การศรัทธาที่แท้จริง
  จำนวนคนเข้าชม  8359

 

การศรัทธาที่แท้จริง


อะกีดะฮ์ ในทางภาษาหมายถึง ข้อผูกพัน ข้อตกลง กฏเกณฑ์ และการผูกมัดกันอย่างเรียบร้อย

อะกีดะฮ์ ในทางวิชาการหมายถึง การมีศรัทธา อีมานที่มั่นคงแน่วแน่ ชนิดที่ผู้มีอีมานจะไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ หลงเหลืออยู่เลย

 

ดังนั้นการมีอะกีดะฮ์ความเชื่อมั่นตามแบบอิสลาม หรืออะกีดะฮ์ อิสลามียะฮ์คือ

         การมีอีมานที่มั่นคงต่ออัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่าตะอะลา พร้อมทั้งการยอมรับต่อการเป็นพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงพระองค์เดียวของอัลลอฮ์ โดยทุกประการ(หลักเตาฮีด) การมีความภักดี(ฏออะฮ์)ต่อพระองค์ พร้อมทั้งการมีศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์ คัมภีร์ต่างๆ (เช่น เตารอฮ์ อินญีล และอัลกุรอาน) ต่อบรรดาเราะซูล (ตั้งแต่นะบีอาดัม จนกระทั่งถึงนะบีมุฮัมมัด) ต่อวันสิ้นโลก ต่อกฎกอฎอ-กอฎัร(การกำหนดกฎสภาวะ) ต่อบรรดาสิ่งเร้นลับทั้งปวง (อัลฆอยบ์) ไม่ว่าจะเป็นความรู้ของพระองค์ (เช่นจำนวนของสรรพสิ่งทั้งปวง) หรือการงานของพระองค์ (เช่นการอนุมัติให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ แก่บรรดาเราะซูล และนะบีท่านต่างๆ)


บรรพชนอิสลาม หรือ อัส สลัฟ 

         อัส สลัฟ คือ บรรดาศอฮาบะฮ์ ของท่านนะบีมุฮัมมัด  และบรรดาตาบิอีน ผู้สืบทอดอิสลามมาจากเศาะฮาบะฮ์ ชนเหล่านี้คือ หัวใจของประชาชาติอิสลาม (อุมมะฮ์) และเป็นอิมามแห่งฮิดายะฮ์ และทางนำยุคสมัยสลัฟ คือภายในระยะเวลา 3 ศตวรรษ ส่วนมุสลิมที่ปฏิบัติตามสลัฟ เรียกว่า สละฟี

 

อะฮ์ลุล ซุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์

          คือ มุสลิมที่ปฏิบัติตามท่านนะบีมุฮัมมัด  และบรรดาเศาะฮาบะฮ์ ของท่านนะบีมุฮัมมัด  การที่ได้ชื่อว่า อะฮ์ลุล ซุนนะฮ์ ก็เพราะการยึดมั่นปฏิบัติตามซุนนะฮ์ ของท่านนะบีมุฮัมมัด

           ส่วนญะมาอะฮ์ คือ การที่ชาว อะฮ์ลุล ซุนนะฮ์ รวมตัวกันอยู่บนสัจธรรมอันแท้จริง และไม่แตกแยกกันในเรื่องของศาสนา และถือปฏิบัติตามบรรดาอิมามที่เที่ยงธรรม และมิได้ฝ่าฝืนท่านเหล่านั้น ซึ่งคือ การยึดมั่นปฏิบัติศาสนาตามแนวทางบรรดาสลัฟได้ถือปฏิบัติสืบต่อมาจากท่านนะบีมุฮัมมัด  นั่นเอง

          และเนื่องจากชาวอะฮ์ลุล ซุนนะ ยึดถือปฏิบัติศาสนาอย่างเคร่งครัดตามแบบฉบับซุนนะฮ์ของท่านนะบีมุฮัมมัด  ตามหลักฐานที่ปรากฏในอัลฮะดิษ จึงเป็นที่รู้จักกันอีกว่าเป็น อะหลุล ฮะดิษ และ อัฏ ฏออิฟะฮ์ อัลมันศูเราะห์ หรือ อัล ฟิรเกาะ ฮัน นาญิยะฮ์ คือ กลุ่มที่ถูกต้องที่รอดพ้นจากจำนวน 73 กลุ่ม นประชาชาตินี้(อุมมะฮ์)

ท่านอิมรอน ได้กล่าวว่า ท่านนะบีมุฮัมมัด  ได้กล่าวว่า


“ผู้ที่ดีเลิศในหมู่ท่านทั้งหลาย (มุสลิม) ก็คือคนในยุคของฉัน จากนั้นคือผู้ที่ต่อจากพวกเขา และผู้ที่สืบต่อจากพวกเขาอีกที...”

(บันทึกโดย บุคคอรีย์และมุสลิม)


          การศรัทธาที่แท้จริงย่อมแสดงออกทั้งโดยวาจา และการประพฤติปฏิบัติ (อามัล) ความศรัทธามีได้ ทั้งเพิ่มขึ้น และลดลง นั่นคือการพูดด้วยหัวใจและลิ้น การแสดงออกด้วยหัวใจ ด้วยลิ้น และอวัยวะต่างๆ

          การพูดด้วยหัวใจนั้นคือ การมีความเชื่อมั่นหรือ เอี๊ยะติกอด และการยอมรับอีมาน(ความศรัทธา)ด้วยหัวใจ

          การพูดของลิ้น คือ การกล่าวยืนยันตามหัวใจ การแสดงออกหรือการปฏิบัติของหัวใจ คือการยอมรับโดยไม่มีข้อแม้ มีความจริงใจ บริสุทธิ์ใจต่อการศรัทธา ต้องยอมรับโดยอ่อนน้อม ต้องรู้สึกรักและชื่นชอบต่ออีมาน และต้องมีความตั้งใจ และจริงใจที่จะประกอบอามัลที่ศอลิห์(การปฏิบัติการงานที่ดี) ส่วนการงานของอวัยวะของร่างกาย นั้นคือ การปฏิบัติตามข้อบัญชาในศาสนาและละทิ้งข้อห้ามตามบัญญัติของศาสนา

          ผู้ใดที่มีความเชื่อว่าการงานไม่ต้องสัมพันธ์กับการมีศรัทธา ผู้นั้นได้ชื่อว่า มุรญิอ์ () ส่วนใครเพิ่มเติมสิ่งใดที่ไม่มีแบบฉบับจากอัลกุรอาน และซุนนะฮ์ ผู้นั้นเป็น มุบตะดิอ์ คือผู้ที่กระทำสิ่ง อุตริ บิดะอะฮ์

          ผู้ที่มิได้กล่าวยืนยันการศรัทธาของเขาด้วยคำปฏิญาณทั้งสอง(ชะฮะตัยน์) ก็ไม่ถือว่าเขาเป็นผู้ที่มีอีมาน(ความศรัทธา) ทั้งในโลกนี้ (ดุนยา) และทั้งในอาคิเราะฮ์(โลกหน้า)

          คำว่า “อัลอิสลาม” และ “อัลอีมาน” เป็นคำนามสองคำซึ่งมีความหมายโดยรวม และผูกพันกันอยู่ ส่วนคำว่า ฮะหลุล กิบละฮ์ นั้นเป็นคำอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกมุสลิม

          ผู้ที่กระทำบาปใหญ่ เช่น ซินา(ผิดประเวณี) หรือ ดื่มเหล้า ยังไม่หลุดออกจากความมีอีมาน(ศรัทธา) เราถือว่าเขาเป็นผู้ศรัทธาที่มีอีมานไม่สมบูรณ์ ส่วนในวันกิยามะฮ์นั้นอัลลอฮ์จะเป็นผู้ทรงพิจารณา ถ้าพระองค์ทรงประสงค์ก็จะอภัยให้แก่เขา แต่ถ้าพระองค์ทรงสงค์ก็ะลงโทษเขาเช่นกัน ผู้ที่มีเตาฮีด ยึดถือในเอกภาพของอัลลอฮ์ ทุกคนจะได้เข้าสวรรค์ แม้จะต้องถูกลงโทษในไฟนรกก่อนก็ตาม จากนั้นก็จะถูกนำออกมา ทั้งนี้อะหลุล-เตาฮีด หรือมุสลิมนั้น จะไม่อยู่ในไฟนรกชั่วนิรันดร์

          ศาสนาไม่อนุญาตให้กล่าวชี้ว่าใคร      ในบรรดามุสลิมว่าเป็นชาวสวรรค์หรือนรก เว้นแต่จะปรากฏแล้วว่าเขาได้ฝ่าฝืนตัวบทอันชัดแจ้ง จากอัลกุลอาน หรือซุนนะฮ์ แล้วตกออกจากศาสนาไป


การปฏิเสธ ในทางศาสนามีสองประเภทด้วยกัน

ประเภทแรก การปฏิเสธขนานใหญ่ถือว่าตกออกจากศาสนา

ประเภทที่สอง การปฏิเสธอย่างรอง อาจไม่ถึงตกออกจากศาสนา บางครั้งถูกเรียกว่าการปฏิเสธในทางปฏิบัติ (อัล-กุฟร์ อัล-อะมะลี)


          การจะกำหนดว่าใครเป็นผู้ปฏิเสธ จักต้องยึดถือหลักอันเป็นข้อชี้ขาดจากอัลกุรอาน และซุนนะฮ์เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้กำหนดว่ามุสลิมใดเป็นกาฟิร์(ผู้ปฏิเสธ) ไม่ว่าจะด้วยถ้อยคำหรือการปฏิบัติเว้นแต่จะต้องเป็นความผิดที่มีในตัวบทจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ ชี้บอกไว้ ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะชี้ขาดว่ามุสลิมคนไหนเป็นกาฟิร์(ผู้ปฏิเสธ) ได้ด้วยเพียงคำพูดหรือการปฏิบัติที่ยังคลุมเครื่ออยู่ เว้นแต่จะปรากฏชัดตามเงื่อนไขที่ระบุถึงการปฏิเสธ และต้องปราศจากคุณลักษณะที่บ่งบอกของความมีอีมานของผู้นั้นเสียก่อน ดังนั้น การฮุกุม(ตัดสิน) กำหนดว่าใครเป็นกาฟิร์(ผู้ปฏิเสธ)นั้น จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุดในบทบัญญัติอิสลาม จึงเป็นการสมควรที่จะหลีกเลี่ยงจากการกำหนดว่า มุสลิมคนใดเป็นกาฟิร์(ผู้ปฏิเสธ)

 



หลักการศรัทธา / รร.ศาสนูปถัมภ์ ประเวศ กทม.