต่พวกเขาไม่ละเว้น ดังกล่าวนี้แหละเป็นสิ่งที่อัลเลาะห์จะทรงเอาโทษ ส่วนเรื่องที่นึกคิดอยู่ในใจ พระองค์ไม่องค์ไม่ทรงเอาโทษแล้ว

สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษนี้


1. มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องยึดมั่นต่อคำสั่งของอัลเลาะห์ และถือว่าคำสั่งของพระองค์นั้นมีความสำคัญเหนือสิ่งใด
2. จำเป็นต้องดำเนินชีวิตในคำสอนของศาสนาทุกๆด้าน จึงจะเป็นเหตุให้เราบรรลุสู่ความสำเร็จ คือได้รับสวรรค์เป็นสิ่งตอบแทน


 ที่มา: ริยาดุสซอลีฮีน


โดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ