การยืนหยัดบนความเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์
อบูชะฮ์มี่ อนัส ลีบำรุง
ขอเตือนตัวของผมเองและพี่น้องให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง เพราะมันจะเป็นเสบียงที่ดียิ่งทั้งในดุนยาและวันอาคิเราะห์
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย : การตักวาความยำเกรงนั้นมันครอบคลุมคำสั่งเสียและรากฐานของความสุขทั้งหมดเอาไว้ มันคือคำสั่งเสียตั้งแต่ชนยุคแรกจนถึงท่านนบี ﷺ และบรรพชนชาวสลัฟ
ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
وَلَقَدْ وَصَّيْنَا ٱلَّذِينَ أُوتُواْ ٱلْكِتَٰبَ مِن قَبْلِكُمْ وَإِيَّاكُمْ أَنِ ٱتَّقُواْ ٱللَّه
“แท้จริงเราได้สั่งเสียไว้แก่บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ก่อนจากพวกเจ้า และพวกเจ้าด้วย ว่าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด”
[ النساء: 131]
พึงรู้เถิดว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่และจำเป็นบนบ่าวทุกคนคือการยืนหยัดในการเชื่อฟังต่ออัลลอฮ์ อยู่บนเส้นทางแนวทางที่เที่ยงตรงไม่เฉไฉเอนเอียงจาก ซิรอฎ็อลมุสตะกีม ดังที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :
فَاسْتَقِيمُوا إِلَيْهِ وَاسْتَغْفِرُوهُ
“ดังนั้นจงมุ่งตรงสู่พระองค์เถิด และจงขออภัยต่อพระองค์“
[ فصلت: 6]
إِنَّ الَّذِينَ قَالُوا رَبُّنَا اللَّهُ ثُمَّ اسْتَقَامُوا فَلَا خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلَا هُمْ يَحْزَنُونَ
“แท้จริงบรรดาผู้ที่กล่าวว่า อัลลอฮฺ คือพระเจ้าของพวกเรา
แล้วพวกเขาก็ยืนหยัด(ปฏิบัติ)ตามคำกล่าวนั้น
จะไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ แก่พวกเขา และพวกเขาก็จะไม่เศร้าสลดใจ“
[ الأحقاف: 13]
บรรดาศอฮาบะฮ์เป็นบุคคลที่กระตือรือร้นระมัดระวังที่จะคอยถามถึงสิ่งที่เป็นเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในโลกนี้และโลกหน้าครั้งหนึ่งท่าน ซุฟยาน บิน อับดุลลอฮ์ อัซซะก่อฟีย์ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) กล่าวถามท่านร่อซูล ﷺ ว่า :
قُلْ لي في الإسْلامِ قَوْلًا لا أسْأَلُ عنْه أحَدًا بَعْدَكَ، وفي حَديثِ أبِي أُسامَةَ غَيْرَكَ،
قالَ: قُلْ: آمَنْتُ باللَّهِ، ثم اسْتَقِمْ.
ได้โปรดบอกฉันทีกับคำพูด ใดในอัลอิสลามโดยที่ฉันไม่ต้องไปถามเรื่องนี้กับคนใดคนหนึ่งอีกภายหลังจากท่าน
และใน หะดิษ ของอะบียฺ อุซามะฮฺ : ใครอื่นนอกจากท่าน - ท่านนบี ﷺ กล่าวตอบว่า :
"จงกล่าวเถิดว่า ฉันศรัทธา ต่ออัลลอฮฺ แล้วจงยืนหยัด (ปฏิบัติ) ตามคำกล่าว นั้น"
صحيح مسلم | الصفحة أو الرقم : 38
หะดีษบทนี้บอกแก่เราว่าจงกล่าวออกมาด้วยความมั่นใจอย่างแน่วแน่ ฉันศรัทธาต่ออัลลอฮ์ จงยึดมั่นในคำกล่าวนี้โดยขณะเดียวกันก็ต้องยืนหยัดในข้อกำหนดของศาสนาเอาไว้ทุกประการทั้งที่เป็นบทบัญญัติและข้อห้ามทั้งหมด และอาศัยความมั่นคงในอีหม่าน ทำความดีสืบต่อไปเพื่อนำผู้ปฏิบัติไปสู่หนทางที่ถูกต้อง พระองค์ได้ทรงแจ้งข่าวดีแด่คนที่ยืนหยัดเอาไว้ว่า :
{إِنَّ الَّذِينَ قَالُوا رَبُّنَا اللَّهُ ثُمَّ اسْتَقَامُوا تَتَنَزَّلُ عَلَيْهِمُ الْمَلَائِكَةُ أَلَّا تَخَافُوا وَلَا تَحْزَنُوا وَأَبْشِرُوا بِالْجَنَّةِ الَّتِي كُنْتُمْ تُوعَدُونَ}
“แท้จริงบรรดาผู้กล่าวว่าอัลลอฮฺคือ พระเจ้าของพวกเรา แล้วพวกเขาก็ยืนหยัดตามคำกล่าวนั้น
มะลากิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขา (โดยกล่าวกับพวกเขาว่า) "พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจ แต่จงต้อนรับข่าวดี คือสวนสวรรค์ซึ่งพวกเจ้าได้ถูกสัญญาไว้“
[ فصلت: 30]
การยืนหยัดในศาสนาคือรากฐานของความสุขนำพาไปสู่ความสำเร็จและความจำเริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้า การยึดมั่นอยู่ในทางนำมั่นคงในศาสนาของอัลลอฮ์ คือ การปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์และการรักษาไว้ซึ่งข้อห้ามของพระองค์ การปฏิบัติตามคำสั่งคือการรักษาสิ่งนั้นด้วยการปฏิบัติตาม และรักษาข้อห้ามนั้นด้วยการหลีกเลี่ยงและละทิ้งมัน และบ่าวก็จะต้องมุ่งหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮ์ และเกรงกลัวการลงโทษของพระองค์ โดยรู้ดีว่าเบื้องหน้าของเขามีสวรรค์และนรก เป็นที่ชำระบัญชีและการลงโทษ ดังนั้นเขาจึงมั่นคงในการเชื่อฟังอัลลอฮ์ จนกระทั่งเขาได้พบกับอัลลอฮ์ ผู้ทรงเดชานุภาพ ในสภาพที่พระองค์พอพระทัยเขาไม่ใช่ทรงโกรธกริ้วเขา
พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย : การยืนหยัดนั้นมีหลักเกณฑ์ฐานอยู่สองข้อหลักใหญ่ๆด้วยกัน การยืนหยัดด้วยหัวใจ การยืนหยัดด้วยลิ้น หะดีษจากท่าน อนัส บิน มาลิก (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) เล่าจาก ท่านนบี ﷺ กล่าวว่า :
لا يَسْتَقيمُ إِيمانُ عبدٍ حتَّى يَستَقيمَ قلبُه، ولا يَسْتَقيمُ قلبُه حتَّى يَستَقيمَ لسانُه،
”บ่าวคนหนึ่งเขาจะไม่ถูกนับว่ายืนหยัดบนอีหม่าน จนกระทั่งเขายืนหยัดด้วยหัวใจของเขา
และบ่าวคนหนึ่งจะไม่ถูกนับว่ายืนหยัดด้วยหัวใจของเขา จนกระทั่งเขาหยืนหยัดด้วยลิ้นของเขา“
أخرجه أحمد (13048)
ลิ้นกับหัวใจนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้เลย มันเชื่อมโยงผูกติดกัน ลิ้นคืออวัยวะที่สื่อถึงสิ่งที่อยู่ภายในหัวใจ ลิ้นเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงการมีอีหม่านและการปฏิเสธ และลิ้นนั้นสามารถที่จะลากดึงเจ้าของๆมันไปสู่สวรรค์หรือลงนรกก็ได้
ส่วนในเรื่องการยืนหยัดด้วยหัวใจนั้น คือ การสร้างอีหม่านต่ออัลลอฮ์ การมีเตาฮีดที่บริสุทธิ์ การเกรงกลัว ความหวัง การมอบหมายอย่างเชื่อมั่น รักต่อพระองค์ และรักในสิ่งที่พระองค์ทรงรักจากการงานและคำพูดต่างๆ การดูแลรักษาขัดเกลาหัวใจ โดยการชำระล้างให้มันบริสุทธิ์ ถ้าหัวใจดวงใดตั้งตรงอยู่ในสภาพการยืนหยัดเหล่านี้ อวัยวะอื่นๆในร่างกายมันก็จะยืนหยัดตามไปด้วย ดังหะดีษของท่านนบี ﷺ ที่ว่า :
أَلَا وَإِنَّ فِي الْجَسَدِ مُضْغَةً إِذَا صَلَحَتْ صَلَحَ الْجَسَدُ كُلُّهُ وَإِذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الْجَسَدُ كُلُّهُ ؛ أَلَا وَهِيَ الْقَلْبُ
“พึงทราบเถิดว่าในร่างกายเรานั้นมีก้อนเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง ถ้าส่วนดังกล่าว ดี ร่างกายทุกส่วนก็จะดีตามไปด้วย
แต่ถ้าส่วนดังกล่าว ไม่ดี ร่างกายส่วนอื่นๆก็จะไม่ดี ก้อนเนื้อที่ว่านั้นก็คือ "หัวใจ”
صحيح مسلم | الصفحة أو الرقم : 1599
จำเป็นสำหรับผู้ศรัทธาควรที่จะดูแลปรับปรุงชำระล้างหัวใจของเขาให้บริสุทธิ์อย่างสม่ำเสมอ ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า :
قَدْ أَفْلَحَ مَن زَكَّاهَا แน่นอน ผู้ขัดเกลาชีวิตย่อมได้รับความสำเร็จ
وَقَدْ خَابَ مَن دَسَّاهَا และแน่นอน ผู้หมกมุ่นมัน (ด้วยการทำชั่ว) ย่อมล้มเหลว
[ سورة الشمس: -109]
ส่วนในเรื่องของการยืนหยัดด้วยลิ้น ก็คือการที่เราระมัดระวังสิ่งที่จะถูกเปล่งออกมาว่าจะต้องไม่ทำให้อัลลอฮ์ทรงโกรธกริ้ว ให้ง่วนอยู่แต่กับสิ่งที่ดีงามและสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์กับลิ้นมากที่สุด
ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَقُولُوا قَوْلًا سَدِيدًا
”โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงกล่าวถ้อยคำที่เที่ยงธรรมเถิด"
[ الأحزاب: 70]
หะดีษจากท่าน อบูล ซะอี๊ด อัลคุดรีย์ (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) เล่าว่า ท่านนบี ﷺ ได้กล่าวว่า :
إذا أصبح ابنُ آدمَ ؛ فإنَّ الأعضاءَ كلَّها تكفِّر اللسانَ، فتقول : اتقِ اللهَ فينا ؛ فإنما نحن بك ؛
فإن - استقمت استقمْنا وإنِ - اعوججتَ اعوججنا .
“เมื่อลูกหลานของอาดัมตื่นขึ้นในตอนเช้า อวัยวะทั้งหมดของเขาก็จะนอบน้อมต่อลิ้นของเขาและกล่าวว่า
‘จงเกรงกลัวอัลลอฮ์เกี่ยวกับพวกเรา! แท้จริงพวกเราเป็นเพียงสิ่งที่ท่านเป็น (สภาพของเราขึ้นอยู่กับท่าน)
หากท่านเที่ยงธรรมเที่ยงตรง เราก็จะเที่ยงธรรมเที่ยงตรงเช่นกัน และหากท่านเอนเอียง เราก็จะเอนเอียง”
أخرجه الترمذي (2407)
วิธีและหนทางในการช่วยเหลือปรับปรุงลิ้นและหัวใจ
ประการแรก :
ดุอาอ์ คือ กุญแจของความดีงามความผาสุขในดุนยาและก็อาคีเราะฮ์ บ่าวควรจะมุ่งมั่นในการขอดุอาอ์ให้พระองค์ให้เรายืนหยัดอยู่บนศาสนาและนำทางเราสู่หนทางที่เที่ยงตรง และท่านร่อซูล ﷺ ได้ขอดุอาอ์บทนึงเอาไว้อย่างมาก
يَا مُقَلِّبَ الْقُلُوبِ، ثَبِّتْ قَلْبِي عَلَى دِينِكَ
”โอ้ผู้ทรงพลิกผันหัวใจ ขอพระองค์ทรงทำให้หัวใจของฉันหนักเเน่นอยู่บนศาสนาของ พระองค์ด้วยเถิด”
أخرجه الترمذي (2140)
ประการที่สอง :
ให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ เพราะว่าความรู้คือรัศมีให้กับคนๆนั้น และบ่าวคนใดเขาไม่สามารถจะยืนหยัดอย่างเที่ยงตรงได้ เว้นเสียแต่ว่าจะต้องมีองค์ความรู้ ถ้าหากว่าไม่มีความรู้จะแยกแยะถูกผิดความโสมมและความดีงามได้อย่างไร
ประการที่สาม :
การเลือกคบเพื่อนให้เลือกคบเพื่อนที่ดี ท่านนบี ﷺ ได้กล่าวว่า :
الْمَرْءُ عَلَى دِينِ خَلِيلِهِ فَلْيَنْظُرْ أَحَدُكُمْ مَنْ يُخَالِلُ» أخرجه أبو داود (4833)
“คนเรานั้นมักคล้อยตามนิสัยเพื่อนสนิท แม้กระทั่งเรื่องศาสนาด้วยก็เช่นกัน
ดังนั้น พวกท่านทุกคน จงคัดเลือกเพื่อนสนิทให้ดี"
ประการที่สี่ :
ผู้ศรัทธาจะต้องรำลึกอย่างเสมอถึงวันที่จะต้องไปยืนอยู่หน้าพระพักตร์ของอัลลอฮ์ และนำเสนอการงานทั้งหมดในชีวิตของเขาที่ได้ใช้ไปได้ปฏิบัติไป ใครที่ทำความดีเอาไว้ก็จะมีรางวัลรอเขาอยู่ส่วนใครที่ทำความชั่วเอาไว้การลงโทษก็รอเขาอยู่เช่นกัน ดังที่อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า :
فَمَن يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ خَيْرًا يَرَهُ (7) وَمَن يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ شَرًّا يَرَهُ (8)
“ดังนั้นผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน ส่วนผู้ใดกระทำความชั่วหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน“
[ الزلزلة:]
ประการที่ห้า :
การต่อสู้บังคับกับจิตใจของตนเองให้มั่นคงและนำพาไปสู่เส้นหนทางแห่งความเที่ยงตรง แท้จริงแล้วจิตใจนั้นดื้อรั้น ปฏิเสธ เพราะด้วยกับสิ่งรบเร้าในดุนยามันรอบด้าน ความใคร่ใฝ่หาก็มากมายในจิตใจของคนเรา จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องตั้งใจและมุ่งมั่น พร้อมด้วยกับการวิงวอนขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ พระองค์ผู้ทรงสูงส่งและทรงยิ่งใหญ่
สุดท้ายนี้ขอเราและท่านทั้งหลายจงยืนหยัดในศาสนาของอัลลอฮ์ และอย่าได้เป็นหนึ่งจากบุคคลที่เชื่อฟังต่ออัลลอฮ์เพียงชั่วระยะเวลานึงและฝ่าฝืนต่ออัลลอฮ์ในอีกช่วงระยะเวลานึง เพราะงานของผู้ศรัทธานั้นจะไม่สิ้นสุดลงเว้นแต่ความตายมากั้นเราต่อการปฏิบัติคุณงามความดีเท่านั้น ดังที่อัลลอฮ์ได้ทรงตรัสว่า :
(وَاعْبُدْ رَبَّكَ حَتَّى يَأْتِيَكَ الْيَقِينُ) [الحجر: 99]
“และจงเคารพภักดีพระเจ้าของเจ้า จนกว่าความแน่นอน (ความตาย) จะมาหาเจ้า”
وصلى اللهم وسلم وبارك على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.