มารยาท และซุนนะฮ์ในวันอีด
  จำนวนคนเข้าชม  97

มารยาท และซุนนะฮ์ในวันอีด

 

อบู ชะฮ์มี่ อนัส ลีบำรุง

 

          ขอเตือนตัวของผมเองและพี่น้องให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์อย่างแท้จริง เพราะมันจะเป็นเสบียงที่ดียิ่งทั้งในดุนยาและวันอาคิเราะห์

          พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย : อัลลอฮ์ได้มีบัญญัติเอาไว้ให้กับพวกเราซึ่งการงานหนึ่งเพื่อให้กิจการงานของเดือนนี้นั้นสมบูรณ์ เพื่อให้เราเข้าใกล้ชิดกับพระองค์เพื่อเพิ่มพูนอีหม่านและความดี  ก็คือการที่เรานั้นต้องจ่ายซะกาตฟิตรฺ และพระองค์ยังได้ทรงมีบทบัญญัติเมื่อเดือนเราะมะฎอนนั้นสมบูรณ์แล้วก็คือการตักบีร ให้เริ่มจากดวงอาทิตย์ตกของ(วันรุ่งขึ้นเป็นวันอีด)วันอีดจนกระทัีงละหมาดอีด

 

‎{وَلِتُكْمِلُواْ الْعِدَّةَ وَلِتُكَبِّرُوا اللهَ عَلَى مَا هَدَاكُمْ وَلَعَلَّكُمْ تَشْكُرُونَ} [البَقَرَة: 185].

     “และเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วนซึ่งจำนวนวัน(ของเดือนรอมฏอน) และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ ในสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ”

 

         การตักบีรคือเครื่องหมายของอีดทั้งสองในอิสลาม  การตักบีรนั้นมีหลายสำนวนแต่สำนวนที่บ้านเราใช้กันก็เป็นสำนวนหนึ่งที่มาจากหลักฐานที่ว่า ; 

‎عن شَريكٍ، قال: قلتُ لأبي إسحاقَ: كيف كان يُكبِّر عليٌّ وعبدُ اللهِ بنُ مسعودٍ؟ قال:

((كانا يقولان: اللهُ أكبر اللهُ أكبر، لا إلهَ إلَّا الله، واللهُ أكبر اللهُ أكبر، ولله الحَمْد))

 

     ท่าน ชะรีก กล่าวว่า ฉันได้ ถามอบี อิสหาก ว่า ท่านอาลีและท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอู๊ด ใข้สำนวนตักบีรอย่างไร?

     อบีอิสหาก ก็ได้ตอบว่า :

اللهُ أكبر اللهُ أكبر، لا إلهَ إلَّا الله، واللهُ أكبر اللهُ أكبر، ولله الحَمْد

رواه ابن أبي شيبة في ((المصنف)) (2/168). قال ابن الهمام: سنده جيد. فتح القدير (2/82).

 

     “และสำหรับบรดาผู้ชายก็เป็นที่ชอบให้ออกเสียงดังในการตักบีรทั่วหวนระแหงตามถนนหนทาง มัสยิด ตลาด  บ้านเรือน 

     เพื่อประการศถึงความยิ่งใหญ่ของอัลอิสลาม การขอบคุณ และการสรรเสริญต่อพระองค์

     แต่สำหรับสตรีนั้นก็มีข้อผ่อนปรนให้ใช้เสียงที่เบาเนื่องจากผู้หญิงนั้นถูกสั่งใช้ให้ปกปิด”

 

          الحمد لله  ลองนึกว่าสภาพของมนุษย์ในวันอีดนั้นช่างสวยงามขนาดไหนเมื่อผู้คนต่างพากันตักบีรแสดงความยิ่งใหญ่ต่ออัลลอฮ์ในทุกๆสถานที่ เมื่ออิบาดะฮ์การถือศีลอดหมดไป มันคือการเติมเต็มชั้นฟ้าด้วยกับการตักบีร ตะฮมีด ตะฮลีล หวังความเมตตาจากอัลลอฮ์และเกรงกลัวต่อการลงโทษจากพระองค์ 

 

         ให้ตักบีรให้ดังจนกระทั่งถึงที่มัสยิดหรือมุศ็อลลา เมื่อมาถึงมุศ็อลลาหรือมัสยิดก็ให้ต่างคนต่างตักบีร ส่วนสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับการที่เรามีการนำการตักบีรด้วยเครื่องขยายเสียงนั้น และผู้คนก็กล่าวตามการทำตามนั้น เกรงว่าสิ่งดังกล่าวนั้นไม่มีแบบอย่างและจะเป็นการค้านกับสิ่งที่ ท่านร่อซูล บรรดาศอฮาบะฮ์ رَضِيَ اللهُ عَنْهُمْ- ได้กระทำเอาไว้  เราต้องไม่ลืมว่าการตักบีรนั้นเป็นอิบาดะฮ์ชินดหนึ่ง นี่คือหลักเกณฑ์การทำอิบาดะฮ์ของชาวสลัฟ

 

          “العبادة توقيفية” การทำอิบาดะฮ์นั้นต้องอาศัยตัวบทหลักฐานจากกุรอ่านหรือซุนนะฮ์มายืนยันเท่านั้น นั่นก็หมายความว่า เราจะต้องไม่ใช้สติปัญญาของเราคิดค้นไปสร้างวิธีการในการปฏิบัติอิบาดะฮ์ เพราะว่า อิบาดะฮ์นั้นเป็นเรื่องของศาสนาพิธี ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยตัวบทหลักฐานมายืนยันเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของสติปัญญาของมนุษย์ที่จะคิดค้นริเริ่มหาวิธีการแล้วมาบอกกล่าวมาอ้างว่านี่แหล่ะคือศาสนาพิธีหรือพิธีกรรมทางศาสนา 

 

         ยิ่งในเมื่อเราต้องการจะเข้าใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น ไม่ใช่ต้องการออกห่างจากพระองค์แล้วล่ะก็ เราจึงจำเป็นจะต้องทำในสิ่งที่ท่านร่อซูล ได้กระทำเอาไว้เป็นแบบอย่างครับ เพราะการตักบีรแบบญะมาอะฮ์นั้นไม่ใช่บทบัญญัติ กล่าวคืออย่างไร  ก็คือการที่ผู้คนตักบีรพร้อมกัน เริ่มพร้อมกัน จบพร้อมกัน ด้วยเสียงเดียวกัน ด้วยสำนวนเดียวกัน ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือตักบีรส่วนตัวของใครของมันให้มันดังกึกก้อง

 

         การอาบน้ำซุนนะฮ์ในวันอีดจริงๆ แล้วไม่ได้มีแบบอย่างจากท่านนบี ว่าท่านได้กระทำเอาไว้ ส่วนที่มีหลักฐานนั้นท่านกระทำเอาไว้ในวันศุกร์ ส่วนการกระทำนี้มีแบบอย่างจากศอฮาบะฮฺ จากบรรดาชาวสลัฟ ที่รักและชอบให้อาบน้ำซุนนะฮฺเมื่ออกไปละหมาดอีด ดังเช่นที่มีบทบัญญัติให้อาบน้ำซุนนะฮ์ในวันศุกร์เพราะมีการรวมตัวกันของผู้ศรัทธาจำนวนมาก 

 

          และยังได้มีบทบัญญัติแก่เราซึ่งการละหมาดอีด ท่านร่อซูล ได้สั่งใช้ ช และ ญ ให้เชื่อฟังปฏิบัติตาม ดังที่อัลลอฮ์ได้ทรงตรัสว่า : 

 

{يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا أَطِيعُوا اللهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ وَلَا تُبْطِلُوا أَعْمَالَكُمْ} [محمَّد: 33].

 

     “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮ.และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามร่อซูลคนนี้เถิดและอย่าทำให้การงานของพวกเจ้าไร้ประโยชน์”

 

          ท่านนบีได้สั่งใช้ให้ผู้หญิงได้ออกไปทำการละหมาดอีด โดยการละหมาดอื่นๆ นั้น ละหมาดที่บ้านของนางนั้นดีกว่า นี่คือหลักฐานที่เน้นย้ำให้พวกเรานั้นใส่ใจ เน้นย้ำซุนนะฮ์มุอักกะดะฮ์นี้ (เป็นภารกิจที่ส่งเสริมให้กระทำ) และมีอุละมาอ์บางท่านกล่าวถึงขั้นว่าเป็นวาญิบดังหะดีษของท่านร่อซูล กล่าวว่า :

 

أَمَرَ النَّبِيُّ ﷺ النِّسَاءَ أَنْ يَخْرُجْنَ إِلَى صَلَاةِ الْعِيدِ:

وَقَدْ أَمَرَ النَّبِيُّ ﷺ النِّسَاءَ أَنْ يَخْرُجْنَ إِلَى صَلَاةِ الْعِيدِ، مَعَ أَنَّ الْبُيُوتَ خَيْرٌ لَهُنَّ فِيمَا عَدَا هَذِهِ الصَّلَاةَ.

وَهَذَا دَلِيلٌ عَلَى تَأَكُّدِهَا، قَالَتْ أَمُّ عَطِيَّةَ -رَضِيَ اللهُ عَنْهَا-: أَمَرَنَا رَسُولُ اللهِ ﷺ أَنْ نُخْرِجَهُنَّ فِي الْفِطْرِ وَالْأَضْحَى؛

 الْعَوَاتِقَ وَالحُيَّضَ وَذَوَاتِ الْخُدُورِ، فَأَمَّا الْحُيَّضُ فَيَعْتَزِلْنَ الْمُصَلَّى، وَيَشْهَدْنَ الْخَيْرَ، وَدَعْوَةَ الْمُسْلِمِينَ.

 

     “ได้สั่งให้บรรดาหญิงสาวที่บรรลุวัยตามศาสนบัญญัติและหญิงที่มีประจำเดือนให้ออกไปที่สนามละหมาดอีดด้วย โดยให้บรรดาหญิงที่มีประจำเดือนอยู่ห่างๆ จากที่ละหมาด ให้พวกนางได้มีส่วนร่วมรับความดีงามและดุอาอ์ต่างๆ ของมวลมุสลิมในวันดังกล่าว”

 

قَالَتْ: قُلْتُ: يَا رَسُولَ اللهِ، إِحْدَانَا لَا يَكُونُ لَهَا جِلْبَابٌ.

قَالَ: ((لِتُلْبِسْهَا أُخْتُهَا مِنْ جِلْبَابِهَا)). مُتَّفَقٌّ عَلَيْهِ.

 

     อุมมุอะฏียะฮ์ ถามว่า “คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเราบางครั้งไม่มีหิญาบเพื่อออกข้างนอก จะทำอย่างไร ?”

     ท่านนบี ตอบว่า  “ให้ยืมจากพี่น้อง(เพื่อไปละหมาดอีด)“

 

     และจากซุนนะฮ์ของท่านบีในเรื่องของวันอีด:

 

((كَانَ النَّبِيُّ ﷺ لَا يَغْدُو يَوْمَ الْفِطْرِ حَتَّى يَأْكُلَ تَمْرَاتٍ، وَيَأْكُلُهُنَّوِتْرًا)). رَوَاهُ الْبُخَارِيُّ.

 

     ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรียฺ รายงานจากท่านอนัส อิบนุมาลิก ว่า 

     "ท่านนบี จะไม่ออกไปในวันอีดิ้ลฟิฏรฺ จนกว่าจะได้รับประทานอินทผลัมหลายเม็ด โดยจะรับประทานเป็นจำนวนคี่ 3/5/7 เม็ด"

 

          และถ้าหากว่าใครมีความสามารถอย่างเช่นคนแถวๆมัสยิดในมุเก่ม ก็ควรจะใช้เท้าเดินมา นี่บรรดานักวิชาการของ 4 มัศฮับเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นที่รักที่ชอบให้เดินเท้าไปละหมาดอีด แต่การอาศัยมากับรถด้วยระยะทางที่ไกลการไม่สามารถเดินมาได้เพราะสุปบุรุษบางคนย้ายที่อยู่ไปไกลๆก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด แต่การเดินมานั้นก็เป็นสิ่งที่มีหลักฐานจากท่านร่อซูล ด้วยกับความหมายของหะดีษ และยังเป็นการเพิ่มความน้อมนอบความสงบนิ่งให้กับผู้มาละหมาดด้วย

 

إذا نُودِي بالصلاةِ، فأتوها وأنتُم تَمشُون  - واه البخاري (908)، ومسلم (602) واللفظ له

 

”เมื่อได้ยินการเรียงร้องเชิญชวนไปสู่การละหมาด ดังนั้นพวกท่านจงเดินไปละหมาด“

 

     และก็ส่งเสริมให้ออกไปละหมาดด้วยเส้นทางหนึ่ง และขากลับให้ใช้อีกเส้นทางหนึ่ง เพราะมีรายงานจากญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม 

 

كان إذا كان يومُ عيدٍ خالفَ الطريقَ -  أخرجه البخاري (986) باختلاف يسير

 

“เมื่อถึงวันอีดท่านจะใช้เส้นทางสลับกัน ระหว่างขาไปกับขากลับ”

 

          บรรดาอุลามาอ์ رَحْمَةُ اللهِ عَلَيْهِمْ ให้ความเห็นไว้ในเรื่องนี้ว่า เพื่อเราจะได้มีพยานยืนยันในวันกิยามะฮ์จากสถานที่ต่างๆที่เราผ่านไปจากผู้คนที่เราพบเจอ ญิน บางท่านก็กล่าวว่า : เพื่อเป็นการให้สลามแก่ผู้คนทั้งสองทาง ขาไปและก็ขากลับ เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของอิสลาม

 

          แต่โดยตามซุนนะฮ์นั้นให้ละหมาดอีดที่มุศ็อลลา(สนามละหมาด) ไม่ใช่ที่มัสยิด ไม่ว่าจะเป็นอีดุลฟิฏร์หรืออีดุลอัฎฮา ทั้งที่มัสยิดของท่านนบี ﷺ นั้น การละหมาดในนั้นมีผลบุญมากกว่าละหมาดในที่อื่นถึงหนึ่งพันเท่า และขอเราและท่านทั้งหลายจงรำลึกถึงการชุมนุมของผู้คนที่มาละหมาดว่าเป็นเสมือนการชุมนุมของพวกเราในวันกิยามะฮ์

 

          ดังนั้น มุสลิมควรละหมาดด้วยจิตใจที่สงบนอบน้อมและตั้งมั่น ควรกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮ์ให้มาก ขอดุอาฮ์ต่อพระองค์ หวังในความเมตตาของพระองค์ และเกรงกลัวการลงโทษของพระองค์ และควรให้การละหมาดอีดนั้นเป็นการระลึกถึงการรวมตัวในวันนั้นเป็นเสมือนการรวมตัวของพวกเราในวันพิพากษาอันยิ่งใหญ่ ต่อหน้าอัลลอฮ์ - อัซซะวะญัล - ณ สถานที่การตัดสินในวันกิยามะฮ์

 

          และอีกสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาก็คือพิจารณาถึงความแตกต่างของผู้คนที่มาละหมาดอีดร่วมกัน เราจะเจอผู้คนหลากหลาย คนรวย คนจน คนขัดสน สถานะการเงินของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน เพื่อที่จะทำให้เรารู้ถึงความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่กว่าในโลกอาคิเราะฮ์ 

 

        พระองค์อัลลอฮ์ - ผู้ทรงสูงส่งและเกรียงไกร - ได้ตรัสไว้ว่า:

 

انظُرْ كَيْفَ فَضَّلْنَا بَعْضَهُمْ عَلَىٰ بَعْضٍ ۚ وَلَلْآخِرَةُ أَكْبَرُ دَرَجَاتٍ وَأَكْبَرُ تَفْضِيلًا )الإسراء(21 

 

“จงดูเถิด ! เราได้ทำให้บางคนในหมู่พวกเขาดีเด่นกว่าอีกบางคนอย่างไร? 

และแน่นอนปรโลกนั้นมีฐานะยิ่งใหญ่กว่าหลายชั้นและยิ่งใหญ่กว่าในทางดีเด่น”

 

          ไม่มีรายงานที่ยืนยันได้จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าท่านละหมาดสุนัตก่อนหรือหลังละหมาดอีดที่มุศ็อลลา ดังการรายงานของท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า : 

 

(( أنَّ رسولَ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّم خرَجَ يومَ أضْحَى، أو فِطرٍ، فصلَّى ركعتينِ لم يُصلِّ قبلها ولا بعدَها  ))

 

     ”ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกไปละหมาดอีดอัฎฮา หรือ อีดฟิตร ท่านละหมาดสองร็อกอะฮฺโดยไม่ได้ละหมาดสุนัตก่อน และหลังละหมาดอีดแต่อย่างใด” 

أخرجه البخاري (5883)

 

          แต่ถ้าหากว่าทำการละหมาดอีดในมัสยิด ก็ควรต้องละหมาดตะหิยะตุลมัสยิด(ละหมาดเมื่อเข้ามัสยิดก่อนที่จะนั่งลงหรือทำภารกิจอื่น)จำนวนสองร็อกอะฮฺเสียก่อน 

 

          มีรายงานจาก อบู เกาะตาดะฮฺ อัส-สุละมียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

 

‎إذا دخَل أحدُكم المسجدَ فلا يَجلِسْ حتى يصلِّيَ ركعتَين

 

“เมื่อใครคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านเข้ามัสยิด เขาก็จงอย่านั่งจนกว่าจะได้ละหมาดสองร็อกอะฮฺเสียก่อน”

أخرجه البخاري (1167) واللفظ له، ومسلم (714)

 

     แล้วยังมีซุนนะฮฺในวันอีดในเรื่องของการแต่งกายให้ดี

 

- عَنْ عَبْدِ اللهِ بْنِ عُمَرَ -رَضِيَ اللهُ عَنْهُمَا- قَالَ: أَخَذَ عُمَرُ جُبَّةً مِنْ إِسْتَبْرَقٍ -أَيْ: مِنْ حَرِيرٍ- تُبَاعُ فِي السُّوقِ،

فَأَتَى بِهَا رَسُولَ اللهِ ﷺ، فَقَالَ: يَا رَسُولَ اللهِ، ابْتَعْ هَذِهِ -يعني: اِشْتَرِهَا-، تَجَمَّلْ بِهَا لِلْعِيدِ، وَالْوُفُودِ.

 

     จากอับดุลลอฮ์ บิน อุมัร (ขออัลลอฮ์ทรงพอพระทัยทั้งสองท่าน) กล่าวว่า: 

     ท่านอุมัรได้หยิบเสื้อคลุมที่ทำจากผ้าไหมที่ขายอยู่ในตลาด แล้วนำมันมาหาท่านเราะซูลุลลอฮ์ (ขออัลลอฮ์ทรงประทานพรและความสันติแก่ท่าน) 

     แล้วกล่าวว่า: 'โอ้ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ซื้อเสื้อนี้เถิด จะได้สวมใส่ให้สวยงามในวันอีดและเมื่อมีคณะทูตมาเยือน' 

     ในเรื่องของการแต่งกายนั้น ท่านนบี ﷺ มิได้คัดค้าน (การแต่งตัวให้ดูดี) เพราะหลักฐานนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงการต้องแต่งตัวให้ดีในวันอีดเผื่อพบเจอผู้คนหรือมีคนมาเยี่ยมเยียน 

      หลังจากนั้นท่านนบีก็ได้กล่าวต่อในหะดีษว่า :

 

((إِنَّمَا هَذِهِ لِبَاسُ مَنْ لَا خَلَاقَ لَهُ)).

 

“แท้จริงนี่คือเครื่องแต่งกายของผู้ที่ไม่มีส่วนแบ่งในโลกหน้า”

أخرجه البخاري (948)، ومسلم (2068)

 

          เพราะอย่างที่ทราบกันดี ผ้าไหม ถูกห้ามตามบทบัญญัติ และผู้คนที่สวมใส่มันคือใคร คนที่ لا خلاق له ก็คือ กุฟฟาร พวกปฏิเสธ เพราะเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งจากชะรีอะฮ์ของอัลลอฮ์ ดังนั้นประโยคนี้เป็นหลักฐานบอกถึงสองนัยยะด้วยกันว่า ห้ามสวมใส่เสื้อที่ทำจากผ้าไหม และอีกนัยยะนึงคือการที่ผู้ศรัทธาถูกห้ามการเลียนแบบพวกกุฟฟาร และผ้าไหมนั้นมันก็เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับผู้หญิงไม่ใช่ของผู้ชาย

 

          ส่วนกรณีสตรีนั้นเมื่อออกไปยังสถานที่ละหมาดในวันอีดไม่ว่าจะมัสยิดหรือมุศอลลา ไม่สมควรที่จะแต่งกายให้สะดุดตา ไม่ควรใช้น้ำหอม ไม่ควรแต่งตัวแบบเปิดเผย และไม่ควรออกไปโดยไม่ปกปิดร่างกาย เนื่องจากพวกนางนั้นได้รับคำสั่งให้แต่งกายอย่างมิดชิด และถูกห้ามไม่ให้แต่งตัวในลักษณะประดับประดาจนเป็นที่สนใจ หรือใช้น้ำหอมในขณะที่ออกจากบ้าน ผู้หญิงต้องไม่เป็นที่สนใจจุดสนใจในการแต่งกายทั้งหมดของนาง

 

          เมื่อวันอีดมาถึงคือการแสดงความปิติยินดี คือความสุขที่เชื่อมโยงผูกโยงกับการเชื่อฟังในพระผู้เป็นเจ้าของเรา ผู้ทรงสร้างผู้ทรงดูแลกิจการต่างๆในสากลโลก ผู้ทรงมีคุณลักษณะอันสูงส่งมีพระนามอันงดงาม มันไม่น่าจะมีความยินดีอะไรที่ดีกว่าที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ควรค่าแก่การชื่นชมมากไปกว่าความปิติยินดีของผู้เชื่อและปฏิบัติตามคำสั่งใช้และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ด้วยเหตุนี้ทุกๆการเชื่อฟังของบ่าวที่มีต่อพระองค์นั้นถือความปิติยินดีของผู้ศรัทธา ปิติยินดีด้วยกับการละหมาด ในการถือศีลอด ในการอ่านคัมภีร์ ในการซิกรุลลอฮฺ และปติยินดีในทุกๆการงานที่เป็นการงานที่ดี

 

{ قُلْ بِفَضْلِ اللَّهِ وَبِرَحْمَتِهِ فَبِذَلِكَ فَلْيَفْرَحُوا هُوَ خَيْرٌ مِمَّا يَجْمَعُونَ }[يونس:58]

 

     จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) “ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮ์และด้วยความเมตตาของพระองค์ ดังกล่าวนั้นพวกเขาจงดีใจเถิด ซึ่งมันดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาสะสมไว้"

 

 

     ดังนั้นเมื่อวันอีดมาถึงพวกเราจะต้องตั้งมั่นว่าจะไม่กระทำสิ่งใดๆที่เป็นการขัดแย้งกับแนวทางของท่านศาสดามุฮัมมัด ﷺ ในวันอีด ไม่เข้าไปพัวพันกับสิ่งผิดๆเหล่านั้น เช่น

 

      • การโกนเครา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผู้ชายส่วนมากกระทำในวันอีด  

 

      • การเลียนแบบชาวตะวันตกหรือชาวต่างศาสนา ทั้งในเรื่องเครื่องแต่งกาย การฟังดนตรี หรือการเปิดเผยเรือนร่างของสตรี 

 

      • การกำหนดวันอีดเป็นวันเยี่ยมสุสาน  มิใช่แนวทางของท่านนบี แต่มันคือ บิดอะฮ์ ซึ่งปราศจากหลักฐานสนับสนุนจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ของท่านนบี และเป็นสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้นมาและไม่ถูกต้อง สำหรับหะดีษที่ว่าได้กล่าวไว้ว่า:

 

((مَنْ أَحْيَا لَيْلَةَ الْفِطْرِ وَالْأَضْحَى؛ لَمْ يَمُتْ قَلْبُهُ يَوْمَ تَمُوتُ الْقُلُوبُ)).

 

“ผู้ใดที่ให้ค่ำคืนของอีดุลฟิตร์และอีดุลอัฎฮานั้นมีชีวิตชีวา หัวใจของเขาจะไม่ตายในวันที่หัวใจทั้งหลายดับสูญ”

الدرجة: موضوع

 

     โอ้พี่น้องผู้ศรัทธา การอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์จะต้องไม่หยุดลงเมื่อเราเะมะฎอนผ่านไป จงซิกรุลลอฮ์ให้มาก จงถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล ตามที่ท่านนบีได้ชี้แนะและทำไว้เป็นแบบอย่าง 

     จงอ่านอัลกุรอานอย่างสม่ำเสมอ จงละหมาดยามค่ำคืน ทำศ่อดาเก๊าะฮ์และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จงมีความบริสุทธิ์ใจและศรัทธาอย่างแน่วแน่ และมุ่งหาสู่อัลลอฮ์ พระเจ้าผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก 

     เพื่อที่เราและท่านทั้งหลายจะได้ประสบความสำเร็จทั้งในดุนยา และอาคีเราะฮ์