ชะอ์บาน..เดือนที่บรรดาการงานของเราถูกนำเสนอต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา
อ.อับดุลสลาม เพชรทองคำ
เราพึงตระหนักไว้เถิดว่า เราจะเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ก็ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงมีต่อเราเท่านั้น ไม่ใช่เข้าสวรรค์เพราะการงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำ ..
แต่การงานอะมัลศ่อลิหฺที่เราทำทั้งหมด และต้องทำด้วยความอิคลาศนั้น ก็คือสื่อที่แสดงให้เห็นถึงความตักวา หรือความยำเกรงที่เรามีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เป็นสื่อที่จะทำให้พระองค์ทรงรักเรา ทรงพอพระทัยเรา ทรงเมตตาเราและนำเราไปสู่สวรรค์ของพระองค์....
ส่วนสำหรับผู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้บางคนเข้านรกนั้น ก็เนื่องด้วยความยุติธรรมของพระองค์ จากพฤติกรรมและการกระทำของเขาเองที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมกลับตัวกลับใจเสียที ...สิ่งนี้แหละที่นำเขาไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ
ขณะนี้ เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในเดือนชะอ์บาน.. เดือนชะอ์บานเป็นเดือนที่ 8 ของปีปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนทางจันทรคติ ...อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดให้หนึ่งปีมี 12 เดือน ทรงกำหนดมาตั้งแต่ช่วงเวลาที่พระองค์ทรงสร้างโลก สร้างจักรวาลแล้ว ไม่ใช่มนุษย์คนไหนเป็นคนกำหนด แต่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงกำหนดเอง
แล้วคนในกลุ่มชนยุคก่อนที่ได้รับคัมภีร์ของพระองค์ ที่พระองค์ประทานผ่านเราะซูลของแต่ละกลุ่มชน ...พวกเขาได้อ่าน ได้เรียนรู้คัมภีร์ของพระองค์ ก็ไปเอาความรู้ในเรื่องนี้ เอามาใช้ มากำหนดให้หนึ่งปีมีสิบสองเดือน ...ซึ่งเดือนแต่ละเดือนนั้นก็มีความสำคัญทุกเดือน
และในแต่ละเดือนมันจะมีความสำคัญอย่างไรนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้นที่ทรงกำหนด เช่น พระองค์ทรงกำหนดให้เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่สำคัญที่สุด มีความประเสริฐมากที่สุดในรอบปี เป็นเดือนที่มีค่ำคืนที่ดีที่สุด เป็นเดือนที่มีอิบาดะฮฺที่ให้ทำเป็นพิเศษที่สำคัญก็คือ การถือศีลอดที่เป็นฟัรฎูตลอดทั้งเดือน มีการละหมาดสุนัตตะเราะวิหฺ ..โดยอิบาดะฮฺต่าง ๆที่ทำในเดือนนี้จะได้รับผลบุญ ได้รับรางวัลตอบแทนเพิ่มมากขึ้นยิ่งกว่าในเดือนอื่น ๆ และยิ่งทำในค่ำคืนที่ดีที่สุดในรอบปี ก็คือค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ผลบุญตอบแทนก็ยิ่งมากขึ้นไปอีกมากมายมหาศาล
ด้วยเหตุนี้ การที่เราจะทำอิบาดะฮฺต่าง ๆได้มากมายในเดือนเราะมะฎอนนี้ เราก็ต้องมีการเตรียมตัว มีการเตรียมความพร้อม เสมือนนักกีฬาที่เมื่อจะเข้าสู่การแข่งขัน ก็ต้องมีการฝึกซ้อม ยิ่งฝึกซ้อมมาก โอกาสจะได้รับชัยชนะในวันแข่งขัน ก็ยิ่งมากไปด้วย..
ดังนั้น นักวิชาการบางท่านจึงกล่าวว่า เดือนชะอ์บานเป็นประตูสู่เดือนเราะมะฎอน ก็คือเป็นเดือนที่เราใช้เตรียมตัว เตรียมร่างกาย เตรียมจิตใจ เตรียมฝึกซ้อมในการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ เพื่อให้อิบาดะฮฺที่เราจะทำในเดือนเราะมะฎอนบรรลุเป้าหมายมากที่สุด ได้รับประสิทธิผลมากที่สุด
เรามาทบทวนกันว่า อิบาดะฮฺอะไรบ้างที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาเศาะฮาบะฮฺ ตลอดจนบรรดาสะละฟุศศ่อลิหฺ หรือบรรดาคนดี ๆ มีคุณธรรมในยุคสามร้อยปีแรกของอัลอิสลาม เขาทำกัน ..แล้วนำมาเป็นแบบอย่างให้เราปฏิบัติกันในเดือนชะอ์บานนี้
ประการแรก ก็คือ ถือศีลอดอย่างมากในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนชะอ์บานนี้
อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า
فَمَا رَأَيْتُ رَسُولَ اللهِ –صلى الله عليه وسلم– اسْتَكْمَلَ صِيَامَ شَهْرٍ إِلاَّ رَمَضَانَ وَمَا رَأَيْتُهُ أَكْثَرَ صِيَامًا مِنْهُ فِي شَعْبَانَ.
“ฉันไม่เคยเห็นท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถือศีลอดเต็มเดือนนอกจากในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น..และฉันก็ไม่เคยเห็นท่านถือศีลอด(สุนัต)ในเดือนไหนมากไปกว่าเดือนชะอ์บาน”
นั่นก็หมายความว่า เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ต้องถือศีลอดฟัรฎูให้ครบทั้งเดือน แล้วท่านนบีก็ยังถือศีลอดสุนัตในเดือนอื่น ๆด้วย โดยที่ท่านถือศีลอดสุนัตในเดือนชะอ์บานมากที่สุด มากกว่าเดือนอื่นๆ โดยในช่วงแรก ก็คือ 15 วันแรกของเดือนชะอ์บานจะถือศีลอดมากกว่าช่วงครึ่งเดือนหลัง เพื่อเวลาที่เมื่อเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนแล้ว ร่างกายจะได้ยังระฉับกระเฉงอยู่ ไม่เพลียจนเกินไป
ท่านอัลฮาฟิซ อิบนุ เราะญับ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ( 795 – 736 ฮ.ศ.) ได้กล่าวไว้ในตำรา ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ โดยกล่าวถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนชะอ์บานนี้ว่า
“การถือศีลอดในเดือนชะอ์บานนั้นดีกว่าการถือศีลอดในเดือนต้องห้ามทั้งสี่(อัชฮุรฺ อัลหุรุม) ซึ่งก็ได้แก่เดือนซุลเกาะอ์ดะฮ เดือนซุลหิจญะฮฺ เดือนอัลมุหัรรอม เดือนเราะญับ
และถือว่า การถือศีลอดในเดือนชะอ์บานนี้เป็นสุนัตที่ดีที่สุดเนื่องจากอิบาดะฮฺทุกอย่างที่ทำในเดือนที่ใกล้เคียงกับเดือนเราะมะฎอน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเราะมะฎอนก็ตามแต่ ระดับความประเสริฐของมันเช่นเดียวกับระดับความประเสริฐของการละหมาดสุนัตเราะวาติบกับการละหมาดฟัรฎูจะก่อนหรือหลังละหมาดก็ตาม
และมันจะช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดหรือบกพร่องไปในส่วนที่เป็นฟัรฎู เช่นเดียวกับการถือศีลอดก่อนเราะมะฎอนและหลังเราะมะฎอน ในเมื่อการละหมาดสุนัตเราะวาติบเป็นสุนัตที่ดีที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการละหมาด ดังนั้นการถือศีลอดก่อนเราะมะฎอนและหลังเราะมะฎอนก็เป็นสุนัตที่ดีที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการถือศีลอดเช่นเดียวกัน”
นี่ก็คือคำกล่าวของท่านอัลฮาฟิซ อิบนุ เราะญับ
นั่นก็หมายความว่า เมื่อเวลาที่เราละหมาดฟัรฎูทั้งห้าเวลาแล้ว ในแต่ละเวลา มันก็จะมีละหมาดสุนัตเราะวาติบ ก็คือละหมาดสุนัตก่อนหรือหลังละหมาดฟัรฎู เป็นละหมาดสุนัตที่มาช่วยเติมเต็มในส่วนที่ละหมาดฟัรฎูของเราขาดตกบกพร่อง ..ดังนั้น สำหรับการถือศีลอดสุนัตก็เช่นกัน ถ้าเราถือศีลอดในช่วงก่อนที่ติดกับเดือนเราะมะฎอน ก็คือเดือนชะอ์บาน กับช่วงหลังที่ติดกับเดือนเราะมะฎอน ก็คือเดือนเชาวาล ถ้าเราถือศีลอดสุนัตในสองเดือนนี้ ก็นับว่ามันจะมาช่วยเติมเต็มในส่วนที่การถือศีลอดฟัรฎูของเราขาดตกบกพร่องไป จึงนับเป็นการถือศีลอดสุนัตที่ประเสริฐยิ่งเช่นเดียวกันกับการละหมาดสุนัตเราะวาติบ ก็คือละหมาดสุนัตก่อนหรือหลังละหมาดฟัรฎูนั่นเอง
ประการที่สอง ก็คือ ให้อ่านอัลกุรอานให้มากยิ่งขึ้น มากกว่าในเดือนอื่น ๆที่ผ่านมาอีก
ซึ่งผลบุญจากการอ่านอัลกุรอานก็มีมากมาย การอ่านอัลกุรอานของเรา ไม่ว่าจะอ่านคล่อง หรืออ่านแบบไม่คล่อง หรืออ่านแบบติดขัดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องดี มีแต่ดีกับดี ได้รับผลบุญตอบแทนจากการอ่านทั้งสิ้น
ประการที่สาม ทำเศาะดะเกาะฮฺ หรือบริจาคให้มาก ๆ ..
เศาะดะเกาะฮฺมีหลายรูปแบบ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าต้องบริจาคเงินทองเท่านั้น ..คำพูดที่ดี การทำดีต่อคนในครอบครัว ต่อคนในสังคม ก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ แม้แต่การยิ้มก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ
ประการที่สี่ อิสติฆฟาร ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ ๆ ..
ขอเตาบะฮฺตัว กลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์เป็นประจำ ทำบ่อย ๆ ซึ่งสำหรับการเตาบะฮฺตัวก็ต้องมีเงื่อนไข เป็นสิ่งที่ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมทำเป็นประจำในทุก ๆ วัน แม้ว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงให้ท่านมีสถานะเป็นมะศูมแล้วก็ตาม ก็คือเป็นผู้ที่พระองค์ทรงอภัยโทษ และลบล้างโทษให้แก่ท่านนบี ทั้งในความผิดที่ล่วงมาแล้วตลอดจนความผิดที่จะเกิดในอนาคต แต่ท่านนบีก็ไม่ได้ทำความผิดใด ๆ โดยเฉพาะที่เป็นความผิดใหญ่ ๆ ซึ่งท่านนบีก็ไม่เคยทำเลย แต่ท่านนบีก็ยังไม่เคยทอดทิ้งในเรื่องของการอิสติฆฟาร และการเตาบะฮฺตัวเลย
ซึ่งสำหรับในส่วนของการเตาบะฮฺตัวก็ต้องมีเงื่อนไขด้วย
เงื่อนไขของการเตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัวกลับใจต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
1. เราจะต้องละเลิกจากการทำความผิดบาปนั้น ๆ
2. แล้วเราต้องรู้สึกเสียใจกับการทำผิดบาปที่ทำมาแล้วด้วย
3. และเรายังต้องตั้งใจอย่างเเน่วเเน่ว่าจะไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก
โดยในส่วนของความผิดที่เกิดจากการที่เราไปล่วงเกิน หรือไปอธรรมต่อผู้อื่น ทั้งในเรื่องของเกียรติยศชื่อเสียง ล่วงเกินต่อชีวิตของผู้อื่น ล่วงเกินต่อทรัพย์สินของผู้อื่น ตลอดจนถึงการอธรรมต่อผู้อื่นทุกชนิด ถ้าหากเป็นการเตาบะฮฺจากการอธรรมเหล่านี้ จะต้องมีเงื่อนไขข้อที่ 4 เพิ่มเข้าไปอีก นั่นคือ
4. เราจะต้องไปขออภัยจากเจ้าของสิทธิที่เราไปล่วงละเมิดเขามา หรือมอบคืนสิทธิให้เเก่เจ้าของสิทธินั้น
ประการที่ห้า ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ ๆ
เพื่อแสดงตัวว่าเราเป็นบ่าวผู้อ่อนแอที่ต้องพึ่งพาอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ ๆ .. ขอให้เรายังมีชีวิตอยู่จนถึงเดือนเราะฏอน และได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ .. ขอให้เราได้ทำอิบาดะฮฺมาก ๆ ขอให้พระองค์ประทานเตาฟีก ก็คือประทานความสำเร็จให้แก่เรา ขอดุอาอ์ให้พระองค์ช่วยเหลือเราให้เราทำอะมัลศ่อลิหฺต่าง ๆ อย่างมีอิคลาศ ทำเพื่อหวังความโปรดปรานจากพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น
และขอพระองค์ทรงโปรดรับการงาน อิบาดะฮฺต่าง ๆทั้งหมดที่เราทำด้วย เพราะไม่ใช่ว่า พระองค์จะทรงตอบรับการงานทั้งหมดของเราโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะการงานทุกอย่างที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงตอบรับนั้นมันต้องมีเงื่อนไขด้วย นั่นก็คือ ต้องทำด้วยความอิคลาศ และตรงตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย
ประการที่หก ละหมาดกิยามุลลัยลิ์ให้มาก ๆ
ประการที่เจ็ด ทำความดีต่าง ๆให้มากขึ้น
ทำความดีต่อคุณพ่อคุณแม่ ต่อลูกหลาน ต่อคนในครอบครัว ต่อคนในสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ หรือความดีอย่างอื่น ๆ ที่บทบัญญัติศาสนาส่งเสริมให้ทำ
นั่นก็คือ บางส่วนของอิบาดะฮฺที่ให้เราทำในเดือนชะอ์บานนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการถือศีลอดสุนัต ที่เราสามารถจะถือศีลอดในช่วงครึ่งเดือนแรก ก็คือในช่วง 15 วันแรกให้มาก ๆ ส่วนในช่วงครึ่งหลังของเดือนก็ให้เราพักการถือศีลอดสุนัตไว้ก่อน เพื่อให้เราเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนอย่างสดชื่น อย่างมีพละกำลัง ..แต่ถ้าหากเราถือศีลอดเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น เคยถือศีลอดวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดี อย่างนี้เป็นประจำอยู่แล้ว เราก็สามารถถือศีลอดสุนัตได้ นี่คือตามแนวทางที่ถูกต้องจากบรรดาอุละมาอ์
ซึ่งเหตุผลหนึ่งของการที่ท่านนบีถือศีลอดอย่างมากในเดือนชะอ์บานนี้ .. เราก็มาพิจารณาอัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอันนะซาอีย์ ซึ่งชัยค์อัล อัลบานีย์ให้สถานะอัลหะดีษนี้ว่าอยู่ในระดับหะซัน ก็คือระดับดี รายงานจากท่านอุซามะฮฺ บิน ซัยด์ أُسَامَةَ بْنِ زَيْدٍ ได้กล่าวว่า
: يَا رَسُولَ اللهِ، لَمْ أَرَكَ تَصُومُ شَهْرًا مِنَ الشُّهُورِ مَا تَصُومُ مِنْ شَعْبَانَ،
“โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ผมไม่เคยเห็นท่านถือศีลอด(สุนัต)ในเดือนใด(มากไปกว่า)ที่ท่านถือศีลอดในเดือนชะอ์บานเลย”
ท่านเราะซูลุลลอฮฺตอบว่า
: ذَلِكَ شَهْرٌ يَغْفُلُ النَّاسُ عَنْهُ بَيْنَ رَجَبٍ وَرَمَضَانَ، وَهُوَ شَهْرٌ تُرْفَعُ فِيهِ الأَعْمَالُ إِلَى رَبِّ الْعَالَمِينَ، فَأُحِبُّ أَنْ يُرْفَعَ عَمَلِي
“นั่นก็เพราะ (เดือนชะอ์บาน)มักเป็นเดือนที่มนุษย์หลงลืม มันเป็นเดือนที่อยู่ระหว่างเดือนเราะญับกับเดือนเราะมะฎอน ..แต่ทว่า มันเป็นเดือนที่การงาน อะมัลต่าง ๆที่เราทำจะถูกยกขึ้นเสนอต่อพระเจ้าแห่งสากลโลก ..และฉันนั้นชอบที่จะให้การงานของฉันถูกยกขึ้นนำเสนอ(ต่อพระองค์)ในสภาพที่เป็น صَائِمٌ ศออิม คือสภาพที่กำลังถือศีลอด"
สำหรับในเรื่องของการงานของเราที่จะถูกยกขึ้นเพื่อถูกนำเสนอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น เป็นเรื่องราวของการบันทึกของคนเรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในเรื่องราวของหลักการศรัทธาต่อเกาะฎออ์ เกาะดัร ..
ในเรื่องของการบันทึกนี้ ท่านชัยค์มุฮัมมัด อิบนิ อุษัยมีน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ อุละมาอ์ของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺในยุคของเราได้อธิบายในเรื่องของการบันทึกไว้ว่า
การบันทึกของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะมีอยู่ 2 ลักษณะ
ลักษณะแรกคือ บันทึกเรื่องราวทั้งหมด เรื่องของชาวสวรรค์ ชาวนรก ใครจะได้เป็นชาวสวรรค์ ใครจะเป็นชาวนรก เรื่องนี้ถูกบันทึกไว้แล้ว .. การเกิดการตาย ใครจะเกิดวันไหน จะตายเมื่อไร จะตายที่ไหน ก็ถูกบันทึกไว้แล้ว.. เรื่องราวของสิ่งเร้นลับต่าง ๆ .. เรื่องราวของการเกิดวันกิยามะฮฺ จะเกิดขึ้นเมื่อใด เรื่องราวเหล่านี้เป็นต้น เป็นเรื่องราวที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ซึ่งจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆทั้งสิ้น เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้จะถูกบันทึกอยู่ในอัลเลาหิลมะห์ฟูซ اللوح المحفوظ ที่เราเรียกว่า แผ่นจารึก
ลักษณะสอง ส่วนบันทึกอีกประเภทหนึ่งตามที่ท่านชัยค์อุษัยมีนอธิบาย จะเป็นการบันทึกของมะลาอิกะฮฺที่ไหล่ขวาและไหล่ซ้ายของเรา .. บันทึกความดีที่ไหล่ขวา บันทึกความชั่วที่ไหล่ซ้าย ..บันทึกนี้จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามการกระทำของเรา .. ถ้าไปทำความชั่ว ไปทำความผิดก็ถูกบันทึกที่ไหล่ซ้าย แต่พอไปทำความดี ความดีก็จะไปลบล้างความผิด และจะถูกบันทึกความดีที่ไหล่ขวา ยกเว้นความชั่วหรือความผิดที่เกิดจากบาปใหญ่ที่ต้องเตาบะฮฺตัวก่อน
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดที่เกิดจากการทำชิริกหรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งต้องเตาบะฮฺตัวก่อน ความผิดจึงจะถูกลบล้าง หากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์ ..
ดังนั้น บันทึกลักษณะนี้ก็จะเปลี่ยนไปตามการงานของเรา หรือการประพฤติปฏิบัติตัวของเรา ซึ่งบันทึกนี้ก็จะถูกนำไปเสนอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในตอนเช้าและตอนเย็นของรอบวัน.. ในวันจันทร์กับวันพฤหัสบดีของรอบสัปดาห์ แล้วก็จะถูกนำเสนอในเดือนชะอ์บานของรอบปี
สำหรับในเดือนชะอ์บานนี้ จะมีเรื่องของบิดอะฮฺที่ผู้คนมักจะคิดทำกันขึ้น และทำกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในค่ำคืนที่เรียกว่า นิสฟูชะอ์บาน ก็คือค่ำคืนของวันที่ 15 เดือนชะอ์บาน..นิสฟู แปลว่า ครึ่ง ..นิสฟูชะอ์บานจึงหมายถึงครึ่งของเดือนชะอ์บาน
ซึ่งในเรื่องนี้ อุละอาอ์ให้เราพิจารณาอัลหะดีษอยู่บทหนึ่ง อยู่ในบันทึกของอิมามอิบนุ ฮิบบาน ซึ่งชัยค์อัล อัลบานีย์ให้สถานะว่า หะดีษเศาะหิหฺ รายงานจากท่านมุอาซ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
يطَّلِعُ اللهُ إلى خَلقِه في ليلةِ النِّصفِ مِن شعبانَ فيغفِرُ لجميعِ خَلْقِه إلَّا لِمُشركٍ أو مُشاحِنٍ
"อัลลอฮฺทรงมองลงมายังบรรดาบ่าวของพระองค์ในค่ำคืนกลางเดือนชะอฺบาน และทรงให้อภัยโทษต่อทุกคน
ยกเว้นผู้ที่ตั้งภาคีกับพระองค์(ก็คือทำชิริกต่อพระองค์) และผู้มีความโกรธกริ้วกับพี่น้องของเขา”
อัลหะดีษบทนี้ อุละมาอ์ให้เราพิจารณาว่า ท่านนบีกล่าวถึงความประเสริฐของเดือนชะอ์บานโดยทั่ว ๆไป โดยไม่ได้บอกให้ทำอิบาดะฮฺใด ๆเป็นการเฉพาะเจาะจงในค่ำคืนที่ 15 ของเดือนชะอ์บานแต่อย่างใด...ดังนั้น อิบาดะฮฺใด ๆที่เจาะจงทำในค่ำคืนนี้ ที่เราพบเห็นอย่างแพร่หลายจึงถือเป็นบิดอะฮฺ เพราะไม่มีแบบอย่างใด ๆจากท่านนบีและบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านแต่อย่างใด
ส่วนหนึ่งของบิดอะฮฺที่เราพบเห็นอย่างแพร่หลาย ก็อย่างเช่น การรวมตัวกันในมัสญิด (ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการละหมาดญะมาอะฮฺฟัรฎู) เป็นการรวมตัวกันเพื่อตั้งใจทำให้ค่ำคืนนิสฟูชะอ์บานมีชีวิตชีวา ด้วยการละหมาดจำนวน 100 เราะกะอะฮฺ..
หรือการขอดุอาอฺหลังละหมาดมัฆริบ โดยพวกเขาจะอ่านดุอาอ์ด้วยการออกเสียงดังตามการอ่านนำของอิมาม ..สิ่งเหล่านี้ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือใดๆ กล่าวรับรองไว้เลย หลักฐานที่นำมาแสดงล้วนเป็นหะดีษเมาฎัวอ์ ก็คือเป็นหะดีษปลอม หรือหะดีษที่กุขึ้นเอง
นั่นก็หมายความว่า สิ่งพวกเขาทำนั้นมันเป็นบิดอะฮฺ ซึ่งเรื่องของบิดอะฮฺนั้นก็คือ เรื่องที่นำไปสู่ความหลงผิด และทุก ๆการหลงผิด นำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก
อัลหะดีษ ( เศาะหิหฺ ) ในสุนันของอิมามอันนะซาอีย์ รายงานจากท่านญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«وَشَرُّ الأُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا ، وَكُلُّ مُحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ ، وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلَالَةٌ ، وَكُلُّ ضَلاَلَةٍ فِي النَّارِ»
"สิ่งชั่วช้าที่สุดคือ สิ่งที่ถูกอุปโลกน์หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ใน(เรื่องราวของบทบัญญัติ)ศาสนา
และทุกๆสิ่งที่ถูกอุปโลกน์หรือถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ใน(เรื่องราวของบทบัญญัติ)ศาสนานั้น ถือเป็น بِدْعَةٍ บิดอะฮฺทั้งสิ้น
และทุกๆบิดอะฮฺถือเป็นความหลงผิด ...และแน่นอน ทุกๆความหลงผิดย่อมนำไปสู่การถูกลงโทษในไฟนรก”
นั่นก็คือ เรื่องของบิดอะฮฺที่เราต้องระมัดระวังตัวเราไม่หลงไปทำในเดือนชะอ์บานนี้ ตลอดจนบิดอะฮฺในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เพราะมันก็จะมีผลร้ายแรงต่อตัวเราทั้งในโลกดุนยา และโลกอาคิเราะฮฺ
ทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวของเดือนชะอ์บานเท่านั้น
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโปรดให้เราทุกคนได้รับความประเสริฐในเดือนชะอ์บานนี้ ขอพระองค์โปรดให้เรามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โปรดให้เราได้มีชีวิตอยู่จนถึงเดือนเราะมะฎอน และได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอน ได้ทำอามัลอิบาดะฮฺศ่อลิหฺต่าง ๆอย่างเต็มที่ อามีน
( นะศิหะหฺ มัสญิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )