กำลังใจและแนวทางในการดำเนินชีวิต
  จำนวนคนเข้าชม  100

เรื่องราวของซูเราะฮฺอัชชัรห์

กำลังใจและแนวทางในการดำเนินชีวิต

 

ค่อเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ 

          ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺทุกอย่างให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺ นั่นเอง

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงแต่งตั้งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมให้เป็นนบีและเราะซูลของพระองค์นั้น ซึ่งในช่วงแรกของการทำหน้าที่ของท่านนบีนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะสังคมในขณะนั้นเป็นสังคมญาฮิลียะฮฺ มีความป่าเถื่อน มีการเคารพบูชา กราบไหว้รูปปั้นรูปเจว็ดต่าง ๆมากมาย ..

          การที่ท่านนบีมาเรียกร้องเชิญชวนผู้คนไปสู่การเคารพอิบาดะฮฺอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้เป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ท่านนบีได้รับการต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากอะบูละฮับซึ่งเป็นลุงของท่านนบีเองก็ยังต่อต้าน เพราะอะบูละฮับยึดมั่นในศาสนาของปู่ย่าตายาย มากกว่าจะมองเห็นสัจธรรมความจริงของอัลอิสลาม 

          อะบูละฮับจึงประกาศเป็นศัตรูกับท่านนบีอย่างเปิดเผย จนกระทั่งถึงขั้นวางแผนลอบสังหารท่านนบี แต่ท่านนบีก็รอดพ้นมาได้ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ..การที่ท่านนบีต้องต่อสู้กับความดื้อดึง ความยโสโอหังของผู้คน การได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากผู้คนโดยเฉพาะญาติของท่านเอง ทำให้ท่านนบีมีความวิตกกังวล มีความอึดอัดใจ ในสิ่งที่ท่านต้องเผชิญเป็นอย่างมาก ..

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงได้ประทานซูเราะฮฺอัชชัรห์ เพื่อเป็นกำลังใจและเทิดเกียรติแด่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งท่านนบีก็ได้เผยแผ่ซูเราะฮฺนี้แก่อุมมะฮฺหรือประชาชาติของท่าน เพื่อให้อุมมะฮฺของท่านใช้เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต และให้ทราบว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงให้เกียรติแก่บ่าวผู้ศรัทธาและยำเกรงต่อพระองค์เช่นกัน ซึ่งเราจะได้รับประโยชน์จากซูเราะฮฺนี้อย่างแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ .. 

 

เรื่องราวของซูเราะฮฺอัชชัรห์มีดังนี้

عُوْذُ بِاللهِ مِنْ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِأَ

بِسۡمِ ٱللَّهِ ٱلرَّحۡمَٰنِ ٱلرَّحِيمِ

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

 

أَلَمۡ نَشۡرَحۡ لَكَ صَدۡرَكَ 1

“เราไม่ได้เปิดหัวอกของเจ้าให้แก่เจ้าหรอกหรือ”

 

         อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงถามท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..เป็นประโยคคำถามที่พระองค์ไม่ได้ทรงต้องการคำตอบ แต่เป็นประโยคในเชิงยืนยันและเน้นหนัก ..ซึ่งหลักภาษาอาหรับเรียกประโยคแบบนี้ว่า ประโยคอิสติฟฮาม อิงการี إنكاري استفهام ..เป็นประโยคที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงยืนยันว่า เราได้เปิดหัวอกของเจ้าให้แก่เจ้าแล้วอย่างแน่นอน

 

          คำว่า نَشۡرَحۡ ก็คือ اشرح อัชชัรห์ (ชื่อซูเราะฮฺ ) มาจากคำว่า ชะ เราะ หะ شرح ...ยัช เราะ หุ يشرح เปิดเผย ชี้แจง อธิบาย ..ในอายะฮฺนี้จะหมายถึง เปิดหัวอก เปิดหัวใจหรือเปิดใจ หรือทำให้เบิกบานใจ 

 

          ซึ่งคำ نَشۡرَحۡ หรือคำว่า اشرح นี้ เวลาออกเสียงต้องออกเสียง ฮา ح ที่ท้ายคำด้วย เพราะถ้าไม่อย่างนั้น มันจะกลายเป็นคำว่า ชัร شر ที่หมายถึงความชั่ว หรือความไม่ดีต่าง ๆ ซึ่งความหมายของสองคำนี้จะต่างกันเป็นคนละเรื่องเลย

คำว่า صَدۡرَكَ หมายถึง หัวอกหัวใจของท่านนบี

          อายะฮฺนี้ หมายถึงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงเปิดใจท่านนบีแล้วอย่างแน่นอน เปิดใจให้ท่านนบีมีอีมาน เปิดใจให้ได้เข้ารับอัลอิสลาม เปิดใจในการรับวะฮีย์ ให้ได้รับความรู้ต่าง ๆ แล้วนำมาปฏิบัติให้เกิดผล เปิดใจให้ท่านนบีมีจิตใจที่หนักแน่น มีความอดทน พร้อมที่จะเผชิญต่อการใส่ร้ายของศัตรูในการทำหน้าที่ของท่าน พร้อมที่จะเผชิญต่อการต่อต้านในทุกรูปแบบ 

         เปิดใจให้มีความพร้อมในการรับมือกับภารกิจอันสำคัญที่พระองค์จะทรงมีคำสั่งลงมา นั่นคือการทำหน้าที่นบีและเราะซูลของพระองค์ หน้าที่ในการเผยแผ่บทบัญญัติอัลอิสลามแก่มนุษยชาติ ดังกล่าวเหล่านี้ก็คือ ความเมตตาอันใหญ่หลวงที่พระองค์ทรงมอบแด่ท่านนบีผู้เป็นบีและเราะซูลท่านสุดท้ายของพระองค์

 

      ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสต่อไปว่า

وَوَضَعۡنَا عَنكَ وِزۡرَكَ 2

“และเราได้ปลดเปลื้องภาระหนักของเจ้าออกจากเจ้าแล้ว”

 

ٱلَّذِيٓ أَنقَضَ ظَهۡرَكَ 3

“ซึ่งเป็นภาระหนักอึ้งบนหลังของเจ้า”

 

          คำว่า وَضَعۡنَا จะแปลว่า เราวางลงไป แต่พอมีคำว่า عَن ที่แปลว่า จาก ..มาตามหลัง وَضَعۡنَا عَن จึงแปลว่า เอาออกไป หรือขจัดออกไป หรือปลดเปลื้องออกไป .. คำว่า كَ ก็หมายถึงท่านนบี.. وَضَعۡنَا عَنكَ ก็หมายถึงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงปลดเปลื้องออกไปจากท่านนบีแล้ว ..

 

     ปลดเปลื้องอะไร ?..ปลดเปลื้อง وِزۡرَكَ ก็หมายถึง ความผิดบาป ความหนักอกหนักใจ أَنقَضَ ภารกิจอันหนักอึ้งที่ท่านนบีได้แบกรับไว้บน ظَهۡرَكَ หลังของท่านนบี

 

          สองอายะฮฺนี้มีความหมายว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโปรดปราน ทรงเมตตาต่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยทรงปลดเปลื้องความหนักอกหนักใจ ความทุกข์ใจต่าง ๆในการทำหน้าที่นบีและเราะซูลซึ่งเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ที่ท่านนบีแบกรับไว้ ที่ท่านนบีเกรงว่าจะทำหน้าที่ไม่ดี เพราะท่านนบีได้รับการต่อต้านอย่างหนัก ได้รับการดูถูก เยาะเย้ย โดนกล่าวหาใส่ร้ายต่าง ๆนานา ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงทำให้ความรู้สึกเหล่านั้นมันเบาบางลง ทำให้ท่านนบีมีความสบายใจ มีความเบิกบานใจในการทำหน้าที่ของท่าน และในการดำเนินชีวิตของท่าน...

 

          ตลอดจนพระองค์ยังทรงปลดเปลื้องความรู้สึกผิดบาปที่เกิดขึ้นในหัวใจของท่านนบีที่ท่านนบีรู้สึกว่าท่านได้ทำผิดไป ทั้ง ๆที่สิ่งที่ท่านทำนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึกทั่ว ๆไปอันเป็นปกติวิสัยของมนุษย์ ไม่ใช่ความผิดที่เป็นบาปใหญ่แต่อย่างใด 

 

          เช่น การที่ท่านนบีแสดงสีหน้าไม่พอใจชายคนหนึ่งที่มาขอความรู้จากท่านนบี แต่ท่านนบีกำลังติดพันการสอนผู้อื่นอยู่ ซึ่งการแสดงสีหน้าไม่พอใจเช่นนี้แหละที่ทำให้ท่านนบีรู้สึกว่าท่านได้ทำความผิด ทำให้ท่านนบีรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ทรงอภัยโทษให้แก่ท่าน อีกทั้งยังทรงปลดเปลื้องบาปออกจากตัวท่าน ลบล้างบาปให้แก่ท่าน และให้ท่านมีสถานะที่เป็นมะศูม ก็คือเป็นผู้ที่อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอภัยโทษให้ในบาปที่ผ่านมา และบาปที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ลบล้างให้ทั้งหมดเลย แต่กระนั้นท่านนบีก็ไม่ได้ทำความผิดบาปแต่อย่างใดเลย

 

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสต่อไปว่า

 

وَرَفَعۡنَا لَكَ ذِكۡرَكَ 4

“และเราได้ยกสถานะให้แก่เจ้าแล้ว โดยการเทิดเกียรติเจ้าให้เป็นที่กล่าวขาน”

 

      คำว่า رَفَعۡنَا เราได้ยกสถานะ لَكَ แก่เจ้า ذِكۡرَكَ ก็คือ ให้เจ้าเป็นที่กล่าวขานกันทุกยุคทุกสมัย ได้รับการยกย่อง ได้รับเกียรติตลอดไป

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงยกสถานะท่านนบี เทิดเกียรติท่านนบี โดยให้ผู้คนได้กล่าวรำลึก กล่าวสรรเสริญท่านนบี ด้วยการกล่าวพระนามของพระองค์ แล้วกล่าวนามของท่านนบีตามหลังพระองค์ ดังเช่น คำกล่าวกะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺ ...คำอะซาน...อิกอมะฮฺ เป็นคำกล่าวที่ดังกระหึ่มไปทั่วโลกในตลอดทุก ๆเวลา 

 

          หรืออย่างคำกล่าวตะชะฮุด คำกล่าวในขณะนั่งตะฮีญาตในเวลาละหมาด ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เกียรติท่านนบี ในการได้รับการเอ่ยชื่อเคียงข้างไปกับพระนามของพระองค์ อีกทั้งยังทรงเทิดเกียรติท่านนบีให้มีสถานะที่ดียิ่งในบรรดามนุษยชาติ โดยที่เราเองก็ต้องให้เกียรติต่อท่านนบียิ่งกว่าคุณพ่อคุณแม่ของเรา และยิ่งกว่ามนุษย์คนไหนทั้งสิ้น ต้องให้เกียรติท่านนบีรองลงมาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอาลาเลยทีเดียว...

 

          หรืออย่างในการกล่าวซะละวาตท่านนบี ใครที่กล่าวเศาะละวาตท่านนบี เขาผู้นั้นก็จะได้รับรางวัลตอบแทนอย่างมากมาย อย่างเช่น ใครผู้ใดเศาะละวาตให้แก่ท่านนบีหนึ่งครั้ง อัลลอฮฺ ตะอาลาจะทรงเศาะละวาตให้แก่เขาสิบครั้ง ลบล้างความผิดให้แก่เขาสิบความผิด และยกสถานะให้แก่เขาสิบระดับขึ้น ..

 

          ท่านนบีได้รับเกียรติตั้งแต่ช่วงเวลาขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตราบจนถึงทุกวันนี้ ชื่อของท่านก็ยังคงถูกกล่าวถึง และจะถูกกล่าวขานตลอดไป ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

 

           ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย สี่อายะฮฺแรกข้างต้นของซูเราะฮฺอัชชัรห์นั้น คือ คำปลอบใจ การให้กำลังใจจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแก่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และยังทรงโปรดปรานท่านนบีโดยให้ท่านนบีได้รับการเทิดเกียรติอย่างสูงจากบรรดามนุษยชาติ ..ส่วนสำหรับเราที่เป็นอุมมะฮฺของท่านนบี เราก็ได้รับกำลังใจ ได้รับประโยชน์ ได้รับแนวทางในการดำเนินชีวิตจากซูเราะฮฺนี้เช่นเดียวกัน ..

 

          ความเมตตา ความโปรดปรานอันดับแรกจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่เราได้รับจากพระองค์คือ เราได้รับการเปิดใจให้เป็นมุสลิม เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นมุสลิมได้ การที่เรายอมรับในการเป็นมุสลิม ทำให้เรามีความสบายอกสบายใจ ไม่ต้องคอยแอบซ่อนตัวในการเป็นมุสลิม อย่างการที่เราทุกคนเดินทางมาจากสถานที่ต่าง ๆ กัน เพื่อมาร่วมละหมาดวันศุกร์ ณ ที่นี้ ในขณะนี้ นี่ก็คือการที่เราได้รับการเปิดหัวใจ นี่ก็คือการที่เราได้รับเราะหฺมะฮฺ ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อเราดำเนินชีวิตไปตามบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ เราก็จะมีความรู้สึกสบายใจ เมื่อเรามีปัญหาอะไร เราก็จะรู้สึกผ่อนคลาย เพราะเราแน่ใจว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงอยู่เคียงข้างเรา และทรงคอยช่วยเหลือเรา...

 

          ในทางตรงข้าม หากเราไม่ดำเนินชีวิตไปตามบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ เช่น ไปดื่มเหล้า ดื่มสุรายาเมา เล่นหวย เล่นการพนันออนไลน์ ไปสนับสนุนเรื่องของการสมรสเท่าเทียม เหล่านี้ผิดต่อบทบัญญัติศาสนาของอัลอิสลามทั้งสิ้น มันจะทำให้เราเกิดความรู้สึกคับแค้นในชีวิต หาความสุขในชีวิตอย่างแท้จริงไม่ได้ ได้แต่ความสุขปลอม ๆเท่านั้น ...

 

          แล้วเมื่อใดก็ตามที่เราไปทำความผิด อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่เมื่อเราสำนึกตัวได้ แล้วเราขออิสติฆฟาร เตาบะฮฺตัวอย่างจริงใจ อย่างอิคลาศ แน่นอน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็จะทรงอภัยโทษให้แก่เราทั้งหมด ไม่ว่าบาปนั้นหรือความผิดนั้นมันก็มากมายแค่ไหน หรือยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม นี่คือความเมตตาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ได้ประทานให้เรา ..

 

          ขอเพียงให้เรามีอีมานต่อพระองค์อย่างแท้จริง อย่างอิคลาศ สร้างความตักวาให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ เมื่อนั้น พระองค์ก็จะทรงอยู่เคียงข้างเรา อยู่ใกล้ ๆเรา คอยช่วยเหลือ คุ้มครอง ปกป้องเรา อีกทั้งยังยกสถานะเราให้มีเกียรติเช่นเดียวกัน

 

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลหุญุรอต อายะฮฺที่ 13 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

إِنَّ أَكۡرَمَكُمۡ عِندَ ٱللَّهِ أَتۡقَىٰكُمۡۚ

“แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติยิ่งในบรรดาพวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีอัตตักวา(ก็คือมีความยำเกรง)ยิ่งในบรรดาพวกเจ้า”

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสต่อไปว่า

فَإِنَّ مَعَ ٱلۡعُسۡرِ يُسۡرًا 5

“ดังนั้น แท้จริง พร้อมกับความยากลำบากก็จะมีความสะดวกง่ายดาย”

 

     แล้วพระองค์ตรัสซ้ำอีกว่า

إِنَّ مَعَ ٱلۡعُسۡرِ يُسۡرٗا 6

“แท้จริง พร้อมกับความยากลำบากก็จะมีความสะดวกง่ายดาย”

 

          ในอายะฮฺที่ 5 และ 6 ข้างต้นนี้ ...คำว่า مَعَ ก็คือ อยู่กับ หรือพร้อม ๆกับ คำว่า ٱلۡعُسۡرِ หมายถึง ความยากลำบาก เป็นคำที่มี อลิฟ ลาม (ٱلۡ อัล) อยู่ข้างหน้าคำ จึงเป็นคำมะอ์ริฟะฮฺ مَعْرِفَة ภาษาไทยจะเรียกว่า วิสามานยนามหรือนามเฉพาะ

 

          ส่วนคำว่า يُسۡرٗا หมายถึง ความสะดวกง่ายดาย เป็นคำนะกิเราะฮฺ نَكِرَة ภาษาไทยจะเรียกว่าคำสามานยนาม หรือนามทั่วไป ไม่ได้เป็นคำเจาะจง

          ในหลักของภาษาอาหรับ เมื่อคำทั้งสองประเภทนี้ (คือคำมะอ์ริฟะฮฺกับคำนะกิเราะฮฺ) มาอยู่ในประโยคที่ต่อเนื่องกันดังเช่นอายะฮฺทั้งสองนี้ มันจะให้ความหมายว่า คำมะอ์ริฟะฮฺหรือคำนามเฉพาะจะเป็นสิ่งเดียวกัน ..

          ส่วนคำนะกิเราะฮฺ หรือคำนามที่เป็นคำทั่ว ๆไปจะหมายถึงสิ่งสองสิ่ง ดังนั้น ในอายะฮฺทั้งสองนี้จึงหมายความว่า ความยากลำบากหนึ่งอย่าง จะอยู่พร้อมกับความสะดวกง่ายดายสองอย่าง ..นั่นก็หมายความว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้กำลังใจในการดำเนินชีวิตกับเราว่า 

 

          ถ้าหากเราประสบกับความยากลำบากอะไรก็แล้วแต่ หรือได้รับความทุกข์โศก ไม่สบายใจหนึ่งเรื่อง พระองค์จะทรงประทานความสะดวกง่ายดาย ประทานหนทางในการแก้ไขปัญหา ประทานความสงบ ความสบายใจ ความเบิกบานใจมาพร้อม ๆกับความยากลำบากนั้นสองเรื่อง หรือสองหนทาง 

 

         นั่นก็คือ ความยากลำบากหนึ่งเรื่องที่เราได้รับจะมีความสะดวกง่ายดายมากกว่าความยากลำบากที่เราได้รับ ..ขอเพียงให้เรามีอีมานต่อพระองค์ และมีตักวาต่อพระองค์อย่างแท้จริงเท่านั้น พระองค์จะทรงคอยช่วยเหลือ.. อย่าทำให้สิ่งผิด ๆ มาลวงเราให้ออกจากทางที่ถูกต้อง ไม่ต้องไปท้อแท้เมื่อเจออุปสรรค เพราะปัญหาทุกปัญหา จะมีความสะดวกง่ายดาย จะมีทางออกเสมอ 

 

          ความสะดวกง่ายดายยังรวมไปถึงการที่เรามีแรงที่จะต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ มีความอดทนที่จะรับมือกับปัญหาตรงหน้า เราจะมีความรับผิดชอบมากกว่าความสิ้นหวัง แล้วเราก็จะไม่ละทิ้งปัญหา ไม่ตีโพยตีพาย แต่เรากลับต้องยอมรับ อดทนต่อปัญหาว่าเป็นเกาะฎอ เกาะดัร เป็นบททดสอบที่เราจะต้องได้รับการตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน

 

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสต่อไปว่า

فَإِذَا فَرَغۡتَ فَٱنصَبۡ 7

“ดังนั้น เมื่อเจ้าเสร็จสิ้น(จากภารกิจหนึ่งแล้ว) ก็จงบากบั่นต่อไป”

 

          อายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสอนเราว่า เมื่อเราทำภารกิจอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว ก็ให้มุ่งมั่นบากบั่นทำภารกิจอย่างอื่น ๆต่อไป ไม่ใช่เสร็จแล้วเสร็จเลย..ดังนั้น มุสลิมจึงไม่ปล่อยให้ตัวเองว่าง มุสลิมจึงไม่ใช้ชีวิตไปกับสิ่งไร้สาระ เพราะทุกวินาทีของมุสลิมมีค่า มุสลิมจะขวนขวายสะสมการงาน สะสมคุณงามความดี ไม่ปล่อยปละละเลย พยายามทำความดีไปเรื่อย ๆ เมื่อเสร็จจากเรื่องของอิบาดะฮฺ ก็มาปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของดุนยา ..

 

          เมื่อเสร็จจากภารกิจหน้าที่ของดุนยา เช่น หน้าที่ของลูก หน้าที่ของพ่อแม่ หน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อคนในสังคม แล้วก็มาปฏิบัติการงานเพื่ออาคิเราะฮฺต่อไป..มีความมานะ ขยันหมั่นเพียร บากบั่นอยู่เสมอ ทำอิบาดะฮฺ ทำการงานอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดหย่อน ไม่ย่อท้อในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นผลดีต่อตัวเราทั้งสำหรับดุนยาและอาคิเราะฮฺ ..

 

          แท้จริงแล้ว มุสลิมไม่ควรมีวันหยุดเพื่อพักผ่อน มุสลิมไม่ควรมีวันหยุดพักร้อน ไม่ควรมีวันหยุดเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เพราะแบบอย่างจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้น การพักผ่อนหย่อนใจของท่านนบีคือ การละหมาด

 

     ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงจบซูเราะฮฺนี้ด้วยอายะฮฺที่ว่า

 

وَإِلَىٰ رَبِّكَ فَٱرۡغَب 8

“และยังพระเจ้าของเจ้าเท่านั้น(ที่เจ้า)จงมุ่งมั่นปรารถนาเถิด”

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เรามุ่งมั่นปรารถนาความโปรดปรานและรางวัลจากพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ..ดังนั้น เมื่อเวลาที่เราทำงาน ทำอิบาดะฮฺ ให้เราเนียตทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว มุ่งหวังรางวัลจากพระองค์เท่านั้น 

          พร้อมทั้งขอความช่วยเหลือจากพระองค์ให้ประทานเตาฟีก ประทานความสำเร็จในอิบาดะฮฺนั้น ในการงานนั้น ๆให้แก่เรา แล้วเราก็ลงมือทำ แล้วก็ตะวักกุล มอบหมายความสำเร็จไปยังพระองค์ 

          แล้วเราก็ต้องขอดุอาอ์ให้พระองค์ทรงรับการงานเหล่านั้นของเราด้วย อย่าให้มันเป็นโมฆะ เพราะไม่ใช่ว่าการงานของเราทุกการงานจะได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะเราอาจจะทำมันโดยมีเจตนาอื่น ๆ แอบแฝง ซึ่งบางทีเราก็อาจไม่รู้ตัว ดังนั้น มุ่งมั่นทำอิบาดะฮฺ ทำอะมัลศ่อลิหฺเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียวเท่านั้น

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เรื่องราวข้างต้นก็คือ เรื่องราวของซูเราะฮฺอัชชัรห์ เป็นซูเราะฮฺที่ 94 ของอัลกุรอาน เป็นซูเราะฮฺมักกียะฮฺ คือเป็นซูเราะฮฺที่ถูกประทานลงมาก่อนที่ท่านนบีจะอพยพจากมหานครมักกะฮฺไปยังมหานครมะดีนะฮฺ ถูกประทานหลังจากซูเราะฮฺอัฎฎุฮา มีทั้งหมด 8 อายะฮฺ เป็นซูเราะฮฺที่ให้กำลังใจและแนะแนวทางในการดำเนินชีวิตของเราเป็นอย่างดี..

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราได้รับความสะดวกง่ายดายในการดำเนินชีวิต ได้รับประโยชน์จากการอ่าน การฟังเรื่องราวของซูเราะฮฺนี้ด้วยเถิด

 

(คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )